คนบำเหน็จณรงค์เดินสายค้าน EIA โรงไฟฟ้าถ่านหิน-มอบเกลือหนุน ThaiPBS สู้คดีเหมืองทอง

คนบำเหน็จณรงค์เดินสายค้าน EIA โรงไฟฟ้าถ่านหิน-มอบเกลือหนุน ThaiPBS สู้คดีเหมืองทอง

กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ ยื่นหนังสือ สผ.ค้านผลประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 2 โรงไฟฟ้าถ่านหินในโครงการเหมืองโปแตซอาเซียน ชี้บิดเบือนข้อมูล ก่อนเข้ายื่นหนังสือ บริษัทบางจากปิโตรเลียมฯ ในฐานะผู้ถือหุ้น 

20162501155118.jpg

ภาพจาก: เพจเฟซบุ๊ก เหมืองแร่ ชัยภูมิ 

25 ม.ค. 2559 เมื่อเวลา 09.00 น. กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์ จาก อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ เดินทางเข้ายื่นหนังสือคัดค้านการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 2 ของบริษัททีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด ต่อโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมโดยใช้ถ่านหินบิทูมินัสเป็นเชื้อเพลิง สำหรับโครงการเหมืองแร่โปแตชและเกลือหิน ชองบริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) หรือชื่อเดิมบริษัท เหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 17 ธ.ค.2558 และคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าดังกล่าว ที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) 

การยื่นหนังสือดังกล่าวมีนางปิยนันท์ โศภนคณาภรณ์ รองเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เป็นผู้รับหนังสือ

กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์ ระบุว่า มีความห่วงกังวลถึงผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และวิถีชุมชน จากกรณีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพื่อใช้ในกิจการของเหมืองแร่โปแตช ซึ่งมีการกล่าวอ้างกับชาวบ้านในพื้นที่ว่าประเทศไทยขาดแคลนกระแสไฟฟ้า หากต้องการทำเหมืองแร่โปแตชก็ต้องผลิตกระแสไฟฟ้าขึ้นมาใช้เอง” โดยไม่ฟังเสียงของประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะกรณีการเดินหน้าจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 2 ดังกล่าว อีกทั้งพบว่ามีการจัดทำรายงานสรุปผลการจัดประชุมฯ โดยไม่ครอบคลุมและขัดแข้งกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น 

สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม รายงานว่า นายสมพร สันติสัมพันธ์ ผู้ประสานงานกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์ เปิดเผยว่า บ.ทีม คอนซัลติ้งฯ ได้จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 ที่โรงเรียนบางอำพันธ์วิทยาคม ต.บ้านตาล อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2558 ทั้งนี้ทางบริษัทกลับทำเพียงอธิบายวิธีการผลิตไฟฟ้า โดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้ซักถามข้อสงสัย แม้ว่าผู้เข้าร่วมเกินกว่าครึ่งจะเป็นผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน

“นอกจากนี้ทางบริษัทกลับทำเอกสารรายงานการประชุมที่ระบุว่ามีประชาชนเข้าร่วมราว 300 คน โดยเป็นผู้ที่เห็นด้วยกว่า 70% ขัดแย้งกับหนังสือรายงานของทางจังหวัดที่มีลายเซ็นผู้ว่าราชการ รองผู้ว่าราชการ และอุตสาหกรรมจังหวัด ยืนยันตรงกันว่ามีประชาชนเข้าร่วมถึงกว่า 800 คน และเป็นผู้ที่ไม่เห็นด้วยจำนวน 70% ชาวบ้านจึงอยากทราบว่าทาง สผ.จะดำเนินการอย่างไรกับบริษัทที่ทำรายงานบิดเบือนข้อเท็จจริง และผลของเวทีในครั้งที่ 2 นี้จะเป็นอย่างไรต่อไป” นายสมพร กล่าว

นายสมพร ยังกล่าวอีกว่า เหตุผลที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ต้องออกมาคัดค้านโรงไฟฟ้านี้เป็นเพราะถ่านหินนั้นไม่มีทางที่จะสะอาด และยังนำมาซึ่งผลกระทบมากมายมหาศาลไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ หรือวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชน เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ทำการเกษตรที่มีแหล่งน้ำใช้เพียงแหล่งเดียว อีกทั้งเป็นต้นน้ำของลำน้ำชี หากเกิดมลพิษจะสามารถขยายผลไปได้อีกหลายอำเภอ ยังไม่นับรวมถึงลักษณะของพื้นที่ที่เป็นที่ราบลุ่ม อันจะถูกหมอกควันพิษปกคลุมและยากต่อการเจือจาง

20162501155132.jpg

ภาพจาก: เพจเฟซบุ๊ก เหมืองแร่ ชัยภูมิ 

ต่อมา เวลาประมาณ 11.00 น. ตัวแทนกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์ ราว 30 คน ได้เข้ายื่นหนังสือคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินบำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ ต่อผู้บริหารบริษัทบางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ถือหุ้น 11.32 % ของบริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) ในขณะเดียวกันก็เป็นองค์กรที่เน้นการขับเคลื่อนพลังงานสีเขียว Green Society และ Greenery Excellence โดยมีนางฉวีวรรณ เกียรติโชคชัยกุล ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กรและชุมชนสัมพันธ์ บริษัท บางจากปิโตรเลี่ยม จำกัด (มหาชน) เป็นผู้มารับหนังสือ

20162501155202.jpg

ภาพจาก: เพจเฟซบุ๊ก เหมืองแร่ ชัยภูมิ 

จากนั้น เมื่อเวลาประมาณ 12.00 น. กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์ เข้าไปมอบดอกไม้ และเกลือที่ใช้วิธีการต้มแบบพื้นบ้าน ให้กับตัวแทนสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เพื่อให้กำลังใจในการต่อสู้คดีเหมืองทองเลย และกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดฯ ขอไทยพีบีเอสใช้โอกาสนี้สู้คดี อย่าไกล่เกลี่ยคดี เพื่อเอาความจริงมาเปิดเผยให้แก่สังคม และขอให้ยืนหยัดทำข่าวชาวบ้านต่อไปอย่าได้ท้อถอยกับสิ่งที่กำลังคุกคามอยู่

เรียบเรียงข้อมูลจาก: เพจเฟซบุ๊ก เหมืองแร่ ชัยภูมิ และสำนักข่าวสิ่งแวดล้อม

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ