ร้องกมธ.สภาผู้แทนฯ ตรวจสอบตั้งเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฯ ในองครักษ์ ก่อนเวที ค.3

ร้องกมธ.สภาผู้แทนฯ ตรวจสอบตั้งเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฯ ในองครักษ์ ก่อนเวที ค.3

เครือข่ายคนรักษ์นครนายกเดินหน้ายื่นหนังสือ กมธ.สภาผู้แทนฯ เร่งตรวจสอบโครงการจัดตั้งเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยเครื่องใหม่ ขนาด 20 เมกะวัตต์ในพื้นที่ อ.องครักษ์ หวั่นส่งผลกระทบ เหตุขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ จี้ชะลอเวที ค.3 ใน 19 และ 21 ก.ย. 2563 นี้

ที่มาภาพ: เว็บไซต์สภาผู้แทนราษฎร

9 ก.ย. 2563 – ที่รัฐสภา เกียกกาก นายแพทย์สุธีร์ รัตนะมงคลกุล เครือข่ายคนรักษ์นครนายก มรดกธรรมชาติ และร.ท. วิลาศ อบอวน เครือข่ายสมาคม องค์การคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ประจำจังหวัดนครนายก เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อสภาผู้แทนฯ ให้มีการเร่งตรวจสอบ โครงการจัดตั้งเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยเครื่องใหม่ เพื่อการแพทย์ เกษตรกรรม และอุตสาหกรรม ในพื้นที่ อ.องครักษ์ จ.นครนายก ร่วมกับภาคประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งขอให้และชะลอการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 3 เพื่อป้องกันการใช้จ่ายงบประมาณอย่างไม่คุ้มค่าอันเกิดจากการขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน

ทั้งนี้ได้มีการ ยื่นหนังสือต่อ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนฯ และ นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ประธานคณะกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชนและกองทุน

สืบเนื่องจาก โครงการจัดตั้งเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฯ ขนาด 20 เมกะวัตต์ งบประมาณ 16,000 ล้านบาท ของสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. ​กำลังรอทำประชาพิจารณ์ครั้งสุดท้าย (เวทีครั้งที่ 3 หรือ ค.3) เพื่อให้ประชาชนรับรองโครงการตามการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ในวันที่ 19 และ 21 ก.ย. 2563 นี้

ผู้ร้องเรียนระบุว่า โครงการดังกล่าวขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ การทำเวทีครั้งที่ 1 และที่ 2 ขาดการให้ข้อมูลที่รอบด้านและทั่วถึงในผลการศึกษาความเป็นไปได้และความคุ้มค่าของโครงการฯ และขาดการมีส่วนร่วมในการคัดเลือกพื้นที่ตั้งของโครงการฯ จนทำให้เสี่ยงต่อการใช้เงินงบประมาณภาษีไม่คุ้มค่า จากความไม่เปิดเผยโปรงใส

ก่อนหน้านี้ ในพื้นที่เคยเกิดปัญหามาแล้วในโครงการสร้างเตาปฏิกรณ์ขนาด 10 เมกะวัตต์ซึ่งอยู่ระหว่างการฟ้องร้องโดยมีมูลค่าฟัองร้องเกือบ 9,000 ล้านบาท และที่ผ่านมาประเทศไทยได้จ่ายค่าแท่งเชื้อเพลิงยูเรเนียม 111,490,000 ล้านบาทไปแล้วเมื่อ 20 ปีที่แล้ว แต่ยังไม่ได้รับของแต่อย่างใด อีกทั้งการเก็บกากรังสีที่สำนักงาน สทน. องครักษ์โดยไม่เปิดเผยใบอนุญาตให้ประชาชนได้รับทราบ

ที่มาภาพ: เว็บไซต์สภาผู้แทนราษฎร

ด้านนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ กล่าวภายหลังรับหนังสือว่า จะศึกษาข้อมูลจาก คณะอนุ กมธ. ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินงานขององค์การมหาชนและกองทุน และจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะ กมธ. โดยจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล ซึ่งคณะ กมธ. จะติดตามเรื่องดังกล่าวอย่างใกล้ชิด และเร่งตรวจสอบให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ