องค์ประกอบของความเกลียดชัง

องค์ประกอบของความเกลียดชัง

10603702_10153038749740348_5812179502679234220_n

เรื่อง: สันติสุข กาญจนประกร

วันที่บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้เผยแพร่ พิพัฒน์ กระเเจะจันทร์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์ กำลังอยู่ในประเทศฝรั่งเศส เพื่อไปเสนองานเกี่ยวกับโบราณคดี โดยสเตตัสท้ายๆ บนเฟซบุ๊คก่อนไปของเขาคือ ชีวิตคือการเดินทางเพื่อพบเจอสิ่งแปลกใหม่ เจอกันนะปารีส

ออกแนวอาจารย์หนุ่มโรแมนติก ทั้งๆ ที่อีกด้านของเขา คือหนึ่งในนักวิชาการที่อยู่เบื้องหลังงานเสวนามันๆ หลายงาน ใครสนใจ แนะนำให้ไปดูในเพจ ศิลป์เสวนา คณะศิลปศาสตร์ เพจที่นิยามตัวเองว่า ซีรีย์สัมมนาวิชาการสไตล์กันเอง โดยวิทยากรจากหลากหลายสาขาวิชา ร่วมด้วยผู้วิจารณ์ผู้ทรงคุณวุฒิ จัดโดยฝ่ายวิชาการ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนเศษ พิพัฒน์เคยไปเป็นวิทยากรพิเศษบรรยายให้นิสิตจุฬาฯ ฟังในหัวเรื่อง ประวัติศาสตร์และความทรงจำ ความจริง ความลวง และความเกลียดชัง อันนับได้ว่าเป็นงานเสวนาเล็กๆ ที่น่าสนใจมาก เพราะเนื้อหาทั้งหมดสามารถพูดได้ว่า เป็นความรู้เนื้อๆ เน้นๆ ซึ่งเหมาะกับประเทศไทยในยุคที่ความเกลียดชังกำลังงอกงาม และน่าสนใจยิ่งขึ้นไปอีกคือ จากสายตา ไม่มีสื่อที่ไหนเข้าฟังเลย คงเป็นเพราะบรรยากาศที่เป็นชั้นเรียนกระมัง

ย้อนกลับไปไกลอีกหน่อย เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2557 กลุ่มสภาหน้าโดมได้จัดกิจกรรมเสวนาวิชาการในหัวข้อ ประวัติศาสตร์ว่าด้วยการชำระเเละสร้าง ซึ่งวิทยากรในวันนั้นได้แก่ ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, สุลักษณ์ ศิวรักษ์ และตัวพิพัฒน์เอง ทุกอย่างเป็นไปอย่างราบรื่น และจบลงด้วยเสียงปรบมือของผู้เข้าร่วมงาน

11 วันต่อมา สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ถูกฟ้องให้ดำเนินคดีฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพสมเด็จพระนเรศวร ถัดมาอีก 2 เดือน พิพัฒน์ได้หมายเรียกตัวไปสอบปากคำในกรณีดังกล่าว เเต่เขาปฏิเสธที่จะไป ด้วยเหตุผลว่า “ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะให้ผมไป” เขาเป็นเเค่อาจารย์ที่ปรึกษา และก่อนจัด นักศึกษาก็ได้ทำหนังสือขออนุญาตเรียบร้อยแล้ว

และนี่แหละคือประเด็นของเรื่องที่เราต้องขอคำปรึกษาจากอาจารย์พิพัฒน์ โดยตั้งต้นง่ายๆ จากทัศนะของเขาที่ว่า ปัญหาของประวัติศาสตร์ในบ้านเราอยู่ตรงที่การช่วงชิงการใช้ประวัติศาสตร์ เพื่อประโยชน์ทางการเมืองในปัจจุบันเสียมากกว่า สุดท้ายจึงไม่เป็นการประเทืองปัญญาใดๆ แต่เป็นเรื่องของการอ้างความชอบธรรม ให้คนกลุ่มหนึ่งสามารถกระทำต่อคนอีกกลุ่มหนึ่งได้

“รวมไปถึง ปัญหาการเรียนประวัติศาสตร์ของเราคือไม่ได้ถูกสอนให้ถกเถียง แต่ถูกสอนให้เชื่อ และต้องยกย่องเชิดชูวีรุบุรษเท่านั้น ส่วนอีกด้านที่เป็นอุปสรรคต่อการศึกษาประวัติศาสตร์คือบรรยากาศของสังคม ที่มีเรื่องของระบบความเชื่อใหญ่มาครอบเราอยู่ ในสังคมนี้มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์อยู่มาก ซึ่งส่งผลกระทบต่อเราได้” พิพัฒน์ว่า

อาจฟังเข้าใจยากไปหน่อย ก็นั่นแหละ ที่เหลือเป็นหน้าที่ของอาจารย์ที่จะมาอธิบายต่อจากนี้

01

ในทางประวัติศาสตร์ จริงเท็จเเค่ไหน ที่รัฐต้องสร้างความทรงจำร่วมสำหรับประชาชนขึ้นมา 1 ชุด เพื่อให้เกิดความมั่นคง

เป็นสิ่งที่รัฐชาติสมัยใหม่ต้องทำ ยิ่งโดยเฉพาะรัฐที่มีแนวคิดเรื่องรัฐเดี่ยวที่เป็นเอกภาพแบ่งแยกไม่ได้เช่นกรณีประเทศไทย ทำไมรัฐไทยต้องเน้นความเป็นรัฐเดี่ยว คือถ้ามองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์จะเห็นได้ว่า ก่อนหน้าเป็นประเทศสยามหรือไทยนั้น มันมีอาณาจักรล้านนา มีรัฐปัตตานี (ปาตานี) มีล้านช้าง (ลาว) พูดอีกอย่าง รัฐพวกนี้เป็นประเทศราชหมายความว่า มีกษัตริย์ของตนเองปกครอง ไม่ใช่ของสยามที่กรุงเทพฯ อย่างแท้จริง

ฉะนั้น ในช่วงสร้างรัฐชาติ เมื่อผนวกดินแดนพวกนี้เข้ามาแล้ว รัฐไทยจึงต้องเขียนประวัติศาสตร์โดยเน้นเรื่องความสามัคคีผ่านเรื่องความจงรักภักดี หรือการสู้รบเพื่อชาติ เช่น เรื่องบางระจัน หนังเรื่องนี้จึงได้ถูกผลิตซ้ำมาโดยตลอด ในทางตรงกันข้าม ถ้าไม่จงรักภักดีก็จะอธิบายว่าเป็นกบฏ ตัวอย่างของกบฏในปัจจุบันคือพวกที่ ‘คิดต่าง’ ซึ่งมันไม่ใช่ คือคนในสังคมไม่เข้าใจเรื่องกระบวนการสร้างรัฐชาติดีพอ และขาดการมองเรื่องความหลากหลายไปมาก ไม่ใช่ความผิดใคร แต่เพราะคนส่วนใหญ่ก็เรียนประวัติศาสตร์ฉบับทางการมา จะรับรู้แบบนั้นก็ไม่แปลก

แต่การมีประวัติศาสตร์แบบนี้ทำให้รัฐไทยเอิบอิ่มในความรู้สึกว่าตนเองสามารถควบคุมคนในชาติได้ ช่วงหลังรัฐประหารใหม่ๆ เมื่อปีที่แล้ว รัฐบาลก็เลยส่งเสริมให้คนไปเที่ยวอุทยานประวัติศาสตร์กันยกใหญ่ เครื่องมือนี้ใช้ได้มีประสิทธิภาพแค่ไหนก็ไม่มีใครสามารถวัดได้

02

ในโลกยุคใหม่ที่เราสามารถหาข้อมูลข่าวสารได้จากหลายทาง การสร้างความเป็นรัฐชาติ ผ่านความทรงจำร่วมเเบบเดียว จะส่งผลให้เกิดอะไรขึ้น

ผมว่าตอนนี้ประเทศไทย เดินเลยมาถึงจุดที่ไม่สามารถใช้ความทรงจำร่วมเพียงชุดเดียวได้แล้ว เพราะคนในสังคมไม่ได้มีแค่การมีภูมิหลังทางประวัติศาสตร์แตกต่างกัน วัฒนธรรมต่างกัน แต่ยังมีความคิดที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว ไม่ได้แบ่งออกเป็น 2 ขั้วนะครับ ฉะนั้น แต่ละกลุ่มเลือกรับข้อมูลข่าวสาร บางกลุ่มฟังมาหลากหลาย แต่มีวิธีการตีความไม่เหมือนกันคือรัฐบาลบอกว่าอย่างนี้ดี คนกลุ่มหนึ่งพร้อมเชื่อ แต่คนอีกกลุ่มหนึ่งพร้อมปฏิเสธ มันมองโลกต่างกันมาก

คำถามที่ตามมาคือ แล้วรัฐจะสร้างความทรงจำร่วมผ่านคำโฆษณาทุกวันศุกร์ และกิจกรรมจงรักภักดีต่อชาติต่างๆ ไปได้อย่างไร ยากมาก กรณีที่เห็นได้ชัดว่าคนในสังคมมีการเปลี่ยนแปลงสูงในจนความทรงจำร่วมชุดเดียวไม่มีอำนาจแล้วคือ การที่คนกลุ่มหนึ่งออกมาเถียงว่าเลิกเชื่อกันได้แล้วว่าคนไทยมาจากเทือกเขาอัลไต หรือกรณีบางระจันที่คนกลุ่มหนึ่งออกมาตั้งคำถามว่า การต่อสู้ของชาวบ้านบางระจันนั้นทำเพื่อชาติ เพื่ออยุธยา หรือเพื่อปกป้องชุมชนของตนเอง

แต่ทุกวันนี้มีคนไม่ยอมให้คนถกเถียงและให้เชื่อตาม ซึ่งเป็นเรื่องฝืนธรรมชาติมาก คนในรัฐสมัยใหม่ควรต้องยอมรับในเรื่องความหลากหลายทางความคิด และต้องแยกให้ออกว่าความหลากหลายทางความคิดของคนในสังคมเป็นคนละเรื่องกับความเป็นเอกภาพของชาติ เราต้องตั้งคำถามให้หนักว่าเอกภาพในที่นี้คืออะไรมันคือความเสมอภาค ความยุติธรรม หรือไม่ ถามต่อมาว่า ทำไมเราต้องการความหลากหลายของความคิด มองแบบแง่บวกเลยคือ หนึ่ง… ช่วยให้การตัดสินใจรอบด้านมากขึ้น เพื่อหาจุดบรรจบของความถูกต้องได้อย่างลงตัว

สอง… เกิดการเคารพความคิดเห็นของคนอื่นมากขึ้น ซึ่งมันช่วยลดความขัดแย้ง ทำให้ไม่เกิดความรุนแรง คราวนี้คือว่าถ้ารัฐอยากควบคุมความทรงจำ ถามว่าทำได้ไหม ทำได้ครับ ทำได้ต่อเมื่อมีข้อมูลที่ดี น่าเชื่อถือ และมีเหตุผล อันนี้คนจะยอมเชื่อ

สุดท้าย ถ้าเทียบกันระหว่างว่ารัฐยอมให้เกิดความหลากหลายกับรัฐไม่ยอมให้เกิดความหลากหลายจะเกิดอะไรขึ้น ผมคิดว่าการไม่ยอมให้เกิดความหลากหลายทางความคิด ทั้งในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและการแสดงความคิดเห็นเป็นสิ่งที่อันตรายมาก มันเป็นภัยเงียบที่รอวันปะทุ การปล่อยให้แสดงความคิดเห็นมันควบคุมได้ง่ายกว่า เพราะคุณรู้ว่าใครกำลังคิดอะไร แต่การรู้ไม่ใช่เพื่อทำตัวเป็นพวกหัวหมอ แต่รู้เพื่อเข้าใจเขา และเรียนรู้ไปด้วยกัน

03

หากเรามีความทรงจำกันคนละชุด เราจะอยู่ร่วมกันโดยไม่เกิดความรุนเเรงได้อย่างไร

อาจจะ และอาจจะไม่เกิดขึ้น คือคนในสังคมไทยและประเทศอื่นๆ ด้วยคุ้นเคยกับประวัติศาสตร์ที่อธิบายว่า ‘ไทยนี้รักสงบ’ แต่ที่ต้องรบเพราะว่าคนอื่นรังแก แต่มันกลับปิดบังความจริงไว้ด้วยว่าไทยเองก็ไปรังแกชาติอื่นเช่นกัน ไม่อย่างนั้นจะมีประเทศราชได้อย่างไร เพราะประเทศราชมันเกิดจากความสัมพันธ์เชิงอำนาจ คือใช้อำนาจและบารมีจึงมีประเทศราชได้ ยกตัวอย่างประวัติศาสตร์ที่ใกล้ตัวขึ้นมาหน่อยเช่นเรื่องการปฏิบัติ 2475 ฝ่ายเจ้าก็อธิบายว่าการกระทำของคณะราษฎรนั้นเป็นการชิ่งสุกก่อนห่าม ฝ่ายคณะราษฎรและนักวิชาการบางกลุ่มก็อธิบายว่า ถ้าคณะราษฎรไม่ลงมือจะไม่มีทางเกิดประชาธิปไตยได้ง่ายๆ เลย

หรืออีกตัวอย่างเช่นความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา คนในสังคมแบ่งออกเป็น 2 สีชัดเจน สีหนึ่งกับอีกสีหนึ่งกลายเป็นศัตรูกัน เพราะมีอุดมการณ์แตกต่างกัน เรียกได้ว่ามีทั้งการรับรู้และความทรงจำกันคนละชุดอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งในท้ายที่สุด ทหารถือปืนมาแล้วบอกว่าจะยุติความขัดแย้งให้ ซึ่งยังไม่สามารถจัดการกับอะไรได้ ต่อคำถามว่าแล้วเราจะอยู่ร่วมกันกับปัญหาความขัดแย้งข้างต้นได้อย่างไร คือสังคมไทยต้องเรียนรู้เรื่องการให้อภัย และการจดจำเรื่องราวในอดีตเพื่อเป็นบทเรียนใช้สำหรับการก้าวเดินไปข้างหน้า

มีตัวอย่างไหม มี… ในอารยประเทศ เช่น ฝรั่งเศสกับอีกหลายชาติเคยเกิดสงครามกันมา 30 ปี เสียหายมาก ทำให้ต้องมีการทำสนธิสัญญาเวสต์ฟาเลีย โดยเนื้อความตอนหนึ่งในสนธิสัญญานั้นกล่าวว่า “…ควรให้อภัยและลืมความรุนแรง การบาดเจ็บ และความเสียหายทั้งหมดตลอดกาล” (“…should forgive and forget forever all the violence, injuries and damage.”) คราวนี้เมื่อเรียนรู้จะให้อภัยกัน ความทรงจำที่มีกันอยู่คนละชุดนั้นต้องย้อนกลับมาตั้งคำถามกันหนักๆ ว่า มันก่อตัวขึ้นได้อย่างไร คือทำการทบทวนตนเอง แล้วพยายามเข้าใจเหตุผลของกันและกัน จากนั้นมองหาจุดร่วมกันว่าสิ่งที่คนในสังคมที่ขัดแย้งกันต้องการคืออะไร คือคนเราจะขัดแย้งกันได้มันต้องมีจุดร่วมของความขัดแย้งกันอยู่ครับ ที่สำคัญคือ ทุกฝ่ายต้องพร้อมฟังกัน ไม่ใช่คำนึงถึงผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มของตนเอง

04

ประวัติศาสตร์ที่ถูกชำระขึ้นใหม่ จำเป็นมากน้อยเเค่ไหน ที่ต้องบอกคนรุ่นหลังว่า มันเป็นเเค่ความจริงอีกชุดหนึ่ง

จำเป็นต้องบอก เพื่อให้ตระหนักรู้ว่าปัจจุบันที่เป็นอยู่มันเกิดจากอดีต อดีตกำหนดปัจจุบัน แต่ที่สำคัญคือให้คนรุ่นหลังตั้งคำถามว่าทำไมคนในยุคสมัยหนึ่งจึงต้องชำระประวัติศาสตร์ แต่ไม่ใช่ไปบอกว่าคนในอดีตโกหก มันจะทำให้เข้าใจกันผิดเสียเปล่าๆ คือประวัติศาสตร์เขียนขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปัจจุบัน เป็นอย่างนี้มาทุกยุคทุกสมัย ปรากฏว่าถ้ามันมีเอกสารในยุคเดียวกันที่ขัดแย้งกัน ไม่ใช่ไปเลือกมันเพียงชุดเดียว แต่ต้องตั้งคำถามต่อไปอีกว่า ทำอย่างไรถึงเข้าใจข้อขัดแย้งของเอกสารทั้ง 2 ชิ้น และมากกว่านั้นคือ การตั้งคำถามยิ่งได้ความรู้ และยิ่งทำให้เข้าใจอดีตมากขึ้น

05

ในงานเสวนาเรื่อง ประวัติศาสตร์และความทรงจำ ความจริง ความลวง และความเกลียดชัง อาจารย์พูดว่า ประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจในยุคนี้ คือประวัติศาสตร์ผ่านหน้า ฟีดส์ ของ เฟซบุ๊ค เพราะเหตุใดถึงน่าสนใจ เเละมีชุดความคิดแบบไหน ที่น่าพูดถึง

คนที่มีอำนาจนำต้องตระหนักว่าเครื่องมือในสมัยหนึ่ง ไม่สามารถใช้กับอีกสมัยหนึ่งได้ ตัวอย่างเช่นในสมัยก่อนหน้ายุคโลกออนไลน์ รัฐควบคุมความทรงจำได้ง่าย เพราะมีแค่หนังสือแบบเรียน สิ่งพิมพ์ต่างๆ ซึ่งรัฐแทรกแซงได้ แต่ตอนนี้รัฐทำไม่ได้ เพราะสิ่งพิมพ์มีเป็นจำนวนมาก ที่สำคัญคือมีสื่อออนไลน์อย่างเว็บไซต์ บล็อก และเฟซบุ๊ค สื่อพวกนี้ทรงพลังมาก เพราะทำให้คนตัวเล็กๆ กลุ่มเล็กๆ ที่เสียงของพวกเขาที่ไม่เคยมีใครได้ยิน ก็สามารถได้ยิน

อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญของโลกออนไลน์คือ ทำให้คนทุกกลุ่มสามารถเขียนประวัติศาสตร์ของตนเองได้ ต้องเข้าใจว่าประวัติศาสตร์ไม่ใช่แค่เรื่องการพูดถึงว่าเหตุการณ์ในอดีตนั้นจริงหรือไม่ หรือศึกษาเรื่องเวลาเท่านั้น แต่ประวัติศาสตร์ยังให้พื้นที่กับคนด้วย คือเป็นพื้นที่ให้คนมีตัวตน แสดงความคิดเห็น และภูมิใจในบ้านเกิดของตนเอง เห็นได้ในเพจที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่นต่างๆ หรือกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เป็นจำนวนมาก

หรือถ้าคุณมีประเด็นทางประวัติศาสตร์สักเรื่องแล้วอยากถกเถียงคนก็สามารถชวนคนอื่นร่วมกันคิดได้ทันที มันช่วยประเทืองปัญญามากๆ ต่างจากประวัติศาสตร์แบบเก่าที่ต้องนั่งฟังครู และเชื่อตามหนังสือของกระทรวงศึกษาธิการเพียงฝ่ายเดียว

แน่นอน มีคนจำนวนหนึ่งที่ปฏิเสธการถกเถียง โดยเฉพาะเรื่องที่กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น เรื่องพระนเรศวร เรื่องพ่อขุนรามคำแหง เรื่องพระเจ้าตาก เป็นต้น เพราะกลายเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ กลายเป็นความเชื่อไปแล้ว ผมไม่มีสิทธิ์จะไปเรียกร้องอะไร แต่อยากบอกทั้งคนที่ถกเถียงและคนที่ศรัทธาว่า คนที่ถกเถียงสามารถเถียงได้ถ้าอ้างอิงจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์และการตีความที่เคร่งครัด แต่ไม่ควรไปหัวเราะเยาะความเชื่อของใคร

คนที่ศรัทธาต่อวีรบุรุษก็ควรเข้าใจด้วยว่าคนที่เขาถกเถียงด้วยหลักวิชาการนั้น คือกลุ่มคนที่น่ายกย่องเพราะเขาได้ใช้เวลาเพื่อศึกษาบุคคลศักดิ์สิทธิ์นั้นอย่างละเอียดละออ จะถูกผิดก็ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของผู้อ่าน ถ้าคุณไม่เชื่อต้องเถียงด้วยหลักฐานที่จับต้องได้ แต่วิธีคิดแบบนี้เกิดขึ้นได้ยาก เพราะคนจำนวนมากและรัฐกลัวความคิดเห็นที่แตกต่าง กลัวการเปลี่ยนแปลง เพราะมันไปกระทบต่อโลกอุดมคติ และอัตลักษณ์ตัวตนของเขา ไม่อย่างนั้นจะมีคนฟ้องร้องเรื่องพระนเรศวรกันหรือ เรื่องนี้ก็เป็นปัญหาจากการที่รู้ไม่เท่าทันกระบวนการเขียนประวัติศาสตร์เพื่อสร้างชาติสมัยก่อน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ