สร้างเมืองฅอนที่น่าอยู่ ด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน

สร้างเมืองฅอนที่น่าอยู่ ด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน

ความน่าอยู่ของเมืองนครฯ คืออะไร?

นี่คือประโยคแรกที่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ว่าน ฉันทวิลาสวงศ์ นักวิจัยหลักแห่งโครงการการพัฒนากระบวนการมีส่วนร่วมและการสื่อสารเชิงยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาเมืองศูนย์กลางที่น่าอยู่และชาญฉลาด (Livable and Smart City) กล่าวว่า

“ซึ่งนครศรีธรรมราชอาจจะต่างกับเชียงใหม่ทั้งเรื่อง อากาศ อาหาร พื้นที่ทำงาน โอกาสในการทำงาน เป็นต้น โครงการของเราจึงมีหน้าที่ดึงออกมาว่าจะวัดความน่าอยู่ของแต่ละเมืองต้องวัดอะไรบ้าง?”

ประเด็นการพัฒนาเมืองให้มีความน่าอยู่อย่างยั่งยืนเพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างทั่วถึงเป็นหมุดหมายที่ 8 ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (2566-2570) โดยใช้ประเด็นตัวชี้วัดในระดับสากลที่เรียกว่า Urban Monitoring Framework (UMF)  ของ UN-Habitat วัดความน่าอยู่ของเมืองจาก 5 มิติ คือ สังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดลอม วัฒนธรรม การปกครอง ใน 4 แนวทางคือ ความปลอดภัย ความครอบคลุม ความยืดหยุ่น ความยั่งยืน จนกลายเป็น 20 ประเด็นการพัฒนา

“เมืองนครศรีฯ เราเป็นเมืองต้นแบบให้หลาย ๆ พื้นที่ คนที่บอกได้ว่าทำไมเราถึงเป็นเมืองต้นแบบได้คือ ทีมงานชุมชนซึ่งทำงานในชุมชน”

ดร. กณพ เกตุชาติ นายกเทศมนตรีนครนครศรีธรรมราช กล่าวถึงความพยายามในการนำเทคโนโลยีมาแก้ปัญหาเมืองภายใต้แนวคิด ‘เมืองอัจฉริยะที่เราร่วมสร้าง’ (People – Centric Smart City) โดยสร้างแอพลิเคชันที่ชื่อว่า ‘แอปเทศบาล’ @Nakhoncity เป็นแอปพลิเคชันกลางในการรับเรื่องร้องทุกข์จากประชาชนทั้งเรื่องไฟฟ้า น้ำประปา ดูกล้อง CCTV รวมถึงระบบการจองคิวรับบริการของเทศบาล เช่น จองคิวทำบัตรประชาชน ซึ่งช่วยลดความแออัดจากการรอคิวลงได้ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีการลงทะเบียนจองคิวทำหมันหมา-แมวฟรีอีกด้วยซึ่งในระยะเวลาที่ผ่านมาสามารถแก้ปัญหาได้มากถึง 2 หมื่นเคส

นครศรีฯ ที่แลเห็น

กระบวนการสร้างเมืองจึงต้องใช้คนเป็นศูนย์กลางในพัฒนา ดังนั้นเวลาเกือบ 7 เดือนที่ทีมวิจัยทำงานร่วมกับแกนนำชุมชนในพื้นที่ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ภาครัฐและเอกชนจนสามารถเก็บรวบรวมฐานข้อมูลทั้งในแง่ศักยภาพและปัญหาของเมืองได้ซึ่งมันฉายให้เห็นภาพเมืองนครฯ อีกหลายด้านซึ่งจะสามารถทำให้เราออกแบบเมืองที่น่าอยู่ให้สอดคล้องกับศักยภาพของเมืองและความต้องการของคนที่อยู่ในเมืองได้

“การพัฒนาเมืองสร้างความเหลื่อมล้ำและผลักให้คนบางกลุ่มกลายเป็นกลุ่มคนชายขอบ เช่น ในอำเภอหรือตำบลข้างเคียงที่เดินทางเข้ามาในเทศบาลเป็นประจำทั้งมาทำงาน กินข้าว แต่พบว่ากลุ่มคนเหล่านี้ยังเข้าไม่ถึงบริการสาธารณะที่ดีมากพอทั้งบริการสาธารณสุข การดินทางและการศึกษา”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ว่าน กล่าว จากการทำงานและพูดคุยเชิงลึกกับกลุ่มผู้นำชุมชน นักเรียนนักศึกษา ภาคเอกชน ภาครัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อประเมินการพัฒนาเมืองผ่านการเปรียบเทียบอดีต ปัจจุบันและอนาคต 

งานวิจัยพบว่าในเมืองนครฯ มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในเรื่องการเดินทาง การบริหารจัดการเมืองและการปกครอง ที่อยู่อาศัย สุขภาพและสุขภาวะ รวมถึงการเรียนรู้และนันทนาการแต่การพัฒนาเหล่านี้ก็นำมาซึ่งปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมที่กลายเป็นปัญหาสำคัญที่เมืองกำลังเผชิญ

ขณะที่ปัญหาเรื่องสังคม สิ่งแวดล้อมก็เป็นปัจจัยที่ถดถอยลงรวมไปถึงปัญหาด้านเศรษฐกิจและการทำงานที่ยังคงเป็นปัญหาติดหล่มของเมือง

นอกจากปัญหาเฉพาะของเมืองนครฯ แล้วยังพบปัญหาร่วมของเมืองทั้ง 4 เมืองที่โครงการวิจัยชุดนี้ใช้กระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการ ได้แก่ เชียงใหม่ ระยอง มหาสารคาม และนครศรีธรรมราช ซึ่งประเด็นร่วม 4 เมือง เช่น ทุกเมืองประชาชนขอให้มีการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาครัฐ ปัญหาเศรษฐกิจรายได้ การสนับสนุนธุรกิจรายย่อยและการทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่ชัดเจนจนนำไปสู่การไม่กล้าลงทุน

คนสร้าง เมืองน่าอยู่

“ตอนนี้เมืองนครฯ ได้รับฉายาว่า ระเบิดมนุษย์ คือมันพร้อมจะระเบิดทำลายคนอื่นได้ตลอดเวลา เป็นระเบิดเวลาที่ใครก็ไม่รู้ ดังนั้น เมืองที่น่าอยู่ควรจะเป็นเมืองที่ปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน”

สมเกียรติ พริกไทย ประธานชุมชนท่ามอญ กล่าว

ปัญหายาเสพติดเป็นอีกปัญหาเร่งด่วนที่ต้องรีบแก้ไขเพราะมันคือต้นเหตุของอีกหลายปัญหาตามมาทั้งปัญหาการติดยาเสพติดกลายเป็นผู้ป่วยจิตเวชและกลายมาเป็นคนเร่ร่อนในที่สุด รวมถึงปัญหาการทะเลาะวิวาททำร้ายคนในครอบครัว ปัญหาเศรษฐกิจในครอบครัวที่ขาดแรงงานและรายได้จากการที่สมาชิกในครอบครัวติดยาเสพติดอีกด้วย

สิ่งเหล่านี้สมเกียรติมองว่ามาจากพื้นฐานของครอบครัว

“พื้นฐานครอบครัวไม่ใช่ความร่ำรวย แต่หมายถึงการดูแลเอาใจใส่ลูกหลานทำให้เด็กไม่รู้สึกว่าเขาขาดความรัก เราต้องเริ่มจากครอบครัวเพราะรัฐคือปลายเหตุ มันแก้จากปลายเหตุไม่ได้” สมเกียรติกล่าว

ขณะที่เมืองน่าอยู่สำหรับ ประสิทธิ์ วงศ์วรชาติ ประธานชุมชนมะขามชุม คือเมืองที่เอื้อให้ธุรกิจรายเล็กอยู่รอดและอยู่ได้

“ตอนนี้เมืองนครฯ ซบเซามาก ไม่มีใครกล้าลงทุน ธุรกิจเล็ก ๆ ตายหมดเพราะทำไปก็สู้เจ้าใหญ่ในตลาดไม่ได้ ฉะนั้นทำยังไงให้ธุรกิจรายย่อยอยู่ได้ ให้คนช่วยอุดหนุนธุรกิจท้องถิ่นเล็ก ๆ มากกว่าการเข้าห้างใหญ่ ๆ” 

ประสิทธิ์กล่าว

ประสิทธิ์มองว่าหากธุรกิจรายย่อยอยู่ได้จะทำให้เกิดการกระจายรายได้และการจ้างงานที่หลากหลายทำให้คนสามารถเข้าถึงงานได้มากขึ้นอีกด้วย

“เมืองนครฯ เรามีดีทุกอย่างทั้งอาหาร อากาศ และวัฒนธรรมแต่เรามีความปลอดภัยไม่มากพอ การจราจรเป็นหนึ่งในปัญหานั้น”

ร.ต. เตชทัต สาธรณ์ รองประธานชุมชนประตูขาว เปิดประโยคแรก เขาชี้ให้เห็นว่าในขณะที่เมืองนครศรีฯ กำลังผลักดันเรื่องการท่องเที่ยว พยายามเรียกนักท่องเที่ยวให้กลับเข้ามาในเมืองแต่ปัญหาหลักของเมืองอย่างการจราจรกลับยังแก้ไม่ได้ทั้งการขับรถเร็ว จอดรถไม่เป็นที่ ขับสวนเลน จนกลายมาเป็นภาพจำว่า ‘เมืองนครฯ ขับรถยาก’

“ถ้าแก้ปัญหานี้ได้เมืองนครฯ จะน่าอยู่มากขึ้นในแง่ความปลอดภัยบนท้องถนนแต่จะไปถึงจุดนั้นได้ เทศบาล เจ้าหน้าที่และประชาชนต้องร่วมมือกัน”

เพื่อให้นครศรีฯ ไปถึงนิยามของการเป็นเมืองที่น่าอยู่ หัวใจสำคัญคือ ‘การมีส่วนร่วม’ ของทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและที่สำคัญคือประชาชน เพราะการจะขับเคลื่อนเมืองทุกคนต้องมองเห็นภาพเดียวกันและงานวิจัยชิ้นนี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ

“วันนี้สิ่งที่เราทำจะเป็นตัวอย่างที่ถูกส่งไปที่ระดับประเทศมันอาจจะถูกสะท้อนเป็นโมเดลในอนาคตเพื่อให้เมืองนครฯ เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ว่าน กล่าวปิดท้าย

บทความชิ้นนี้เป็นการสรุปสาระสำคัญจากกิจกรรมการประชุมคืนข้อมูลและร่วมออกแบบแนวทางขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่และชาญฉลาด โดยความร่วมมือระหว่าง โครงการการพัฒนากระบวนการมีส่วนร่วมและการสื่อสารเชิงยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาเมืองศูนย์กลางที่น่าอยู่และชาญฉลาด (Livable and Smart City) สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานเทศบาลนครนครศรีธรรมราช และ Thai PBS

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ