“พื้นที่ชุ่มน้ำ” แหล่งน้ำจืดที่สำคัญของโลก เป็นทั้งแหล่งน้ำ แหล่งอาหารและที่ให้สิ่งมีชีวิตได้พักพิงอาศัย ทั้งมนุษย์ พืช สัตว์น้อยสัตว์ใหญ่หลากหลายพันธุ์ รวมถึงเป็นพื้นที่กักเก็บน้ำคอยไหลเวียนตามฤดูกาล ช่วยป้องกันภัยธรรมชาติต่าง ๆ ทำให้พื้นที่ชุ่มน้ำเป็นแหล่งรวบรวมความหลากหลายทางชีวภาพ ที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
แม่น้ำสาขาย่อยหลายสาขาไหลประกอบกันเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ และไหลไปรวมกันที่แม่น้ำสายใหญ่สายหลักอย่างแม่น้ำโขง วันนี้ด้วยปัจจัยหลายอย่างได้ส่งผลกระทบต่อสายน้ำ ส่งผลให้แม่น้ำโขงสายนี้อาจเปลี่ยนไปตลอดกาล อย่างผลกระทบจากภัยธรรมชาติ สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ฤดูกาลเปลี่ยน หรือผลกระทบที่เกิดจากโครงการพัฒนาของมนุษย์เช่น การสร้างฝายกั้นน้ำ และเพิ่มการสร้างเขื่อนที่ปิดกั้นปากแม่น้ำสาขาที่บรรจบกับแม่น้ำโขง ตลอดจนการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนที่กั้นบนสายน้ำโขง ปัจจุบันแม่น้ำโขงไม่อาจไหลเป็นอิสระอย่างเคย ทำให้ระบบน้ำของแม่น้ำโขงซึ่งสัมพันธ์กับแม่น้ำสาขาต่าง ๆ ได้กระทบกันเป็นทอดๆ อย่างเช่นระดับน้ำลดแห้งลงในช่วงฤดูน้ำหลาก น้ำท่วมในช่วงฤดูแล้ง ไปจนถึงการลดลงของพื้นที่ชุ่มน้ำจากการไม่มีน้ำหนุนตามธรรมชาติ แม่น้ำโขงต้องเผชิญระดับน้ำที่ผันผวน ระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำเปลี่ยนแปลงไป ผู้คนไม่สามารถพึ่งพาโขงได้เหมือนเก่า ทำให้เศรษฐกิจและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ต้องเปลี่ยนไปอย่างปฏิเสธไม่ได้
กิจกรรมเดินโขงสำรวจความเปลี่ยนแปลงของสายน้ำ
แม่น้ำสายสำคัญ วันนี้ถูกโครงการพัฒนาเข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ ส่งผลให้สายน้ำที่เคยเป็นที่พึ่งพิงของทุกสรรพสิ่งวันนี้สายน้ำนี้ไม่อาจทำหน้าที่นั้นได้เต็มที่อย่างเคย ผู้คนรับรู้ และได้ร่วมกันลุกขึ้นมาปกป้องชุมชนและแหล่งน้ำ ในหลากหลายวิธี หลากหลายรูปแบบ
“บาส” นายปรมินทร์ วัฒน์นครบัญชา นักธรรมชาติวิทยา ที่ติดตามเฝ้ามองสถานการณ์ของแม่น้ำสายนี้มาเสมอ เห็นว่าแม่น้ำโขงสายใหญ่สายนี้กำลังป่วย และอยากเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมปกป้องดูแลแม่น้ำสายนี้ร่วมกับทุกคน ได้ลุกขึ้นมาทำกิจกรรมเดินเท้า สำรวจติดตามสถานการณ์สุขภาพของน้ำโขงตลอดฝั่งโขง 7 จังหวัด ภาคอีสาน ระยะทางราว 1,000 กิโลเมตร แม้จะเป็นคนเมืองกรุง แต่ก็สัมผัสได้ถึงสายน้ำที่เปลี่ยนแปลงไปไม่น้อย เพราะภาพผลกระทบนั้นชัดเจนขึ้นทุกวัน
รายการคุณเล่าเราขยาย โดย วิภาพร วัฒนวิทย์ จึงชวนสนทนากับ คุณ ปรมินทร์ วัฒน์นครบัญชา ผู้เริ่มกิจกรรมเดินโขง ถึงเป้าหมายการทำกิจกรรมในครั้งนี้ และจากที่ได้ลงพื้นที่กิจกรรมบนเส้นทางริมฝั่งโขง สัมผัสความหลากหลายของผู้คนและสิ่งแวดล้อม ทั้งความงามและปัญหา
“ส่วนใหญ่ก็จะ เป็นเรื่องของปลาในแม่น้ำโขงที่หายไป หรือลักษณะโครงสร้างของระบบนิเวศที่มันหายไปจากแม่น้ำโขง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงของอำเภอปากชม จังหวัดเลย จนถึง อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย ที่มันเป็นแก่งเป็นหมู่เป็นดอนเยอะ หลายคนก็บอกว่ามันเปลี่ยนแปลงไปจากสมัยก่อนมาก
ตลอดทางก็มีคนจำนวนหนึ่งที่ได้ที่เห็นการเปลี่ยนแปลงไปแล้วก็ไม่ได้อยู่นิ่งเฉย แต่เขาลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่างเพื่อที่จะสื่อสาร หรือแม้กระทั่งขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายซึ่งผมคิดว่านี่เป็นก้าวแรก แล้วก็ก้าวสำคัญของการเปลี่ยนแปลงนะครับ” ปรมินทร์ วัฒน์นครบัญชา
ความท้าทายของการปกป้องแม่น้ำโขง สายน้ำสำคัญ
น้ำโขงเป็นแม่น้ำสากลที่หลายประเทศมีส่วนร่วมทั้งการใช้ประโยชน์ และที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งในพื้นที่ประเทศไทยที่มีน้ำโขงไหลผ่านต่างใช้ประโยชน์จากแม่น้ำหลายรูปแบบก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ผู้คนที่เห็นความสำคัญของประเด็นนี้ ได้มีการขับเคลื่อนประเด็นอย่างต่อเนื่องและยาวนานจนถึงปัจจุบัน และคาดว่าจะยาวนานไปจนถึงรุ่นลูกหลาน หากไม่มีการจัดการดูแลฟื้นฟูทรัพยากรให้คงอยู่อย่างยั่งยืน ซึ่งการจัดการต้องอาศัยหลายภาคส่วนร่วมกันทำอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นภาคประชาชน ภาครัฐ เอกชน รวมถึงทุกประเทศที่ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขงทั้งทางตรงและทางอ้อม
“มันเป็นปัญหาของแม่น้ำสากล ซึ่งมันเป็นพื้นที่เกิดเรื่องทั้งระหว่างรัฐกับประชาสังคม ระหว่างรัฐกับทุน มันซับซ้อนมาก ผมอาจจะไม่สามารถที่จะแนะนำวิธีการแก้ปัญหาได้ทั้งหมด แต่ว่าผมมองเห็นว่าปัญหาที่มันเกิดขึ้นอยู่ทุกวันนี้ เพราะว่าเราใช้ระบบคิดแบบทุนนิยม ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นการเข้ามาใช้ประโยชน์ทางตรงจากทรัพยากรสิ่งแวดล้อม ทั้งที่จริงแล้วระบบนิเวศมันเป็นโครงข่ายชีวิตที่มันสลับซับซ้อน แล้วมันยังประโยชน์กับทุกสรรพชีวิตด้วยตัวเองอยู่แล้ว
เพราะฉะนั้นผมคิดว่าวิธีการส่วนตัวของผมมันจำเป็นอย่างยิ่ง สมมุติถ้าจะรู้จักแม่น้ำโขงมันรู้จักแค่ในหนังสือ หรือรู้จากคำบอกเล่าไม่พอ มันจำเป็นอย่างมากที่จะต้องเอาตัวเองเข้ามามีประสบการณ์ เพื่อให้เกิดความรู้สึก คือรู้กับรู้สึกมันไม่เหมือนกัน ผมคิดว่าเมื่อไหร่ที่คนรู้สึกว่าแม่น้ำโขงมีคุณค่าหรือความหมายกับเขาไม่ว่าจะทางใดทางหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นแหล่งอาหาร เป็นเรื่องของภูมินิเวศ วัฒนธรรมประจำพื้นที่ หรือสำหรับผมที่เป็นคนเมืองก็เห็นว่ามันเป็นทรัพย์สมบัติสาธารณะที่ควรค่าแก่การปกป้องไว้ มันก็จะเกิดการรวมตัวกัน แล้วก็ผลักดันเรื่องที่เราต้องการ ซึ่งผมคิดว่านี่แหละที่จะเป็นจุดเปลี่ยนแปลง” ปรมินทร์ วัฒน์นครบัญชา
ลุ่มน้ำอิงสู่ความท้าทายของการเปลี่ยนแปลง
น้ำโขงเคยไหลหนุนแม่น้ำสาขาต่าง ๆ อย่างแม่น้ำอิง แม่น้ำสำคัญของชาวชุมชนภาคเหนือ ครอบคลุมลุ่มน้ำโขง ในจังหวัดพะเยา และจังหวัดเชียงราย เป็นพื้นที่ที่มีลักษณะพิเศษ มีความหลากหลายของพันธุ์ไม้และสัตว์หลายชนิด แต่ช่วงหลายปีมานี้ น้ำโขงเผชิญปัญหาขึ้นลงผิดปกติ ไม่อาจไหลหนุนน้ำอิงได้อย่างเคย ปลาที่เคยไหลเข้ามาพร้อมกับน้ำโขง วันนี้ก็ไม่มีแล้ว น้ำอิงแห้งลงทุกปี เพราะน้ำหนุนขึ้นสูงและแห้งเร็ว และสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำไม่น้อยไปกว่า โครงการพัฒนาก่อสร้างต่าง ๆ คือการประกอบการของนายทุน บางกิจการต้องใช้พื้นที่ขนาดใหญ่ เกิดการรุกล้ำทำลายป่าพื้นที่ชุ่มน้ำหลายแห่ง โดยชาวบ้านตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ร่วมกันหาวิธีแก้ไขปัญหา อนุรักษ์ป่าและอนุรักษ์น้ำ พ่อหลวงเตชะพัฒน์ มโนวงศ์ สภาประชาชนลุ่มน้ำอิง ก็ได้สะท้อนสถานที่เกิดขึ้นในพื้นที่
“สถานการณ์ในลุ่มน้ำอิง ที่ชัดเจนที่สุดก็คือเรื่องของการซื้อพื้นที่ของบริษัทนายทุนใหญ่ ๆ เข้ามาประกอบกิจการ ซึ่งมันมีผลกระทบต่อลุ่มน้ำอิ่ง อย่างเช่น เรื่องของการกว้านซื้อพื้นที่เพื่อที่จะปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น การปลูกกล้วย การปลูกยางพาราในพื้นที่ ตลอดจนถึงเรื่องของการซื้อพื้นที่เพื่อที่จะสร้างฟาร์มหมูขนาดใหญ่ ซึ่งมันก็จะกระทบกับระบบนิเวศ วิถีชีวิตของคนในชุมชนในลุ่มน้ำอิงครับ
ที่ผ่านมาเครือข่ายลุ่มน้ำอิงได้มีการต่อสู้กับสถานการณ์เรื่องแล้ง เรื่องของปลาลดลง เรื่องของการที่จะให้ชาวบ้านมามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการลุ่มน้ำอิงร่วมกัน 30 ปีที่ผ่านมาชาวบ้านประสบปัญหา และได้พยายามที่จะรวมตัวกันเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ รักษาแม่น้ำอิง เราได้มีการพูดคุยกันตั้งแต่คนต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อที่จะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ตลอดจนหาแนวทางทำงานร่วมกันเพื่อที่จะอนุรักษ์ฟื้นฟูแม่น้ำอิง” เตชะพัฒน์ มโนวงศ์
แรมซาไซต์ ความหวังของการปกป้องสายน้ำ
การขึ้นทะเบียน แรมซาไซต์ เป็นเป้าหมายของคนพื้นที่ชุ่มน้ำ เพื่อให้เกิดการปกป้องทรัพยากรไม่ให้เกิดการรุกล้ำทำลาย เนื่องจาก อนุสัญญาแรมซาร์ (Ramsar Convention) เป็นหนึ่งในกฎหมายระหว่างประเทศ เกี่ยวกับการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ให้มีการอนุรักษ์ และใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของชุมชน จะได้รับการสนับสนุน และความช่วยเหลือในการดำเนินงานอนุรักษ์และจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ ล่าสุดชุมชนลุ่มน้ำอิงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้พยายามผลักดันพื้นที่ชุ่มน้ำลุ่มน้ำอิงให้ได้รับการขึ้นทะเบียนแรมซาไซต์ด้วย
“คณะทำงานของสภาประชาชนรุ่มน้ำอิงและสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต เราหลายองค์กรได้ทำงานร่วมกัน มีการสำรวจพื้นที่ลุ่มน้ำอิงตอนล่าง พบว่ามีพื้นที่เป็นป่าริมน้ำอิงซึ่งมีลักษณะพิเศษคือพื้นที่เหล่านี้ในลุ่มน้ำอิงตอนล่างเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีพื้นที่ชื่นแฉะ แล้วก็มีพืชที่อยู่ในพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 30 ชนิดขึ้นไปที่เป็นพืชปกคลุม แล้วก็มีความหลากหลายของพันธุ์ไม้ที่เด่นชัด เช่น ต้นชุมแสง ต้นปวยเล้ง มีความหลากหลายของพันธุ์พืชไม่น้อยกว่า 300 ชนิด และมีการสำรวจสัตว์ป่ามีสัตว์ป่าใกล้สูญพันธ์เยอะมาก ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้มันสมควรที่จะยกระดับการจัดการของชาวบ้านอย่างน้อยให้รัฐได้รับรู้ว่าชาวบ้านอยากมีส่วนร่วม แล้วก็อยากให้มีกฎหมายมารองรับตรงนี้บ้าง” เตชะพัฒน์ มโนวงศ์
อนาคตของพื้นที่ชุ่มน้ำที่ต้องดูแลร่วมกัน
พื้นที่ชุ่มน้ำเปรียบเสมือนบ้านหลังใหญ่ให้พักพิงอาศัย เป็นแหล่งสร้างอาชีพให้คนในพื้นที่ เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตพื้นที่อาหารของหลายคน และน้ำนั้นได้หล่อเลี้ยงระบบนิเวศให้อุดมสมบูรณ์ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แต่ทว่าในอนาคตนั้นเกิดหลายอย่างเปลี่ยนแปลง ทำให้ความคงอยู่ไม่แน่นอนหากวันนี้ปกป้องไว้ไม่ได้
“ทั่วโลกนี้รู้แล้วว่าทุนนิยมรูปแบบปัจจุบัน มันมีการที่เข้ามาใช้ประโยชน์ทางตรง โดยที่ละเลยโครงข่ายชีวิตที่มันซับซ้อน มันทำให้เกิดปัญหาตามมา เพราะฉะนั้นทศวรรษถัดไปจากนี้ โลกก็จะหมุนไปสู่การพึ่งพาความรู้รอบบ้านของเรา ความรู้ที่สะสมมาเป็นภูมิปัญญาในท้องถิ่น เพื่อที่จะเกิดการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนขึ้น เกิดระบบประชาธิปไตยที่กระจายอำนาจออกไป มันก็จะทำให้ทุกอย่างสามารถจัดการได้อย่างยั่งยื่นมากขึ้น” ปรมินทร์ วัฒน์นครบัญชา
“เรื่องทรัพยากร เรื่องลุ่มน้ำมันเป็นเรื่องปากท้องของพี่น้องชาวบ้านจริง ๆ ทุกวันนี้ถ้าไม่มีแม่น้ำอิงพี่น้องชาวบ้านก็จะไม่มีปลา ไม่มีแหล่งอาหาร ผมคิดว่านี่คือระบบนิเวศบริการของแม่น้ำอิง ซึ่งเขาได้ตอบสนองให้กับคนในลุ่มน้ำเยอะมาก แต่ว่าสำคัญที่สุดตอนนี้แม่น้ำหรือแม่ของเราใกล้จะป่วยแล้ว เราฐานะเป็นลูกต้องมาช่วยกันฟื้นฟู ต้องมาช่วยกันดูแลรักษาและปกป้องให้ถึงที่สุด เพราะว่านี่คือเรื่องของวิถีชีวิต และเรื่องของปากท้องของพี่น้องชาวบ้านจริง ๆ” เตชะพัฒน์ มโนวงศ์
แหล่งน้ำทุกแห่งเป็นสิ่งสำคัญที่สร้างความสมดุลให้ระบบนิเวศ เป็นทรัพยากรที่ประเมินค่าไม่ได้ แม้จะมีความพยายามจากคนตัวเล็กตัวน้อยที่เห็นคุณค่า และพึ่งพาพื้นที่เหล่านี้ ลุกขึ้นมาทำกิจกรรมปกป้องอนุรักษ์ และส่งเสียงไปยังสาธารณะ แต่หากคนในสังคมทั้งที่มีส่วนเกี่ยวข้องทางนโยบาย และกลุ่มทุน ยังไม่ตระหนักถึงเรื่องนี้ พื้นที่ชุ่มน้ำก็อาจถูกทำลาย ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมเสียหาย ส่งผลกระทบตั้งแต่ระดับชุมชน จนถึงระดับชาติ