14 พ.ค. 2558 – คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) โดย คณะอนุกรรมการปฏิรูปกฎหมายด้านประชาคมอาเซียน จัดงานเสวนาเรื่อง “ประชาคมอาเซียนกับหนึ่งมาตรฐานแรงงาน จะเป็นจริงได้อย่างไร” ณ ห้องประชุมสำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายชั้น 16 เพื่อประเมินความเป็นไปได้ร่วมกันของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และแนวทางสำหรับประเทศไทย ในการผลักดันมาตรฐานการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิแรงงานในระดับภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งพัฒนาเครือข่ายด้านสิทธิคนทำงานทั้งในระดับชาติและระดับภูมิภาคให้เกิดความเข้มแข็งที่นำสู่การยอมรับของรัฐบาลอาเซียน
ทั้งนี้ คปก. ได้จัดทำความเห็นและข้อเสนอแนะเรื่อง “แผนการให้มีข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิคนทำงาน” พร้อมนำเสนอ “ร่างข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิคนทำงาน” (Draft ASEAN Agreement on the Promotion and Protection of the Rights of Workers) เสนอต่อนายกรัฐมนตรี ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2558 โดยมีหลักการสำคัญเพื่อคุ้มครองสิทธิคนทำงานทุกคนที่อยู่ในรัฐภาคีภายใต้หลักความเสมอภาคและไม่เลือกปฏิบัติ รวมถึงหลักสิทธิมนุษยชนเพื่อให้เป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศ โดยร่างข้อตกลงฯ ฉบับนี้ จะมีผลบังคับใช้เมื่อมีประเทศสมาชิกให้สัตยาบัน 5 ประเทศขึ้นไป
ร่างข้อตกลงฯ ฉบับนี้ยังกำหนดให้มีการจัดตั้งกลไกเฉพาะรูปแบบของ “คณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิคนทำงาน” ที่มีที่มาจากทุกประเทศและดำเนินการเป็นอิสระ เพื่อให้มีอำนาจรับและตรวจสอบเรื่องร้องเรียนจากบุคคลหรือผู้แทนบุคคลรวมทั้งทบทวนรายงานของรัฐภาคีและให้ความเห็นและข้อเสนอแนะ ซึ่งจะเป็นการพัฒนากลไกด้านการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและแรงงานที่สำคัญ
สุนี ไชยรส กล่าวว่า การจัดทำร่างข้อตกลงในครั้งนี้อยู่บนพื้นฐานของหลักวิชาการและการรับฟังความเห็นของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะแรงงานทั้งในระบบ นอกระบบ แรงงานข้ามชาติ รวมทั้งองค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการ และหน่วยงานภาครัฐ ทั้งในประเทศและระดับภูมิภาคอาเซียน เพื่อให้ความคุ้มครองสิทธิแรงงานครอบคลุมการจ้างงานที่มีรูปแบบหลากหลายในปัจจุบัน โดยมุ่งหวังให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนร่างข้อตกลงฯ ฉบับนี้ โดย คปก.ได้ส่งความเห็นและข้อเสนอแนะเรื่องร่างข้อตกลงอาเซียนฯ นี้ต่อนายกรัฐมนตรี สปช.และสนช.
นอกจากนี้ เพื่อการสนับสนุนการปฏิรูปกฎหมายด้านแรงงานของไทย คปก.ได้เสนอให้มีการจัดทำร่างประมวลกฎหมายแรงงาน พ.ศ. … รวมถึงความเห็นและข้อเสนอแนะในการแยกศาลแรงงานออกจากศาลยุติธรรมเพื่อให้ศาลแรงงานเกิดความเชี่ยวชาญในการพิจารณาคดีแรงงานต่อนากยกรัฐมนตรี สปช.และสนช.อีกด้วย
ด้านดร.ศรีประภา เพชรมีศรี อนุกรรมการปฏิรูปกฎหมายด้านประชาคมอาเซียน กล่าวสรุปสาระสำคัญของร่างข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิคนทำงานและแนวทางในการผลักดันร่างดังกล่าว โดยเน้นหลักการพื้นฐานว่า คนทำงานทุกคนต้องได้รับการคุ้มครองสิทธิอย่างเท่าเทียมกันทั่วภูมิภาค โดยสิทธิที่ระบุไว้ในร่างข้อตกลงฯ ดังกล่าวเป็นสิทธิพื้นฐานที่แรงงานทุกคนจะต้องเข้าถึงได้ และเป็นสิทธิที่แรงงานโดยทั่วไปประสบปัญหา และที่สำคัญคือร่างข้อตกลงฯ ฉบับนี้มีกลไกการตรวจสอบการดำเนินการให้เป็นไปตามข้อตกลง และรับเรื่องร้องเรียนกรณีมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ด้วย
ดร.ศรีประภา กล่าวเน้นย้ำว่า อาเซียนจะเป็นประชาคมเดียวกันที่เอื้ออาทรต่อกันได้ก็ต่อเมื่อทุกคนได้รับการคุ้มครองและได้มีส่วนร่วม ได้ประโยชน์จากการเป็นประชาคม
ขณะที่ อารักษ์ พรหมณี รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า นับเป็นความกล้าหาญและความก้าวหน้าของ คปก.ที่ริเริ่มการจัดทำร่างข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองแรงงาน ร่างข้อตกลงฯ ฉบับนี้เป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของแรงงานในอาเซียนโดยมีมาตรฐานเทียบเท่ามาตรฐานสากล
อย่างไรก็ตาม รองปลัดกระทรวงแรงงานฯ ก็เห็นว่า การผลักดันนั้นไม่ง่าย เนื่องจากมีความแตกต่างของบริบทของแต่ละประเทศในอาเซียน แนวทางการผลักดันที่เป็นไปได้คือ การกำหนด Road Map ที่ชัดเจน และอาจพิจารณาดูว่าร่างข้อตกลงฯ ฉบับนี้มีมาตรการที่สอดคล้องกับร่างกฎหมายของภาครัฐที่กำลังทำอยู่ทั้งในเรื่องเนื้อหาสาระและกลไกที่นำเสนอ กับทั้งให้ข้อคิดว่า อาเซียนน่าจะพิจารณาให้มีมาตรฐานแรงงานอาเซียน กองทุนสวัสดิการอาเซียน หรือกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานอาเซียนด้วย
ทั้งนี้ คปก. ยังแถลงข่าว เรียกร้องให้รัฐบาลไทยและภาคประชาสังคมไทย ผลักดันให้อาเซียนยอมรับ ร่างข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิคนทำงาน ระบุเนื้อหาดังนี้
คปก.ได้จัดทำร่างข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิคนทำงาน และคณะอนุกรรมการปฏิรูปกฎหมายด้านประชาคมอาเซียนได้จัดงานเสวนาเรื่อง “ประชาคมอาเซียนกับหนึ่งมาตรฐานแรงงาน จะเป็นจริงได้อย่างไร?” ณ ห้องประชุมสำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ที่ประชุมประกอบด้วยผู้แทนภาครัฐ ผู้แทนองค์กรนายจ้าง ผู้แทนองค์กรลูกจ้าง ผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชนด้านคนทำงาน นักวิชาการ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย และที่ประชุมมีความเห็นและข้อเสนอเรียกร้อง ดังนี้
1. ทุกฝ่ายเห็นด้วยว่าร่างข้อตกลงฯเป็นแนวคิดที่ดีในการส่งเสริมสิทธิและคุณภาพชีวิตของคนทำงานทุกคนที่อยู่ในประเทศสมาชิกอาเซียน
2. ทุกฝ่ายเห็นร่วมกันว่าการที่คุณภาพชีวิตที่ดีของคนทำงานเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในอาเซียน
3.การยอมรับร่างข้อตกลงฯไปปฏิบัติจะทำให้อาเซียนได้รับไปการยอมรับในเวทีประชาคมโลก
เพื่อให้เป็นไปตามข้อคิดเห็นดังกล่าว คปก.และที่ประชุม จึงมีข้อเรียกร้อง ดังนี้
1. ขอให้ภาครัฐของไทยสนับสนุนร่างข้อตกลงฯนี้ และตั้งคณะความร่วมมือพหุพาคีเพื่อให้รัฐบาลไทยนำไปผลักดันในองคาพยพของอาเซียนต่อไป
2.เรียกร้องให้ภาคประชาสังคม นำร่างข้อตกลงฯนี้ไปเผยแพร่ในกลุ่มสมาชิกและนำเสนอความเห็นต่อภาครัฐให้ช่วยสนับสนุนการผลักดันร่างข้อตกลงฯ นี้
3. เรียกร้องให้อาเซียนยอมรับร่างข้องตกลงฯนี้เพื่อเป็นมาตรฐานแรงงานเดียวในอาเซียนเพื่อคุ้มครองสิทธิของคนทำงานในอาเซียนอย่างเท่าเทียมกัน