รำลึก ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’: คน ‘ตรง’ ในประเทศ ‘คด’

รำลึก ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’: คน ‘ตรง’ ในประเทศ ‘คด’

รัฐโรจน์ จิตรพนา
นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่

“คนตรงในประเทศคด” คือคำนิยาม ป๋วย อึ๊งภากรณ์ โดยอัมมาร สยามวาลา ในฐานะคนที่กล้าแสดงความคิดเห็นต่อสังคมอย่างตรงไปตรงมา ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในขณะที่มีชีวิตอยู่

ประโยคหนึ่งที่ถูกกล่าวถึงในความเป็น ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ ในวงเสวนา “ร้อยเรียงความทรงจำ ร้อยปีอาจารย์ป๋วย” โดยเหล่าผู้ที่มีประสบการณ์ทำงานร่วมกับป๋วย อึ๊งภากรณ์ อาทิ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นวพร เรืองสกุล อดีตผู้บริหารและนักเรียนทุนธนาคารแห่งประเทศไทย และวรากรณ์ สามโกเศศ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2559 ณ คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

20160203185935.jpg
 

แตกต่างอย่างสันติตามหลัก “สันติประชาธรรม”

ในบทบาทของนักเศรษฐศาสตร์ ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ คืออดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ตลอดระยะเวลากว่า 12 ปี 

ส่วนในบทบาทของนักการศึกษา ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ คืออดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่มีแนวคิดต่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติท่ามกลางความแตกต่าง ด้วยหลัก “สันติประชาธรรม” 

“เราต้องมาตกลงว่า เราเห็นต่างกันได้ เราอยู่ด้วยกันได้ อันนี้คือหลักที่เรียกว่าสันติประชาธรรม คือสังคมที่ไม่ใช่เห็นเหมือนกัน อย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน ผมคิดว่าสภาพที่ อ.ป๋วยเจอในสังคมไทยตอนนั้น ปี 2517 – 2518 – 2519 อาจไม่ต่างจากปัจจุบันนี้เท่าไร คือมีความขัดแย้ง มีความแตกต่าง” ชาญวิทย์ เกษตรศิริ แลกเปลี่ยนมุมมองต่อแนวคิดเรื่องสันติประชาธรรม

สอดคล้องกับมุมมองของสุลักษณ์ ศิวรักษ์ นักคิดนักเขียนอาวุโส ที่มาร่วมฟังการเสวนาครั้งนี้ ซึ่งมองว่าหลักสันติประชาธรรมคือหัวใจสำคัญของแนวคิด ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ ที่เป็นคุณูปการต่อสังคมไทย

“สันติประชาธรรม ต้องไม่ใช้ความรุนแรง ต้องไม่ใช้การรบราฆ่าฟัน ต้องเปิดโอกาสให้คนที่ไม่เห็นด้วยกับเรา ฟังเขา ประชาธิปไตยไม่ใช่เพียงการลงคะแนน ประชาธิปไตยจะต้องสร้างให้สังคมสันติ ให้สังคมยุติธรรม ให้คนรวยไม่เอาเปรียบคนจน อยู่ด้วยกันอย่างพี่อย่างน้อง ด้วยวิถีทางประชาธิปไตย” ส.ศิวรักษ์ กล่าว

สังคมไทยยังมีหวัง?

ไม่เพียงแต่หลัก “สันติประชาธรรม” บทความ “คุณภาพแห่งชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง : จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ที่กล่าวถึงสวัสดิการและการเข้าถึงคุณภาพชีวิตของคนไทยตั้งแต่เกิดจนถึงเสียชีวิต เป็นอีกหนึ่งผลงานเขียนที่มีชื่อเสียงของ  ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ ถูกนำมาแลกเปลี่ยนในวงเสวนา และตั้งคำถามถึงสังคมไทยในฝันที่ยังไม่ประสบความสำเร็จแม้ในปัจจุบัน 

ปกป้อง จันวิทย์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โปรดิวเซอร์และผู้เขียนบทสารคดีป๋วย อึ๊งภากรณ์ : จากครรภ์มารดาถึงเชิงตระกอน กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า บทบาทสำคัญของการสร้างสังคมที่ดีอยู่ที่ประชาชนคนธรรมดาทุกคน

“อ.ป๋วยเคยบอกว่าตั้งแต่เกิดจนตาย คนไทยควรได้รับการดูแลสวัสดิภาพที่ดี มีประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ นิติรัฐ หลายเรื่องยังเป็นเรื่องใหญ่ยากที่เราต้องฝ่าฟันไปอีกไกล แต่สิ้นหวังไม่ได้ ถ้าสิ้นหวังมันก็ไม่ไปไหน เราก็ต้องเชื่อว่าสังคมที่ดีขึ้นเป็นไปได้จริง และเป็นสิ่งที่เราต้องลงมือทำกันเอง ไม่สามารถคาดหวังอัศวินม้าขาว ไม่สามารถคาดหวังผู้นำเทวดา อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่เป็นเรื่องของสามัญชนที่ต้องทำเรื่องเหล่านี้” ปกป้อง กล่าว

 

วิพากษ์วิจารณ์ ด้วยความเป็น “มนุษย์ธรรมดาที่น่าสนใจ”

“อนุสาวรีย์คือการรำลึกถึงคนตายแบบตายไปแล้ว ผมอยากให้อ่านหนังสือของคุณพ่อ วิพากษ์ วิจารณ์คุณพ่อ บอกว่าไม่เห็นด้วยกับความคิดหรือการทำงานของคุณพ่อ นั่นแหละจึงจะทำให้คุณพ่อมีชีวิตอยู่อย่างยั่งยืน และทำให้คุณพ่อถูกมองเป็น ‘มนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งที่น่าสนใจ’ มีผลงานที่อาจทำดีบ้างหรือเลวบ้าง อันนี้คือความจริงของมนุษย์”

วาระ 100 ปี ชาตกาล ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ ปกป้อง หยิบยกคำกล่าวของ จอน อึ๊งภากรณ์ ผู้เป็นลูกชายของ ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ ขึ้นมาปิดท้ายการพูดคุย เพื่อชี้ว่าการรำลึกนั้นสามารถทำได้หลากหลายรูปแบบ โดยสิ่งสำคัญคือการทำให้แนวความคิดอันเป็นคุณูปการของ ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ ยังคงอยู่ในสังคม

เมื่อสอบถามจากนักศึกษาที่มาร่วมฟังการเสวนาครั้งนี้ ต่างมองว่า ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ คือบุคคลตัวอย่างของวัยรุ่นไทย แม้จะจากไปกว่า 17 ปี แต่แนวคิดของ ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ ยังคงเป็นมรดก ที่สามารถปรับใช้เพื่อการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่างหลากหลาย

“รู้สึกว่า อ.เปรียบเสมือนฮิปสเตอร์ในสมัยก่อน ที่เป็นผู้นำทางความคิด และกล้าที่จะถกเถียงกับสิ่งที่ท่านไม่เห็นด้วย เราก็เอาตรงนี้มาใช้กับชีวิตของเรา เราอาจจะตามอ่านผลงาน หรือดูสารคดี อาจไม่ได้ทำตรงตามอาจารย์ แต่เอามาปรับใช้ เราเชื่อว่าอุดมการณ์บางอย่างมันยังคงอยู่” โสรญา อะทาโส กล่าว

20160203190428.jpg

ในเดือนมีนาคมนี้ ชีวิตและแนวคิดของ  ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ จะถูกถ่ายทอดผ่านงานเสวนา รวมทั้งผ่านงานรูปแบบสารคดีเชิงละคร “ป๋วย อึ๊งภากรณ์: จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” เริ่มวันเสาร์ที่ 5 มี.ค. 2559 เวลา 21.10-22.00 น. ทางไทยพีบีเอส

 

 

ป๋วย อึ๊งภากรณ์: จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน ตอนที่ 1 “เสียชีพอย…

ชมไฮไลท์พิเศษ (ความยาว 5 นาที) สารคดี “ป๋วย อึ๊งภากรณ์: จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ตอนที่ 1 “เสียชีพอย่าเสียสิ้น” เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองอุบัติขึ้น ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในวัยเพียง 26 ปี ซึ่งขณะนั้นเป็นนักเรียนทุนอยู่ที่อังกฤษ ตัดสินใจขัดคำสั่งรัฐบาลไทย ไม่เดินทางกลับประเทศ และร่วมกับเพื่อนนักเรียนไทยก่อตั้งขบวนการเสรีไทยสายอังกฤษขึ้น ก่อนที่จะได้รับภารกิจสำคัญ นั่นคือการลักลอบเข้าสู่ประเทศไทยโดยการกระโดดร่ม เพื่อหาทางติดต่อกับปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าเสรีไทยภายในประเทศในภาวะความเป็นความตายเท่ากันเช่นนี้ ป๋วยเลือกที่จะเดินหน้า และปฏิบัติภารกิจเพื่อชาติอย่างไม่ลังเล อะไรทำให้ชายหนุ่มนักเรียนนอกผู้กำลังมีอนาคตสดใส ตัดสินใจเสี่ยงชีวิตและเดินหน้าเข้าสู่สงคราม อะไรทำให้ลูกจีนนาม “ป๋วย” ผู้นี้ สามารถเติบใหญ่กลายเป็นบุคคลสำคัญของไทย ทั้งในทางเศรษฐกิจ การศึกษา และการเมือง และอะไรทำให้สามัญชนผู้นี้สามารถยืดหยัดในความเป็นคนตรงท่ามกลางสังคมที่เต็มไปด้วยความฉ้อฉลได้ร่วมสำรวจความกล้าหาญของชายหนุ่มผู้ใช้ชีวิตอย่างไม่ “เสียดายโอกาส” ผู้นี้ไปกับ จอน อึ๊งภากรณ์, สุลักษณ์ ศิวรักษ์, วรากรณ์ สามโกเศศ, ยงยุทธ ยุทธวงศ์, ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, อรัญ ธรรมโน, พระไพศาล วิสาโล และสรศักดิ์ งามขจรกุลกิจ ในสารคดีป๋วย อึ๊งภากรณ์: จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน ตอนที่ 1 “เสียชีพอย่าเสียสิ้น” วันเสาร์ที่ 5 มีนาคมนี้ 21.10-22.00 น. ทางไทยพีบีเอส

Posted by SarakadeeThaiPBS on Tuesday, March 1, 2016

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ