ความมั่นคงทางอาหาร ภายใต้ภาวะภัยพิบัติทางธรรมชาติ

ความมั่นคงทางอาหาร ภายใต้ภาวะภัยพิบัติทางธรรมชาติ

ประชุมวิชาการเกษตรนเรศวร ครั้งที่ 10 (เกษตรภาคเหนือตอนล่าง)
“ความมั่นคงทางอาหารภายใต้ภาวะภัยพิบัติทางธรรมชาติ”

[/b]

หลักการและเหตุผล

       นับตั้งแต่เริ่มกําเนิดโลกมา โลกนั้นประสบกับวิกฤติการณ์ความรุนแรงและการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย อันเนื่องมาจากภัยธรรมชาติ ซึ่งปัจจุบันโลกก็ยังคงประสบอยู่ภัยธรรมชาตินี้เป็นกระบวนการทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นทั้งในบรรยากาศภาคพื้นสมุทรและภาคพื้นดิน ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นนับเป็นภัยพิบัติที่มีต่อมนุษย์ ทรัพย์สินและสิ่ง ก่อสร้างต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมหาศาล ชีวิตและทรัพย์สินทั้งของส่วนตัวและของส่วนรวม รัฐและประชาชน ต้องใช้ทรัพยากรจํานวนมากเพื่อช่วยเหลือและบูรณะฟื้นฟูพื้นสิ่งที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติ สําหรับประเทศไทย นับว่ายังโชคดีกว่าหลาย ๆ ประเทศในแถบเอเซียและแปซิฟิก เพราะตั้งอยู่ในภูมิประเทศที่เหมาะสม พื้นดินมีความอุดมสมบูรณ์ลมฟ้าอากาศดี มีฝนตกต้องตามฤดูกาลเป็นส่วนมาก และมีปริมาณฝนเพียงพอแก่กสิกรรม เรื่องภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเกิดจากสภาวะอากาศ หรือเกิดจากธรรมชาติเองก็ตาม จึงมักไม่ใคร่เกิดได้บ่อยนัก และแม้จะเกิดขึ้นแต่ก็ไม่รุนแรงแต่ทว่าในปี พ.ศ. 2554 ได้เกิดอุทกภัยในประเทศไทย เป็นอุทกภัยรุนแรงที่เกิดขึ้นระหว่างฤดูมรสุมในประเทศไทย พ.ศ. 2554 ส่งผลกระทบต่อบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำโขง เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคมและสิ้นสุดเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2555 (แต่การฟื้นฟูยังมีต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน) มีราษฎรได้รับผลกระทบแล้วมากกว่า 12.8 ล้านคน ธนาคารโลกประเมินมูลค่าความเสียหายสูงถึง 1.44 ล้านล้านบาท เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2554 และจัดให้เป็น ภัยพิบัติครั้งสร้างความเสียหายมากที่สุดเป็นอันดับสี่ของโลก และอุทกภัยครั้งนี้ถูกกล่าวขานว่าเป็น "อุทกภัยครั้งร้ายแรงที่สุดทั้งในแง่ของปริมาณน้ำและจำนวนผู้ได้รับผลกระทบ" เมื่อพิจารณาในด้านเกษตรกรรมนั้น สัดส่วนการค้าข้าวในระดับโลกประมาณ 30% และธัญพืชหลัก 25% ของประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะไม่รอดพ้นจากอุทกภัยครั้งนี้ เหตุการณ์นี้จะมีผลกระทบต่อราคาข้าวในระดับโลกโดยรวม สำหรับในประเทศ ชาวนาข้าวโดยปกติแล้วไม่มีทุนสำรอง ผลกระทบต่อชาวนานั้นจะเป็นครั้งยิ่งใหญ่ที่สุด เพราะพวกเขาสูญเสียทั้งการลงทุนในพืชผลการเกษตร และต้องรอทำเงินเมื่อน้ำอุทกภัยลดลงก่อนปลูกพืชใหม่ รายงานสรุปของศูนย์ปฏิบัติการรองรับเหตุฉุกเฉิน กรมบรรเทาและป้องกันสาธารภัย (ศปฉ.ปภ.) แจ้งว่า ด้านพืช เกษตรกร 1,284,106 ราย พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะเสียหาย 12.60 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าว 9.98 ล้านไร่พืชไร่ 1.87 ล้านไร่ พืชสวนและอื่นๆ 0.75 ล้านไร่ ด้านประมง เกษตรกร 130,041 ราย พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำคาดว่าจะเสียหาย แบ่งเป็น บ่อปลา 215,531 ไร่ บ่อกุ้ง/ปู/หอย 53,557 ไร่ กระชัง/บ่อซีเมนต์ 288,387ตารางเมตร ด้านปศุสัตว์ เกษตรกร 254,670 ราย สัตว์ได้รับผลกระทบทั้งสิ้น 30.32 ล้านตัว แปลงหญ้า 17,776 ไร่ ผลกระทบที่เกิดขึ้นแก่ภาคเกษตรกรรมย่อมเกี่ยวโยงไปยังความมั่นคงทางอาหารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะอาหารเป็นปัจจัยพื้นฐานของมนุษย์ อาหารเป็นวิถีชีวิต เป็นวัฒนธรรม การเข้าถึงอาหารถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ความมั่นคงทางอาหาร คือสิทธิที่คนเราจะได้รับอาหารอย่างเพียงพอกับความจำเป็นในการดำรงชีวิต โดยอาหารนั้นควรมีคุณค่าทางโภชนาการ ต้องปลอดภัยจากสารพิษต่างๆ และคนสามารถเข้าถึงได้โดยเท่าเทียมกัน การที่ประเทศจะมีความมั่นคงทางอาหารนั้น หมายความว่าหน่วยทางสังคมที่เล็กที่สุดของประเทศ หรือครัวเรือนเกษตรกรในชนบทจะต้องมีความสามารถในการผลิตอาหารให้กับครอบครัวได้อย่างพอเพียง ผลผลิตส่วนเกินที่เหลือจึงขาย และเมื่อกล่าวถึงกระบวนการผลิตอาหาร นั่นต้องหมายถึง กระบวนการผลิตอาหาร การแปรรูป การหีบห่อ ที่ปลอดภัย ปราศจากการปนเปื้อนสารเคมี และความมั่นคงทางอาหารในรูปแบบดังกล่าวจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อเกษตรกรมีทรัพยากรการผลิต และมีสิทธิในการปลูกพืชอาหารเพื่อเลี้ยงครอบครัว การมีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ย่อมทำให้เกิดความมุ่งมั่นที่จะทำนุบำรุงที่ดิน น้ำและรักษา ระบบนิเวศในไร่นาและป่าไม้ เพื่อให้พื้นที่นั้นสามารถนำมาใช้ผลิตอาหารและสร้างรายได้ให้ครอบครัวได้อย่างยั่งยืนตลอดไป ผลกระทบจากวิกฤตการณ์อุทกภัยดังกล่าว ก่อให้เกิดภาวะขาดแคลนอาหาร เพราะนอกจากพืชผล ทางการเกษตรถูกน้ำท่วมเสียหายแล้ว การคมนาคมขนส่งก็มีความลำบากมากขึ้น ด้วยเส้นทางการขนส่งสินค้าถูกตัดขาด จึงส่งผลให้อาหารและสินค้าทางการเกษตรทยอยปรับขึ้นราคา ประชาชนแห่กักตุนสินค้า เพราะไม่มั่นใจในความมั่นคงทางด้านอาหารของประเทศในยามวิกฤติ ซึ่งเป็นภาพที่สะท้อนถึงความเสียหายสำหรับประเทศไทยซึ่งเป็นแหล่งผลิตพืชอาหารที่สำคัญของโลก ในภาวะน้ำท่วมเช่นนี้แม้ว่าปริมาณน้ำจะมีมาก แต่น้ำสำหรับการบริโภคอุปโภคกลับขาดแคลนเช่นเดียวกับอาหาร ผลกระทบที่ได้รับในครั้งนี้มิใช่เพียงแต่กรุงเทพมหานคร หรือจังหวัดที่ประสบภัยน้ำท่วมเท่านั้น แต่จังหวัดข้างเคียงที่แม้ว่าจะไม่ถูกน้ำท่วมก็ประสบปัญหานี้เช่นกัน อาทิจังหวัดชลบุรี และนครราชสีมา เป็นต้นเนื่องจากผู้ประสบภัยได้อพยพไปอยู่ในพื้นที่เหล่านั้น และต่างแย่งกันซื้อสินค้าเพื่อกักตุนการซื้อเพื่อบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัย และโรงงานไม่มีวัตถุดิบสำหรับบรรจุน้ำดื่ม รวมทั้งการคมนาคมที่ไม่สะดวกในการกระจายสินค้าเพื่อจำหน่ายได้ ภัยธรรมชาติเป็นสิ่งที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ดังนั้นทุกหน่วยงานจะต้องเตรียมความพร้อมเรื่องมาตรการสำหรับป้องกันและฟื้นฟูผู้ประสบกับภาวะวิกฤติดังกล่าว แม้แต่ประชาชนคนไทย รวมถึงเกษตรกรก็ต้องเตรียมการรับมือด้วยเช่นกัน ดังนั้น คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมหาวิทยาลัยนเรศวร จึงได้กำหนดจัดการประชุมวิชาการในงานเกษตรนเรศวร ครั้งที่ 10 ภายใต้หัวข้อ “ความมั่นคงทางอาหารภายใต้ภาวะภัยพิบัติทางธรรมชาติ” เพื่อให้นักวิชาการ ผู้แทนหน่วยงานในระดับท้องถิ่น เกษตรกร นิสิตนักศึกษา ตลอดจนประชากรทั่วไป ได้มีโอกาสรับฟังแนวทางที่สำคัญในการเตรียมความพร้อมด้านความมั่นคง ทางอาหารและการรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต นอกจากนั้นผู้เข้าร่วมการประชุมทางวิชาการยังมีโอกาสชมนิทรรศการทางวิชาการ และร่วมกิจกรรมอื่น ๆ ที่จัดขึ้นในงานเกษตรนเรศวรครั้งที่ 10 อีกด้วย

สามารถดูกำหนดการได้ที่  http://www.agi.nu.ac.th/agi10/home.php?view=schedule_con

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ