สภาฯ รับหลักการร่าง พ.ร.บ. ชาติพันธุ์ 5 ฉบับเดินหน้าคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์

สภาฯ รับหลักการร่าง พ.ร.บ. ชาติพันธุ์ 5 ฉบับเดินหน้าคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์

28 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้พิจารณา ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. …. โดยกระทรวงวัฒนธรรม ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ร่วมกับร่างพ.ร.บ.ชาติพันธุ์ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และภาคประชาชน รวม 5 ฉบับ และโหวตรับหลักการผ่านทุกร่าง

ภาคประชาสังคมร่วมกันผลักดันให้มีการยกฐานะแนวนโยบายฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล ตามมติคณะรัฐมนตรี 2 มิถุนายน 2553 และแนวนโยบายฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวกะเหรี่ยง ตามมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 ตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ ให้เป็นร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. …. เพื่อให้การคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรมของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่มในประเทศไทยเป็นไปอย่างเสมอภาค ความพยายามดังกล่าว ประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม เมื่อนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวให้คณะรัฐมนตรีมีมติรับหลักการ เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567 และทางสภาผู้แทนราษฎรได้รับร่างดังกล่าว และร่างพระราชบัญญัติที่มีลักษณะเดียวกันอีก 4 ฉบับ พิจารณารับหลักการวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 นี้

ร่างพ.ร.บ. ทั้ง 5 ฉบับที่สภาฯพิจารณาโหวตรับหลักการประกอบด้วย

1. ร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ…. เสนอโดย คณะรัฐมนตรี

2. ร่าง พ.ร.บ. สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย พ.ศ. … เสนอโดย ภาคประชาชน และสภาชนเผ่าพื้นเมือง

3. ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง พ.ศ. … เสนอโดย ภาคประชาชน

4. ร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง พ.ศ. … เสนอโดยพรรคก้าวไกล

5. ร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ…. เสนอโดยพรรคเพื่อไทย

นับเป็นอีกก้าวสำคัญของประเทศไทยและเป็นความหวังของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ที่กำลังจะมีกฎหมายฉบับแรกที่วางหลักการคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ สร้างการยอมรับให้กลุ่มชาติพันธุ์มีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน และสร้างความเท่าเทียมอย่างเป็นธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน

นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า “วันนี้ถือเป็นวันแห่งประวัติศาสตร์ของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ ที่สภาฯ ได้โหวตรับหลักการ พ.ร.บ. ชาติพันธุ์ ผ่านทั้ง 5 ฉบับ ตั้งแต่ที่ทางกระทรวงวัฒนธรรมได้จัดงาน KICK OFF กฎหมายชาติพันธุ์ ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนไปเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2567 ผมได้เร่งรัดผลักดันกฎหมายฉบับนี้อย่างเต็มที่ เพื่อเป็นของขวัญให้กับพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่มในประเทศไทย จนสามารถผ่านกระบวนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรได้อย่างลุล่วง เพื่อให้มีกฎหมายที่เป็นประโยชน์และสอดคล้องกับวิถีชีวิตของพี่น้องชาติพันธุ์ทุกกลุ่มอย่างเสมอภาคกัน”

“กฎหมายฉบับนี้ ไม่ใช่เรื่องของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์เท่านั้น แต่เป็นเรื่องของพวกเราคนไทยทุกคน ที่จะใช้ประโยชน์ร่วมกันในกฎหมายฉบับนี้ เพราะกฎหมายคุ้มครองวิถีชีวิตพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ จะเป็นประโยชน์ให้ต่อประเทศไทยในแง่ของการสร้างความเข้มแข็งของสังคมไทยครับ” ธีระชัย แสงแก้วอภิปรายสนับสนุน “ร่าง พระราชบัญญัติสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย พ.ศ. ….”28 กุมภาพันธ์ 2567

ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นกฎหมายสำคัญที่วางรากฐานทางความคิดให้คนไทยเห็นคุณค่าของความหลากหลาย มีทักษะชีวิตที่จะดำรงอยู่ในสังคมที่มีความแตกต่าง สร้างการเปลี่ยนแปลงให้สังคมไทยให้หลุดพ้นจากการเป็นสังคมเปราะบางที่มีปัจจัยเสี่ยงจากความแตกต่างที่อาจทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งรุนแรง ที่ฉุดรั้งการพัฒนาและขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ

ลำดับเหตุการณ์

  • 6 เม.ย. 2561 แผนปฏิรูปประเทศ ด้านสังคม กำหนดให้มีการผลักดันกฎหมายชาติพันธุ์
  • 25 ก.ค. 2562 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา แถลงนโยบายต่อสภาฯ ด้วยการกำหนดให้มีกฎหมาย “การส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์“ ตามแผนปฏิรูปประเทศ
  • 29 พ.ย. 2563 คณะทำงานร่างกฎหมายฯ กระทรวงวัฒนธรรม โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เปิดร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ครั้งแรก
  • 15 ก.พ. 2564 สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ตั้งโต๊ะรวบรวมรายชื่อผู้สนับสนุน เสนอร่าง พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย
  • 9 มิ.ย. 2564 ส.ส.พรรคก้าวไกล ยื่นร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ ถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร
  • 16 มิ.ย. 2564 มุกดา พงษ์สมบัติ ประธาน กมธ.กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ และคณะ ยื่นร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์
  • 23 พ.ค. 2565 ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เสนอ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ต่อคณะรัฐมนตรี รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ ครั้งแรก
  • 22 พ.ค. 2566 การลงนาม MOU จัดตั้งรัฐบาล 7 พรรคการเมืองนำโดยพรรคก้าวไกล มีเรื่องการแก้ปัญหาแนวเขตป่าไม้และที่ดินรัฐทับซ้อนที่ดินประชาชน ซึ่งรวมถึงพื้นที่ชุมชนชาติพันธุ์ เป็นหนึ่งในวาระร่วม
  • 9 ส.ค. 2566 สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ประกาศเจตจำนงเนื่องในวันชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ผลักดันร่างกฎหมายชาติพันธุ์ทุกฉบับให้ได้รับการพิจารณาจากรัฐสภา
  • 22 ส.ค. 2566 กลุ่มบางกลอยคืนถิ่น ร่วมกับภาคีเซฟบางกลอย จัดเวที 3 ปีบางกลอยคืนถิ่น ยืนยันกลับสู่ที่ดินบรรพบุรุษ พร้อมเรียกร้องผลักดันร่างกฎหมายชาติพันธุ์
  • 2 ต.ค. 2566 พีมูฟ ชุมนุมปักหลักประตู 5 ทำเนียบรัฐบาล เรียกร้องนโยบาย 10 ด้าน หนึ่งในนั้นคือนโยบายและการผลักดันร่างกฎหมายคุ้มครองชาติพันธุ์ฯ
  • 24 พ.ย. 2566 เศรษฐา ทวีสิน นายกฯ ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลและชาวกะเหรี่ยง ในการกำหนดนโยบายส่งเสริมฟื้นฟูวิถีชีวิตทุกมิติ
  • 14 ธ.ค. 2566 สภาผู้แทนราษฎร ให้ตัวแทนภาคประชาชนที่เสนอร่าง พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองฯ ชี้แจงหลักการและสาระสำคัญของร่างกฎหมาย โดยมีการอภิปรายสนับสนุนกฎหมายจากตัวแทนสส. อย่างกว้างขวาง 
  • 19 ธ.ค. 2566 สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย แถลงขอบคุณสภาฯ อภิปรายสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองฯ เรียกร้องเร่งรับหลักการ ตั้งกมธ. พิจารณากฎหมาย
  • 20 ธ.ค. 2566 สภาผู้แทนราษฏร พิจารณาร่าง พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองฯ แต่ครม. ขอนำกลับไปศึกษาภายใน 60 วัน โดยมีเงื่อนไขให้นำกลับมาพิจารณาในสภาฯ พร้อมกับกฎหมายที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกันรวม 4 ฉบับ 
  • 9 ม.ค. 2567 เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมว.วัฒนธรรม คาดดันร่าง พ.ร.บ.ชาติพันธุ์ (ฉบับรัฐบาล) เข้าครม. ภายใน 2 สัปดาห์ ยืนยันดันทุกร่างฯ เข้าสภาฯ พร้อมกัน
  • 6 ก.พ. 2567 ครม. อนุมัติหลักการ ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ตามที่กระทรวงวัฒนธรรม โดย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรฯ เสนอ   ดูเพิ่มเติม ›
  • 19 ก.พ. 2567 เศรษฐา ทวีสิน นายกฯ ลงนามรับรอง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ที่เสนอโดย ขปส. และเครือข่ายชาติพันธุ์ เข้าชื่อกว่า 15,000 รายชื่อ ซึ่งถูกตีเป็นกม.ทางการเงิน
  • 28 ก.พ. 2567 สภาผู้แทนราษฎร มีมติเห็นชอบรับหลักการ “ร่างกฎหมายชาติพันธุ์” ทั้ง 5 ฉบับ เดินหน้าตั้งกรรมาธิการพิจารณา

กฎหมายออกกี่โมง ? รับหลักการแล้วไปไหนต่อ

ย้อนอ่านข้อมูลเพิ่มเติม

https://www.facebook.com/sac.anthropology

https://www.facebook.com/imnvoices

https://policywatch.thaipbs.or.th/civilsociety/legal-1

รายการอนาคตประเทศไทย : มองไกลกว่า พรบ.ชาติพันธุ์ https://fb.watch/qvKOP2pJ8V/

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ