คนพื้นที่เหมืองแร่ทั่วประเทศเดินหน้าร้อง ‘รัฐบาล-สนช.’ ชู 7 เหตุผลต้องถอน! ร่าง พ.ร.บ.แร่

คนพื้นที่เหมืองแร่ทั่วประเทศเดินหน้าร้อง ‘รัฐบาล-สนช.’ ชู 7 เหตุผลต้องถอน! ร่าง พ.ร.บ.แร่

20160308020603.jpg

2 ส.ค. 2559 ตั้งแต่เวลา 09.30 น. กลุ่มประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่จากทั่วประเทศ นัดรวมตัวกันเพื่อยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีและประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ขอให้มีการถอน (ร่าง) พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. … ออกจากกระบวนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) บริเวณสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ(ก.พ.ร.) ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับทำเนียบรัฐบาล เพื่อร่วมกันเดินเท้าไปที่ทำเนียบรัฐบาล

เวลาประมาณ 10.00 น. กลุ่มประชาชนตั้งขบวนใน ก.พ.ร. และเดินทางออกมาบริเวณด้านนอก เพื่ออ่านแถลงการณ์ถึง 7 เหตุผลสำคัญที่จำเป็นต้องทบทวนและจัดทำ (ร่าง) พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. … ใหม่ ได้แก่

1.ไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากการทำเหมืองแร่ในปัจจุบัน และอาจทำให้ปัญหามีความรุนแรงมากขึ้น โดยขาดมาตรการควบคุมดูแล และป้องกันคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนที่เหมาะสม จากสถานการณ์ในปัจจุบัน และขาดการบูรณาการกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

2.การให้อำนาจหน่วยงานในการกำหนดเขตทรัพยากรแร่ หรือ Mining Zone เพื่อให้พื้นที่ทำเหมืองแร่มีสถานะเหนือกฎหมายอื่น รวมทั้งสามารถกำหนดให้พื้นที่ชุมชน และพื้นที่ที่มีความสำคัญทางระบบนิเวศวิทยา หรือพื้นที่ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ทางโบราณวัตถุ โบราณสถานเป็นเขตทรัพยากรแร่ได้

3.การลดขั้นตอนการขอสัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่ให้สามารถอนุมัติได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะ การลดขั้นตอนกับการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารและการมีส่วนร่วมของประชาชนในการให้ความคิดเห็นเพื่อพิจารณาอนุมัติอนุญาต

4.การกำหนดให้จัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ สำหรับพื้นที่ที่มีแร่อุดมสมบูรณ์ไว้เป็นการล่วงหน้าแล้วเปิดให้เอกชนประมูลเพื่อเข้ามาทำเหมืองแร่โดยไม่ต้องศึกษาอีก เป็นการขัดกับกฎหมายสิ่งแวดล้อม และจะนำไปสู่การสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

5.การไม่มีบทบัญญัติที่ให้ประชาชนและชุมชนรอบเหมืองสามารถยับยั้งหรือยุติการทำเหมือง ในกรณีที่ก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ รวมทั้งไม่มีบทบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยง กองทุนฟื้นฟูและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ กองทุนชดเชยมูลค่าความเสียหายต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม กองทุนฟ้องคดีในกรณีพิพาทจากการทำเหมือง

6.การสูญเสียผลประโยชน์ของชาติ โดยในร่างกฎหมายยังไม่มีบทบัญญัติว่าการเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าภาคหลวงแร่และสัญญาการชำระค่าภาคหลวงแร่ การบันทึกและการจัดทำฐานข้อมูลการชำระค่าภาคหลวงแร่ เพื่อให้รัฐสามารถเก็บค่าภาคหลวงแร่ได้ตามมูลค่าจริงที่ผู้ประกอบได้จากการทำเหมือง 

7.ขาดการเชื่อมโยงกับข้อกำหนดหรือกฎหมายในระดับสากล สำหรับการกำหนดหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแลการนำเข้าและส่งออกแร่ออกนอกราชอาณาจักร 

“ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ประกอบกับกฎหมายแร่ไม่ใช้กฎหมายเร่งด่วนที่จำเป็นต้องเร่งรัดดำเนินการ จึงสมควรที่รัฐบาลและสภานิติบัญญัติแห่งชาติต้องรับฟังความเห็นอย่างรอบด้าน เพื่อให้ได้กฎหมายแร่ที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนในระยะยาว” ส่วนหนึ่งของแถลงการณ์ระบุ

หลังจากอ่านแถลงการณ์กลุ่มประชาชนได้ทยอยกลับมานั่งพักบริเวณพื้นที่ของ กพร.

20160308020331.jpg

ต่อมาเวลาประมาณ 12.00 น. กลุ่มประชาชนออกเดินเท้าต่อไปยังรัฐสภา เพื่อยื่นหนังสือต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทั้งนี้เจ้าหน้าที่อนุญาตให้ตัวแทนจากแต่ละจังหวัดรวมจำนวน 50 คน เข้ายื่นหนังสือโดยมีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นผู้รับมอบ จากนั้นตัวแทนชาวบ้านอ่านแถลงการณ์‬ และยื่นหนังสือ

ด้าน นายสุรชัย กล่าวว่า จะส่งหนังสือของภาคประชาชนไปยังคณะกรรมาธิการวิสามัญร่าง พ.ร.บ.แร่ ฯ ซึ่งกรรมาธิการฯได้ขอขยายเวลาการพิจารณาไปถึงเดือน ก.ย. อย่างไรก็ตาม หลักการของการเสนอกฎหมายใครเสนอก็ต้องเป็นคนถอน ซึ่งร่างกฎหมายฉบับนี้ ครม.เป็นผู้เสนอ ดังนั้น ครม.จะต้องเป็นผู้ขอถอนร่างกฎหมายฉบับนี้ออกจากการพิจารณาของ สนช.เอง โดยที่ สนช.ไม่มีสิทธิ์ถอนออก ทำได้เพียงปรับปรุงเนื้อหาสาระของร่างกฎหมายเท่านั้น

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ภายหลังจากการยื่นหนังสือและอ่านแถลงการณ์‬ กลุ่มประชาชนมีการหารือร่วมกันถึงแนวทางที่จะเดินหน้าต่อไป เพราะโดยเนื้อหาสำคัญของร่างกฎหมายนี้หากมีการนำมาใช้จะส่งผลกระทบต่อสิงแวดล้อม โดยเฉพาะพื้นทีที่เป็นเขตป่าสงวน ป่าอนุรักษ์ต้นน้ำ ซึ่งความเสียหายที่เกิดขึ้นจะไม่จำกัดพื้นที่แค่เพียงจังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง แต่จะส่งผลกระทบต่อคนทั้งประเทศ

20160308020301.jpg

แถลงการณ์มีรายละเอียด ดังนี้

20160308020211.jpg

20160308020222.jpg

20160308020229.jpg

ที่มาภาพ: Data Forsiam

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ