ข้อสรุปจากการลงพื้นที่กรณีแม่วงก์ ถ้าท้องถิ่นจัดการน้ำได้ดี ก็ไม่จำเป็นต้องมีเขื่อน

ข้อสรุปจากการลงพื้นที่กรณีแม่วงก์ ถ้าท้องถิ่นจัดการน้ำได้ดี ก็ไม่จำเป็นต้องมีเขื่อน

วันนี้เวลา 17.30 น.  ณรงค์ แรงกสิกร ภาคประชาชนในพื้นที่ และ สมฤทัย ทะสดวก  อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เดินทางเข้ามอบข้อสรุปจากการลงพื้นที่ให้กับ ศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เพื่อเข้าร่วมการประชุมพิจารณารายงาน EHIA ร่วมกับคชก. ในที่ 19 พฤศจิกายน 2557 ที่จะถึงนี้

สืบเนื่องจากรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม EHIA โครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ ซึ่งสมฤทัย ทะสดวก ระบุว่าในรายงานฉบับนี้มีการละเลยการจัดการน้ำในชุมชน ทางอาจารย์สมฤทัยและอาจารย์ณรงค์จึงได้ลงพื้นที่ใกล้เคียงกับพื้นที่ที่จะทำการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ร่วมกับเจ้าหน้าที่มูลนิธิสืบฯ และพูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่ ปราชญ์ท้องถิ่น เพื่อสำรวจความเป็นไปได้ในการจัดการน้ำทางเลือกที่ไม่ใช่เพียงการสร้างเขื่อนแต่อย่างเดียว

โดยจากการลงพื้นที่สรุปได้ว่า ภายในพื้นที่ชุมชนที่ได้รับการอ้างอิงจากรายงานฯว่าจะได้รับผลประโยชน์จากการสร้างเขื่อน มีอาคารที่ใช้ควบคุมน้ำเดิมอยู่แล้ว แต่อยู่ในสภาพที่ขาดการดูแลไม่มีการบริหารจัดการที่ดีทำให้ไม่สามารถใช้งานได้จริง ทั้งคนในพื้นที่บางส่วนก็ไม่ทราบว่ามีอาคารควบคุมน้ำอยู่ด้วย แสดงให้เห็นถึงปัญหาพื้นฐานของการจัดการบริหารงานด้านน้ำของหน่วยงานในท้องถิ่น ซึ่งหากมีการจัดการที่ดีก็จะสามารถใช้งานจากอาคารควบคุมน้ำเหล่านี้ได้ และอีกหนึ่งปัญหาคือมีอาคารควบคุมน้ำ หรือฝาย ที่อยู่ในสภาพใช้งานไม่ได้ และเข้าตรวจสอบดูจึงพบว่าเกิดจากการก่อสร้างที่ไม่มีประสิทธิภาพ เมื่อน้ำมา อาคารหรือสิ่งก่อสร้างเหล่านี้ก็พังไม่สามารถใช้งานได้จริงตามระยะเวลาอายุงานที่ควรจะเป็นตามจริง

สมฤทัย เสนอว่าหากมีการจัดการบริหารระบบน้ำพื้นฐานในชุมชน หรือการผันน้ำเข้าสู่อ่างเก็บน้ำตามชุมชนที่มีอยู่แล้วในหน้าแล้ง การสร้างเขื่อนก็ไม่จำเป็น หรืออีกหนึ่งกรณีที่ชาวบ้านมีการปฏิบัติคือการปฏิบัติตามแนวพระราชดำรัสเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ การที่ชาวบ้านอยู่ได้ด้วยตัวเอง อยู่อย่างพอเพียง ไม่ต้องพึ่งพาคนอื่นนอกจากตัวเองจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ยกตัวอย่างเช่น หมู่บ้านธารมะยมซึ่งเป็นหมู่บ้านที่มีการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องน้ำท่วมหรือน้ำแล้ง

ณรงค์ กล่าวว่า ในท้องถิ่นหากมีการบริหารจัดการน้ำที่ดี ก็ไม่มีความจำเป็นในการสร้างเขื่อน

“เขื่อนบางเขื่อนที่ทำมา เช่น เขื่อนทับเสลา ทุกวันนี้น้ำไม่มีแล้ว ผมเดินข้ามได้สบายๆแล้ว ปัญหามันอยู่ที่การจัดการน้ำพื้นฐาน มันอยู่ที่ระบบหน่วยงานในท้องถิ่น บางฝาย บางประตูน้ำ ชาวบ้านยังไม่รู้เลยว่ามี เพราะฉะนั้นหากจัดการตรงนี้ได้ เราก็ไม่ต้องสร้างเขื่อน ไม่ต้องทำลายป่า” ณรงค์ แรงกสิกร กล่าว

ทั้งนี้ในวันพุธที่ 19 พฤศจิกายน 2557 เวลา 13.00 น. นายศศิน เฉลิมลาภ จะนำข้อมูลและแผนที่การจัดการน้ำทางเลือกที่ได้จากการลงพื้นที่ในครั้งนี้ เข้าร่วมประชุมนำเสนอข้อมูลทางเลือกในการจัดการน้ำในการประชุมการพิจารณารายงาน EHIA ในที่ประชุมกับ คชก. ต่อไป

20141811205432.jpg20141811205441.jpg20141811205450.jpg

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ