เครือข่ายประชาชนภาคใต้จัดงาน “การกระจายอำนาจ ความท้าทายและเป้าหมายร่วม” จุดประกายที่ จ.พัทลุง ก่อนเคลื่อนต่อ 14 จังหวัดภาคใต้

เครือข่ายประชาชนภาคใต้จัดงาน “การกระจายอำนาจ ความท้าทายและเป้าหมายร่วม” จุดประกายที่ จ.พัทลุง ก่อนเคลื่อนต่อ 14 จังหวัดภาคใต้

ส่วนหนึ่งของภาคประชาชนที่เข้าร่วมงานวันนี้ที่ จ.พัทลุง

พัทลุง / เครือข่ายประชาชนและหน่วยงานภาคีจัดงาน “ประชาชนภาคใต้ :  การกระจายอำนาจ  ความท้าทายและเป้าหมายร่วม” ที่ จ.พัทลุง  เพื่อจุดประกายขับเคลื่อนการกระจายอำนาจให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น  ทั้งด้านการวางแผนพัฒนา  แก้ไขปัญหาให้ตรงกับความต้องการของประชาชน ด้าน ดร.ธนกร  คณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) บอก 4 ปีที่ผ่านมา  กระจายอำนาจด้านจัดการทรัพยากรและด้านสาธารณสุข โดยโอน รพ.สต.ให้ อปท.นำร่องไปแล้ว  ขณะที่ ดร.บรรเจิด  จากนิด้า  บอกต้องสร้างชุมชนเข้มแข็ง  สร้างสถาบันภาคประชาชนให้มีอำนาจต่อรอง  เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ  ประเทศไทยจึงจะไปรอด

วันนี้ (2 มีนาคม) ระหว่างเวลา 9.00-16.30 น.  ที่ห้องประชุมโรงเรียนอุบลรัตนราชกัญญาราชวิทยาลัย    อ.เมือง  จ.พัทลุง  มีการจัดงาน “ประชาชนภาคใต้ :  การกระจายอำนาจ  ความท้าทายและเป้าหมายร่วม”  โดยองค์กรภาคประชาชนและภาคีเครือข่ายร่วมกันจัดงาน  คือ  สภาประชาชนภาคใต้  สภาองค์กรชุมชนจังหวัดพัทลุง  เครือข่ายสภาองค์กรชุมชน  กป.อพช.  รักจังสตูล  พังงาแห่งความสุข  อบจ.พัทลุง  มูลนิธิชุมชนไท  สภาผู้ชมและผู้ฟังรายการ ThaiPBS  นิด้า  วช.  สวทช.  สกสว. และมหาวิทยาลัยทักษิณ  มีผู้แทนเครือข่ายภาคประชาชน  นักวิชาการ  ผู้แทนหน่วยงานต่างๆ และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยทักษิณ  เข้าร่วมงานประมาณ  200  คน

2

นายสุวัฒน์  คงแป้น  นายกสมาคมสภาองค์กรชุมชนจังหวัดพัทลุง  กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดงาน “ประชาชนภาคใต้ :  การกระจายอำนาจ  ความท้าทายและเป้าหมายร่วม” ว่า  เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนเรื่องการกระจายอำนาจ  เพราะการกระจายอำนาจจะเป็นคานงัดที่สำคัญในการนำไปสู่การแก้ไขปัญหาต่างๆ ของประเทศไทย เนื่องจากเดิมการวางแผนพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ มาจากส่วนกลาง  เป็นการวางแผนแบบ ‘บนลงล่าง’  ประชาชนไม่มีส่วนร่วม  ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ  ทำให้ทรัพยากรในท้องถิ่นถูกแย่งชิง ถูกทำลาย  เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม เกิดปัญหาต่างๆ ติดตามมา

“แต่การกระจายอำนาจ  คือการกระจายการตัดสินใจให้ท้องถิ่น  ให้ประชาชนมีส่วนร่วม  ทั้งเรื่องการวางแผนการพัฒนา   การแก้ไขปัญหา  และวางแผนงบประมาณที่ตรงกับความต้องการของชุมชนท้องถิ่น  ไม่ใช่รวมศูนย์อำนาจอยู่ที่ส่วนกลางเหมือนที่ผ่านมา  ดังนั้นประชาชนในภาคใต้ในนามของ ‘สภาประชาชนภาคใต้’ จึงร่วมกับภาคีและหน่วยงานต่างๆ จัดงานนี้ขึ้นมา  เพื่อจุดประกายการกระจายอำนาจให้เกิดขึ้น  โดยเริ่มที่จังหวัดพัทลุง  และจะขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องให้ครบทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้  เพื่อสร้างพลังในการเปลี่ยนแปลง  และขยายไปสู่ภาคต่างๆ ทั่วประเทศต่อไป” นายสุวัฒน์  นายกสภาองค์กรชุมชนจังหวัดพัทลุงบอกถึงวัตถุประสงค์การจัดงาน

3

ก.ก.ถ.นำร่องกระจายอำนาจด้านทรัพยากร-สาธารณสุขให้ อปท.

ดร.ธนพร  ศรียากูล  ผู้ทรงคุณวุฒิ  คณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.)  สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี  ปาฐกถาพิเศษ  เรื่อง “การกระจายอำนาจ  ความท้าทายและเป้าหมายร่วม” โดยกล่าวถึงบทบาทของ ก.ก.ถ.ในการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นว่า  นับตั้งแต่ปี 2564      ก.ก.ถ.ได้กระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นแล้วหลายด้าน

เช่น  ในการประชุมคณะกรรมการ ก.ก.ถ.ครั้งที่ 2/2564  เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2564 ก.ก.ถ. มีมติเห็นชอบการถ่ายโอนภารกิจด้านทรัพยากรธรรมชาติไปให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เรื่องแนวทางการจัดสรรงบประมาณให้แก่ อปท. (องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) สำหรับภารกิจในการควบคุมและดับไฟป่า

โดยให้สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัด (สถ.) สามารถตั้งงบประมาณในปี 2566  และให้ อปท. สามารถบริหารจัดการงบประมาณในการจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ในการควบคุมและดับไฟป่าได้  จากแต่ก่อนที่แม้แต่การจะเข้าไปดับไฟป่าของ อปท.ก็จะต้องทำเรื่องขออนุญาตหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกรมป่าไม้ก่อน

4
ดร.ธนกร  ศรียากูล

โดยในปีงบประมาณ 2566 สถ.ได้ของบประมาณด้านภารกิจไฟป่าให้แก่ อปท.ทั่วประเทศจำนวน 2,342 แห่ง  รวมงบประมาณทั้งหมด 49 ล้านบาทเศษ  และในปีงบประมาณ 2567  สถ.ได้จัดทำคำของบประมาณให้แก่ อปท.ทั่วประเทศรวม 2,368  แห่ง  รวม 1,709 ล้านบาท

“นอกจากนี้ ก.ก.ถ.ยังให้อำนาจ อปท.ในการแก้ไขปัญหาสัตว์ป่าที่ก่อให้เกิดผลกระทบหรือสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน  เช่น  ลิง  หรือช้างป่า  ซึ่งเมื่อก่อนเจ้าหน้าที่จะเข้าไปแตะต้องสัตว์ป่าไม่ได้  หรือหากทำช้างป่าตายก็อาจจะต้องติดคุก เพราะเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง  รวมทั้งการเข้าไปทำแนวกันไฟ  ทำฝายกั้นน้ำเพื่อให้เกิดความชุ่มชื้นในเขตป่า  เมื่อก่อนจะทำไม่ได้ และต้องไปขออนุญาตตามกฎหมาย แต่ตอนนี้ทำได้  ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในเชิงอำนาจของท้องถิ่นในการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติของตนเอง”  ดร.ธนกร  ยกตัวอย่างการกระจายอำนาจด้านทรัพยากร ธรรมชาติให้แก่ อปท.

ดร.ธรกรกล่าวด้วยว่า  ในช่วง 4 ปีนี้นับแต่ปี 2564 เป็นต้นมา ก.ก.ถ.ได้นำร่องการถ่ายโอนอำนาจด้านทรัพยากรธรรมชาติให้แก่ อปท. ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นที่น่าสนใจ  และเป็นทิศทางที่ดีในการกระจายอำนาจให้แก่ท้องถิ่นต่อไป

นอกจากนี้ ก.ก.ถ.ยังได้ขับเคลื่อนเรื่องการถ่ายโอนภารกิจด้านสาธารณสุข หรืออำนาจในการจัดการสุขภาพให้แก่ท้องถิ่น คือ  สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา  นวมินทราชินี (สอน.) และ รพ.สต.ให้แก่ อบจ.ไปแล้ว  เมื่อเดือนตุลาคม 2564 ซึ่งถือว่าเป็นความก้าวหน้าด้านการกระจายอำนาจ  แต่ยังทำได้ไม่เต็มที่  โดย อบจ.ก็จะต้องไปยกระดับ รพ.สต. รวมทั้งการสร้างบุคลากรไปดูแลชาวบ้านให้มีสุขภาพอนามัยที่ดีขึ้น

5

ต้องสร้าง “พื้นที่กลางระดับจังหวัดจุดคานงัดประเทศไทย”

ศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ คณะนิติศาสตร์  สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวในประเด็น ‘การสร้างชุมชนเข้มแข็งและกลไกพื้นที่กลางระดับจังหวัดจุดคานงัดประเทศไทย’ มีใจความสำคัญว่า  การจัดประชุมสัมมนาของภาคประชาสังคมในวันนี้ที่พัทลุงถือว่าเป็นต้นแบบในการขับเคลื่อนของภาคประชาสังคมเพื่อจะนำไปสู่การกระจายอำนาจ  และว่าโครงสร้างความเหลื่อมล้ำในสังคมเกิดจากภาคประชาชนไม่มีสถาบันที่มีอำนาจในการต่อรอง  เช่น  สหภาพแรงงาน  กลุ่มเกษตรกร  ชาวไร่  ชาวนาก็ไม่มีอำนาจต่อรองที่เกี่ยวกับผลประโยชน์ของตนกับอำนาจรัฐ  จึงนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำ

ดังนั้นจึงต้องสร้างสถาบันที่มีอำนาจต่อรองของภาคประชาชนขึ้นมา  โดยสังคมไทยมีชุมชนที่เข้มแข็งเป็นต้นทุนที่สำคัญ  โดยการเชื่อมโยงชุมชนที่เข้มแข็งให้มีอำนาจในเชิงพื้นที่  และรวมกันให้เป็นสถาบันและเป็นพื้นที่กลางในการมีอำนาจต่อรองในระดับจังหวัด  ซึ่งหากทำได้จะทำให้เกิดเป็นสถาบันของประชาชนที่มีอำนาจในการต่อรองในระดับจังหวัด  และขยายจากระดับจังหวัดเป็นระดับภาค  และขยายเป็นต้นแบบจากภาคใต้ไปยังภูมิภาคต่างๆ

6
ศ.ดร.บรรเจิด  สิงคะเนติ

“จุดคานงัดของประเทศไทยคือ  การสร้างอำนาจให้เป็นสถาบันในระดับจังหวัด เพื่อใช้อำนาจต่อรองในระดับจังหวัด  และรวมกันเป็นระดับภาคต่อรองระดับภาค  และจากระดับภาคไปสู่การเชื่อมโยงไปทั่วประเทศเพื่อต่อรองระดับนโยบายประเทศ  ซึ่งถือเป็นรากฐานของประชาธิปไตย  เรียกว่าเป็นการใช้ ‘แนวทางประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ’  โดยการดึงทุกภาคส่วน  ทั้งเอกชน  ภาครัฐ ท้องถิ่น  ภาคประชาสังคม  ให้เข้ามีส่วนร่วม  เพื่อให้เป็นพื้นที่กลาง  และจะเป็นทางเลือกและทางรอดให้กับประเทศไทย”  ดร.บรรเจิดกล่าว

ดร.บรรเจิดย้ำว่า การประชุมของพี่น้องภาคใต้ในวันนี้เป็นเสมือนทิศทางและเป็นธงชัยในการแก้ไขปัญหาของประเทศไทย  และจะต้องทำให้เกิดสถาบันของประชาชนที่มีอำนาจในการต่อรองในระดับจังหวัด  เกิดพื้นที่กลางในระดับจังหวัด  และจะเป็นหมุดหมายสำคัญที่จะนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย  เพราะนับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองตั้งแต่ปี 2475 และมีประชาธิปไตยมาเกือบ 100 ปี  แต่สิ่งที่ขาดมาโดยตลอดคือ  การขาดสถาบันของภาคประชาชนที่มีอำนาจในการต่อรอง

7

เสียงจากประชาชนภาคใต้กับการกระจายอำนาจ

          นายสมบูรณ์  คำแหง  ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนระดับชาติ (กป.อพช.)  กล่าวว่า  เมื่อพูดถึงเรื่องการกระจายอำนาจ  ไม่ใช่แต่เฉพาะกระทรวงมหาดไทยที่จะมองว่าเป็นการเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด  แต่สังคมก็ยังแคลงใจว่าถ้ามีการกระจายอำนาจ  มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ก็จะได้ผู้มีอิทธิพลเข้าไปเป็นผู้ว่าฯ  แต่สังคมไม่แคลงใจและกลับยอมรับได้ที่มีผู้ว่าฯ มาจากส่วนกลาง  ขณะเดียวกันใน 1 จังหวัดก็มีทั้งผู้ว่าฯ และมีนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่มาจากการเลือกตั้ง

“นี่คือมายาคติที่เราเลือกตั้งนายก อบจ.ได้  แต่เลือกตั้งผู้ว่าไม่ได้  และทั้ง 2 ส่วนนี้ก็มีอำนาจทับซ้อนกัน  แต่ที่สำคัญคือ  ภาคประชาชนไม่มีโอกาสที่จะรับรู้และเข้าถึงงบประมาณในการพัฒนาจังหวัด  ซึ่งในแต่ละจังหวัดมีงบประมาณพัฒนาในแต่ละปีนับหมื่นล้านบาท  แต่ประชาชนเข้าไม่ถึง  เพราะมาจากการจัดสรรงบประมาณจากส่วนกลาง”  ประธาน กป.อพช. บอก

เขายกตัวอย่างว่า  จังหวัดสตูลเป็นจังหวัดเล็กๆ แต่มีงบประมาณพัฒนาทั้งจังหวัดปีหนึ่งหลายพันล้านบาท  เช่น  งบจังหวัด 200 ล้านบาท  งบกลุ่มจังหวัด 400 ล้านบาท  นอกจากนี้ยังมีงบจากหน่วยงานราชการส่วนกลางที่อยู่ในจังหวัด  เช่น  เกษตรจังหวัด  ชลประทานจังหวัด  ฯลฯ  หลายสิบหน่วยงาน  ซึ่งงบประมาณและแผนพัฒนาเหล่านี้มาจากส่วนกลางและนักการเมือง  โดยประชาชนไม่มีส่วนร่วม  แม้ว่าตามระเบียบของทางราชการจะบอกว่าเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมเป็นคณะกรรมการหรือเสนอแผนการพัฒนา  แต่ข้อเท็จจริงประชาชนไม่สามารถเข้าถึง  ไม่มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

“ดังนั้นการกระจายอำนาจที่แท้จริงจึงไม่ใช่แค่การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด  แต่ต้องกระจายอำนาจเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนในการวางแผนพัฒนา  และวางแผนการใช้งบประมาณที่ตรงกับความต้องการของประชาชนด้วย”  ประธาน กป.อพช. บอกถึงเป้าหมายการกระจายอำนาจ

นายพา  ผอมขำ  เลขานุการ  นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพัทลุง  กล่าวว่า  การกระจายอำนาจเป็นทางรอดของประเทศไทย  ยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่น  งบประมาณต่างๆ ส่วนใหญ่จะกระจายลงไปอยู่ที่ท้องถิ่น  ทำให้ท้องถิ่นเจริญทั่วถึง  แต่ประเทศไทยงบประมาณส่วนใหญ่อยู่ที่ส่วนกลาง  ประมาณ 72 %   และกระจายไปท้องถิ่นเพียง 28 %

“แม้แต่การกระจายอำนาจเรื่องโรงเรียน  เรื่อง รพ.สต.ให้ท้องถิ่นทำ  ซึ่งท้องถิ่นก็สามารถบริหารจัดการได้ดี  แต่ยังมีกับดักอื่นๆ ซ่อนอยู่  เช่น  กระจายแต่การบริหาร  แต่ไม่ให้งบประมาณ  และยังยึดอำนาจแท้จริงไว้ที่ส่วนกลาง  ดังนั้นเราจึงต้องกำหนดอนาคตของตนเอง  สร้างบ้านแปงเมืองของเรา  และต้องลงมือทำด้วยตนเอง”  เลขานุการนายก อบจ.พัทลุงกล่าว

นายสุวัฒน์  คงแป้น  ในฐานะผู้แทนสภาประชาชนภาคใต้  กล่าวถึงข้อเสนอการกระจายอำนาจของสภาประชาชนภาคใต้ว่า การกระจายอำนาจจะต้องประกอบไปด้วยเรื่องใหญ่ๆ 3 เรื่อง  ดังนี้ 1.ต้องกระจายการจัดสรรทรัพยากรมาสู่ท้องถิ่น  2.ต้องกระจายงบประมาณลงสู่ท้องถิ่น  3.ต้องกระจายอำนาจให้ประชาชนมีสิทธิ์ในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตรง  4.ต้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหาร  โดยยกเลิกกลไกการรวมศูนย์อำนาจเดิมให้หมดไป  คือโอนอำนาจจากกระทรวงต่างๆ ยกเว้นกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง  การเงินการคลัง  และการต่างประเทศ  มาสู่ท้องถิ่น  และ 5.ให้มีกลไกการบริหารใหม่ในท้องถิ่น  คือให้มีองค์การบริหารในระดับจังหวัดเพียงองค์กรเดียว  โดยมีสภาพลเมืองกำกับดูแลการทำงาน

“แต่การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นจะดำเนินการไม่ได้  หากประชาชนยังไม่ตระหนักถึงสิทธิของตนเอง  และต้องสร้างความเข้มแข็งจากฐานรากขึ้นมา  โดยมีวิธีการขับเคลื่อนหลายรูปแบบ  เช่น  ในรูปแบบของจังหวัดบูรณาการ  หรือจังหวัดจัดการตนเอง   โดยมีเป้าหมายสำคัญ  คือ  ประชาชนในจังหวัดนั้นๆ จะต้องก้าวเข้าไปมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางการพัฒนาของจังหวัด”  นายสุวัฒน์  ผู้แทนสภาประชาชนภาคใต้กล่าวถึงข้อเสนอการกระจายอำนาจ

นอกจากนี้เขายังบอกว่า  ปัจจุบันสภาประชาชนภาคใต้ร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างๆ ได้ขับเคลื่อนตามแนวทางจังหวัดบูรณาการในภาคใต้ไปแล้วในพื้นที่ 7 จังหวัด  เช่น  ชุมพร  พัทลุง  นครศรีธรรมราช  ภูเก็ต  ฯลฯ  และจะขยายให้ครบ 14 จังหวัดภายใน 3 ปี  ส่วนภาคอื่นๆ ก็จะเชื่อมขยายขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กัน

8

เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนาองค์ความรู้และสื่อสารองค์กร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ