12 มี.ค. 2553 เมื่อเวลาประมาณ 13.00 น. อังคณา นีละไพจิตร และประทับจิต นีละไพจิตร ภรรยาและบุตรสาวทนายสมชาย นีละไพจิตร บุคคลผู้ถูกบังคับให้สูญหาย ร่วมกับนักกิจกรรมจัดงานรำลึกถึงผู้ที่ถูกอุ้มหาย เนื่องในวาระครบรอบ 11 ปี ‘อุ้มหายทนายสมชาย นีละไพจิตร’ ณ บริเวณที่พบเห็นทนายสมชายครั้งสุดท้าย หน้าซอยรามคำแหง 69 ปักหมุด “ที่นี่มีคนหาย”
อังคณา นีละไพจิตร กล่าวว่า เธอต้องอาศัยความเข้มแข็งที่สั่งสมมาจนกล้ามายืนอยู่จุดนี้ในวันนี้ จุดที่ทนายสมชายหายตัวไป และสิ่งที่เธอต้องการสื่อสารไม่ใช่เฉพาะกรณีของทนายสมชาย แต่ยังมีคนคนธรรมดาจำนวนมากที่ถูกอุ้มหายไม่ต่างกัน กิจกรรรมวันนี้จึงเป็นการส่งเสียงหนึ่งของญาติผู้สูญหาย และเป็นการส่งเสียงแทนครอบครัวผู้สูญหายอีกจำนวนมาก
ก่อนหน้านี้ อังคณา โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว ในเช้าวันที่ 12 มี.ค. 2558 วันที่ครบ 11 ปีเต็มที่ทนาสมชายหายสาบสูญไป ความว่า
“สมชาย นีละไพจิตร เป็นสามัญชน เป็นคนธรรมดา ที่ทำอะไรมามากมายในช่วงชีวิตของเขา สมชายไม่ใช่ ‘วีรบุรุษ’ ไม่ใช่ ‘คนดี’ ตามนิยามหรือความหมายที่บางคน บางสังคม หรือบางยุคสมัยกำหนด หลายต่อหลายครั้งที่เขารู้สึกเศร้าเสียใจในสิ่งที่ได้กระทำพลาดผิดไป คนในครอบครัวจะคุ้นชินกับภาพที่สมชายหมอบกราบ ยอมจำนน และขอการยกโทษต่อพระผู้เป็นเจ้าผู้เป็นที่รักยิ่งของเขา
วันนี้ เมื่อ 11 ปีที่แล้ว สมชายถูกลักพาตัวและบังคับให้เป็นผู้สูญหายจากความอหังการ์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจบางคน
ในฐานะคนธรรมดา สิ่งเดียวที่เรายืนหยัดเรียกร้องตลอดมา คือ รัฐต้องคืนความเป็นธรรม คืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้สมชายและครอบครัวของเขา รัฐต้องไม่ปิดบังความผิดของตัวเองโดยปล่อยให้วัฒนธรรมผู้กระทำผิดลอยนวลยังคงเกิดขึ้นในสังคมไทยต่อไป”
ด้านพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวถึงการมาร่วมกิจกรรมครั้งนี้ว่า ส่วนตัวและองค์กรรณรงค์เรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นที่เป็นคดีความ 11 ปี ที่ผ่านไปถือว่าเร็วมาก เหมือนเรื่องนี้อยู่กับเราตลอดเวลา โดยที่ไม่มีความคืบหน้าในทางคดีและยังไม่สามารถนำตัวคนผิดมาลงโทษได้
นอกจากนั้น หลังจากเกิดกรณีของทนายสมชาย ยังมีกรณีของบิลลี่ หรือ พอละจี รักจงเจริญ ปกาเกอะญอนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ทั้งที่สังคมน่าจะได้เรียนรู้กับเรื่องนี้ แต่กลับไม่ใช่เลย ในกระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่ชั้นตำรวจที่ควรให้ความสำคัญกับการสอบสวนเรื่องตั้งแต่ช่วงแรกของการหายตัวไป ซึ่งไม่น่าเกินความสามารถ หรือในเรื่องพยานหลักฐานที่ทั้ง 2 คดี มีพยานหลักฐานก่อนการหายตัวไป แต่ทำไมจึงไม่สามารถสืบสวนหาตัวคนผิดได้
“การละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ คือความเสียหายของสังคมไทย เป็นการแสดงให้เห็นว่าอุ้มไปแล้วทำลายศพ คนทำผิดไม่ต้องได้รับโทษ” พรเพ็ญกล่าว
ก่อนหน้านี้ กรุงเทพธุรกิจ รายงานเมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2558 ว่าอังคณา นีละไพจิตร ภรรยาทนายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึงสุวณา สุวรรณจูฑะ อธิบดีดีเอสไอ เพื่อขอทราบความคืบหน้าการสอบสวนคดีและขอให้เปลี่ยนชุดพนักงานสอบสวนคดีการหายตัวไปของทนายสมชาย
อังคณา กล่าวว่า ต้องการให้ดีเอสไอเปลี่ยนชุดพนักงานสอบสวนเดิมที่มี พ.ต.อ.นิรันดร์ อดุลยาศักดิ์ ผบ.สำนักคดีอาญาพิเศษ 1 เป็นหัวหน้าชุดสอบสวน เนื่องจากคดีไม่มีความคืบหน้าแม้จะใช้เวลาสอบสวนมานานเป็น 10 ปี และจะครบ 11 ปี ในวันที่ 12 มี.ค. เหมือนกับไม่เต็มใจทำคดี ทำให้ไม่เชื่อมั่นในการทำงาน
นอกจากนี้ทราบว่าดีเอสไอไม่มีการประชุมคดีดังกล่าวมาหลายปีแล้ว พยานบางรายถูกข่มขู่ บางรายหายสาบสูญ รวมถึงจำเลยที่เป็นตำรวจคือ พ.ต.ท.เงิน ทองสุก ก็หายตัวไประหว่างประกันตัวในชั้นอุทธรณ์ อย่างไรก็ตาม ตนเชื่อว่าคดีดังกล่าวมีพยานหลักฐานจำนวนมาก หากดีเอสไอเดินหน้าทำคดีจริงจะสามารถคลี่คลายคดีได้แน่นอน ที่ผ่านมาได้รับเงินเยียวยาจากรัฐ เพราะเชื่อว่าเป็นกรณีที่ถูกบังคับให้สูญหายโดยเจ้าหน้ารัฐจริง และได้รับการคุ้มครองพยาน
อังคณา กล่าวภายหลังการเข้าพบอธิบดีดีเอสไอว่า ดีเอสไอรับจะพิจารณาเรื่องการเปลี่ยนตัวหัวน้าพนักงานสอบสวน ซึ่งคาดว่าจะเรียกประชุมอีกครั้งหลังไม่มีการประชุมพนักงานสอบสวนมานานหลายปี การขอเปลี่ยนหัวหน้าชุดสอบสวนเป็นการใช้สิทธิในฐานะผู้เสียหาย กรณีไม่มั่นใจการทำงานของพนักงานสอบสวน ทั้งนี้ จากการพูดคุยดีเอสไอยอมรับว่าทำคดีด้วยความยากลำบาก เพราะเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐ อีกทั้งการไม่มีศพทำให้ไม่สามารถทำเป็นคดีฆ่าได้ ซึ่งตนเสนอว่าไม่ควรยึดติดกับศพ แต่ควรเน้นตรวจสอบจากพยานหลักฐานแวดล้อม เช่น ข้อมูลการโทรศัพท์ว่าหลังถูกนำตัวไปแล้วเกิดอะไรขึ้นบ้าง ตนเองคาดหวังให้มีการสรุปสำนวนขึ้นสู่การพิจารณาของศาลให้ได้
ส่วนกรณีที่เคยมีข่าวว่าสำนวนคดีดังกล่าวหายไปนั้น ได้รับการชี้แจงว่าเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนสำนวนคดีไม่เคยสูญหาย อย่างไรก็ตาม ในวันพรุ่งนี้ (12 มี.ค.) ตนจะไปยืนแสดงสัญลักษณ์รำลึกในจุดที่นายสมชายถูกอุ้มหายไปเนื่องในวันครบรอบ 11 ปี โดยถือเป็นครั้งแรกที่ตนจะไปยืนในที่เกิดเหตุซึ่งตลอด 11 ปีที่ผ่านมายังไม่สามารถทำใจกลับไปยืนในจุดดังกล่าวได้เลย
ภาพและคลิป: Jamon Kaojaikid