BOI-ตลาดหลักทรัพย์-พอช.-ภาคีเครือข่ายจัดงานใหญ่ 1 มีนาคม ‘สานพลังเอกชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมจากฐานรากสู่ความยั่งยืน’

BOI-ตลาดหลักทรัพย์-พอช.-ภาคีเครือข่ายจัดงานใหญ่ 1 มีนาคม ‘สานพลังเอกชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมจากฐานรากสู่ความยั่งยืน’

กรุงเทพฯ / BOI ตลาดหลักทรัพย์  กลต. สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย สภาธุรกิจตลาดทุนไทย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม  สสส. และ พอช. จัดงาน ‘สานพลังเอกชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมจากฐานรากสู่ความยั่งยืน’  (Multilateral Collaboration for Sustainability)  เพื่อประสานพลังความร่วมมือจากทุกภาคส่วน  ทั้งภาครัฐและเอกชน  เป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้ภาคธุรกิจมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน สังคม  และสิ่งแวดล้อม  โดย BOI มีมาตรการหนุนเสริมยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ภาคธุรกิจ 200 เปอร์เซ็นต์ของวงเงินสนับสนุนการพัฒนาชุมชน  ด้าน พอช.ชูจังหวัดภูเก็ตนำร่องจับคู่ชุมชนกับธุรกิจหนุนการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กก่อนขยายไปทุกภูมิภาค

            ในวันที่ 1 มีนาคมนี้ ตั้งแต่เวลา 13.00-16.30 น. จะมีการจัดงาน ‘‘สานพลังเอกชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมจากฐานรากสู่ความยั่งยืน’  (Multilateral Collaboration for Sustainability) ที่หอประชุมศาสตราจารย์สังเวียน อินทรวิชัย ชั้น 7อาคาร C ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถนนรัชดาภิเษก เขตดินแดง  กรุงเทพฯ  โดยจะมีผู้บริหารบริษัทธุรกิจเอกชน  หน่วยงานรัฐ  ผู้แทนชุมชน  และภาคีเครือข่ายเข้าร่วมงานประมาณ 300 คน

องค์กรที่ร่วมจัดงานครั้งนี้  ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.)  สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม (สวส.) มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมประสานพลังความร่วมมือจากทุกภาคส่วน  ทั้งภาครัฐและเอกชน  ในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจากฐานรากสู่ความยั่งยืนอย่างเป็นระบบ  และมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้ภาคธุรกิจมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน สังคม  และสิ่งแวดล้อม   รวมถึงเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการส่งเสริมการพัฒนาชุมชนและสังคมของ BOI

2

สานพลังเอกชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมจากฐานราก

          การจัดงาน ‘สานพลังเอกชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมจากฐานรากสู่ความยั่งยืน’  (Multilateral Collaboration for Sustainability) ในวันที่ 1 มีนาคมนี้  มีกิจกรรมบนเวทีที่สำคัญ  เช่น  การชี้แจงความเป็นมาในการจัดงาน

โดย ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

การบรรยาย เรื่อง “การพัฒนาและขับเคลื่อนการส่งเสริมการลงทุนและความเสมอภาคในการระดมทุนเพื่อเสริมสร้างรากฐานของการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ”โดย ศ.ดร.พรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

การบรรยาย เรื่อง “สานพลังเอกชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมจากฐานราก สู่ความยั่งยืน” โดย ดร.กอบศักดิ์   ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  และอุปนายกสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย

3

การบรรยาย เรื่อง“บทบาทความสำคัญของ BOI ในการส่งเสริมภาคธุรกิจให้มีส่วนร่วมพัฒนาชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม ให้เติบโตอย่างยั่งยืน” โดยคุณนฤตม์  เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน

4

การบรรยาย  เรื่อง “มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาชุมชนและสังคม” และ “การเสวนาถ่ายทอดประสบการณ์โดยบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาชุมชนและสังคม”  โดยคุณพัชรดา นวกะวงษ์การ ผู้อำนวยการกองพัฒนาผู้ประกอบการไทย (BOI)  และผู้บริหารบริษัทเอกชน

5

การนำเสนอ “รูปธรรมและกรณีตัวอย่างชุมชนที่ได้รับการสนับสนุนจากภาคีการพัฒนา”  โดยคุณกฤษดา         สมประสงค์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  ผู้แทนหน่วยงานต่างๆ  และผู้แทนชุมชน

6

นอกจากกิจกรรมการบรรยายและการเสวนาในหัวข้อต่างๆ ดังกล่าวแล้ว  ยังมีการจัดนิทรรศการ  การออกบูธของหน่วยงานต่างๆ และชุมชนที่เข้าร่วมงาน  เช่น  นิทรรศการ  ‘บ้านคนพิเศษ  วิสาหกิจเพื่อสังคม’ เสนอเนื้อหาด้านอุตสาหกรรมเบา เช่น การผลิตกระเป๋าผ้า  ทำขนมทองม้วน เพื่อสร้างอาชีพ  รายได้  ให้แก่ผู้พิการ  ผู้ด้อยโอกาส  แม่เลี้ยงเดี่ยวที่มีลูกพิการ  ‘บริษัทสไมล์ ไนส์  เดนทัล  จำกัด’ เสนอเนื้อหาด้านสาธารณสุข  โดยการนำรถทันตกรรมเคลื่อนที่ออกให้บริการคนในชุมชน  ฯลฯ

7
‘บ้านคนพิเศษ  วิสาหกิจเพื่อสังคม’ จ.ชลบุรี  นำสินค้าจากผู้ด้อยโอกาส  กระเป๋า  ขนมทองม้วน  ออกร้านจำหน่าย

BOI หนุนภาคธุรกิจสนับสนุนการพัฒนาชุมชน

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2509 ตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุนเพื่อกิจการอุตสาหกรรม โดยมีภารกิจหลักคือการส่งเสริมการลงทุนผ่านการให้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี และสิทธิประโยชน์ที่ไม่ใช่ภาษี จนกระทั่งถึงปัจจุบันได้มีการขยายขอบเขตหน้าที่ให้ครอบคลุมการส่งเสริมการลงทุนของคนไทยในต่างประเทศด้วย

ปัจจุบัน BOI ได้กำหนดเป้าหมายหลักที่ต้องการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยไปสู่ “เศรษฐกิจใหม่” (New Economy) ควบคู่กับ “การดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน”   โดยมีเป้าหมายเพื่อให้บรรลุผล 3 ประการ ประกอบด้วย

1.Innovative : เป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์  2.Competitive : เป็นเศรษฐกิจที่มีขีดความสามารถในการแข่งขัน สามารถปรับตัวได้เร็ว และสร้างการเติบโตสูง  และ 3.Inclusive : เป็นเศรษฐกิจที่คำนึงถึงความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม รวมทั้งการสร้างโอกาส และลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ

จากเป้าหมายดังกล่าว  โดยเฉพาะข้อ 3.Inclusive “เป็นเศรษฐกิจที่คำนึงถึงความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม รวมทั้งการสร้างโอกาส และลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ” นั้น  BOI ได้จัดทำมาตรการส่งเสริมการลงทุนชุดใหม่ จำนวนทั้งสิ้น 9 มาตรการขึ้นมา  โดย 1 ในนั้นเป็นมาตรการการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน โดยมี “มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาชุมชนและสังคม”  (ข้อ 9)

มาตรการดังกล่าวได้ปรับเปลี่ยนจากมาตรการส่งเสริมการลงทุนเศรษฐกิจฐานราก (เดิม) โดยเพิ่มวงเงินลงทุนที่จะลงไปสู่ชุมชน และเพิ่มสิทธิประโยชน์เพื่อจูงใจมากขึ้น โดยให้สิทธิประโยชน์ทั้งผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI หรือไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน แต่อยู่ในกิจการที่ให้การส่งเสริม สามารถขอรับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการนี้ได้

โดยผู้ได้รับสิทธิตามมาตรการนี้ จะต้องลงทุนไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท ในการเข้าไปสนับสนุนโครงการชุมชนในการพัฒนาระบบเกษตรและน้ำ ผลิตภัณฑ์และการท่องเที่ยวชุมชน เรื่องการศึกษา สาธารณสุข และสิ่งแวดล้อม ให้แก่สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานของรัฐ รายละไม่ต่ำกว่า 5 แสนบาท จะได้รับวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 200 เปอร์เซ็นต์ของเงินสนับสนุนการพัฒนาชุมชน

8
บริษัทหลักทรัพย์บัวหลวงส่งเสริมอาชีพ  พัฒนาคุณภาพชีวิตชาวชุมชนไผ่ขวาง อ.ราชสาส์น จ.ฉะเชิงเทรา

‘พอช’ เชื่อมประสาน ‘ชุมชน-ภาคธุรกิจ’ สร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคม

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล  ในฐานะประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน)  หรือ ‘พอช.’ กล่าวถึงบทบาทของ พอช.ในการร่วมมือกับหน่วยงานภาคีต่างๆ จัดงาน ‘สานพลังเอกชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมจากฐานรากสู่ความยั่งยืน’ ในครั้งนี้ว่า  ปกติบริษัทเอกชน  โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียนใหญ่ๆ จะมีการทำ CSR ทำประโยชน์เพื่อสังคมอยู่แล้ว แต่ปัญหาของการดำเนินการดังกล่าวเป็นเพราะต่างคนต่างทำ  หรือทำตามโครงการที่เสนอมา  เป็นการทำแบบกระจัดกระจาย   ไม่มีพลัง  แต่ละปีใช้เงินเยอะ  บางองค์กรใช้ไปหลายร้อยล้านบาท  แต่ผลที่เกิดขึ้นมาก็ไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย

“เราจึงคิดว่าทำอย่างไรที่จะสามารถสานพลังเอกชนแล้วมาช่วยเหลือชุมชน  ถ้าดำเนินการร่วมกันได้ก็จะสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งในส่วนนี้โชคดีว่าช่วงหลัง BOI ก็มีมาตรการเรื่องของการสร้างแรงจูงใจให้เอกชนช่วยวิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคม  รวมทั้งเอสเอ็มอี เป็นมาตรการใหม่ที่อยากให้บริษัทใหญ่ๆ  ทำประโยชน์เพื่อชุมชนรอบข้างและกลุ่มคนเปราะบางในสังคม  เราก็เลยชวนหน่วยงานต่างๆ เข้ามาร่วมกัน  ทาง กลต.ก็จะมีเรื่องของสินเชื่อเครติด เรื่องให้บริษัทต่างๆ ที่ทำเรื่องนี้ทำรายงานประจำปี ทาง BOI ก็จะมีมาตรการส่งเสริมสิทธิประโยชน์ซึ่งก็จะมีมาตรฐานของการทำโครงการ  พอช.ก็เข้าไปร่วม  โดยเอาชุมชนที่มีความเข้มแข็งไปเป็นเป้าหมายของการดำเนินการร่วมกับเอกชน” ดร.กอบศักดิ์กล่าวถึงความเป็นมา

9
ดร.กอบศักดิ์  ภูตระกูล ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน

 ดร.กอบศักดิ์ยกตัวอย่างว่า  หากชุมชนไม่มีความเข้มแข็งพอ  เมื่อทำโครงการไปแล้วอาจจะไม่ประสบความสำเร็จ  ทำให้งบประมาณที่ใช้ไปไม่ได้ผลเท่าที่ควร  เหมือนกับละลายน้ำไป  จึงมาคิดว่าถ้าเราสานพลังเอกชน ชุมชน เรื่องของสิทธิประโยชน์ แล้วมีการกำกับดูแล ทำรายงานต่างๆ ได้ดี  มันก็จะเกิดพลังอีกแบบหนึ่ง  นำไปสู่การสร้างสังคมที่ภาคเอกชนมาช่วยชุมชนในการพัฒนา  ซึ่งอันนี้คือหัวใจ  เพราะว่าปัญหาในขณะนี้  คือชุมชนเข้าระบบตลาดไม่เป็น  ขายของไม่เป็น  ไม่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีได้ทัน  ทำให้เกิดปัญหา

“พอช.มีหน้าที่นำชุมชนที่เข้มแข็งเข้าไปร่วมด้วย ซึ่งในส่วนนี้ผู้นำชุมชนที่เข้มแข็งคือหัวใจ เพราะเอกชนเขาอยากทำ แต่เขาหาชุมชนที่เข้มแข็งไม่เจอ พอช.ก็จะทำหน้าที่เป็นเถ้าแก่ที่จะเอาชุมชนเข้มแข็งนี้ไปเจอกับบริษัทต่างๆ เพื่อทำงานร่วมกัน ทำให้โอกาสความสำเร็จของงานเพิ่มขึ้น  แล้วนำไปสู่การขับเคลื่อนโครงการสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมต่อไป  ซึ่งหลังจากเสร็จงานสานพลังฯ ที่ตลาดหลักทรัพย์แล้ว  เราก็หวังว่าบริษัทเอกชนจะสนใจในโครงการของ BOI สนใจโครงการของชุมชนต่างๆ ที่เราไปนำเสนอ

ดร.กอบศักดิ์บอกถึงบทบาทของ พอช.และเป้าหมายปลายทาง  และว่า  ขณะนี้มีบริษัทเอกชนจำนวนหนึ่งเริ่มสมัครเข้าสู่โครงการของ BOI ในการขับเคลื่อนเรื่องป่า  การพัฒนาสินค้าของชุมชน และเรื่องอื่นๆ  เช่น  การพัฒนาศูนย์เด็กเล็กที่จังหวัดภูเก็ต

10
การจัดงาน ‘BOI – Matching Day รวมพลังจับคู่ธุรกิจกับชุมชนด้วยสิทธิประโยชน์บีโอไอ’ ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาตินงนุชพัทยา จ.ชลบุรี  เมื่อเดือนกันยายน 2566

ยกภูเก็ตเป็นต้นแบบนำร่องจับคู่ภาคธุรกิจพัฒนาชุมชน

นอกจากการจัดงาน ‘สานพลังเอกชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมจากฐานรากสู่ความยั่งยืน’ ในวันที่ 1 มีนาคมนี้ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยดังกล่าวแล้ว  ก่อนหน้านี้ พอช.ร่วมกับ BOI ได้จัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องเพื่อส่งเสริมให้บริษัทเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนการพัฒนาชุมชน

เช่น  ในเดือนกันยายน 2566  จัดงาน ‘BOI-Matching Day รวมพลังจับคู่ธุรกิจกับชุมชนด้วยสิทธิประโยชน์บีโอไอ บริษัทได้ ชุมชนได้’  ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาตินงนุชพัทยา จ.ชลบุรี  โดยมีบริษัทเอกชนหลายสิบรายเข้าร่วม     โดยผู้บริหาร พอช.ได้ร่วมเสวนา นำเสนอภารกิจของ พอช. และแนวทางในการสนับสนุนการจับคู่ธุรกิจกับชุมชน  พื้นที่รูปธรรมและประเด็นงานที่ พอช. ขับเคลื่อนร่วมกับขบวนองค์กรชุมชน เช่น กองทุนป่าชุมชน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก พื้นที่เศรษฐกิจและทุนชุมชน  ฯลฯ

นอกจากนี้ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา   พอช. ร่วมกับเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนเมืองภูเก็ต เปิดเวที ‘ผนึกกำลังความร่วมมือภาครัฐ-เอกชน พี่ช่วยน้อง ร่วมสร้างชุมชนเข้มแข็ง บริษัทได้ ชุมชนได้’ เพื่อชี้แจงสร้างความเข้าใจกับภาคเอกชนในจังหวัดภูเก็ตเรื่องมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาชุมชนและสังคม และกิจกรรมการจับคู่ภาคธุรกิจกับชุมชน (CSR Matching)  โดยมีภาคธุรกิจเอกชนให้ความสนใจจำนวนมาก  ล่าสุดมีบริษัทแห่งหนึ่งมีแผนงานที่จะสนับสนุนการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กในจังหวัดภูเก็ต

นางวารุณี  สกุลรัตนธารา  ผู้แทนขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดภูเก็ต  กล่าวว่า  จากการเชื่อมประสานของ พอช. ระหว่างเครือข่ายชุมชนในจังหวัดภูเก็ตกับภาคธุรกิจทำให้ขณะนี้มีบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ให้ความสนใจที่จะสนับสนุนโครงการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กในจังหวัดภูเก็ต  ซึ่งเป็นโครงการที่ พอช.ร่วมกับมูลนิธิยุวพัฒน์ดำเนินการนำร่องในศูนย์เด็กเล็กทั่วประเทศตั้งแต่กลางปี 2566 ที่ผ่านมา รวม 60  แห่ง รวมทั้งที่ภูเก็ตด้วย  โดยนำเอารูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบ High Scope ที่ได้รับความนิยมจากทั่วโลกมาใช้แทนการเรียนการสอนแบบเดิมๆ  โดยเน้นให้เด็ก (อายุ 2-6 ขวบ) ได้เรียนรู้ด้วยการลงมือทำ  ผ่านมุมกิจกรรมการเล่นและสื่อที่เหมาะสมหลากหลาย  ทำให้เด็กมีพัฒนาการต่างๆ ดีขึ้น  ทั้งร่างกาย  จิตใจ  อารมณ์  สติปัญญา สังคม   (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://web.codi.or.th/20230607-46045/)

“ขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดภูเก็ตจึงได้นำโครงการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กนี้มาเสนอต่อบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา  เพื่อขยายโครงการศูนย์เด็กเล็กจากเดิมที่มีอยู่เป็น 10 แห่งในเมืองภูเก็ต  โดยจะใช้งบประมาณรวมทั้งหมด 6,200,000 บาท  เพื่อปรับปรุงห้องเรียน  จัดมุมกิจกรรมการเล่น  จัดหาสื่อ หนังสือ  ของเล่น  และจัดกระบวนการเรียนการสอนใหม่  โดยเบื้องต้นบริษัทแห่งนี้ได้ตกลงที่จะสนับสนุนโครงการและงบประมาณแล้ว  ขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาอนุมัติโครงการตามกระบวนการของ BOI เพราะเกี่ยวข้องกับเรื่องการลดหย่อนภาษีให้บริษัทเอกชน” ผู้แทนขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดภูเก็ตกล่าว  และคาดว่าบริษัทจะได้รับการอนุมัติจาก BOI ภายในเดือนมีนาคมนี้  หลังจากนั้นจะเริ่มดำเนินการปรับปรุงศูนย์เด็กเล็กทันที

นายกฤษดา  สมประสงค์ ผู้อำนวยการ พอช. กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดย พอช. มีภารกิจสำคัญในการส่งเสริมองค์กรชุมชนให้มีความเข้มแข็งในการพัฒนาชุมชน  โดยความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ผ่านประเด็นงานสำคัญหลายมิติ  เช่น การพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยทั้งในเมืองและชนบท การส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนจากฐานราก  การจัดสวัสดิการชุมชน  สร้างระบบการดูแลซึ่งกันและกัน การพัฒนาอาชีพ การพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาเด็กเล็ก เป็นต้น

“จังหวัดภูเก็ต เป็นจังหวัดหนึ่งที่มีความเข้มแข็งของขบวนองค์กรชุมชนในการหนุนเสริม  สร้างความเข้มแข็งของชุมชนผ่านมิติต่างๆ แต่งบประมาณจากรัฐบาลที่อุดหนุนผ่าน พอช. มาส่งเสริมความเข้มแข็งในพื้นที่นั้นมีจำนวนหนึ่ง หากเทียบกับความต้องการในการพัฒนา ตลอดจนการแก้ปัญหากับสถานการณ์ในพื้นที่นั้น ไม่สามารถดำเนินการได้ทัน จึงเล็งเห็นศักยภาพของภาคธุรกิจที่จะมาหนุนเสริมขบวนองค์กรชุมชน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้นในทุกด้าน จังหวัดภูเก็ตจึงเป็นพื้นที่ที่ได้มีการหารือ เล็งเห็นว่าควรเป็นพื้นที่นำร่องในการขับเคลื่อน Matching กับหลายภาคส่วน และจะขยายผลไปที่จังหวัดเชียงใหม่ ตราด และชัยนาทต่อไป เพราะเราเชื่อว่าการพัฒนาที่ชุมชนเป็นฐาน สร้างพลังในการยึดโยงหน่วยงาน  ทั้งภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่น ท้องที่ ทำให้เกิดฐานรากเข้มแข็ง…ประเทศและสังคมจะไปรอด”  ผอ.พอช.กล่าว

11
นายกฤษดา  สมประสงค์ ผอ.พอช. (ขวา) ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในจังหวัดภูเก็ต

เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนาองค์ความรู้และสื่อสารองค์กร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ