อุดรธานี : เมื่อวันที่ 25 พ.ค.66 เวลา 10.00 น. กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ประมาณ 60 คน เดินทางจากอำเภอประจักษ์ศิลปาคม ไปที่ศาลากลางจังหวัดอุดรธานี เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านการจ่ายเงินค่าทดแทน กรณีโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี ต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะประธานคณะกรรมการกำหนดเงินค่าทดแทน ตามพ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2560 ซึ่งกลุ่มชาวบ้านเห็นว่าการกำหนดเงินค่าทดแทน หรือที่เรียกกันว่า “ค่าลอดใต้ถุน” ดังกล่าว เป็นการเอาเปรียบและไม่เป็นธรรมแก่ประชาชนผู้เป็นเจ้าของพื้นที่
โดยพ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2560 มาตรา 92 ระบุว่า ให้มีคณะกรรมการกำหนดเงินค่าทดแทนขึ้นมา 1 ชุด เพื่อทําหน้าที่กําหนดจํานวนเงินค่าทดแทน ภาย ใน120 วันนับแต่วันที่ได้มีการยื่นคําขอประทานบัตรทําเหมืองใต้ดิน ให้แก่ผู้มีกรรมสิทธิ์หรือมีสิทธิครอบครองในที่ดินในเขตประทานบัตรที่มีความลึกเกินกว่า 100 เมตรจากผิวดิน
ทั้งนี้ เมื่อช่วงเดือนมิ.ย.-ก.ย. 2565 รัฐบาลและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ได้อนุญาตประทานบัตรให้แก่ บริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด ทำเหมืองใต้ดิน ชนิดแร่โพแทช จำนวน 4 แปลง ครอบคลุม 5 ตำบล ในพื้นที่อ.ประจักษ์ศิลปาคม และอ.เมืองอุดรธานี รวมเนื้อที่ 26,446 ไร่ และมีแผนการผลิตแร่ 2 ล้านตันต่อปี
ผู้สื่อข่าวรายงาน บรรยากาศของการยื่นหนังสือว่า กลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้รวมตัวกันบริเวณบันไดทางขึ้นด้านหน้าของศาลากลางจังหวัด โดยแกนนำได้นำไมโครโฟนและตู้ลำโพงขยายเสียงเคลื่อนที่ที่เตรียมมา พลัดเปลี่ยนกันกล่าวปราศรัยโจมตีการทำงานของรัฐบาลและหน่วยงานราชการ อาทิ นายกรัฐมนตรี, รมว.กระทรวงอุตสาหกรรม, กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.), ผู้ว่าราชการจังหวัด และอุตสาหกรรมจังหวัด ที่ได้อนุมัติ อนุญาตออกประทานบัตรให้แก่บริษัทเอกชนทำเหมืองแร่ ขณะที่ประชาชนในพื้นที่คัดค้านกันเป็นจำนวนมาก เพราะมีความวิตกกังวลถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น กระทั่งมีการฟ้องศาลปกครอง และคดีความก็ยังอยู่ในชั้นศาล
จนเวลาผ่านไปประมาณ 30 นาที นายวิมล สุระเสน รักษาราชการปลัดจังหวัดอุดรธานี ได้ออกมาพบปะกับชาวบ้าน และแจ้งว่าผู้ว่าราชการจังหวัด ไม่อยู่ ติดราชการ ซึ่งสร้างความไม่พอใจแก่ชาวบ้าน ระหว่างนั้นนายวิมล จึงเร่งประสานงาน นายฐิติณัฏฐ์ มุณีรัตน์ อุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นเลขานุการคณะกรรมการกำหนดเงินค่าทดแทน เดินทางมาชี้แจงและรับหนังสือกับกลุ่มชาวบ้าน
โดยเนื้อหาสาระสำคัญในหนังสือยื่นของกลุ่มอนุรักษ์ฯ ระบุว่า กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ได้พบเห็นการเอารัดเอาเปรียบและความไม่เป็นธรรมจากการกำหนดราคาเงินค่าทดแทนให้กับประชาชนผู้เป็นเจ้าของพื้นที่ในเขตเหมืองกว่า 26,400 ไร่ ซึ่งจะขอแจกแจงรายละเอียด ดังต่อไปนี้
การจ่ายเงินค่าทดแทน ในอัตรา 45,500 บาทต่อไร่ แต่บริษัทจะแบ่งจ่ายเป็น 24 งวด หรือปีละครั้ง ได้แก่
ปีแรกหรืองวดที่ 1 จ่ายก่อน 10 % คือ 4,550 บาทต่อไร่ หากนำมาเฉลี่ยตก 379.16 บาทต่อเดือน หรือ 12.46 บาทต่อวัน หากเปรียบเทียบราคา จะซื้อบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปได้ 1 ซอง ไข่ไก่ 1 ฟอง
ปีที่ 2-23 หรืองวดที่ 2-23 จ่าย 1,780 บาทต่อไร่ หากนำมาเฉลี่ยตก 148.33 บาทต่อเดือน หรือ 4.87 บาทต่อวัน หากเปรียบเทียบราคา จะซื้อไข่ไก่ได้ 1 ฟอง
ปีที่ 24 หรืองวดสุดท้าย จ่าย 1,790 บาทต่อไร่ หากนำมาเฉลี่ยตก 149.16 บาทต่อเดือน หรือ 4.90 บาทต่อวัน หากเปรียบเทียบราคา จะซื้อไข่ไก่ได้ 1 ฟอง
ด้านนางพิกุลทอง โทธุโย ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กล่าวว่า อยากให้อุตสาหกรรม ชี้แจงว่าขณะนี้มีประชาชนในเขตประทานบัตรยื่นเรื่องขอรับเงินค่าทดแทน หรือค่าลอดใต้ถุน ทั้งหมดจำนวนกี่ราย คิดเป็นเนื้อที่กี่ไร่ และบริษัทได้จ่ายเงินไปแล้วจำนวนกี่บาท
“เราเป็นประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ ซึ่งอยู่ในขอบเขตประทานบัตรโครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี ที่มาวันนี้ไม่ได้ต้องการเอาเงินค่าลอดใต้ถุน แต่ต้องการมาบอกว่าค่าลอดใต้ถุน คือความอัปยศที่นายทุนและรัฐกดหัวเรา เพื่อต้องการขุดเอาแร่ใต้ถุนบ้านเรา แล้วทิ้งเศษเงินให้เพียงน้อยนิด เฉลี่ยต่อวันแล้วเทียบได้กับซื้อไข่ไก่ 1 ฟอง”
นางพิกุลทอง ยังกล่าวอีกว่า กลุ่มฯ ได้คัดค้านในทุกกระบวนการขอประทานบัตรมาโดยตลอด และพบว่าการออกประทานบัตรดังกล่าว มีความไม่ถูกต้องเหมาะสมตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย จึงดำเนินการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองอุดรธานี เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนประทานบัตร และศาลก็ได้มีคำสั่งรับคำฟ้องไว้พิจารณาแล้ว
“เมื่อเรื่องทั้งหมดอยู่ที่ศาลปกครอง และศาลก็ประทับรับฟ้องแล้ว อุตสาหกรรมจังหวัด และหน่วยงานรัฐเกี่ยวข้องจะต้องหยุดกระบวนการทั้งหมดไว้ก่อน ควรรอขอให้ศาลมีคำพิพากษาก่อน” นางพิกุลทองกล่าว
ด้านนายฐิติณัฏฐ์ มุณีรัตน์ อุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี ได้ชี้แจงกับกลุ่มชาวบ้านว่า ข้อแรกเลย คือเรื่องของค่าการกำหนดเงินค่าทดแทน ขอชี้แจงว่าเป็นเรื่องที่มีคณะกรรมการฯ พิจารณาและมีมติจ่ายตามราคาดังกล่าว มาตั้งแต่ปี 2557 แล้ว ในส่วนของตนที่เพิ่งเข้ามาปฏิบัติราชการ จึงมีหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบ แนวทางและขั้นตอนปฏิบัติ แต่ถ้าพี่น้องต้องการทราบข้อมูลตนก็จะดำเนินการให้
“ผมจะขออนุญาตทำหนังสือเป็นทางการชี้แจงรายละเอียด จำนวนคนยื่นขอรับเงินค่าทดแทนเท่าไร ได้รับไปแล้วกี่คน คิดเป็นเนื้อที่กี่ไร่ และบริษัทจ่ายไปแล้วกี่บาท แล้วจะเร่งดำเนินการส่งไปให้กลุ่มฯ ภายใน 1 อาทิตย์” อุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี กล่าว
ส่วนข้อสองเรื่องของศาลปกครอง โดยหน้าที่ของอุตสาหกรรม หรือผู้ถูกฟ้องก็มีหน้าที่ชี้แจงตามคำสั่งศาล ส่วนทางศาลปกครองจะมีคำสั่งศาลออกมาอย่างไร เราก็ต้องดำเนินการตามนั้น ในส่วนที่ว่าทางกลุ่มอนุรักษ์ฯ อยากให้ศาลมีคำสั่งระงับ ก็มีสิทธิขอให้ศาลมีคำสั่งได้
“ถึงตรงนั้นหากทางศาลมีคำสั่งมายังอุตสาหกรรมจังหวัด ผมก็ยินดีปฏิบัติตามคำสั่งศาลอย่างเคร่งครัดครับ” นายฐิติณัฏฐ์ กล่าว