กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลวังตามัว จ.นครพนม “จากการสงเคราะห์…สู่การพัฒนาทั้งตำบล”

กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลวังตามัว จ.นครพนม “จากการสงเคราะห์…สู่การพัฒนาทั้งตำบล”

คณะกรรมการสวัสดิการชุมชนตำบลวังตามัว อ.เมือง จ.นครพนม เยี่ยมบ้านสมาชิกกองทุนฯ ที่ได้รับการช่วยเหลือซ่อมแซมบ้าน

กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลวังตามัว  อ.เมือง  จ.นครพนม  เป็น 1 ใน 10 กองทุนสวัสดิการชุมชนจากทั่วประเทศที่ได้รับรางวัล “ผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์ระดับชาติ” ประจำปี 2566 ตามแนวคิดการจัดสวัสดิการสังคม “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์  อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ (www.thaipost.net/public-relations-news/546209/)

โดยกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลวังตามัว ได้รับรางวัลจากการประกวดประเภทที่ 8 ด้าน ‘การพัฒนาที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน’ ซึ่งจะมีพิธีมอบโล่และใบประกาศเกียรติคุณพร้อมกันทั้ง 10 กองทุนในวันที่ 9 มีนาคม 2567 นี้ ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของ ดร.ป๋วย  อึ๊งภากรณ์  ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย  บางขุนพรหม  กรุงเทพฯ

2

กองทุนสวัสดิการชุมชนฯ สร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย

กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลวังตามัว  อ.เมือง  จ.นครพนม ก่อตั้งเมื่อปี 2557 โดยได้รับคำแนะนำจากคณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชุมชน จ.นครพนม  แกนนำในตำบลวังตามัวจึงเห็นชอบที่จะมีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนเอาไว้ช่วยเหลือกัน  โดยมีระเบียบให้สมาชิกสมทบเงินเข้ากองทุนคนละ 365 บาท/ปี  แล้วนำเงินกองทุนนั้น  รวมทั้งเงินสมทบจากรัฐบาลผ่านสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) และ อบต.วังตามัว มาช่วยเหลือสมาชิกที่มีความเดือดร้อนจำเป็น  มีสมาชิกแรกตั้ง 92 คน  สมาชิกปัจจุบัน จำนวน 1,271  คน (บุคคลทั่วไป 597 คน เด็ก/เยาวชน 138 คน ผู้สูงอายุ 536 คน /จำนวนประชากรในพื้นที่ 9,003 คน) มีเงินคงกองทุนฯ คงเหลือ  จำนวน 2,277,275 บาท

กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลวังตามัว  มีการจัดสวัสดิการช่วยเหลือสมาชิก 11 ประเภท ได้แก่ 1.รับขวัญเด็กแรกเกิด/ผูกแขนบุตร 2.เจ็บป่วย 3.เสียชีวิต 4.งานประเพณี 5.ทุนการศึกษา 6.ภัยพิบัติ  โรคระบาด เช่น สถานการณ์โรคระบาด covid-19 7.พัฒนาอาชีพกลุ่มผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส  (ทำเหรียญโปรยทาน พวงหรีด ดอกไม้จันทน์)  8. ส่งเสริมโรงเรียนผู้สูงอายุ 9. ส่งเสริมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (การปลูกป่า) 10.สนับสนุนสาธารณประโยชน์  งานประเพณีต่าง ๆ  และ 11.ที่อยู่อาศัย

ทั้งนี้ในตำบลวังตามัว  มีพื้นที่ทั้งหมด 76,181 ไร่  มีพื้นที่การเกษตร 12,135 ไร่ ที่อยู่อาศัย 564 ไร่ พื้นที่ป่า 49,096 ไร่ที่ซ้อนทับอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติและเขตที่ดิน ส.ป.ก.  ทำให้ชาวบ้านไม่มีความมั่นคงเรื่องที่ดินและที่อยู่อาศัย

ในปี 2559 คณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลวังตามัว ได้เยี่ยมเยือนสมาชิกกองทุนฯ ในหมู่บ้านต่างๆ ทำให้เห็นความเป็นอยู่ของสมาชิกที่มีฐานะยากจน  บางหลังสภาพบ้านเรือนทรุดโทรม  ผุพัง  ไม่เหมาะแก่การอยู่อาศัย หรืออาจเป็นอันตรายแก่เด็กหรือผู้สูงอายุ  เช่น  กรณีนางดวงตา  จันทะสิทธิ์  บ้านเลขที่ 204 หมู่ 6 บ้านคำสว่าง

3

ขณะเดียวกัน  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ มีโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนที่มีรายได้น้อยทั่วประเทศ เช่น  โครงการบ้านมั่นคงชนบท  ซึ่ง พอช.สนับสนุนให้องค์กรชุมชนในตำบลเป็นแกนหลักในการพัฒนาที่อยู่อาศัย  โดยมีสภาองค์กรชุมชนตำบลในพื้นที่ต่างๆ เป็นกลไกในการพัฒนาและแก้ไขปัญหา

กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลวังตามัวจึงทำงานร่วมกับสภาองค์กรชุมชนตำบลวังตามัว  ลงพื้นที่สำรวจจัดเก็บข้อมูลผู้เดือดร้อนในปัญหาต่างๆ   นำข้อมูลมาวิเคราะห์  สังเคราะห์เพื่อจัดกลุ่มปัญหา  จัดทำแผนการแก้ไขปัญหาให้ครอบคลุมทุกมิติ เชื่อมโยงการทำงานกับคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตตำบลวังตามัว  โดยมีกรณีนางดวงตา  จันทะสิทธิ์  เป็นครัวเรือนแรกๆ ที่กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลวังตามัวได้นำงบประมาณสนับสนุนจาก พอช. นำมาซ่อมสร้างบ้านให้นางดวงตา  จนมีสภาพบ้านเรือนที่มั่นคงปลอดภัย  หลังจากนั้นจึงขยายไปสู่ครัวเรือนต่างๆ ในตำบล

ส่วนการสำรวจข้อมูลเพื่อช่วยเหลือสมาชิกด้านที่อยู่อาศัยนั้น  คณะกรรมการกองทุนสวัสดิการฯ แต่ละหมู่บ้านจะเป็นผู้สำรวจ  และนำข้อมูลแต่ละหมู่บ้านมาดูพร้อมกัน  โดยมีกำนัน  ผู้ใหญ่บ้าน เข้าร่วมด้วย   และจัดลำดับความเดือดร้อนว่าหลังไหนเดือดร้อนมากน้อยขนาดไหน  ฉายภาพให้เห็นว่าหลังไหนสมควรที่จะได้รับความช่วยเหลือก่อน

4

จากสงเคราะห์สู่การพัฒนา…แก้ปัญหาทั้งตำบล

นอกจากการซ่อมสร้าง พัฒนาที่อยู่อาศัย  ดังกล่าวแล้ว  ในเวลาต่อมากองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลวังตามัวยังได้ขยายไปแก้ไขปัญหาอื่นๆ  เช่น  ปัญหาที่ดินทำกิน  โดยใช้พื้นที่กลางเพื่อประโยชน์ส่วนรวม  ทำฟาร์มชุมชน  และการปลูกป่าหัวไร่ปลายนาเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า

ฟาร์มชุมชน เป็นพื้นที่กลางเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน  ชาวบ้านเรียกว่า “ฟาร์มชุมชน” มี 2 แห่ง ได้แก่ ฟาร์มชุมชนตำบลวังตามัว 1  มีพื้นที่ 6 ไร่ ฟาร์มชุมชนตำบลวังตามัว 2 มีพื้นที่ 12 ไร่  โดยกองทุนสวัสดิการชุมชนเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้เกิดพื้นที่เรียนรู้ด้านการเกษตรเพื่อสร้างอาชีพ  โดยการลงแรง  ร่วมมือ  ร่วมใจของสมาชิกกองทุนฯ

ปัจจุบันฟาร์มชุมชนเป็นแหล่งเรียนรู้  โดยจะมีวิทยากรจากหน่วยงานต่างๆ มาให้ความรู้ด้านการเกษตรทุกสัปดาห์ ขณะที่ชาวชุมชนได้ใช้ฟาร์มชุมชนเป็นพื้นที่สาธิตปลูกข้าวแปลงรวม เลี้ยงหมู ปลูกผัก เลี้ยงปลา เลี้ยงจิ้งหรีด เพาะเห็ด  ฯลฯ  มีสมาชิก  50 คน

เช่น  กลุ่มเลี้ยงตั๊กแตนมีสมาชิก 20 ครัวเรือน สมาชิกจะระดมทุนไปซื้อไข่ตั๊กแตนมาแบ่งกันเลี้ยงคนละ 1 ขีด  จากไข่ 1 ขีดสามารถเลี้ยงเพิ่มปริมาณได้ถึง 4 กิโลกรัม  ราคาไข่ตั๊กแตน 1 ขีด 600 บาท หรือกิโลกรัมละ 6,000 บาท  ทำให้สมาชิกมีรายได้ดีกว่าการทำนา 

5

จากการดำเนินงานของกองทุนสวัสดิการชุมชนที่มีบทบาทในการประสานงานและแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัยสร้างความเชื่อมั่นให้กับสมาชิกในชุมชนว่ากองทุนสวัสดิการฯ สามารถแก้ไขปัญหาให้แก่สมาชิกและชาวบ้านในตำบลได้ ทำให้เกิดผลต่างๆ ดังนี้

1.เกิดความมั่นคงด้านที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ที่ดินในตำบลได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดิน ตามแนวทาง คทช. (คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ/ในระดับจังหวัดมี ผวจ.เป็นประธาน)ในพื้นที่เขตป่าสงวนเสื่อมโทรม  เกิดการวางแผน จัดผัง การใช้ประโยชน์ในที่ดินทำกินในพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรมอย่างมีส่วนร่วม

  1. เกิดการพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในตำบล ซ่อมแซมที่อยู่อาศัย ผู้สูงอายุ ผู้พิการ จำนวน 309 ครัวเรือน
  2. เกิดรูปแบบความสัมพันธ์ที่ยึดโยงผ่านระบบชุมชน ตามอัตลักษณ์และบริบทของพื้นที่ เกิดระบบกองทุนที่อยู่อาศัยป้องกันเหตุการณ์ที่ดินหลุดมือ มีกองทุนสามารถช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยในชุมชนได้  เกิดการเชื่อมโยง คนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่าในพื้นที่ ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ
  3. เกิดการสร้างรายได้ อาชีพ ให้กับคนในชุมชน สร้างโอกาสในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิต เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์สินค้าชุมชน มีสถานที่จำหน่าย กระจายสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชนที่เหมาะสมและสอดคล้องกับการพัฒนาในระดับจังหวัด
  4. เพิ่มพื้นที่ป่าไม้และการอนุรักษ์ทรัพยากรในพื้นที่
6
อบต.วังตามัวให้การสนับสนุนการทำงานของกองทุนสวัสดิการชุมชน

กองทุนสวัสดิการฯ เชื่อมร้อยภาคีเครือข่ายร่วมพัฒนาตำบล

การพัฒนาและแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินในตำบลวังตามัว กองทุนสวัสดิการชุมชนมีบทบาทในการประสานเชื่อมโยงหน่วยงานต่างๆ เข้ามาร่วมงาน ดังนี้  1.สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ สนับสนุนด้านงบประมาณ  ให้ความรู้และเป็นที่ปรึกษาโครงการ  2.องค์กรบริหารส่วนตำบลวังตามัวสนับสนุนด้านสถานที่และบุคลากร  3.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดนครพนม (พมจ.)สนับสนุนด้านงบประมาณ  ให้ความรู้และเป็นที่ปรึกษาโครงการ

4.สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดนครพนมสนับสนุนด้านการฝึกอบรมฝีมือช่างชุมชน เพื่อพัฒนาฝีมือช่างในการสร้าง-ซ่อมแซมบ้านให้ได้มาตรฐาน 5.มณฑลททหารบกที่ 210 ค่ายพระยอดเมืองขวาง อ.เมือง จ.นครพนม สนับสนุนงบประมาณ  สมทบปูน 50 ถุง และแรงงานช่วยเหลือสร้างบ้าน

6.ศูนย์ผู้สูงอายุ อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม  สนับสนุนด้านงบประมาณซ่อมแซมบ้านและห้องน้ำผู้สูงอายุ  7.สำนักทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทสม.) สนับสนุนด้านบุคลากรให้ความรู้และความร่วมมือ และเป็นที่ปรึกษาในการอนุรักษ์ป่าไม้และสิ่งแวดล้อม 8.ป่าไม้จังหวัดนครพนมสนับสนุนด้านบุคลากรให้ความรู้กับชาวบ้าน

9.ผู้นำชุมชน ท้องถิ่น ท้องที่ จังหวัดนครพนม สนับสนุนแรงงาน และการประชาสัมพันธ์ 10.โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลวังตามัวสนับสนุนด้านบุคลากรและด้านสุขภาวะอนามัยของคนในชุมชน  และ 11.กลุ่มอาชีพต่าง ๆ ในชุมชนให้ความร่วมมือและทำกิจกรรมร่วมกัน

7
พื้นที่ป่าชุมชนกว่า 1,200 ไร่ที่ชาวบ้านช่วยกันดูแล

ป่าชุมชนสร้างแหล่งอาหารได้รับรางวัล ‘ลูกโลกสีเขียว’

ลุงคำผ่อน  บุญหาร  อดีตผู้ใหญ่บ้าน กำนัน และนายก อบต.วังตามัว ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มการอนุรักษ์ป่ามาตั้งแต่ปี 2534 บอกว่า  สมัยที่ตนเป็นผู้ใหญ่บ้านพรเจริญ  ทำหน้าที่รักษาป่า แม้ว่าในอดีตจะมีผู้เข้ามาบุกรุกถางป่าเพื่อปลูกข้าว ปลูกฝ้าย  ตนจึงได้เริ่มอนุรักษ์ป่าไว้ให้ลูกหลาน  ต้องต่อสู้กับผู้บุกรุกเรื่อยมาตั้งแต่ปี 2534  ถึงปี 2540   ได้ของบประมาณจากสำนักงานที่ดินเพื่อให้มารังวัดพื้นที่ป่า เพื่อไม่ให้คนไปบุกรุก ได้พื้นที่ป่ากลับคืนมาเนื้อที่  1,200 ไร่  และมีคณะกรรมการช่วยกันจัดกิจกรรมอนุรักษ์ป่า เช่น การป้องกันไฟป่า   การทำแนวกันไฟ

ปี 2542 ได้รับธงพิทักษ์ป่าจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทำให้โรงเรียนในตำบลเห็นความ สำคัญของการอนุรักษ์ป่า จึงให้นักเรียนมาเรียนรู้  พาลูกหลานมาเรียนมาศึกษาเรื่องต้นไม้ ประโยชน์ของป่า  และต่อมาในปี 2552  ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ซึ่งเป็นการจัดประกวดทั่วประเทศโดย ปตท.

จากความอุดมสมบูรณ์ของป่าพรเจริญที่ลุงคำผ่อนและชาวบ้านช่วยกันดูแลรักษา จึงทำให้ป่าเป็นแหล่งอาหาร  มีหน่อไม้  ผักหวาน  เห็ดป่า  สมุนไพรต่างๆ  ทำให้มีพี่น้องชาวบ้านจากขอนแก่น หนองบัวลำภู  ร้อยเอ็ด มหาสารคาม อุบลราชธานี ฯลฯ  เข้ามาเก็บหาของป่าเอาไปกินและขาย  

นอกจากนี้ลุงคำผ่อนในฐานะอดีตนายก อบต.วังตามัว  ได้เปรียบเทียบการทำงานของ อบต.ที่ผ่านมาว่า อบต.ยังไม่สามารถช่วยเหลือเข้าถึงพี่น้องชาวบ้านได้อย่างเต็มที่  หากจะใช้จ่ายเงินให้พี่น้องต้องมีระเบียบ กฎกติกา ยุ่งยาก แต่กองทุนสวัสดิการชุมชนของไทบ้าน (ชาวบ้าน) ธรรมดาๆ เข้าถึงพี่น้องได้ง่าย ยืดหยุ่นกว่า  มีระเบียบของกองทุน มีกฎกติการใช้เงินสวัสดิการที่ไม่ยุ่งยาก  เพราะเป็นระเบียบที่ชาวบ้านร่วมกันกำหนดขึ้นมาเอง

8
ผลิตภัณฑ์ชุมชนตำบลวังตามัว

 ก้าวย่างต่อไปของกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลวังตามัว

กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลวังตามัวก่อตั้งในปี 2557  ปัจจุบันดำเนินการมาได้ 10 ปี  มีประสบการณ์การทำงานและบริหารกองทุนพอสมควร  โดยคณะกรรมการกองทุนฯ ช่วยกันสรุปบทเรียนการทำงานดังนี้

“ทุกวันนี้กองทุนฯ อยู่ได้เพราะการบริหารงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เงินทุกบาททุกสตางค์  มีการชี้แจงตามข้อมูลชัดเจนว่า  เงินจากสมาชิก เงินจากรัฐ  อบต.  รวมกันเป็นจำนวนเท่าไหร่ คงเหลือเท่าไหร่  เน้นการบริหารงานอย่างโปร่งใส  ถ้าเราทำแบบโปร่งใสให้ทุกคนรับรู้  เชื่อว่าคนอื่นๆ ก็อยากมาทำงานกับเรา   แต่ถ้าเก็บข้อมูลไว้คนเดียว  ใช้เงินคนเดียว คณะกรรมการคนอื่นก็คงไม่อยากทำงานด้วย  เชื่อว่าหากบริหารแบบนี้กองทุนจะเติบโตขึ้นไปเรื่อย ๆ   วังตามัวจะไม่มีเรื่องร้องเรียน” 

“ความโปร่งใส  จึงทำให้ยืนหยัดอยู่ได้ทุกวันนี้  ถ้าสมาชิกไม่เพิ่มขึ้นก็จะหารือร่วมกันว่าทำไม ? หรือว่าชาวบ้านไม่เข้าใจกองทุนฯ  ต้องลงพื้นที่หมู่บ้านที่คิดว่ามีปัญหา  ไปทำความเข้าใจเพื่อให้ได้สมาชิกเพิ่มเข้าขึ้น  แต่ถ้ายังไม่สำเร็จก็แปลว่าการสื่อสารของเรายังไม่ดีพอ  ความนอบน้อมถ่อมตน  ซื่อสัตย์ต่อตัวเองและคนอื่น  คณะกรรมการให้เกียรติซึ่งกันและกัน  หากไม่เข้าใจก็จะมานั่งคุยกัน มีทะเลาะกันบ้าง   คลี่คลายปัญหาแต่จบในที่ประชุม  ทำกันอย่างนี้ตลอด  ถ้าคณะกรรมการมีปัญหา  เราช่วยกันแก้ไข  รับฟังความคิดของเพื่อนๆ อยู่ด้วยกันเหมือนพี่เหมือนน้อง ตำบลวังตามัวจะค่อยเป็น…ค่อยไป…ทำตามขั้นตอน”    

นอกจากนี้เพื่อให้กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลวังตามัวมีความมั่นคง  ยั่งยืน  ช่วยเหลือสมาชิกได้ยาวนาน คณะกรรมการกองทุนฯ จึงมีการปรับปรุงระเบียบของกองทุนให้มีความเหมาะสม  ไม่เกิดความเสี่ยงด้านการเงิน 

เช่น จากเดิมเปิดรับสมัครสมาชิกอายุตั้งแต่แรกเกิดถึง 90 ปี  ปัจจุบันเปิดรับสมาชิกอายุไม่เกิน 65 ปี  เพราะผู้สูงอายุมีแนวโน้มจะเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตมาก  ทำให้กองทุนฯ ต้องจ่ายเงินสวัสดิการมาก  เงินกองทุนฯอาจร่อยหรอ และหากสมาชิกผู้สูงอายุในครัวเรือนใดเสียชีวิต  กองทุนฯ จะมีระเบียบให้คนในครอบครัวเข้าเป็นสมาชิกแทนผู้ที่เสียชีวิต  เพื่อจำนวนสมาชิกจะไม่ลดน้อยลง ส่งผลต่อเงินสมทบจากสมาชิกคนละ 365 บาท/ปีด้วย !!

9

เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนาองค์ความรู้และสื่อสารองค์กร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ