คนนับหมื่นลงชื่อหนุน “ร่างพรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข”

คนนับหมื่นลงชื่อหนุน “ร่างพรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข”

ประชาชนนับหมื่นลงชื่อหนุน “ร่างพรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข”  หลังถูกดองมานานเกือบ 10 ปี  ชี้ช่วยลดปัญหาการฟ้องร้องระหว่างหมอกับคนไข้-เยียวยาผู้เสียหายเป็นธรรมรวดเร็ว เตรียมยื่นรายชื่อต่อ รมว.สาธารณสุขเร็วๆ นี้ 

18 ก.ย.  2557 –  เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ได้รณรงค์ให้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาล ผลักดัน  ร่างพรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ฉบับที่ พ.ศ.  ผ่าน www.change.org/injuryact  โดยขณะนี้มีประชาชนร่วมลงชื่อเกือบ 20,000 คนแล้ว 

นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา  คุณแม่ผู้ได้รับความเสียหายจากการทำคลอดจนทำให้ลูกชายต้องพิการไปตลอดชีวิต  และในฐานะประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ได้เป็นผู้เริ่มรณรงค์เรื่องนี้ โดยระบุว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องมีระบบรองรับความเสียหายจากการผิดพลาดของแพทย์ เพราะที่ผ่านมากลไกปัจจุบันไม่สามารถพึ่งได้  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการร้องเรียนกัยแพทยสภา ที่ใช้เวลานาน  3-10 ปี และมักมีมติว่า “คดีไม่มีมูล” ขณะที่การไกล่เกลี่ยก็ไม่มีควาามเป็นธรรม เพราะไม่มีกองทุนเยียวยาโดยเฉพาะ และเพดานการชดเชยที่มีอยู่ถือว่าน้อยมาก ไม่สามารถบรรเทาความเสียหายในระยาวได้ โดยในกรณีพิการหรือเสียชีวิต จะได้รับค่าชดเชยสูงสุดแค่   4  แสนบาทเท่านั้น  ซึ่งถือว่าน้อยมากสำหรับชีวิตคนหนึ่งคนที่ต้องตายไปหรือต้องพิการไปตลอดชีวิต 

“ที่แย่ไปกว่านั้นบางครั้งคนไข้ได้รับค่าเสียหายเพียง 4-8 หมื่นบาท เท่านั้น ที่เหลือให้ไปฟ้องศาลปกครองเอาเองซึ่งไม่ยุติธรม เพราะในที่สุดก็จะเอาผิดกับใครไม่ได้ เหมือนกับที่เกิดขึ้นกับลูกชายดิฉันที่ต้องพิการจากการทำคลอด โดยแม้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนสอบสวนแล้ว มีมติว่าโรงพยาบาลผิด แพทยสภาผิด แต่เอาผิดกับใครไม่ได้ มิหนำซ้ำดิฉันถูกโรงพยาบาลฟ้องกลับเรียกค่าเสียหาย 100 ล้านบาท ดิฉันต่อสู้เพื่อลูกชายและความยุติธรรมมา 23 ปี จนสิ้นเนื้อประดาตัว จนเป็นที่มาให้ทีทำให้ฉันต้องผลักดันกฎหมายฉบับนี้ให้ได้ เพราะไม่อยากเห็นใครต้องตกอยู่ในสภาพเดียวกับดิฉันอีก”  นางปรียนันท์ กล่าว 

นางปรียนันท์ กล่าว ปัญหาเหล่านี้ ทำให้ในปีพ.ศ. 2545-2549 เกิดวิกฤตความสัมพันธ์ระหว่างหมอกับคนไข้ขึ้นอย่างรุนแรง  ทำให้นพ.มงคล ณ สงขลา อดีตรมว.สาธารณสุข  ยุครัฐบาลคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.) ปี 2549  ได้จัดทำ ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ… ขึ้น  โดยมีเจตนารมณ์เพื่อลดปัญหาการฟ้องร้องระหว่างหมอกับคนไข้ และให้มีการตั้งกองทุนชดเชยความเสียหายให้กับคนไข้ ที่ต้องรวดเร็วและเป็นธรรม  (ไม่เกิน 1 ปี) และมีการนำความผิดพลาดไปพัฒนาระบบป้องกันความเสียหาย เพื่อป้องกันเหตุการณ์ซ้ำ

“แต่จนแล้วจนรอด กฎหมายฉบับนี้ก็เจอแรงเสียดทานจากแพทยสภาและภาคธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน ที่ไม่ต้องการจ่ายสบทบกองทุน  ร่วมกับแพทยสภาจัดเวทีปลุกระดมแพทย์ทั่วประเทศให้แต่งชุดดำประท้วง และเกิดความขัดแย้ง จนรัฐบาลไม่หยิบยกร่างพ.ร.บ.ขึ้นพิจารณา ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขในสมัยรัฐบาลทั้งประชาธิปัตย์และเพื่อไทยก็ไม่มีการยกร่างพรบ.หลักส่งเข้าสภาแต่อย่างใด  ทำให้ร่างกฎหมายฉบับนั้นยังค้างสภามาตั้งแต่ปี  2549  ถึงเวลาแล้วที่กฎหมายฉบับนี้ต้องได้รับการพิจารณาและอนุมัติ เพื่อประโยชน์ของสาธารณะ” 
 
นางปรียนันท์ กล่าวต่อว่า ล่าสุดหลังจากที่รณรงค์เรื่องนี้โดยมีผู้ลงชื่อเกือบ 20,000 คน และได้รับแจ้งจากคสช.ว่าได้ส่งเรื่องนี้ให้กระทรวงสาธาณสุขไปดำเนินการแล้ว แต่ปรากฎว่า ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว. สาธารณสุขคนใหม่ ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะผลักดันร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯหรือไม่    โดยทางเครือข่ายฯ จะเดินหน้าเรื่องนี้อย่างเต็มที่  โดยจะมีการยื่นรายชื่อต่อ รมว.สาธารณสุข ภายในเร็วๆนี้ เพื่อพื่อแสดงเจตนารมณ์ว่าประชาชนต้องการให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ได้รับการพิจารณาและมีผลบังคับใช้ เพื่อเยียวยาผู้เสียหายในอนาคตอย่างเป็นรูปธรรม และให้ท่านนำร่างกฎหมายนี้ขึ้นพิจารณา เพื่อผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีด้วย

“ขอให้ประชาชนร่วมลงชื่อสนับสนุนกฎหมายฉบับนี้ให้ได้รายชื่อมากที่สุด เพื่อเป็นพลังกดดันต่อผู้ที่เกี่ยวข้องว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน ต้องได้รับการแก้ไข  ขอย้ำว่า ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ ไม่ได้มีผลย้อนหลังกับครอบครัวดิฉัน หรือครอบครัวของเพื่อนผู้เสียหายในปัจจุบัน แต่จะมีผลกับผู้เสียหายรายใหม่ในอนาคต จะได้ไม่ต้องเผชิญกับความทุกข์ยากอย่างแสนสาหัสเหมือนในอดีตอีกต่อไป” นางปรียนันท์ กล่าว 

ข้อมูลเพิ่มเติม 

อ่านร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ..
http://www.slideshare.net/preeyananlor/1257-32339312

บล็อคเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์
http://www.thai-medical-error.blogspot.com/
www.thaimedicalerror.blogspot.com

20141809131739.jpg

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ