ฟังเรื่องเล่า “นักข่าวภูธร” แม่ฮ่องสอน ในวันนักข่าว 5 มีนาคม

ฟังเรื่องเล่า “นักข่าวภูธร” แม่ฮ่องสอน ในวันนักข่าว 5 มีนาคม

“เป็นนักข่าว ทำงานให้มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี อย่าให้ใครว่าได้”

นั่นคือคำสอนของนักข่าวอาวุโสที่มีต่อน้องๆนักข่าวรุ่นใหม่ในค่ำคืนหนึ่งของจังหวัดแม่ฮ่องสอน

โชติ นรามณฑล ประธานชมรมผู้สื่อข่าวและสื่อมวลชนจังหวัดแม่ฮ่องสอน

ชมรมผู้สื่อข่าวและสื่อมวลชนของแม่ฮ่องสอนเป็นกลุ่มเล็กๆ แต่รวมคนทำข่าวมาแต่อดีตจวบจนถึงปัจจุบัน

ในวันนักข่าว (5 มีนาคม) ปีนี้ ยามเช้ามีการทำบุญถึงนักข่าวยุคแรกๆ ที่เสียชีวิตไปแล้ว และกลางคืนมีงานเลี้ยงพบปะสังสรรค์พี่น้องสื่อมวลชนแม่ฮ่องสอน ทั้งที่มีสังกัดและไร้สังกัดมาร่วมงานกันอย่างครึกครื้น

เรามีโอกาสฟังนักข่าวรุ่นเก่าเล่าบรรยากาศการทำข่าวในยุคแรกของแม่ฮ่องสอน — การทำข่าวในยุคที่หนังสือพิมพ์ใช้เวลา 3 วัน คนที่นี่ถึงจะได้อ่าน (นั่นคือ ถ้ากรุงเทพได้อ่านข่าววันนี้ คนแม่ฮ่องสอนจะได้อ่านอีก 3 วันต่อมา)  หนังสือพิมพ์ฉบับนั้นคือ ไทยรัฐ

“บ้านเราไกล หนังสือพิมพ์ต้องขายขาดอย่างเดียวนะ คือถ้าขายไม่หมด ร้านค้าก็รับผิดชอบไป  ตอนนี้ลองไปดูแผงหนังสือบ้านเราสิ ไม่มีสักแผงละนะ  ไม่มีหนังสือพิมพ์ขายในแม่ฮ่องสอน คนอ่านจากมือถือหมดแล้ว” 

ลุงโชติ นรามณฑล ในวัย 78 ปี ประธานชมรมผู้สื่อข่าวและสื่อมวลชนจังหวัดแม่ฮ่องสอน เล่าบรรยากาศเก่าๆ ในเวลานั้นให้ฟัง

“ข่าวส่วนใหญ่ที่เขาอยากได้จากแม่ฮ่องสอน เป็นข่าวยังไงคะ ลุง”

“ก็ข่าวอาชญากรรมบ้าง สงครามบ้าง อุบัติเหตุ น้ำท่วม ไฟไหม้บ้าง และข่าวราชสำนัก ในหลวง พระพี่นางเสด็จมาแม่ฮ่องสอนบ่อย”

ลุงเล่าบรรยาการส่งข่าวยุคของลุงให้ฟัง

“ลุงนี่ส่งข่าวตั้งแต่ส่งเป็นโทรเลข”

😲 เราถึงกับร้อง ฮ้า–  “โทรเลขเขาคิดตังค์เป็นคำๆ ไม่ใช่เหรอคะ ลุง ไม่เสียเป็นร้อยๆ บาทเหรอคะ”

ลุงโชติยิ้ม  “ก็ต้องส่งให้เขาเขียนหัวข่าว สมัยนั้นโทรศัพท์ก็ไม่มี แต่ถ้าเขาอยากได้รายละเอียดเพิ่ม เราก็เขียนเป็นจดหมาย ใช้เวลาสัปดาห์หนึ่ง”

“ตอนหลังมีแฟ็กซ์ เชียงใหม่มีแฟ็กซ์แล้ว แต่เราอยู่แม่ฮ่องสอนไม่มีแฟ็กซ์ ผมก็เขียนเป็นลายมือ แล้วส่งไปกับรถเปรมประชาส่งเข้าเชียงใหม่ ให้เชียงใหม่ส่งแฟกซ์ไปอีกที”

ลุงโชติเขียนข่าวส่งให้ไทยรัฐ

“สมัยนั้นต้องไทยรัฐ นักข่าวท้องถิ่นมีแต่ไทยรัฐ บางทีเขาให้ฟิล์มมา 2 ม้วน เราต้องคิดดีๆ จะถ่ายอะไร”

แต่สตริงเกอร์ ฟรีแลนซ์  ไม่ใช่นักข่าวประจำ  จะได้เงินก็ต่อเมื่อเขารับซื้อข่าวนั้น  “ถ้าส่งไปแล้วเขาไม่เอาล่ะคะลุง”

“ก็ไม่ได้ตังค์”

(เหมือนนักเขียนเลย ยุคนั้น ถ้าไม่ผ่าน ก็คือลงตะกร้า)

“ไม่รู้สึกว่าเสียแรงเปล่าหรือ” ถามตรงๆ 

ลุงยิ้ม

“ทำไมลุงถึงอยากเป็นนักข่าว ในเมื่อรายได้มันน้อยมาก”

ลุงยิ้มกว้าง “ผมชอบ มันก็สนุก เราต้องแข่งกับเวลา แข่งกันส่งข่าวให้ทัน เวลาไปทำข่าวชายแดน ข่าวสงคราม น้ำท่วม ไฟไหม้ เวลาข่าวเหล่านี้ได้ลงหนังสือพิมพ์ เราภูมิใจที่ได้เผยแพร่เรื่องของแม่ฮ่องสอนให้โลกภายนอกได้รับรู้  รู้ไหม  ผมนี่คือนักข่าวคนที่ 3 ของแม่ฮ่องสอน ส่วนคนแรกและคนที่สองเสียแล้ว เป็นนักข่าวไทยรัฐเหมือนกัน

“การเป็นนักข่าวไม่ได้เงินเยอะอะไรหรอก แต่รู้ไหม  เวลาที่มีข้าราชการเขาถูกสั่งให้ย้ายมาอยู่แม่ฮ่องสอน เขาเศร้า ที่นี่ไกลปืนเที่ยง เวลาที่ผมคุยกับเขา เวลาที่เราทำข่าวแล้วข่าวลง เขาเห็นก็มีกำลังใจ พอเขามีกำลังใจทำงาน คนได้ประโยชน์ก็คือคนแม่ฮ่องสอน”

เพราะรู้ว่าอาชีพนักข่าวรายได้น้อย  อาชีพหลักของลุงในเวลานั้นจึงเป็นคนขายโจ๊ก  ลุงโชติขายโจ๊ก ขายดีจนเลขาของราชสำนักมากินทุกครั้งที่มาแม่ฮ่องสอน

ลุงโชติอยู่กับการทำข่าวตั้งแต่ยังขายโจ๊กจนเลิกขายโจ๊ก อยู่ตั้งแต่ส่งเป็นโทรเลขจนมาถึงยุคไม่ต้องรอการประเมิน ผ่าน/ไม่ผ่าน เพราะทุกวันนี้ทุกคนทำสื่อแล้วโพสต์ได้เลย ไม่ว่า FB, tiktok, youtube ฯลฯ 

งานวันนักข่าวของแม่ฮ่องสอน มีทั้งน้องๆ ยูทูเบอร์รุ่นใหม่ คนทำเพจแม่ฮ่องสอนที่มีคนติดตามหลายหมื่นจนถึงหลักแสน คนทำสื่อภาครัฐ สื่ออิสระ นักข่าวสตริงเกอร์ยุคบุกเบิกของแม่ฮ่องสอนจวบจนปัจจุบัน

ก่อนกลับคืนนั้น มีอุบัติเหตุ น้องนักข่าววิ่งออกจากงาน ไปทำข่าวทั้งที่กำลังกินอร่อยๆ —

ไม่ว่า ข่าวอาชญากรรม ข่าวน้ำท่วม ไฟไหม้ อุบัติเหตุ หรือข่าวการเมือง ข่าวสังคม  ทุกข่าวล้วนมีคุณค่าด้วยตัวของมันเอง

ขอบคุณนักข่าวทุกคน

สวัสดีวันนักข่าว (ย้อนหลัง) 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ