ครบ 1 ปีไล่รื้อชาวบ้านโนนดินแดน มูลนิธิผสานวัฒนธรรมจี้เร่งชดเชยเยียวยา-จัดสรรที่พักพิง

ครบ 1 ปีไล่รื้อชาวบ้านโนนดินแดน มูลนิธิผสานวัฒนธรรมจี้เร่งชดเชยเยียวยา-จัดสรรที่พักพิง

29 มิ.ย. 2558 ครบรอบหนึ่งปีการบังคับไล่รื้อ ชาวบ้านโนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุข้อเรียกร้องขอให้ยุติการขับไล่ ชดเชยเยียวยาและจัดสรรที่พักพิง

สืบเนื่องจากเมื่อเดือนมิ.ย.2557 กลุ่มชาวบ้านทั้งสิ้น 46 ครอบครัว ต้องได้รับผลกระทบจากการบังคับขับไล่ออกมาจากพื้นที่อาศัยและที่ทำกินจากป่าสงวนแห่งชาติดงใหญ่ จ.บุรีรัมย์ นับเป็นระยะเวลาหนึ่งปีที่ทางราชการไม่ได้แก้ไขปัญหาการไร้ที่ดินและความยากจนของชาวบ้านกลุ่มนี้

20153006020600.jpg

Photo by: สรวุฒิ วงศ์ศรานนท์

อีกทั้งเมื่อวันที่ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมา กลับมีมาตรการกดดันให้เจ้าของสวนยางที่อนุญาตให้ชาวบ้านกลุ่มนี้ตั้งเพิงพักอาศัยชั่วคราวซึ่งเป็นการช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมแก่ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน 

ขณะนี้มีการกดดันให้ชาวบ้านที่ตั้งเรือนพักชั่วคราวบริเวณสวนยางพารา บ้านซับคะนิง ต.ส้มป่อย อ.โนนดินแดง จำนวน 28 ครอบครัว บริเวณวัดหัวเขื่อนลำนางรอง ต.ลำนางรอง อ.โนนดินแดง จำนวน 6 ครอบครัว และบริเวณวัดลำนางรองจำนวน 12 ครอบครัวให้ออกจากพื้นที่ภายใน 7 วัน โดยไม่มีพื้นที่รองรับ 

ถึงปัจจุบันแม้ผ่านเวลา 7 วัน มาแล้ว ชาวบ้านก็ไม่สามารถจะออกจากพื้นที่ได้และหวาดกลัวว่าจะถูกบังคับไล่รื้อทันที

เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2558  คณะกรรมการว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights – ICESCR)ได้เผยแพร่ข้อเสนอต่อรัฐบาลไทย ภายหลังที่ได้ร่วมรับฟังข้อมูลในเวทีการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย โดยมีตัวแทนหน่วยงานราชการไทยจำนวนกว่า 20 คนที่เดินทางมาร่วมเวทีในวันที่ 4-5 มิ.ย. 2558 

ระหว่างการพูดคุยหนึ่งในคณะกรรมการ 18 คน ได้สอบถามถึงการบังคับขับไล่ชาวบ้านกรณีบ้านโนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ ด้วย

ขณะนี้คณะกรรมการฯ ได้จัดทำข้อเสนอแนะเชิงสรุปอย่างเป็นทางการและเผยแพร่ โดยได้จัดส่งถึงรัฐบาลไทยผ่านคณะทูตไทยประจำนครเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ รวมทั้งเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซด์ของสหประชาชาติ โดยระบุในเอกสารฉบับที่ United Nations E/C.12/THA/CO/1-2 ของคณะกรรมการเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมขององค์การสหประชาชาติ ว่า

“คณะกรรมการฯ กังวลเกี่ยวกับประเด็นที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ หลังได้รับข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติตามนโยบายการอนุรักษ์ป่า โดยเฉพาะคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 64/2557 และ 66/2557 ในปี 2557 ซึ่งส่งผลให้เกิดการทำลายพืชผลและการบังคับโยกย้าย คณะกรรมการแนะนำให้รัฐภาคีปฏิบัติตามขั้นตอนทั้งปวงที่จำเป็นรวมทั้งการแก้ไขกฎหมายและกรอบนโยบาย ทั้งนี้เพื่อ ประกันให้มีการใช้วิธีไล่รื้อเป็นมาตรการสุดท้ายเท่านั้น และบุคคลที่ถูกบังคับโยกย้ายออกจากพื้นที่ต้องได้รับค่าชดเชยอย่างเพียงพอ และ/หรือได้รับการจัดสรรที่ดินใหม่ ทั้งนี้โดยคำนึงถึงความเห็นทั่วไปของคณะกรรมการ ฉบับที่ 4 (2534) เกี่ยวกับสิทธิการมีที่อยู่อาศัยอย่างเพียงพอ และฉบับที่ 7 (2540) ว่าด้วยการไล่รื้อ”

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมให้เห็นว่า ทางออกในการแก้ไขปัญหาความยากจนและการไร้ที่ดินทำกินของชาวบ้านกลุ่มนี้ ควรดำเนินการด้วยหลักการด้านมนุษยธรรมและนำไปสู่การแก้ไขปัญหาระยะยาวของการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานทั้งด้านที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน ซึ่งไม่อาจแก้ไปได้ด้วยการขับไล่ชาวบ้านออกนอกพื้นที่โดยเร่งด่วนขาดการมีส่วนร่วมและมาตรการรองรับ 

ทั้งนี้ มูลนิธิผสานวัฒนธรรมมีขอเสนอให้มีการชะลอการขับไล่และเจรจาพูดคุยเพื่อให้ชาวบ้านกลุ่มนี้มีที่พักพิงชั่วคราวระหว่างรอมาตรการของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง

20153006021012.jpg

Photo by: สรวุฒิ วงศ์ศรานนท์

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ยูเอ็นแนะไทยหยุดตัดฟันยาง-เลิก ‘คำสั่ง คสช.’ละเมิดสิทธิในที่ดิน-ทรัพยากร ปชช.

UN Committee on Economic, Social and Cultural Rights publishes findings on Kyrgyzstan, Venezuela, Mongolia, Thailand, Ireland, Chile, Uganda 

 

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ