คาดผลผลิตลำไยปี 59 ลด กระทบจากแล้งจัด ราคาขยับสูง

คาดผลผลิตลำไยปี 59 ลด กระทบจากแล้งจัด ราคาขยับสูง

คาดผลผลิตลำไยปี 59 ลด กระทบจากแล้งจัด  ราคาขยับสูง  

 

20160607135232.png

ลำไยเป็นผลไม้เศรษฐกิจสำคัญที่สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยอย่างมหาศาล มีพื้นที่เพาะปลูกในประเทศกว่า 1.10 ล้านไร่ ซึ่งแหล่งเพาะปลูกสำคัญร้อยละ 81 ของพื้นที่ที่ให้ผลผลิตอยู่ทางภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย พะเยา และน่าน ส่วนที่เหลือกระจายอยู่ในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  เช่น จันทบุรี และเลย

 ผลผลิตลำไยของประเทศไทยในแต่ละปี นอกจากนำไปบริโภคภายในประเทศแล้ว ยังมีการส่งออกในลักษณะต่างๆ เป็นจำนวนมาก ทั้งลำไยสด ลำไยอบแห้ง ลำไยแช่แข็งและผลิตภัณฑ์ลำไย ซึ่งตลาดส่งออกลำไยสดที่สำคัญ ได้แก่ จีน อินโดนีเซีย ฮ่องกง เวียดนาม แคนนาดา มาเลเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ ส่วนลำไยอบแห้งมีตลาดใหญ่ที่สุด คือ ฮ่องกง และจีน โดยในปี 2558 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีมูลค่าการส่งออก     ลำไยสด 9,752 ล้านบาท ลำไยอบแห้ง 5,426 ล้านบาท ลำไยแช่แข็งและผลิตภัณฑ์ลำไย 635 ล้านบาท รวมมูลค่ากว่า 15,813 ล้านบาท

สำหรับปริมาณผลผลิตและราคาลำไยในฤดูกาลของภาคเหนือปี 2559 นี้ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยพิจารณาถึงปัจจัยต่างๆ ที่จะส่งผลต่อปริมาณผลผลิตและราคาลำไยในฤดูกาลของภาคเหนือ โดยคาดการณ์ว่าปริมาณผลผลิตลำไยในฤดูกาล (เดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน) จะลดลงประมาณร้อยละ 20 – 30 เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณผลผลิตในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2558 เนื่องจาก แม้ว่าในปี 2559 นี้ ลำไยจะมีการติดดอกมากกว่าปีที่ผ่านมา แต่จากปัจจัยทางสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนในหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน จังหวัดเชียงราย และจังหวัดพะเยา ซึ่งเป็นแหล่งปลูกลำไยรายใหญ่ของภาคเหนือ ได้ประสบกับภัยแล้งอย่างรุนแรง ฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานานหลายเดือน เกษตรกรขาดแคลนน้ำสำหรับการเพาะปลูก โดยเฉพาะในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นระยะที่ผลลำไย (ในฤดูกาล) กำลังเจริญเติบโต ทำให้ดอกและผลลำไยร่วงเป็นจำนวนมาก อีกทั้งในบางพื้นที่ที่ขาดน้ำอย่างรุนแรง ต้นลำไยบางส่วนเกิดความเสียหายและแห้งตาย ผลลำไยที่กำลังสร้างเนื้อขาดน้ำ หยุดชะงักการเจริญเติบโต ทำให้ผลลำไยมีขนาดเล็ก ประกอบกับในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาเกิดพายุฤดูร้อน ผลลำไยที่กำลังเจริญเติบโตได้รับน้ำฝนในปริมาณมาก ทำให้ผลลำไยผิวแตกเสียหายบางส่วน เป็นเหตุให้ผลผลิตลำไยในฤดูกาลของปีนี้มีปริมาณลดลง และยังส่งผลให้คุณภาพของผลผลิตลำไยไม่เป็นไปตามที่เกษตรกรคาดการณ์ไว้

20160607135551.png

ส่วนราคาลำไยในฤดูกาลที่เกษตรกรได้รับ ในปี 2559 นี้ คาดการณ์ว่าจะมีราคาเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 10 – 20 หรือประมาณ 5 – 8 บาท/กิโลกรัม เมื่อเปรียบเทียบกับราคาผลผลิตลำไยในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2558 ทั้งแบบตะกร้าและแบบร่วง ในทุกขนาดของผลลำไย เนื่องจาก ปริมาณผลผลิตลำไยในปีนี้มีปริมาณค่อนข้างน้อย โดยราคาลำไยแบบตะกร้าจะมีราคาประมาณ 35 – 40 บาท/กิโลกรัม

สำหรับประเด็นที่น่าสนใจอื่นๆ ที่ทางศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตรได้รับข้อมูลจากการลงพื้นที่สังเกตและสัมภาษณ์เกษตรกร รวมถึงผู้รับซื้อ และเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ พบว่า ในหลายพื้นที่มีผู้รับซื้อลำไยเป็นจำนวนมากเข้าไปทำการรับซื้อผลผลิตถึงในสวนของเกษตรกร ซึ่งเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงปริมาณความต้องการผลผลิตลำไยที่มีมากกว่าปริมาณผลผลิตลำไยในพื้นที่

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ