นายอำเภออากาศอำนวย ติดตามวิจัยแก้จน “โมเดลนาปรัง” หนุนแปรรูปข้าวเม่า

นายอำเภออากาศอำนวย ติดตามวิจัยแก้จน “โมเดลนาปรัง” หนุนแปรรูปข้าวเม่า

เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 นายอำเภออากาศอำนวย ร่วมกับทีมนักวิจัย ม.ราชภัฏสกลนคร ลงพื้นที่ด่วนติดตามการทำนาปรัง บ.ดงสาร ต.โพนงาม อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร เพื่อหนุนเสริมให้กำลังใจชาวบ้าน และพูดคุยแนวทางการขับเคลื่อนโมเดลแก้จน “คลังเมล็ดพันธุ์ข้าว” อย่างเป็นกันเอง ไม่มีพิธีการ แต่ได้การ

หลังจากทีมนักวิจัย มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร เข้าพื้นที่ บ.ดงสาร ต.โพนงาม อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร เพื่อวิจัยแก้ไขปัญหาความยากจน เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2565 ใช้วิธีการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research : PAR) และกลไกวิศวกรสังคม ออกแบบและพัฒนาโมเดลแก้จนอาชีพทำนาปรัง โดยการนำองค์ความรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างง่าย มาเร่งแก้ไขปัญหาในแต่ละห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของเกษตรกรทำนาปรัง ดังนี้

  • งานต้นน้ำ พัฒนาเมล็ดพันธุ์ข้าวให้มีคุณภาพ ช่วยให้ข้าวรับประทานได้ จากเดิมแข็งเกรดอาหารสัตว์ เตรียมยกระดับการผลิตเพื่อใช้ในทุ่งพันขัน 4,000 ไร่ พร้อมกับค้นหาสายพันธุ์ข้าวท้องถิ่น และจัดระบบคลังเมล็ดพันธุ์ข้าวสายพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมตามนิเวศน์ย่อย
  • งานกลางน้ำ การแปรรูปผลิตภัณฑ์ได้แก่ ข้าวเม่า สบู่น้ำนมข้าว
  • งานปลายน้ำ การวางระบบสวัสดิการกองทุนเมล็ดพันธุ์ข้าว สมาชิกเกษตรกรกู้ยืมแลกเปลี่ยนซื้อขายกันภายใน และมีโอกาสใหม่คือการพัฒนาชุมชนเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ “พิพิธภัณฑ์เกษตรกรรมที่มีชีวิต” ร่วมกับ local alike

อาจารย์สายฝน ปุนหาวงศ์ หัวหน้าโครงการวิจัย ทีมปฏิบัติการโมเดลแก้จนเกษตรมูลค่าสูง กล่าวว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่าเกษตรกรใช้เมล็ดพันธุ์ข้าว 18 กิโลกรัมต่อไร่ หรือ 72,000 กิโลกรัมต่อ 4,000 ไร่ ปัจจุบันชาวบ้านซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าว ถ้าคิดตามราคากลาง(ปี2565) กิโลกรัมละ 12.50 บาท ต้องลงทุนค่าเมล็ดพันธุ์ มูลค่า 900,000 บาท ต่อรอบการผลิต จึงเรียกว่า “โมเดลคลังเมล็ดพันธุ์ข้าว” เป็นอาชีพระยะยาว

จึงพัฒนาอาชีพทำนาปรังเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ ช่วยลดต้นทุนการผลิตซื้อเมล็ดพันธุ์ และมีโอกาสใหม่แปรรูปข้าวเม่า พร้อมทั้งเตรียมพัฒนาสู่ท่องเที่ยวชุมชน “พิพิธภัณฑ์เกษตรกรรมที่มีชีวิต” ร่วมกับ Local Alike (กิจการเพื่อสังคม) โมเดลนี้มีผู้ได้รับผลประโยชน์ 55 ครัวเรือน ทำแปลงปลูกข้าวพันธุ์ 55 ไร่ ช่วยลดรายจ่ายต้นทุนการผลิตประมาณ 1,083 บาทต่อครัวเรือน ปริมาณเมล็ดพันธุ์ที่ได้มากถึง 55,000 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า 715,000 บาทต่อปี อ.สายฝน ชี้แจงผลการให้ความช่วยเหลือครัวเรือนยากจน

บ้านดงสาร มีที่ตั้งชุมชนติดกับแม่น้ำสงคราม (ตอนล่าง) มีพื้นที่ป่าบุ่งป่าทามหรือชาวบ้านเรียกว่า “ทุ่งพันขัน” เนื้อที่รวมทั้งสิ้น 4,625 ไร่ เป็นหมู่บ้านที่เก่าแก่มากกว่า 100 ปี ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ  ป่าบุ่งป่าทาม จึงเป็นต้นกำเนิดของแหล่งอาหารอันสมบูรณ์ และมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อวิถีชีวิตของชุมชนริมฝั่งแม่น้ำสงคราม การตั้งถิ่นฐานของชุมชนจึงมักตั้งบ้านเรือนอยู่เป็นกลุ่มบนที่ดอน อยู่ใกล้กับป่าทามที่อุดมสมบูรณ์

พ่อเด่น ณัฐฏพล นิพันธ์ ชาวบ้านดงสารเล่าความสำคัญว่า บริเวณพื้นที่ “ทุ่งพันขัน” กำลังทำนาปรัง มีแหล่งกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ คือ หนองคางฮูง กุดสิ้ว และหนองหมากแซว ในฤดูฝนน้ำจากแม่น้ำสงครามจะเข้าท่วมทำนาปีไม่ได้ มีการเก็บเกี่ยวชาวบ้านจะใช้รถเกี่ยวข้าวนำไปขายได้ทันที ราคารับซื้อกิโลกรัมละ 8 บาท ข้าวนาปรังกินแล้วแข็งจึงขายข้าวเปลือกไปซื้อข้าวสาร  

ม.ราชภัฏสกลนคร เข้ามาศึกษาวิจัยหารือกับชาวบ้าน จึงเสนอให้แก้ปัญหาเรื่องคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าว ได้เสี่ยวแนะนำเทคโนโลยีตะแกรงร่อนคัดคุณภาพเมล็ดข้าวก่อนนำไปหว่าน ตอนแรกผมอยู่ห่าง ๆ นั่งฟังแล้วเข้าหูเลยสนใจ จึงตกลงเป็นเสี่ยวกันแลกเทคโนโลยี หลังจากนำไปทดลองใช้ประโยชน์ เกิดการเปลี่ยนแปลงจากเดิม ต้นข้าวแตกกอมากขึ้นได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น นึ่งทานได้หอมนุ่มเหมือนข้าวนาปี จึงชวนชาวบ้านมาคัดเมล็ดข้าวก่อนนำไปหว่านนาปรัง วันนี้ดีใจมาก ช้างเหยียบนา พระยาเหยียบเมือง พ่อเด่น รายงานผลที่เกิดขึ้นในพื้นที่ให้นายอำเภออากาศอำนวยฟังด้วยความรู้สึกปลื้มปิติ

นายวันเพ็ญ ไชยพรม ผู้ใหญ่บ้านดงสาร หมู่ที่ 5 กล่าวว่า ช่วงนี้ข้าวนาปรังกำลังเขียวขจี หรือกำลังเป็นบ่าวสาว ทาง ม.ราชภัฏสกลนคร เข้ามาสนับสนุนปีที่ 2 ได้ยกระดับงานเพิ่มจำนวนผู้เข้าร่วมและขยายกิจกรรมการพัฒนา เช่น แปรรูป และการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชน ซึ่งปีนี้ได้รวมกลุ่มกันจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนกลุ่มนาปรังมูลค่าสูง เป็นกลไกในการขับเคลื่อนงาน หมู่บ้านดงสารรู้สึกภูมิใจที่ ม.ราชภัฏสกลนคร เข้ามาช่วยเหลือ และวันนี้ดีใจที่นายอำเภออากาศอำนวยมาตรวจเยี่ยมการทำนาปรังของชาวบ้านถึงทุ่งนา

นายสุทธิเมศวร์ บุญแสนกุลธวัช นายอำเภออากาศอำนวย กล่าวว่า ได้เห็นพื้นที่จริงบ้านดงสารเป็นแหล่งผลิตข้าวนาปรังขนาดใหญ่ เข้าสู่กระบวนการผลิตเมล็ดพันธุ์ด้วยคุณภาพจากงานวิจัย ด้านตลาดข้าวเราไม่สามารถกำหนดราคาเองได้ แต่เราสามารถเชื่อมโยงช่องทางตลาดอื่น ในอำเภออากาศอำนวยมีแหล่งแปรรูปข้าวเม่าชื่อดังอยู่บ้านนายอ รายได้ครัวเรือนมากกว่า 100,000 บาท ถ้าจับมือผู้ผลิตผู้แปรรูปเจอกันจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้น เป็นการทำเกษตรที่เชื่อมโยงกันในพื้นที่ ต้องขอบคุณทีมอาจารย์ ม.ราชภัฏสกลนคร มาช่วยให้ชาวบ้านลืมตาอ้าปากได้ มองเห็นแสงสว่างในปลายอุมงค์ สอดคล้องกับแนวทางพัฒนามิติเศรษฐกิจของอำเภอในประเด็นอาชีพเห็ด ข้าว โคเนื้อ

สรุปกระบวนการวิจัย 1.) นำทาง ให้พ่อเด่นมาเจอเสี่ยวจนได้ติดตั้งเทคโนโลยีตะแกรงร่อน 2.) ร่วมทาง ศึกษาพัฒนากระบวนการทำข้าวนาปรังและเชื่อมโยงโอกาสใหม่ 3.) ส่งทาง สู่กองทุนคลังเมล็ดพันธุ์ข้าวร่วมกับภาคีในพื้นที่

การนำทางสำคัญมาก พอนำทางได้ตรงใจเขา เขาก็มาเอง และชวนคนอื่นมาด้วย ยกตัวอย่างคือพ่อเด่น สามารถบอกเล่ากระบวนการดำเนินงานเหมือนเป็นนักวิจัย เป็นความคาดหวังของแหล่งทุน หน่วย บพท. การสร้างกลไกดำเนินงานอย่างต่อเนื่องสู่ความมั่นคง

ที่มา : www.1poverty.com

เรียบเรียงโดย : สมชาย เครือคำ (แตงโม สกลนคร)
ดำเนินการ : โครงการพัฒนาระบบห่วงโซ่การผลิตเกษตรมูลค่าสูง ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ติดตามได้ที่ blog และ blockdit และ Facebook
แหล่งทุนวิจัย : หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ติดตามได้ที่ งานยุทธศาสตร์ขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ