ครม.ไฟเขียวร่าง กม.พลังงานนิวเคลียร์ ตั้ง 9 กก.ดูแล ให้นายกฯ เป็นประธาน

ครม.ไฟเขียวร่าง กม.พลังงานนิวเคลียร์ ตั้ง 9 กก.ดูแล ให้นายกฯ เป็นประธาน

ดู 12 สาระสำคัญ ร่าง พ.ร.บ. พลังงานนิวเคลียร์ มอบอำนาจนายกรัฐมนตรี ตั้ง 9 กรรมการ กำกับดูแลการใช้ประโยชน์พลังงานนิวเคลียร์และรังสีในทางสันติ และไม่ใช้บังคับแก่ยานพาหนะทางทหารของต่างชาติ เผย ก.วิทย์ จ่อนำร่าง พ.ร.บ.ปราบปรามการก่อการร้ายโดยใช้นิวเคลียร์ พร้อมร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองฯ ห้ามทดลองนิวเคลียร์ฯ เข้า ครม. เร็วๆ นี้

20150408215402.jpg

4 ส.ค. 2558 พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์ พ.ศ. … ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เสนอ 

ร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นการยกร่างขึ้นมาใหม่แทน พ.ร.บ.พลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ.2504 และ พ.ร.บ.พลังงานปรมาณูเพื่อสันติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2508  เนื่องจากล้าสมัยไปแล้ว และจะให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ มีดังนี้

1. กำหนดให้ยกเลิกพระราชบัญญัติพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ. 2504 และพระราชบัญญัติพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2508

2. กำหนดให้ร่างพระราชบัญญัตินี้มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้บังคับแก่การดำเนินการเกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์และรังสีในทางสันติ และไม่ใช้บังคับแก่ยานพาหนะทางทหารของต่างประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานนิวเคลียร์ซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักร

3. กำหนดให้มีคณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์ ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นรองประธานกรรมการ กรรมการโดยตำแหน่งจำนวนเก้าคน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่เกินหกคน และเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติเป็นกรรมการและเลขานุการ

4. กำหนดให้คณะกรรมการฯ มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลการใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์ กำกับดูแลทางนิวเคลียร์และรังสี ให้คำแนะนำแก่รัฐมนตรีในการออกกฎกระทรวง วางระเบียบควบคุมและดำเนินกิจการให้เป็นไปตามข้อกำหนด หรือเงื่อนไขในใบอนุญาต ส่งเสริมและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยจากพลังงานนิวเคลียร์ กำหนดมาตรฐานต่าง ๆ อันพึงใช้โดยเฉพาะเกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์ รวมทั้งกำหนดแผนเพื่อรับมือกับเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี

5. กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการควบคุมวัสดุกัมมันตรังสีและเครื่องกำเนิดรังสี วัสดุนิวเคลียร์ สถานประกอบการนิวเคลียร์ กากกัมมันตรังสี และเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่ใช้แล้ว

6. กำหนดมาตรการความปลอดภัย ความมั่นคงปลอดภัย และการพิทักษ์ความปลอดภัย

7. กำหนดให้ผู้ครอบครองวัสดุกัมมันตรังสี วัสดุนิวเคลียร์ กากกัมมันตรังสี เชื้อเพลิงนิวเคลียร์ หรือเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่ใช้แล้ว ซึ่งประสงค์ทำการขนส่งวัสดุดังกล่าว มีหน้าที่ต้องแจ้งต่อเลขาธิการตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด และผู้นั้นรวมถึงผู้รับขนส่งต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนด

8. กำหนดมาตรการกรณีมีเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี กรณีที่เกิดอันตรายหรือความเสียหายอันเกิดจากการประกอบกิจการตามใบอนุญาต ให้ผู้รับอนุญาตมีหน้าที่ระงับเหตุในเบื้องต้นตามแผนป้องกันอันตรายจากรังสี และต้องบอกแจ้งเหตุนั้นให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบทันที ส่วนกรณีอันตรายหรือความเสียหายที่มีลักษณะหรือขยายขอบเขตเป็นความเสียหายสาธารณะ รวมทั้งกรณีอันตรายหรือความเสียหายอันเกิดจากนิวเคลียร์หรือรังสีที่เกิดขึ้นในต่างประเทศซึ่งผลกระทบต่อประเทศไทย ให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มีอำนาจเข้าระงับเหตุแห่งความเสียหายสาธารณะนั้นได้ทันที

9. กำหนดให้เลขาธิการมีอำนาจสั่งให้ระงับการกระทำที่ฝ่าฝืน แก้ไขปรับปรุง หรือปฏิบัติให้ถูกต้องเหมาะสมภายในระยะเวลาที่กำหนด รวมทั้งมีอำนาจสั่งพักใช้ใบอนุญาตทั้งหมดหรือบางส่วนก็ได้ กรณีที่ผู้รับใบอนุญาตฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวงหรือประกาศหรือคำสั่งที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้

10. กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปในสถานประกอบการยานพาหนะ ยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานนิวเคลียร์ สถานที่ก่อสร้างสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ หรือสถานที่ให้บริการกากกัมมันตรังสี เพื่อตรวจสอบการทดสอบระบบเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ การบรรจุวัสดุนิวเคลียร์ และการเดินเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ รวมทั้ง การตรวจ ค้น กัก ยึด อายัด หรือนำไปเป็นตัวอย่างเพื่อตรวจสอบ เป็นต้น

11. กำหนดให้ผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ต้องรับโทษอาญา

12. กำหนดบทเฉพาะกาลเกี่ยวกับคณะกรรมการประกอบด้วยประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการโดยตำแหน่งตามมาตรา 9 (1) (2) และ (3) ปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อน จนกว่าจะมีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา 9 (4) ซึ่งต้องไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

พล.ต.สรรเสริญ ระบุว่า สาระสำคัญของร่างกฎหมายดังกล่าว คือ การกำหนดกฎเกณฑ์เพื่อให้เกิดความปลอดภัยและความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์และรังสี และพิทักษ์ความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ เพื่อคุ้มครองประชาชนและสิ่งแวดล้อม และเพื่อให้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ในทางสากลที่เกี่ยวข้องกับพลังงานนิวเคลียร์

เนื่องจากกฎหมายเดิม ปี 2504 ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานและบางบทบัญญัติไม่เหมาะสม กับสภาพสังคมปัจจุบัน ในการแก้ไขดังกล่าวด้วยการเพิ่มกลไกในการกำกับดูแลหลายประการ รวมถึงเพิ่มหลักเกณฑ์เกี่ยวกับความรับผิดชอบในความเสียหายสาธารณะที่เกิดขึ้นและกำหนดความผิดเพิ่มขึ้น จึงเห็นสมควรปรับปรุงกฎหมาย โดยมีสาระสำคัญ คือ ให้ยกเลิก พ.ร.บ. ฉบับเดิมปี 2504 และ 2508 

กำหนดให้มีคณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์ ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นรองประธาน กรรมการโดยตำแหน่ง จำนวน 9 คน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกิน 6 คน และเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติเป็นเลขานุการ

พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้ทั้งนายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม ยืนยันใน ครม.ว่า กฎหมายฉบับนี้มีความจำเป็นเนื่องจากกฎหมายฉบับเก่าใช้มานาน และมีข้อบัญญัติบางประการไม่ชัดเจน ต้องปรับปรุงแก้ไขใหม่ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ และชีวเคมีรังสี แต่ไม่เกี่ยวข้องกับการใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหารที่ใช้พลังงานนิวเครียร์ ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ

ผู้จัดการออนไลน์ระบุด้วยว่า มีรายงานว่าเมื่อวันที่ 17 ก.พ. ที่ผ่านมา นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานประชุมหารือข้อราชการผู้บริหารหน่วยงานในสังกัด โดยมีประเด็นสำคัญเร่งรัดหน่วยงานเสนอกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อ สนช. จำนวน 9 ฉบับ ให้ทันห้วงเวลารัฐบาล โดยมี ร่าง พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์ พ.ศ. ….

นอกจากนั้น ยังมี ร่าง พ.ร.บ.ปราบปรามการก่อการร้ายโดยใช้นิวเคลียร์ พ.ศ. … และร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองการดำเนินงานขององค์การสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์และคณะกรรมาธิการเตรียมการสำหรับองค์การสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ พ.ศ. … รวมอยู่ด้วย

มีรายงานด้วยว่า ในคราวการประชุมคณะกรรมการพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ ครั้งที่ 2/2558 เมื่อวันที่ 2 เม.ย. พบว่า ในวาระที่ 3.2 รายงานความคืบหน้าการปับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.พลังานปรมาณูเพื่อสันติ (ฉบับที่..) พ.ศ. … มติที่ประชุมเห็นชอบให้มีการแก้ไข 23 มาตรา ซึ่งผ่านหลักเกณฑ์ความจำเป็นในการตรากฎหมายเมื่อปี 2549 โดยคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 5 เสนอให้ปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.ปรมาณูเพื่อสันติ (ฉบับที่ …) พ.ศ…

“โดยให้แยกจากร่าง พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์ พ.ศ. … (ชื่อใหม่) ที่อยู่ในระหว่างพิจารณาของ คณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 5 ซึ่งได้พิจารณาทบทวน เสร็จเมื่อเดือนเมษายน 2558 และเสนอ ครม. ในวันนี้”

 

ที่มาเรียบเรียงจาก: ผู้จัดการออนไลน์, โพสต์ทูเดย์

ภาพจาก: www.onep.go.th

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ