“ปศุสัตว์วิถี” ขบวนการแก้จน บนเทือกเขาถนนธงชัย แม่ฮ่องสอน

“ปศุสัตว์วิถี” ขบวนการแก้จน บนเทือกเขาถนนธงชัย แม่ฮ่องสอน

จากข้อมูลด้านสาธารณสุขของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้ระบุว่า คนจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีอัตราการป่วยด้วยโรคที่มาจากอาหารการกินโดยตรง ด้วยเหตุสารอาหารที่ได้ไม่ครบถ้วนจึงทำให้เกิดภาวะไม่สมดุล ร่างกายอ่อนแอ ขณะเดียวกันนักวิชาการที่เข้าไปทำงานในพื้นที่ชุมชนที่อยู่ห่างไกลเมือง ก็พบว่า ภาวะความยากจนไม่อาจทำให้พวกเขามีทางเลือกในเรื่องของอาหารมาก แม้ว่าจะมีอาหารธรรมชาติจากป่าแต่ก็ไม่เพียงพอที่จะรองรับสมาชิกชุมชนทุกคนในโลกยุคที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะโปรตีนจากสัตว์ ซึ่งปัจจุบันไม่มีใครจะเข้าป่าล่าสัตว์เป็นอาหารได้อย่างในอดีตอีกแล้ว (ด้วยข้อบังคับกฎหมายการคุ้มครองสัตว์ป่า ที่นับวันเหลือน้อยลง)

แต่การเลี้ยงสัตว์เพื่อจะได้มีโปรตีนจากเนื้อสัตว์รับประทานนั้น แม้ทุกครอบครัวจะทำได้แต่ก็มีไม่เพียงพอในปริมาณที่เหมาะสม

คณะทำงานจังหวัดแม่ฮ่องสอน ร่วมกับทีมงานวิจัยแก้จน บพท. และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน จึงได้ประสานกับคณะสัตวแพทย์ มช. เพื่อหาแนวทางที่จะสนับสนุนชาวบ้าน เพื่อแก้ไขปัญหาการรับสารอาหารประเภทโปรตีนให้เหมาะสมสำหรับทุกคนในชุมชน โดยได้ข้อสรุปที่ “การเลี้ยงหมู” เพราะเป็นสัตว์ใหญ่ ได้ปริมาณเยอะ สามารถแจกจ่ายคนทั้งหมู่บ้านให้มีเนื้อสัตว์บริโภคได้อย่างทั่วถึง


โดยเริ่มต้นจากการแจกพ่อพันธุ์แม่พันธุ์หมูให้แก่หมู่บ้านนำร่องในเขตพื้นที่ตำบลแม่ลาหลวงจำนวน 4 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านขุนสุ บ้านห้วยปู บ้านทุ่งวางกว้าง บ้านโป่งน้ำร้อน จำนวนหมู 78ตัว (โดย ได้หมูจากศูนย์บำรุงพันธุ์สัตว์ กรมปศุสัตว์ 66 ตัว และจากชุมชน ต.แม่ลาหลวง 12 ตัว) โดยก่อนการแจกจ่ายได้มีการฝึกอบรมการเลี้ยงหมูอย่างถูกต้อง การให้อาหารโดยไม่ต้องใช้หัวอาหาร (อาหารเม็ดสำเร็จ) แต่ใช้วัตถุดิบที่มีในหมู่บ้าน การผสมในสัดส่วนที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้ชาวบ้านต้องมีต้นทุนค่าใช้จ่าย

ซึ่งแน่นอนว่า เพียงการแจกหมูและฝึกอบรมให้ชุมชนแล้วเสร็จ ไม่อาจจบภารกิจการพัฒนาคุณภาพด้านอาหารของชุมชนอย่างแท้จริงได้

ด้วยความมุ่งหวังจริงจังจะสร้างแหล่งอาหารประเภทโปรตีนของชุมชนให้เกิดความยั่งยืนได้ จึงต้องวางระบบติดตามปัญหาอุปสรรคของการเลี้ยงหมู ซึ่งค่อนข้างชัดเจนว่า ในพื้นที่ห่างไกลนั้น ยามสัตว์เลี้ยงมีปัญหาต่อโรคภัยต่างๆ ของสัตว์ การจะเข้าถึงยารักษาของสัตว์เหล่านี้ เกษตรกรหรือชาวบ้านจะเข้าถึงค่อนอข้างยาก โดยโอกาสในการจะเข้าถึงปศุสัตว์ของชาวบ้านแทบจะเป็นศูนย์



ดังนั้น หนทางที่ดีที่สุดจึงเป็นการเปิดโอกาสให้การเรียนรู้สำหรับชาวบ้านในพื้นที่เหล่านั้น โดยฝึกอบรมชาวบ้านให้รักษาสัตว์เลี้ยงของพวกเขาด้วยตนเองกับทักษะเบื้องต้น เช่น การสอนให้สังเกตอาการป่วยของสัตว์ โรคทางผิวหนัง หรือโรคภายในที่พบเห็นบ่อย จากนั้นก็สอน การฉีดยาฆ่าพยาธิ หรือยาแก้อักเสบ ฯลฯ เป็นเบื้องต้น แล้วจากนั้นก็ปฏิบัติการจริงโดยทีมสัตวแพทย์เข้ามาสอน ดูแลอย่างใกล้ชิด

ฟังดูเหมือนจะเป็นเรื่องยาก แต่หลังจากการฝึกอบรมผ่านพ้นและชาวบ้านได้ทดลองทำด้วยตนเอง ก็พบว่า พวกเขาทุกคนทำได้ และทำได้ดีมาก

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นายสัตวแพทย์ เทิดศักดิ์ ญาโน


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นายสัตวแพทย์ เทิดศักดิ์ ญาโน สังกัด คลินิกสุกร คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเดินทางมาพร้อมทีมงาน ได้หิ้วกล่องยาจำเป็นมาให้ทุกชุมชนและสอนการฉีดยาฆ่าพยาธิแบบปฏิบัติจริง ซึ่งตลอดเวลาที่เดินทางรอนแรมไปในป่าเขาลึกและแสนห่างไกลนั้น ความยากลำบากของการเดินทางยิ่งตอกย้ำว่า การให้ความรู้และสอนให้พวกเขาทำเองเป็นนั้น สำคัญจริงๆ

“ผมอยู่คณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คลินิกสุกร สอนเรื่องหมู สัตว์ และก็งานหนึ่งที่ทำก็คือ เราทำโครงการ ผ่อดีดี ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นเฝ้าระวังโรคระบาดในชุมชน เป็นเครื่องมือทางดิจิตอลที่ให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมการเฝ้าระวังด้วยกัน ด้วยเพราะหน้าที่อีกอย่างหนึ่งของผมคือ งานระบาดวิทยา หรือการเฝ้าระวังโรคระบาด”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นายสัตวแพทย์ เทิดศักดิ์ ญาโน ยังเล่าให้ฟังว่าหลายปีที่ผ่านมา เรามีโรคระบาดอย่างโควิด-19 หรือโรคไข้หวัดนก ซึ่งโรคเหล่านี้เริ่มต้นจากสัตว์ ดังนั้น การจะเฝ้าระวังหรือควบคุมเชื้อโรคเหล่านี้ ลำพังหน่วยงานภาครัฐ ไม่สามารถทำได้ จึงได้ริเริ่มโครงการนี้ (ผ่อดีดี) แล้วเข้ามาบูรณาการองค์ความรู้ร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนกับขบวนการแก้จน “ปศุสัตว์วิถี” โดยมีความหวังว่า เมื่อการเลี้ยงหมูของชาวบ้านประสบความสำเร็จ เกิดลูกหมูแพร่พันธุ์มากขึ้น ชาวบ้านจะมีเนื้อสัตว์ทานอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์ต่อครั้ง เวียนกันแจกจ่ายโดยไม่ต้องออกไปซื้อหาจากข้างนอกมารับประทาน


“เป้าหมายของเราคือ food and security ทำอย่างไรจะทำให้เขามีเนื้อหมูกินได้ตลอดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากจะให้เห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจน ควรต้องรอดูสัก 3 ปีนะครับ ถ้า 5 ปี ก็หวังว่าจะได้ชุมชนต้นแบบ แต่ตอนนี้เท่าที่ได้ส่งเสริม ส่วนใหญ่ก็เป็นที่น่าพอใจ และก็ต้องรอดู ติดตามกันไปเรื่อยๆ”
อาหาร นับว่าเป็นส่วนสำคัญของการดำรงชีวิตของมนุษย์ คือปัจจัยข้อแรกสุดของปัจจัย 4 ปัจจัยพื้นฐานที่มนุษย์มีความจำเป็นในการใช้ชีวิตอยู่

แนวทาง “ปศุสัตว์วิถี” แม้ว่ายังอยู่ในช่วงขั้นต้นเพื่อแสวงหาความยั่งยืนด้านอาหารให้กับชุมชน แต่อย่างน้อยที่เห็นได้ชัดเจนว่าชาวบ้านกำลังได้รับทรัพย์ทางปัญญาที่มีคุณค่ามากและไม่มีทางสูญหายคือองค์ความรู้ที่ถูกต้องในการเลี้ยงสัตว์และดูแล พยาบาล สัตว์ ด้วยตนเอง ซึ่งนับว่าสำคัญมากในจังหวะก้าวครั้งนี้ของชุมชน.

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ