คนสกลฯ โฮมบุญตั้งกองทุน สู้คดี “ทวงคืนผืนป่า” สู้เพื่อสิทธิทำกิน สู้เพื่อความยุติธรรม

คนสกลฯ โฮมบุญตั้งกองทุน สู้คดี “ทวงคืนผืนป่า” สู้เพื่อสิทธิทำกิน สู้เพื่อความยุติธรรม

คนสกลนครโฮมบุญตั้งกองทุน สู้คดี “ทวงคืนผืนป่า”

20152704192022.jpg

 โดย : รุ่งโรจน์ เพชระบูรณิน

การฟ้องร้องดำเนินคดีบุกรุกป่ากับชาวบ้านในพื้นที่บริเวณป่าภูพาน จ.สกลนคร วันนี้มีชาวบ้านโดนฟ้องร้องดำเนินคดีแล้ว 34 ราย มี 5 รายถูกตัดสินให้จำคุก ยึดพื้นที่คืน และดำเนินการฟ้องเรียกค่าเสียหายในทางแพ่ง อีก 29 ราย กำลังอยู่ในชั้นศาล รอการพิจารณาคดีในช่วงเดือนเมษายนนี้

อย่างครอบครัวศรีคำ ชาวบ้าน ม.6 บ้านจัดระเบียบ ต.หลุบเลา อ.ภูพาน จ.สกลนคร ครอบครัวนี้โดนดำเนินคดีด้วยกัน 3 ราย คือแม่ และลูกสาวอีก 2 คน ในคดีบุกรุกแผ่วถางป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติดงชมภูพาน-ป่าดงกะเณอ อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 และ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507

นางสาวอมร ศรีคำ ผู้เป็นลูกสาวคนเล็ก บอกความรู้สึกให้ฟังว่า “ตอนนี้ที่บ้านไม่เป็นอันกินอันนอนกันแล้ว ต้องเดินทางไปขึ้นโรงขึ้นศาลบ่อยๆ ไม่รู้จะเอาเงินที่ไหนมาต่อสู้คดีหรือประกันตัว ถ้าหากบ้านนี้ถูกตัดสินผิดทั้งหมดก็จะเหลือพ่อเพียงคนเดียว ถ้าต้องติดคุกแล้วใครจะดูแล” 

หากดำเนินคดีจนถึงที่สุดและถูกตัดสินว่าผิดจริงจะเป็นเหตุให้ต้องโทษจำคุกแล้ว แน่นอนว่าที่ดินทำกินของครอบครัวศรีคำต้องถูกยึดคืน และจะถูกเรียกค่าเสียหายทางแพ่งในคดีโลกร้อนตามมาอีกด้วย ซึ่งครอบครัวนี้มีที่ดินทำกิน 3 แปลง เนื้อที่รวมกันประมาณ 40 ไร่ หากลองประเมินค่าปรับโดยเฉลี่ยคร่าวๆ ไร่ละ 150,000 บาท ครอบครัวนี้ต้องชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 6 ล้านบาท ผมคิดไม่ออกจริงๆ ว่าครอบครัวนี้จะ ร้องไห้หนักมาก!!! แค่ไหน!!! 

จังหวัดสกลนคร ชาวบ้านที่นี่จำนวนมากมีปัญหาเรื่องที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยทับซ้อนกับอุทยานแห่งชาติ ที่ทับซ้อนป่าสงวนแห่งชาติ ที่ราชพัสดุ ที่ดินทับซ้อนจากการสร้างเขื่อน ฯลฯ ในการต่อสู้ของชาวบ้านนั้นอาศัยการรวมกลุ่มเพื่อให้เกิดพลังในการต่อสู้ เช่น เครือข่ายไทบ้านผู้ไร้สิทธิสกลนคร เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนน้ำอูน เครือข่ายเกษตรชาวบ้านอีสานตอนบน สมาคมส่งเสริมเกษตรกรรมลุ่มน้ำโขง กลุ่มอนุรักษ์ภูผาเหล็ก สมัชชาคนจน กลุ่มอินทร์แปง กลุ่มวนเกษตรภูพาน คณะทำงานแก้ไขปัญหารัฐบุกรุกที่ราษฎร เพื่อร่วมกันปรึกษาหารือและหาแนวทางการแก้ไขปัญหามาเป็นเวลานานหลายปีจนถึงปัจจุบัน

แต่ความพยายามในการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาที่ดิน ป่าไม้ ของกลุ่ม เครือข่ายชาวบ้านในจังหวัดสกลนคร ปัญหาก็ยังไม่ได้ข้อยุติ ซ้ำภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายทวงคืนผืนป่า ซึ่งพื้นที่ดำเนินการตามนโยบายทวงคืนผืนป่าบางส่วน ซ้อนทับกับที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน ส่งผลให้ชาวบ้านถูกจับกุมดำเนินคดี ไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ ในขณะที่ชาวบ้านมีฐานะยากจนอยู่แล้ว เมื่อถูกดำเนินคดีก็ยิ่งส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวมากยิ่งขึ้น

นายเลื่อน ศรีสุโพธิ์ เครือข่ายไทบ้านผู้ไร้สิทธิสกลนคร เล่าถึงสถานการณ์ของจังหวัดสกลนครให้ฟังว่า ชาวบ้านใน 16 อำเภอ จากทั้งหมด 18 อำเภอ กำลังประสบปัญหาการประกาศเขตของที่ดินของรัฐทับซ้อนที่อยู่อาศัยที่ดินทำกินที่ป่าชุมชนของชาวบ้าน ทั้งจากการประกาศพื้นที่ป่าสวงนแห่งชาติ 16 แห่ง และเขตอุทยานแห่งชาติ 3 แห่ง ที่ดินสาธารณะ ที่ราชพัสดุ และอื่นๆ ซึ่งคนเหล่านี้อยู่มาก่อนการประกาศกฏหมายป่าไม้ หรือเมื่อมีการประกาศเสร็จก็ไม่มีการบังคับใช้ตามกฏหมายของเจ้าหน้าที่ มีการผ่อนผันตามนโยบายรัฐกันเรื่อยมา อย่างที่ป่าสงวนป่าดงชมภูพาน-ป่าดงกะเณอ ประกาศเมื่อปี 2531 ถ้าเจ้าหน้าที่ไปดูคงมีการให้ออกมาตั้งแต่ปีที่มีการประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติแล้ว 

“ตั้งแต่รัฐประกาศยึดพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์เป็นของรัฐ แล้วมาแยกตามความเหมาะสมตรงไหนเป็นที่สวยงามก็ประกาศเป็นเขตอุทยาน ตรงไหนมีสัตว์ป่าอยู่อาศัยก็ประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ตรงไหนอุดมสมบูรณ์ก็ประกาศเป็นที่ป่าสงวน พอประกาศแล้วก็ไม่ได้บังคับใช้กฏหมาย อย่างเขตอุทยานแห่งชาติภูพาน ประกาศปี 2515 พอปี 2525 มีการประกาศขยายพื้นที่ ในช่วงนั้นคนก็อยู่เต็มพื้นที่กันหมดแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่มีการบังคับใช้กฏหมาย ซ้ำนโยบายของรัฐก็ยังส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกพืชเศรษฐกิจ แหล่งทุนอย่าง ธกส. ที่ต้องระบุพื้นที่ว่าอยู่ตรงไหนก็ยังสนับสนุนเงินทุนให้ชาวบ้านกู้ยืม หรือนโยบายพื้นที่ความมั่นคง  นโยบายเปิดพื้นที่ป่าเพื่อหาประโยชน์ทางตรงจากเนื้อไม้ ก็ประกาศหลังจากที่รัฐประกาศเป็นเขตอนุรักษ์แล้ว ถ้าผิดพลาดก็ต้องเป็นความผิดพลาดของทุกส่วนรวมทั้งรัฐด้วย เป็นความผิดพลาดในการกำหนดแผนพัฒนาประเทศ แต่พอมาวันนี้ทรัพยากรมันวิกฤติ จะมาโทษชาวบ้านอย่างเดียวไม่ได้ ชาวบ้านก็ผิดที่ทำตาม รัฐก็ผิดที่สั่งให้เราทำ ถ้าวันนี้ประเทศต้องเปลี่ยน รัฐอย่ามาโยนความผิดให้ชาวบ้าน และรับความชอบอย่างเดียว” นายเลื่อน กล่าว

ซึ่งถ้าหากเราลองพิจารณานโยบายการทวงคืนผืนป่า จะเห็นว่ารัฐใช้หลักคิดการแยกคนจากป่า ที่ตรงไหนเป็นป่าจะไม่ให้มีคนอยู่ เป็นการอิงกับมติ ครม. 30 มิถุนายน 2541 เป็นมติที่ชาวบ้านต้องอยู่ก่อนการประกาศเขตป่าหวงห้าม พิสูจน์สิทธิ์โดยใช้ภาพถ่ายทางอากาศ ยังไงชาวบ้านก็เดือดร้อน ทางออกคือต้องให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมของคนทุกภาคส่วน ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ตัดสินใจเพียงลำพัง การจัดการแบบนี้มันล้มเหลว กรมป่าไม้ตั้งมาเป็นร้อยปีก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ารักษาป่าไว้ไม่ได้ การจัดการมันต้องขยายให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม แผนแม่บทป่าไม้ที่มุ่งเพิ่มพื้นที่ป่า 26 ล้านไร่ คน 2.6 ล้านครัวเรือนจะไปอยู่ที่ไหน นี่คือคำถามที่สังคมให้ความสนใจ

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องปัญหาที่ดินทำกิน หลายฝ่ายมองเห็นร่วมกันว่า ทางออกที่แท้จริงไม่ควรใช้การแก้ปัญหาในทางหลักนิติศาสตร์ หรือตัวบทกฏหมายเพียงอย่างเดียว จะต้องแก้ในทางนโยบาย และใช้หลักในทางรัฐศาสตร์เข้ามาปรับใช้ถึงจะแก้ปัญหาได้ และการมองว่าชาวบ้านบุกรุกป่าชาวบ้านเป็นคนทำลายป่านั้น อยากให้สังคมเปิดใจรับฟังว่าแท้จริงชาวบ้านเป็นผู้บุกรุกทำลายป่าหรือไม่

นายถนอมศักดิ์ ระวาดชัย ทนายความศูนย์ศึกษาและพัฒนานักกฏหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวถึงแนวทางการต่อสู้คดีของชาวบ้าน โดยจะชี้ให้เห็นถึงเจตนาของชาวบ้าน ชี้ให้เห็นถึงบริบท ความเป็นอยู่ของชุมชน วิถีการดำรงชีวิตของชาวบ้านว่ามีความเป็นอยู่อย่างไร ก่อนการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติดงชมภูพาน-ป่าดงกะเณอ เมื่อปี 2531 เบื้องต้นจะอธิบายความเป็นมาของชาวบ้านที่อยู่ก่อนมีการประกาศเป็นป่าสงวน โดยจะชี้ให้เห็นว่าชาวบ้านขาดเจตนาอย่างไร อธิบายการประกาศเขตป่าทางรัฐมีการจัดการอย่างไร และมีโครงการของทางภาครัฐหลายโครงการเข้ามาในพื้นที่ เป็นเหตุให้ชาวบ้านเชื่อว่าเขาอยู่อาศัยทำกินได้

แม้ในเชิงตัวบทกฏหมายชาวบ้านอาจไม่สามารถคัดง้างกับกฏหมายป่าสงวนได้ แต่ชาวบ้านมีความชอบธรรมมีความเชื่อมั่นในสิทธิที่เขามีอยู่ ซึ่งน้ำหนักในทางกฏหมายนั้นคงมีน้อย ก็จะพยามอธิบายบอกเล่าความเป็นมาเป็นไปว่าชาวบ้านไม่ใช่ผู้บุกรุก เพราะชาวบ้านหมู่บ้านจัดระเบียบ ต.หลุบเลา อ.ภูพาน จ.สกลนคร เข้ามาอยู่อาศัยทำกินตั้งแต่สมัยปี 2518 เรื่อยมา จนตั้งบ้านขึ้นเมื่อปี 2522 ทหารได้เข้ามารวบรวมชาวบ้านที่อยู่อาศัยแถบนี้มาอยู่ร่วมกัน เพื่อเป็นหมู่บ้านกันชนในช่วงยุคที่มีการต่อสู้เรื่องคอมมิวนิตส์ 

“ชาวบ้านโดนกฏหมายปิดปาก แต่ชาวบ้านยังมีความหวังในทางนโยบายที่รัฐจะมีแนวทางคลี่คลายปัญหา อย่างน้อยแม้ว่าจะไม่พัฒนาไปถึงการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดิน แต่ชาวบ้านคาดหวังให้ได้รับการคุ้มครองรับรองที่ทำกิน ในทางนโยบายก็อาศัยคำสั่ง คสช.ที่ 66/2557 มาช่วยคลี่คลายปัญหา ในขณะที่ทางภาคประชาสังคม หรือหน่วยงานรัฐจะเข้ามามีเวทีถกเพื่อหาทางคลี่คลายปัญหา ในชั้นนี้ชาวบ้านต้องสร้างกลไกความร่วมมือ และในระหว่างที่กลไกกำลังจะทำงาน อยากขอความร่วมมือหน่วยงานในพื้นที่ อย่าให้มีการแจ้งความดำเนินคดี หากเมื่อเป็นคดีแล้วยังไงชาวบ้านก็สู้กับหน่วยงานรัฐไม่ได้ แนวทางเบื้องต้นคือขอให้ทางหน่วยงานชะลอการดำเนินคดีกับชาวบ้าน ส่วนที่เข้าสู่กระบวนการดำเนินคดีแล้วก็เข้าสู่กระบวนการต่อไป” นายถนอมศักดิ์ กล่าว

อย่างไรก็ดี ในท่ามกลางการต่อสู้กับปัญหาที่ดินทับซ้อนของคนสกลนคร ยังคงมีมิติทางสังคมวัฒนธรรมที่ชาวบ้านพยายามรวมกลุ่มช่วยเหลือกันเอง เป็นแง่งามท่ามกลางความทุกข์ร้อน ผ่านงานบุญผ้าป่าสามัคคี กองทุนเพื่อผู้ยากไร้ไทสกล ที่จัดขึ้น ณ วัดถ้ำช้าง ต.โคกภู อ.ภูพาน จ.สกลนคร เมื่อวันที่ 28-29 มีนาคม 2558 ที่ผ่านมา เป็นการจัดงานบุญให้พี่ๆน้องๆ ได้มาเจอกัน แบ่งปันสาระทุกข์สุขดิบ พูดคุยแลกเปลี่ยนถึงสถานการณ์ปัญหาที่ดินในแต่ละพื้นที่

โดยเงินกองทุนที่พี่น้องร่วมกันสมทบในครั้งนี้ คาดว่าเมื่อรวมซองผ้าป่าครบจะมีเงินกองทุนกว่า 1 แสนบาท ที่จะนำไปใช้ในการจัดตั้งกองทุนต่อสู้คดี ช่วยเหลือผู้ที่ประสบปัญหา และดำเนินงานแก้ไขปัญหาพี่น้องในระดับพื้นที่ ซึ่งจะมีการประชุมแกนนำระดับตำบลเพื่อหารือในการบริหารจัดการเงินกองทุนก้อนนี้ จะทำอย่างไรให้ไม่ใช้แล้วหมดไป ซึ่งมีแนวคิดจะให้เกิดการออมการสมทบจากสมาชิกให้ยั่งยืน และหลังจากที่มีการประเมินพื้นที่จากแกนระดับตำบล ก็จะมีการจัดเวทีให้ความรู้กับกลุ่มชาวบ้านที่มีแนวโน้มจะโดนดำเนินคดี โดยจะเชิญนักกฏหมายมาพูดคุยทำความเข้าใจให้กับชาวบ้านในกระบวนการต่อสู้คดี

สู้เพื่อสิทธิทำกิน สู้เพื่อเรียกร้องความยุติธรรม แม้ความหวังจะริบหรี่ก็ตามที

20152704192242.jpg

20152704192239.jpg

20152704192240.jpg

20152704192241.jpg

20152704192244.jpg

20152704192244.jpg

20152704192245.jpg

20152704192246.jpg

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ