คำจำกัดความของคำว่า ‘เมืองน่าอยู่’ (Liveable City) เปลี่ยนผันไปตามพื้นที่และผู้คน คือสิ่งที่โครงการวิจัย โครงการการพัฒนากระบวนการมีส่วนร่วมและการสื่อสารเชิงยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาเมืองศูนย์กลางที่น่าอยู่และชาญฉลาด (Livable and Smart City) ได้เรียนรู้ตลอดกว่า 7 เดือนของการลงเก็บข้อมูลและวิจัยเชิงปฏิบัติการในพื้นที่ 4 เมือง ได้แก่ เชียงใหม่ ระยอง มหาสารคาม และนครศรีธรรมราช
นำมาสู่เวทีครั้งนี้ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งเป็นกระบวนการ ‘คืนข้อมูล’ ที่ได้รับจากการลงพื้นที่เมืองมหาสารคาม กลับไปสู่สาธารณะ และฟังเสียงสะท้อนหลากภาคส่วนต่างๆ เพื่อเติมเต็มข้อมูลให้ครบถ้วนมากขึ้น
ทำไมต้องวัดเมืองน่าอยู่
“คำว่า เมืองน่าอยู่ มันเป็นเรื่องของความรู้สึก แต่ถ้ามีข้อมูลมันจะทำให้เราได้เห็นสิ่งต่างๆ ได้ชัดเจนมากขึ้น”
อนรรฆ พิทักษ์ธานิน หัวหน้าโครงการวิจัยฯ จากสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า แม้ทางโครงการวิจัยนี้จะใช้ กรอบการติดตามการพัฒนาเมืองของโลก (The Global Urban Monitoring Framework : UMF) ของ UN-Habitat มาเป็นกรอบในการศึกษาความน่าอยู่ของเมือง แต่การใช้กรอบนี้ ในแต่ละพื้นที่ไม่จำเป็นต้องมีตัวชี้วัดในรูปแบบเดียวกัน
นั่นจึงเป็นเหตุผลให้ทีมวิจัยต้องเข้าทำงานเก็บข้อมูลในพื้นที่หลายครั้งร่วมกับประชาชนและภาคส่วนต่างๆ ในท้องถิ่น เพื่อค้นหาว่าอะไรปัจจัยชี้วัดความน่าอยู่ในแบบของแต่เมือง เช่นเดียวกับที่มหาสารคาม ทีมโครงการวิจัยฯ ได้มีการลงมาจัดเวทีเพื่อเก็บข้อมูลหลายครั้งด้วยกันผ่านกิจกรรมหลายครั้งเพื่อทำให้ได้ตัวชี้วัดน่าอยู่เฉพาะตัวของเมืองมหาสารคาม
“ในเวทีครั้งนี้ เป็นการคืนข้อมูลที่เก็บไปว่าเราได้อะไรไปบ้างจากการลงพื้นที่ แล้ววันนี้อยากให้ทุกคนช่วยกันเติมข้อมูล” อนรรฆ ชี้แจงถึงวัตถุประสงค์ของเวที
จากข้อมูลสู่แผนการพัฒนา
กมล ตราชู รองนายกเทศมนตรีเมืองมหาสารคาม กล่าว เพราะมองว่าการทำวิจัยเป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่ทำให้หลายๆ ภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมสะท้อนความเป็นไปของเมืองมหาสารคามจากคนในพื้นที่ เพื่อนำไปใช้วิเคราะห์จนเกิดเป็นข้อมูล ตัวชี้วัดต่างๆ ทำให้ภาครัฐและเอกชนสามารถเข้าใจมิติต่างๆ ของเมืองได้
“พอได้ข้อมูลมาแผนการพัฒนามันต้องเกิด”
ขั้นต่อไปหลังจากเสร็จสิ้นเวทีทั้งหมด กมล ตราชู รองนายกเทศมนตรีฯ ยังกล่าวต่อว่า ข้อมูลที่ได้จากเวทีวันนี้และผลจากงานวิจัยจะถูกหยิบไปใช้และบรรจุเข้าไปในแผนพัฒนาเมืองของเทศบาลเมืองมหาสารคามต่อไป
ในอนาคต เมื่อได้แผนพัฒนาเมืองของสำนักงานเทศบาลออกมา จึงอยากจะเชิญภาคส่วนต่างๆ ในเมืองมหาสารคาม รวมถึงทีมโครงการวิจัยฯ สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาร่วมกันออกความเห็นต่อแผนพัฒนาฯ นี้อีกครั้ง
ทบทวนความน่าอยู่แบบเมืองมหาสารคาม
แต่ละเมืองมีปัญหาและศักยภาพไม่เหมือนกัน ดังนั้น นิยามความน่าอยู่ของเมืองในแต่ละพื้นที่จึงต่างกันออก ทำให้ต้องการแนวทางการพัฒนาและทิศทางที่แต่ละพื้นที่ต้องการจึงมีความเฉพาะตัว
“จริงๆ เมืองน่าอยู่มันไม่ใช่เป้าหมายนะ เมืองมันสามารถน่าอยู่ขึ้นได้เรื่อยๆ ตลอด ดังนั้น คำถามคือทิศทางที่เมืองมาหาสารคามจะไปคืออะไรและมีวิธีอย่างไร”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ว่าน ฉันทวิลาสวงศ์ นักวิจัยหลักของโครงการวิจัยฯ เกริ่นนำ ในการสรุปข้อมูลที่ได้จากการทำกิจกรรมร่วมกับภาคส่วนต่างๆ เช่น ประธานชุมชนในเขตเทศบาล ภาคประชาสังคม ภาคการศึกษา หน่วยงานรัฐ และภาคเอกชน ใน 2 ครั้งที่ผ่านมา
ในกิจกรรมครั้งที่ 1 ซึ่งจัดขึ้นในเดือนสิงหาคม 2566 เป็นรับฟังและให้ภาคส่วนต่างๆ ร่วมกันสะท้อนความก้าวหน้าของการพัฒนาด้านต่างๆ ของเมือง พร้อมทั้งประเมินย้อนไปในอดีต สำรวจปัจจุบัน และคาดคะเนสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตในระยะเวลา 10 ปี
จากกระบวนการดังกล่าวทำให้พบว่า โดยภาพรวมของเมืองมหาสารคามอยู่ปัจจัยด้านต่างๆ อยู่ในสถานะที่พัฒนาได้ดี ส่วนปัจจัยที่พัฒนาขึ้นไปได้แต่ช้ากว่าด้านอื่น คือ เศรษฐกิจ เพราะยังไม่สามารถดึงดูดโอกาสทางเศรษฐกิจได้ดีเท่าที่ควร และปัจจัยที่ถูกประเมินว่ามีถดถอยลงจากในอดีตและคาดว่าจะถดถอยต่อไปในอนาคต คือ ด้านสังคม สิ่งแวดล้อม เช่นเดียวกับปัจจัยด้านที่อยู่อาศัย ที่ถูกประเมินว่าปัจจุบันนั้นถดถอยลงกว่าในอดีต เนื่องจากปัจจุบันมหาสารคามยังมีที่อยู่อาศัยไม่เพียงพอและมีราคาที่สูงขึ้น แต่ในอนาคตคาดการณ์ว่าจะมีแนวโน้มที่พัฒนาดีขึ้น
ในกิจกรรมครั้งที่ 2 เมื่อเดือนตุลาคม 2566 เป็นกิจกรรมการร่วมกันประเมินเมืองแบบเจาะลึกมากขึ้นในประเด็นต่างๆ โดยนำกรอบ UMF มาใช้เป็นกรอบประเมินความน่าอยู่ของเมืองใน 21 ประเด็นการพัฒนา จาก 5 มิติ คือ สังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม การปกครอง ใน 4 แนวทาง คือ ความปลอดภัย ความครอบคลุม ความยืดหยุ่น ความยั่งยืน พบว่า ปัจจัยด้านวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับเมืองมหาสารคาม โดยมีการพัฒนาปัจจัยด้านการศึกษาและสิ่งแวดล้อมที่จะเข้ามาช่วยหนุนเสริมตรงนี้ได้
“ที่น่าสนใจคือทั้ง 4 เมืองที่ทำวิจัย มีประเด็นร่วมกันอยู่ ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่แค่ 4 เมืองนี้หรอก มันเป็นประเด็นร่วมของทั้งประเทศ เป็นเรื่องที่สังคมให้ความสนใจ”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ว่าน สรุปประเด็นปัญหาที่มีร่วมกันของทั้ง 4 เมือง ซึ่งอาจใช้เป็นภาพสะท้อนปัญหาของเมืองต่างๆ ทั่วประเทศมีร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นประเด็น การมีส่วนรวมของประชาชนต่อการบริหารจัดการเมือง รายได้ไม่เพียงพอ ความเหลื่อมล้ำ และมลพิษ เป็นต้น
ที่เห็นและเป็นอยู่
“มันทำให้เราเห็นภาพมากขึ้น เพราะการพัฒนาเมืองต้องฟังเสียงจากคนในเมือง”
ริศรา ศิริพรหมโชติ ประธานกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่จังหวัดมหาสารคาม สรุปบทเรียนจากการได้เข้าร่วมกิจกรรมตลอดโครงการว่า ทำให้เข้าใจข้อมูลภาพรวมของเมืองทั้งหมดและเข้าใจถึงตำแหน่งแห่งหนของตัวเองว่าอยู่ส่วนใดในการจะช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาเมือง ได้เห็นผลสรุปที่ว่าเมืองมหาสารคามพัฒนาทางเศรษฐกิจได้ช้า
“เรามีทุนทางวัฒนธรรมเยอะ ทั้งอาหารพื้นถิ่น ศิลปะต่างๆ อย่างทีมงานไทบ้านก็เป็นคนสารคาม แต่ต้องหาทางชูขึ้นมาให้สามารถช่วยผลักดันด้านเศรษฐกิจได้” ริศรากล่าว
นอกจากนี้ ริศรายังตั้งเป้าใช้เครือข่ายภาคธุรกิจในเมืองช่วยกันผลักดันสินค้าวัฒนธรรม และสิ่งที่ได้เห็นเพิ่มขึ้นมาจากการเข้าร่วมเวที คือ ปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อมในเมือง ที่เป็นปัญหาใหญ่ เป็นปัจจัยที่ส่งกระทบต่อเมืองในด้านอื่นๆ ไปด้วย
“ทุกอย่างมันเชื่อมโยงกันหมด ถ้าเมืองเราขยะเยอะมันก็ไม่น่าเที่ยว เศรษฐกิจก็ไม่ดี” ริศรากล่าวปิดท้าย
ในเวทีนี้ครั้ง ความท้าทายสำคัญของเมืองมหาสารคามที่ถูกสะท้อนออกมากที่สุด คือ ปัญหาการจัดการขยะและสิ่งปฏิกูล
“ในเขตเทศบาลเมืองมีปริมาณขยะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้อยู่ที่ประมาณ 46 ตัน ทำให้มีปัญหาขยะตกค้างอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วเมืองทำลายทัศนียภาพของเมือง และตามมาด้วยปัญหาด้านสาธารณสุข”
นัฏฐิยา โยมไธสง หัวหน้าสำนักสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมเทศบาลเมืองมหาสารคาม กล่าวถึงปัญหาการจัดการขยะในพื้นที่ โดยอธิบายเพิ่มเติมว่าแกนหลักของปัญหา คือ การจัดการขยะที่ต้นทางที่ไม่ดีพอ ทำให้มีกองขยะตกค้างทิ้งไว้ทั่วเมือง
จุดเริ่มต้นในการแก้ปัญหาควรเริ่มที่หน่วยงานราชการของเมืองที่ต้องมีแผนการจัดการขยะของแต่หน่วยงานขึ้นมา เพื่อขยายไปสู่ภาคส่วนอื่นๆ ของเมือง
“เราอยากให้มหาสารคามเป็นเมืองที่แยกขยะตั้งแต่ต้นทาง นำไปสู่การเป็นเมือง Zero Waste และสามารถมีรายได้จากขยะได้ด้วย”
เสียงจากคนต่างถิ่น
ตักศิลานคร หมายถึง เมืองแห่งการศึกษา เป็นสมญานามของเมืองมหาสารคาม เพราะเป็นเมืองที่มีสถานศึกษาจำนวนมาก จึงทำให้เป็นจังหวัดหนึ่งที่มีจำนวนนักศึกษามากเป็นอันดับต้นๆ ไม่แพ้หัวเมืองใหญ่ของประเทศ
จำนวนนักศึกษาที่เข้ามาในพื้นที่จึงทำให้มีประชากรแฝงมากไปด้วย
“ผมว่าที่นี้ก็น่าอยู่นะครับ ไม่เจริญไปหรือเงียบไป”
พงศกร บุรพันธ์ นักศึกษาจากวิทยาการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จากภูมิลำเนาที่ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ที่ตัดสินใจมาเรียนที่มหาสารคามเพราะคนรู้จักมาเรียนที่นี้ บอกว่าเป็นเมืองที่น่าอยู่ และมีญาติอยู่อีสานจึงตัดสินมาเรียนมหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ปัจจุบัน พงศกรมาอยู่ที่มหาสารคามเข้าปีที่ 2 แล้ว ได้สะท้อนว่าภาพรวมรู้สึกดีกับเมืองมหาสารคาม ถึงแม้จะพบเจอกับปัญหาของเมืองอยู่บ้าง เช่น ปัญหาค่าครองชีพที่สูง โดยเฉพาะค่าเช่าหอพัก
“ค่าแรงที่นี้ไม่ต่างจากที่บ้านผมเลย แต่ค่าครองชีพสูงพอๆ กับภูเก็ต ค่าหอแพงมากครับ เพราะหอไม่พอ”
เนื่องจากมีนักศึกษาเข้ามาเยอะ หอพักไม่เพียงพอ การขยายตัวของย่านมหาวิทยาลัยทำให้ที่ดินมีราคาสูง ส่งผลให้ค่าเช่าที่อยู่อาศัย รวมถึงราคาอาหารก็สูงตามไปด้วย
“นอกจากนั้นก็เหมือนกับที่คุยกันในเวที เช่น ปัญหาเรื่องขยะ ฝุ่น กับถนนครับ”
ส่วนในแง่ดี พงศกรมองว่าในเมืองมหาสารคามยังมีรถประจำทางเปิดให้บริการอยู่บ้าง ต่างจากเมืองเบตงที่ไม่มีเลย แต่ถ้าปรับปรุงให้สะดวกสบาย และมีจำนวนเพียงพอจะทำให้เป็นเมืองที่น่าอยู่ยิ่งขึ้น
เวทีครั้งนี้จึงเป็นหมุดหมายสำคัญหนึ่ง ที่เกิดขึ้นจากกลไกการรวบรวมความคิดเห็น เสียงสะท้อนมากมายถึงศักยภาพและปัญหาที่ต้องแก้ไขของเมืองมหาสารคาม จากผู้เข้าร่วมที่เป็นตัวแทนของภาคส่วนต่างๆ ที่จะร่วมกันสะท้อนและร่างฝันกำหนดอนาคตให้เมืองมหาสารคาม และส่งมอบแผนให้ภาครัฐต่อไป เพื่อช่วยกันขับเคลื่อนสารคามให้เป็นเมืองที่น่าอยู่ยิ่งขึ้นไป
บทความชิ้นนี้เป็นการสรุปสาระสำคัญจากกิจกรรมการประชุมคืนข้อมูลและร่วมออกแบบแนวทางขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่และชาญฉลาด โดยความร่วมมือระหว่าง โครงการการพัฒนากระบวนการมีส่วนร่วมและการสื่อสารเชิงยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาเมืองศูนย์กลางที่น่าอยู่และชาญฉลาด (Livable and Smart City) สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานเทศบาลเมืองมหาสารคาม และ Thai PBS