ธนาคารแห่งประเทศไทย / แบงก์ชาติร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดงาน ‘ธรรมาภิบาลดีเด่นแห่งปี 2567’ มอบรางวัลให้แก่ผู้ประกอบการ SME และ 10 กองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นจากทั่วประเทศที่ได้รับรางวัล “ผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์ตามแนวคิดการจัดสวัสดิการสังคม ‘จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน’ ของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์” ปูชนียบุคคลของสังคมไทย
วันนี้ (9 มีนาคม) ที่อาคารศูนย์การเรียนรู้ ธนาคารแห่งประเทศ บางขุนพรหม กรุงเทพฯ ธนาคารแห่งประเทศไทยร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดงาน ‘ธรรมาภิบาลดีเด่นแห่งปี 2567’ โดยมีพิธีมอบรางวัลให้แก่ผู้ประกอบการ SME ที่มีธรรมาภิบาลดีแห่งปี 2567 และ 10 กองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นจากทั่วประเทศที่ได้รับรางวัล “ผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์ตามแนวคิดการจัดสวัสดิการสังคม ‘จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน’ ของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์” ปูชนียบุคคลของสังคมไทย โดยมีผู้เข้าร่วมงานประมาณ 300 คน จากภาคธุรกิจเอกชน สถาบันป๋วย อึ๊งภากรณ์ วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้แทนกองทุนสวัสดิการชุมชน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)
แนวคิดสวัสดิการสังคมของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์
ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เกิดเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2459 (เสียชีวิต 2542) เป็นอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้บุกเบิกงานพัฒนาชนบท ฯลฯ ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ซื่อสัตย์ สมถะ ได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะในปี 2508 และองค์การยูเนสโกยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกในปี 2558
ในเดือนตุลาคม 2516 ดร.ป๋วยได้เสนอแนวคิดการจัดสวัสดิการสังคมให้แก่ประชาชนตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต และมีการตีพิมพ์เผยแพร่บทความดังกล่าวออกไปอย่างกว้างขวาง เรียกบทความนี้ว่า “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ดังเนื้อหาตอนหนึ่งว่า…
“ในระหว่าง 2-3 ขวบแรกของผม ซึ่งร่างกายและสมองผมกำลังเติบโตในระยะที่สำคัญ ผมต้องการให้แม่ผมกับตัวผม ได้รับประทานอาหารที่เป็นคุณประโยชน์
ผมต้องการไปโรงเรียน พี่สาวหรือน้องสาวผมก็ต้องการไปโรงเรียน จะได้มีความรู้หากินได้ และจะได้รู้คุณธรรมแห่งชีวิต ถ้าผมสติปัญญาเรียนชั้นสูง ๆ ขึ้นไป ก็ให้มีโอกาสเรียนได้ ไม่ว่าพ่อแม่ผมจะรวย หรือจน จะอยู่ในเมืองหรือชนบทแร้นแค้น
เมื่อออกจากโรงเรียนแล้ว ผมต้องการงานอาชีพที่มีความหมาย ทำให้ได้รับความพอใจว่า ตนได้ทำงานเป็นประโยชน์แก่สังคม”
บทความ “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” เป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นต่อมาได้นำมาเป็นแบบอย่างในการทำงานเพื่อสร้างสรรค์สังคม และเนื่องในวันคล้ายวันเกิดของดร.ป๋วย (9 มีนาคม 2459) หน่วยงานต่างๆ จึงถือเอาวันนี้จัดกิจกรรมต่างๆ ขึ้นมา เพื่อสืบสานปณิธานของ ดร.ป๋วย
‘พอช.’ จับมือภาคีเครือข่ายประกวดรางวัล“ผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์”
ทั้งนี้ที่ผ่านมา สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ ในฐานะหน่วยงานที่สนับสนุนการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนในระดับตำบล เทศบาล และเขต (ในกรุงเทพฯ) ร่วมกับภาคีต่างๆ จัดประกวดรางวัล “ผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์ตามแนวคิดการจัดสวัสดิการสังคม ‘จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน’ ของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์” ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา เพื่อยกย่อง เชิดชู องค์กรหรือกองทุนสวัสดิการชุมชนที่ดำเนินการช่วยเหลือ ดูแลคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนอย่างโดดเด่นในด้านต่างๆ โดยมีการจัดงานเพื่อมอบรางวัลให้แก่กองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นทุกวันที่ 9 มีนาคม ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของ ดร.ป๋วยที่ธนาคารแห่งประเทศไทย
นับแต่การประกวดรางวัลครั้งแรกในปี 2559 มีการจัดประกวดรางวัลไปแล้ว รวม 6 ครั้ง (เว้นช่วงโควิด-19) มีกองทุนสวัสดิการชุมชนที่ได้รับรางวัล รวม 48 กองทุน โดยในปี 2566 เป็นการจัดประกวดครั้งที่ 7 มีรางวัลประเภทต่างๆ รวม 10 ด้าน มีกองทุนสวัสดิการชุมชนจากทั่วประเทศส่งผลงานเข้าร่วมประกวด รวม 69 กองทุน คณะกรรมการได้พิจารณาคัดเลือก และประกาศผล 10 กองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นเมื่อปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา
10 กองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นรับรางวัล ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’
10 กองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นที่ได้รับรางวัลในวันนี้ (9 มีนาคม) ประกอบด้วย รางวัลประเภทที่ 1 ด้านการพัฒนาครอบครัว แม่และเด็ก : กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลบาโงยซิแน อ.ยะหา จ.ยะลา มีผลงานดีเด่น ด้านการจัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาแก่ครอบครัวสมาชิกกองทุนสวัสดิการ เพื่อลดปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการใช้ยาเสพติด สามารถช่วยเหลือได้ 115 ครอบครัว
ประเภทที่ 2 ด้านการพัฒนาสุขภาพ ความมั่นคงทางอาหาร : กองบุญไทบ้านสวัสดิการชุมชนตำบลกุดปลาดุก อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ มีผลงานดีเด่น ด้านการดูแลป่าชุมชนจำนวน 10 ป่า เกิดแหล่งอาหารและสมุนไพรจากป่าให้ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์คิดเป็นมูลค่าปีละ 12 ล้านบาท
ประเภทที่ 3 ด้านการพัฒนาสังคมสูงวัย : กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลแม่ฮี้ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน มีผลงานดีเด่น ด้านการจัดสวัสดิการดูแลสมาชิกผู้สูงอายุ มีโรงเรียนผู้สูงอายุ จัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้ผู้สูงอายุได้พบปะกัน ไม่เหงา ซึมเศร้า
ประเภทที่ 4 ด้านการพัฒนาการศึกษา การเรียนรู้ ทักษะการดำรงชีวิต : กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลหนองเรือ อ.นาเชือก จ.มหาสารคาม มีผลงานดีเด่น ด้านการส่งเสริมสมาชิกและคนทุกวัยในตำบล เช่น เด็ก สตรี ผู้สูงอายุ ให้มีกิจกรรมการเรียนรู้ด้านต่างๆ และนำความรู้มาใช้ประโยชน์ในตำบล เช่น มีกลุ่มเยาวชนอาสาดูแลหรือเยี่ยมผู้ป่วย
ประเภทที่ 5 ด้านการดูแลสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ : กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเมืองบัว อ.ชุมพลบุรี จ.สุรินทร์ มีผลงานดีเด่น ด้านการจัดการขยะในตำบล นำขยะเปียกมาทำปุ๋ยอินทรีย์ ส่งเสริมการปลูกผักอินทรีย์เป็นอาหารและนำไปขายสร้างรายได้
ประเภทที่ 6 ด้านการพัฒนาสัมมาชีพในชุมชน : กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลคอรุม อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ มีผลงานดีเด่น ด้านการส่งเสริมอาชีพ เช่น ทำสบู่จากน้ำนมข้าว นำหอยขมมาแปรรูปเป็น ‘หอยขมสามรส’ จำหน่าย ส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน
ประเภทที่ 7 ด้านการสร้างความมั่นคง ความปลอดภัย : กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลนาหมื่นศรี อ.นาโยง จ.ตรัง มีผลงานดีเด่น ด้านการสร้างความมั่นคงให้แก่สมาชิกทั้งด้านเศรษฐกิจ อาชีพ สุขภาพ อาหาร ฯลฯ
ประเภทที่ 8 ด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน : กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลวังตามัว อ.เมือง จ.นครพนม มีผลงานดีเด่น ด้านการสนับสนุนการซ่อมแซมบ้านผู้ที่มีฐานะยากจน และนำที่ดินสาธารณะมาสร้าง ‘ฟาร์มชุมชน’ เพื่อเลี้ยงสัตว์ เลี้ยงปลา ปลูกผัก สร้างอาชีพให้แก่สมาชิกในตำบล
ประเภทที่ 9 ด้านการสร้างสังคมที่เป็นธรรม : กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลสุไหงปาดี อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส มีผลงานดีเด่น ด้านการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของชาวบ้านที่ทับซ้อนกับพื้นที่ป่า ซึ่งชาวบ้านได้เข้าทำกินตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ จนนำไปสู่การแก้ไขปัญหา สร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้น
ประเภทที่ 10 ด้านการฟื้นฟูวิถีวัฒนธรรมและสุนทรียะ : กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลลาดชะโด อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา มีผลงานดีเด่น ด้านการฟื้นฟูประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น เช่น การแห่เทียนเข้าพรรษาทางน้ำ การอนุรักษ์เรือเก่า
‘ดร.กอบศักดิ์’ แนะเปลี่ยนแปลงประเทศไทยต้องส่งเสริมชุมชน 3 ขั้นตอน
การมอบรางวัลกองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นในครั้งนี้ มีผู้บริหาร พอช. เช่น ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ นายกฤษดา สมประสงค์ ผอ.พอช. นายแก้ว สังข์ชู ประธานอนุกรรมการสวัสดิการชุมชน และผู้แทนกองทุนสวัสดิการชุมชนที่ได้รับรางวัล เข้าร่วมงานประมาณ 120 คน
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กล่าวแสดงความยินดีกับกองทุนสวัสดิการชุมชน 10 กองทุน มีใจความว่า เมื่อก่อนชุมชนต้องรอให้คนอื่น หรือหน่วยงานมาช่วย การพัฒนาประเทศไทยยิ่งพัฒนา คนยิ่งยากจน เพราะรวมศูนย์ หมู่บ้านยิ่งอ่อนแอ เมืองใหญ่ยิ่งเติบโต กรุงเทพฯ เติบโต ชุมชนภาคตะวันออกแถบ EEC ยิ่งเติบโต ชุมชนในชนบทมีแต่หนี้ เหลือแต่คนแก่กับเด็ก ยิ่งพัฒนายิ่งอ่อนแอ ถ้าอยากให้ประเทศไทยเปลี่ยนต้องมาพัฒนาที่พื้นที่
“ตำแหน่งที่ตนรู้สึกภูมิใจมากก็คือ การเป็นประธานกรรมการ พอช.นี่แหล่ะ เพราะคำตอบในการเปลี่ยนประเทศคือ พี่น้องประชาชน ที่จะมาสร้างความเสถียรภาพ สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนและประเทศ รัฐบาลทำโครงการลงทุนมาก ส่งเสริมไม่ตรงจุด แต่เป็นการสร้างตลาดหมานอน ตอนเปิดมีคนไปค้าขายตื่นเต้นได้ 3 วัน มีรัฐมนตรีไปเปิดงาน ที่ที่ทำไม่เหมาะกับการค้าขาย คนขายคนซื้อก็ไม่มา ลงทุนเกือบๆ 5 พันล้าน ก็ไม่เกิดผล” ดร.กอบศักดิ์ยกตัวอย่างการสร้างตลาดขายสินค้าชุมชนที่ไม่ประสบความสำเร็จในอดีต กลายเป็นตลาดร้าง
ดร.กอบศักดิ์บอกถึงแนวทางการพัฒนาที่เหมาะสมว่า เราต้องมองถึงการสร้างผู้นำชุมชนให้เข้มแข็งก่อน ไม่ต้องเอาเงินมาลงทุนมากๆ ชุมชนมีระบบเก็บออมของตัวเอง ใน 10 ปีได้ 15 ล้านบาท มีธนาคารออมสิน ธกส. มาร่วมส่งเสริมระบบการเงิน เงินก็ไม่ออกจากชุมชน ชุมชนก็เติบโตแข็งแรงขึ้น พอช.ทำโครงการสร้างให้ผู้นำเข้มแข็ง โครงการนั้นอยู่รอด หัวใจการเปลี่ยนประเทศไทย คือ การสร้างผู้นำ ต้องมีการเพิ่มผู้นำรุ่นใหม่ให้มากขึ้น ยิ่งเราสร้างมาก โอกาสก็มีมาก รวมถึงการรวมตัวเป็นกลุ่มเป็นเครือข่าย สร้างพลังทุกกองทุนทั่วประเทศ และทำหลากหลายมิติ ตั้งแต่เด็ก การศึกษา มีการดูแลผู้สูงอายุ ดูแลป่า สิ่งแวดล้อม จัดการขยะ
ดร.กอบศักดิ์กล่าวด้วยว่า ตนเคยทำงานกับท่านอาจารย์ป๋วยช่วงเกิดวิกฤต อาจารย์เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่มักให้เราได้เรียนรู้เอง เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่เข้าใจงานชนบทและงานพัฒนาเป็นอย่างมาก เป็นผู้มีคุณูปการเรื่องการเงินของประเทศไทยสูง ทั้งเรื่องมาตรการและกฎหมายด้านการเงินที่ยังคงดำเนินการจนถึงปัจจุบันนี้
“ประเทศไทยจะเปลี่ยนแปลง ต้องส่งเสริมชุมชน 3 ขั้นตอน คือ 1.ทำให้ชุมชนเดินได้ก่อน แม้ถูกกดขี่ยิ่งทำยิ่งเป็นหนี้ สุดท้ายจบด้วยการสูญสียที่ดิน เราต้องมีระบบการออมในชุมชน เช่น การออมวันละบาท จะทำให้ชุมชนสลัดจากการถูกกดขี่ สลัดจากหนี้นอกระบบที่เป็นปลิงที่จ้องดูดเลือดเราออกไป การทำเรื่องสถาบันการเงินชุมชน ก็สามารถตอบโจทย์ของคนในชุมชนได้เช่นกัน
2.ทำให้ชุมชนยืนได้ ช่วยเหลือกันเองได้ ต้องมีสุขภาพที่แข็งแรง สุขภาพของคนในชุมชนดีทุกช่วงวัย มีการจัดสวัสดิการชุมชน ดูแลกันตั้งแต่เกิดจนตาย เป็นกองทุนที่ดูแลกัน ชุมชนมีเงิน
3.ทำให้ชุมชนวิ่งได้ มีเงิน มีรายได้ ทำเรื่องป่าชุมชน สินค้าชุมชน การตลาดชุมชน เดินหน้าสร้างผู้นำเข้มแข็ง ต้องทำกับผู้นำที่เข้มแข็ง เติมความรู้เรื่องเทคโนโลยี ทำการตลาด ค้าขายออนไลน์ มีการส่งเสริมระบบการตลาด เปิดพื้นที่ให้เอกชนจับมือกับชุมชนที่เข้มแข็ง เป็นต้นแบบ เมื่อเราทำได้ เราก็วิ่งได้ เปลี่ยนจากชุมชนที่เป็นโรคตาลขโมย เป็นความเข้มแข็งในทุกมิติ” ดร.กอบศักดิ์กล่าวในตอนท้าย
กองทุนสวัสดิการชุมชน “นวัตกรรมทางสังคม”
กองทุนสวัสดิการชุมชนเริ่มจัดตั้งอย่างเป็นทางการในปี 2548 โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และรัฐบาลให้การสนับสนุน เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไป ชาวไร่ ชาวนา เกษตรกร ที่ไม่มีระบบสวัสดิการรองรับเหมือนกับข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจและบริษัทเอกชน ได้จัดตั้งกองทุนขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือดูแลกัน โดยสมาชิกสมทบเงินเข้ากองทุนวันละ 1 บาท หรือปีละ 365 บาท รวมทั้งเงินสมทบจากรัฐบาลผ่าน พอช. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือเงินบริจาค แล้วนำเงินกองทุนนั้นมาช่วยเหลือสมาชิกและผู้ด้อยโอกาสในยามเดือดร้อนจำเป็น
เช่น คลอดบุตร (500-1,000 บาท) เจ็บป่วยนอนโรงพยาบาล (คืนละ 100 บาท ปีหนึ่งไม่เกิน 10 คืน) เสียชีวิต (3,000-20,000 บาท ตามอายุการเป็นสมาชิก ) ช่วยยามเกิดภัยพิบัติ ไฟไหม้ (2,000 บาท) เกณฑ์ทหาร งานบวช งานแต่ง (1,000 บาท) ฯลฯ นอกจากนี้ยังช่วยเหลือคนพิการ คนด้อยโอกาสที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุน ทั้งนี้การช่วยเหลือต่างๆ ดังกล่าว สมาชิกและคณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชุมชนแต่ละแห่งจะร่วมกันกำหนดอัตราเงินช่วยเหลือตามสถานะการเงินของกองทุน
แม้อัตราเงินช่วยเหลือจะไม่มากนัก แต่ก็เป็นการช่วยเหลือที่ทันท่วงที ไม่มีขั้นตอนยุ่งยากในการเบิกจ่ายเงิน โดยมีคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ ที่มาจากสมาชิกช่วยกันบริหารดูแล เช่น กรรมการฝ่ายบริหาร ฝ่ายการเงิน ฝ่ายบัญชี บริหารกองทุนด้วยความโปร่งใส มีธรรมาภิบาล ช่วยเหลือผู้เดือดร้อนได้ทั่วถึง
ปัจจุบันเป็นเวลา 19 ปี มีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศ ในระดับตำบล เทศบาล และระดับเขต(ในกรุงเทพฯ) แล้ว จำนวน 5,951 กองทุน สมาชิกรวมกัน 6,773,362 ราย มีเงินกองทุนสะสมรวม 21,355,537,123 บาท (เฉลี่ยกองทุนแต่ละแห่งมีเงินกองทุนแห่งละ 3.5 ล้านบาท) ช่วยเหลือสมาชิกและผู้ด้อยโอกาสในยามเกิด แก่ เจ็บ ตาย ฯลฯ รวมกันจำนวน 6,626,574 ราย เงินช่วยเหลือรวม 5,307,352,773 บาท ถือเป็นตาข่ายรองรับผู้เปราะบางทางสังคม
นอกจากนี้ยังมีสวัสดิการที่ใช่ตัวเงิน เช่น การช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อม การจัดการขยะ อนุรักษ์ป่าไม้ ป่าชุมชน ส่งเสริมการปลูกไม้มีค่าเป็นบำนาญยามชรา สร้างแหล่งอาหาร แหล่งน้ำในการเกษตร ส่งเสริมอาชีพ ประเพณี วัฒนธรรม ฯลฯ ทำให้สมาชิกและชาวชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เป็นสวัสดิการชุมชนที่ครอบคลุมทุกมิติชีวิตและยั่งยืน และที่สำคัญยังถือเป็นการ ‘สร้างนวัตกรรมทางสังคม’ ขึ้นมาด้วย (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ (www. thaipost.net/public-relations-news/332613/ และ www.thaipost.net/public-relations-news/332721/)