ความจริงที่ ‘หนองแด’?!? แลนด์มาร์คแห่งใหม่เมืองอุดรฯ หลัง ‘สนามกีฬา’ เปลี่ยนเป็น ‘การขุดลอกฯ’

ความจริงที่ ‘หนองแด’?!? แลนด์มาร์คแห่งใหม่เมืองอุดรฯ หลัง ‘สนามกีฬา’ เปลี่ยนเป็น ‘การขุดลอกฯ’

ปมความขัดแย้งการจัดการ “ที่สาธารณประโยชน์หนองแด” คุกรุ่นต่อเนื่อง เมื่อโครงการเพื่อพัฒนาสู่การเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของอุดรธานี ถูกตั้งคำถามว่าจากไม่สอดคล้องกับการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ที่มีอยู่เดิม ทั้งการเป็นแหล่งน้ำดิบในการทำปะปา และการหาอยู่หากิน กระทบประชาชนกว่า 4,000 คน

20162409163810.jpg

ล่าสุดวานนี้ (23 ก.ย. 2559) องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี (อบจ.อุดรธานี) จัดเวทีชี้แจงเรื่องการใช้พื้นที่สาธารณประโยชน์หนองแด ต.กุดสระ อ.เมืองอุดรธานี จ.อุดรธานี ต่อชาวบ้าน 4 หมู่บ้านที่มีพื้นที่ติดกับหนองแด เนื่องจากที่ผ่านมามีการสื่อสารที่คลาดเคลื่อนไม่ตรงกัน โดยยืนยันไม่มีการก่อสร้างสนามกีฬาพื้นที่ และได้เปลี่ยนเป็นโครงการขุดลอกพื้นที่แทน 

เพจเฟซบุ๊กองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี ระบุว่า อบจ.อุดรธานี จัดทำ ‘โครงการขุดลอกหนองแด’ เพื่อเพิ่มพื้นที่เก็บน้ำให้ประชาชนได้มีน้ำอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอ และยังมีการเพิ่มประตูเปิดปิดน้ำเพื่อใช้ในการรับน้ำและระบายน้ำอย่างเป็นระบบ 

อีกทั้งยังมีโครงการที่จะพัฒนาหนองแดเพื่อเป็นปอดของชาวอุดรอีกที่หนึ่ง โดยจะมีการทำคันคูกว้างถึง 30 เมตร มีการปลูกต้นไม้ทำเลนรถยนต์ รถจักรยานยนต์ เลยจักรยาน พัฒนาเป็นสวนสาธารณะอีกแหล่งหนึ่ง โดยใช้งบประมาณ 79,800,000 บาท และยังมีแผนพัฒนาให้เป็นแลนมาร์คของ จ.อุดรธานีอีกด้วย

20162409164004.jpg

แต่สำหรับชาวบ้านในพื้นที่นั่นได้ทำให้เกิดข้อสงสัยอื่น ๆ ต่อเนื่องตามมา

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 7 ก.ย.ที่ผ่านมา อบจ.อุดรธานี ได้มีหนังสือถึงนายก อบต.กุดสระ เพื่อให้ดำเนินการเกี่ยวกับ กรณี อบจ.อุดรธานี ขอถอนสภาพและขออนุญาตใช้ที่ดินสาธารณประโยชน์หนองแด ต.กุดสระ อ.เมืองอุดรธานี จ.อุดร เนื้อที่ 848-1-36 ไร่ ซึ่งรกร้างว่างเปล่า เพื่อใช้เป็นสนามกีฬาจังหวัด ลานกิจกรรม วัฒนธรรม เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจและแลนด์มาร์คของจังหวัด 

รวมทั้งระบุว่าพื้นที่ดังกล่าวจะเป็นแหล่งรองรับน้ำจากภายนอกที่ไหลเข้าและเพิ่มการเก็บกักน้ำ โดยจะใช้เป็นสถานที่จัดการแข่งกีฬาทางน้ำ และปรับปรุงคัดดินโดยรอบให้เป็นถนน ช่องทางจักรยาน ช่องทางเดิน-วิ่ง เพื่อออกกำลังกาย

โดยหนังสือขอให้ อบต.กุดสระ จัดประชุมประชาคมในพื้นที่เพื่อรับฟังความเห็น และนำผลเข้าสู่การประชุมของ อบต.กุดสระเพื่อพิจารณาการขอใช้ที่ดินและเพิกถอนสภาพที่ดินแปลงดังกล่าว รวมทั้งตรวจสอบความเหมาะสมในการใช้พื้นที่

ต่อมา เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2559 คณะกรรมการกลุ่มผู้ใช้น้ำประปาฯ ต.กุดสระ อ.เมืองอุดรธานี จ.อุดรธานี ได้ทำหนังสือถึง นายก อบจ.อุดรธานี และนายก อบต.กุดสระ เพื่อขอทราบรายละเอียดโครงการพัฒนาพื้นที่หนองแดฯ และขอรายละเอียดสัญญาการจัดจ้างเพื่อดำเนินการขุดลอกหนองแด

ความจริงอีกด้าน ของ ‘หนองแด’ จากคนหนองแด 

‘หนองแด’ เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับท้องถิ่นลำดับที่ 38 หล่อเลี้ยงพื้นที่เกษตรกรรมและการอุปโภคบริโภคของชาวบ้าน 4 หมู่บ้าน ใน ต.กุดสระ ทั้งยังเป็นพื้นที่ทำเลทองซึ่งติดกับถนนมิตรภาพ ทางหลวงหมายเลข 2 อุดรธานี-หนองคาย 

ลักษณะทางกายภาพของหนองแดเป็นแอ่งน้ำแก้มลิงธรรมชาติรองรับน้ำจากทางด้านทิศเหนือของตัวเมืองอุดรธานี ก่อนไหลผ่านลำน้ำห้วยหลวงบริเวณฝายน้ำล้น เป็นแหล่งน้ำดิบใช้ในการผลิตน้ำประปาเพื่อการอุปโภคบริโภค 3 สถานี  คือ 1.สถานีบ้านโคกก่อง แจกจ่ายให้บ้านโคกก่องและบ้านดอนหวาย  2.สถานีบ้านดงสะพัง แจกจ่ายให้บ้านดงสะพังและบ้านดงเจริญ และ 3.สถานีวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี 

กลุ่มผู้ใช้น้ำประปาหนองแด ตั้งข้อสังเกตุว่า ข้อความตามที่ระบุไว้ในหนังสือของอบจ.อุดรธานี ถึงนายก อบต.กุดสระ  ที่ระบุว่า

1) พื้นที่หนองแดเป็นที่รกร้างว่างเปล่า

2) เพื่อใช้เป็นแหล่งรองรับน้ำจากภายนอกที่ไหลเข้า 

3) เพื่อเพิ่มการเก็บกักน้ำ

ไม่ตรงตามข้อเท็จจริง คือ 

1.หนองแดไม่ได้เป็นพื้นที่รกร้างว่างเปล่าแต่มีผู้ใช้ประโยชน์ จำนวน 4,422 ราย แบ่งเป็น 1) การใช้น้ำในวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีอุดรธานี จำนวน 450 ราย 2) ประชากร 4 หมู่บ้าน (ประปาชุมชน/ใต้ดิน) จำนวน 3,594 ราย และ 3) กิจกรรมต่าง ๆ ทั้งการจับปลาและหาอาหารตามธรรมชาติ ทอเสื่อ ต้มเกลือ การทำเกษตรกรรม จำนวน 378 ราย ซึ่งประชาชนเหล่านี้จากได้รับผลกระทบจากการขุดลอกหนองแด

2.การขุดลอกเพื่อหวังใช้เป็นแหล่งรองรับน้ำจากภายนอกที่ไหลเข้าหนองแดนั้น ไม่สอดคล้องกับความเป็นความจริง เพราะหนองแดไม่มีทางน้ำไหลเข้า ทางน้ำคลองชลประทานที่ไหลเข้าหนองแดถูกปิดไปตั้งแต่ปี พ.ศ.2546 โดยหลังจากน้ำท่วมเมืองอุดรเมื่อปี 2544 ทางการได้ตัดเส้นทางน้ำทุกสายไม่ให้ไหลผ่านตัวเมือง 

ดังนั้นน้ำที่จะลงหนองแด มีเฉพาะน้ำฝนกับน้ำเสียจากชุมชนต่าง ๆ รอบหนองแดเท่านั้น ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพของผู้ใช้น้ำชุมชนมากขึ้น

นอกจากนั้นหากทำคัดดินและถนนรอบหนองแด จะทำให้น้ำที่ไหลจากชุมชนและตัวเมืองไม่มีที่ลง จะเพิ่มความเสี่ยงเรื่องน้ำท่วมขังชุมชนโดยรอบเป็นระยะเวลาที่ยาวนานขึ้น

3.การขุดลอกหนองแดตอนกลาง 400 ไร่ เพื่อเพิ่มการเก็บกักน้ำ นั้นไม่เป็นความจริงเพราะ หากมีการขุดลอกหนองแด เพื่อนำดินไปถมพื้นที่หนองแดทำสนามกีฬา 450 ไร่ ตามที่ระบุไว้ในแบบแปลน ลึก 4 เมตร จริง จะได้ปริมาตรน้ำ เพียง 2,560,000 ลบม. ซึ่งในปัจจุบันพื้นที่หนองแดมีระดับน้ำเฉลี่ยที่ 2 เมตร คิดเป็นปริมาณน้ำได้ทั้งหมด 2,714,688 ลบม. ซึ่งมากกว่าถึง 154,686 ลบม. 

หมายความว่า โครงการขุดลอกหนองแด 400 ไร่ ของ อบจ.ไม่ได้เพิ่มการเก็บกักน้ำเพิ่มแต่อย่างใด แต่กลับทำให้ลดลง

20162409163948.jpg

20162409164327.jpg

ร้องเปิดข้อมูล ‘โครงการพัฒนาพื้นที่หนองแด’

สุกันต์ ใจสุข ตัวแทนคณะกรรมการกลุ่มผู้ใช้น้ำประปาฯ ตั้งข้อสังเกตุว่า อบจ.อุดรธานี และ อบต.กุดสระ มีแผนสำรองสำหรับความเดือนร้อนเหล่านี้หรือไม่ เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ยังไม่มีความพร้อมที่จะเปลี่ยนไปใช้น้ำประปาภูมิภาค เพราะค่าน้ำแพงกว่าประปาชุมชนเกือบเท่าตัว ยังไม่รวมค่ามิเตอร์แรกเข้าอีก 

ขณะที่ คณะกรรมการกลุ่มผู้ใช้น้ำประปาหนองแดและตัวแทนผู้ใช้น้ำประเมินผลกระทบคาดว่า การขุดลอกหนองแด เป็นระยะเวลา 2 ปี นับจากฤดูแล้งที่จะถึงนี้ โดยการปล่อยน้ำออกจากพื้นที่ตอนกลาง จำนวน 400 ไร่ ไปเก็บไว้ในส่วนที่เหลือในพื้นที่ท้ายน้ำ จะก่อให้เกิดผลกระทบสำคัญ โดยเฉพาะต่อกลุ่มผู้ใช้น้ำประปาชุมชนรอบหนองแด 4 หมู่บ้าน จำนวน 1,010 ครัวเรือน หรือ 3,594 ราย คิดเป็นร้อยละ 91.99 ของประชากร 4 หมู่บ้าน

ทั้งนี้ หนังสือของคณะกรรมการกลุ่มผู้ใช้น้ำประปาฯ ระบุถึงปัญหาที่จะตามมาจากการขุดลอกหนองแดดังนี้

1.หากมีการขุดลอก ความลึกเกิน 3.5 เมตร จะทำให้น้ำเค็ม ไม่สามารถใช้น้ำทางการเกษตรและส่งผลกระทบให้ประชาชนไม่สามารถใช้ในการบริโภคได้

2.น้ำเสียจากบ้านเรือนและชุมชนรอบหนองแดจะไม่ได้รับการบำบัดโดยวิธีการธรรมชาติ เพราะจะทำให้ เช่น ป่าธูปฤาษี กกและผือหายไป

3.หากมีการถมคันดินเพื่อทำถนนโดยรอบ จะก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมชุมชนโดยรอบ เพราะว่าน้ำไม่มีที่ระบาย

4.คัดดินที่กว้างและสูง จะเป็นอุปสรรคต่อการสูบน้ำใช้น้ำทางการเกษตรของชาวบ้านให้มีความยากลำบากมากขึ้น

5.น้ำจะท่วมชุมชนโดยรอบหนองแดหลังจากทำถนนกั้นเนื่องจากไม่มีทางระบายน้ำ 

ส่วนข้อเสนอของคณะกรรมการกลุ่มผู้ใช้น้ำประปาฯ คือ

1.ขอเอกสารรายละเอียดโครงการพัฒนาพื้นที่หนองแดฯ เพื่อนำไปทำความเข้าใจและอธิบายกับชาวบ้าน/ผู้ใช้น้ำรอบหนองแด

2.ขอให้ อบจ.เปิดเผยรายละเอียดสัญญาการจัดจ้างที่จะดำเนินการขุดลอกหนองแด

3.ขอให้ชะลอโครงการขุดลอกหนองแด 

4.ขอให้ อบจ.จัดทำแผนเกี่ยวกับความรับผิดชอบในผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อผู้ใช้น้ำ หากมีการขุดลอกหนองแด ทั้งก่อนดำเนินการขุดลอก ระหว่างขุดลอก ภายหลังจากการขุดลอก และนำเสนอต่อชุมชนที่ได้รับผลกระทบ 4 หมู่บ้าน 1 วิทยาลัยเกษตรฯ เพื่อให้ผู้ใช้น้ำตัดสินใจก่อนดำเนินการขุดลอก หากมีแผนที่ชัดเจนขอให้ชะลอไว้ก่อน

20162409164259.jpg

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ