ผิดกฎอัยการศึก! นิสิต ม.เกษตรฯ ถูกห้ามเคลื่อนไหวค้าน EHIA เขื่อนแม่วงก์

ผิดกฎอัยการศึก! นิสิต ม.เกษตรฯ ถูกห้ามเคลื่อนไหวค้าน EHIA เขื่อนแม่วงก์

นิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จัดกิจกรรมคัดค้านการทำแผนรับฟังความคิดเห็นผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ EHIA การสร้างเขื่อนแม่วงก์  มีการทำป้ายผ้าและสติ๊กเกอร์รณรงค์ แต่งตัวเป็นเสือจากป่าแม่วงก์ และเดินเท้าจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ไปยังห้างสรรพสินค้าเมเจอร์รัชโยธิน เพื่อเตรียมอ่านแถลงการณ์แสดงจุดยืน

มีเจ้าหน้าที่เข้ามาเจรจาเพื่อขอให้ยุติการเคลื่อนไหว พร้อมทั้งยึดป้ายรณรงค์ โปสเตอร์ และสติ๊กเกอร์ จากผู้เข้าร่วมกิจกรรม   หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่เชิญตัวแทนคณะผู้จัดงานเจรจาเป็นการส่วนตัว ห้ามสื่อมวลชนและคนอื่นๆ เข้าฟังการเจรจา  พร้อมกับยึดป้ายผ้า สติ๊กเกอร์ และเอกสารแถลงการณ์ที่เตรียมใช้ทำกิจกรรม โดยอ้างว่าผิดกฎอัยการศึก

20141811194805.jpg

“จริงๆ ก็รู้สึกงงๆ เหมือนกันว่าตำรวจไม่น่าจะมาปิดกั้นการแสดงออก ตอนแรกเขาบอกให้เราห้ามชูป้าย เราก็ยอมไม่ชูป้ายแล้วก็เดินมาอย่างสงบเพื่อจะมาแถลงข่าว สุดท้ายก็ไมได้แถลง เราคิดว่าเราไม่ได้มาล้มล้างรัฐบาล เป็นการแสดงออกโดยที่ไม่มีพื้นที่ในการแสดงออกแล้ว  เราคือพลังบริสุทธิ์ ไม่น่าจะมาล้อมหรือมาปิดกั้นเลย

รู้สึกว่ามันอึดอัดสุดท้ายมันไม่สามารถแสดงออกหรือแสดงความคิดเห็นได้เลยภายใต้สถานการณ์อย่างนี้ ทั้งที่ไม่ได้มีความรุนแรง  เราเป็นแค่ประชาชนคนหนึ่งที่อยากแสดงออก ยิ่งเป็นพลังของนักศึกษาด้วย นักศึกษาควรมีส่วนร่วมกับประเด็นทางสังคมอยู่แล้วแต่กลับถูกปิดกั้นอย่างนี้  ก็จะสู้ให้ถึงที่สุดตามข้อเรียกร้องในแถลงการณ์ของเรา ที่บอกว่าให้ยุติ EIA และ EHIA จนกว่าจะมีการแก้ไขกฎหมาย EIA และ EHIA โดยที่ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น”  อภิสิทธิ์ ทรัพย์นพันธ์ ตัวแทนคณะผู้จัดกิจกรรมกล่าวทิ้งท้าย

—————–

แถลงการณ์ กลุ่มนิสิตม.เกษตรศาสตร์ รักษาธรรมชาติ

“ขอทางเลือกจัดการน้ำ ไม่เอาเขื่อนแม่วงก์”

เรื่อง คัดค้านโครงการเขื่อนแม่วงก์และ EHIA ที่ไม่ชอบธรรม

วันอังคารที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๗

          สืบเนื่องจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหรือ สผ.จะมีการประชุมคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านแหล่งน้ำ (คชก.) ในวันพุธที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ เพื่อทำการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพโครงการเขื่อนแม่วงก์จังหวัดนครสวรรค์ ( EHIA ) เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน  ท่ามกลางคำทักท้วงของประชาชน องค์กรพัฒนาเอกชนด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ   และนักวิชาการจำนวนมากที่เห็นว่า EHIA ฉบับนี้  ยังมีข้อบกพร่อง   ข้อมูลไม่ทันสมัย และไม่สามารถตอบประเด็นข้อสงสัยในเรื่องความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ  สิ่งแวดล้อม  และการแก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งได้

          พวกเราในนามนิสิตม.เกษตรศาสตร์รักษาธรรมชาติ อันประกอบไปด้วยกลุ่มนักกิจกรรมอิสระจากหลายกลุ่มหลายชมรม มีความเห็นและขอประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันว่าเราคัดค้านโครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ รวมทั้งคัดค้านการนำ EHIA ที่ไม่ชอบธรรมมาพิจารณาเช่นประเด็นเรื่องประสิทธิภาพของ EHIA และ EIA ต่อการประกอบการพิจารณาโครงการเขื่อนแม่วงก์ ความถูกต้องแม่นยำและความทันสมัยของข้อมูลความเป็นอิสระของผู้จัดทำ องค์ประกอบของคณะกรรมการฯที่ไม่ได้เปิดให้ผู้ที่มีความคิดเห็นต่าง จากหลายที่มาเข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและยังขาดผู้ชำนาญการในด้านความหลากหลายทางชีวภาพ

          นอกจากนี้หากมีการก่อสร้างเขื่อนจะทำให้เกิดการสูญเสีย “ ระบบนิเวศ ” ของพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์และพื้นที่ใกล้เคียง เนื่องจากเป็นบริเวณรอยต่อของการกระจายทางชีวภาพภูมิศาสตร์ของการกระจายพืชพรรณและสัตว์ป่า จากภาคเหนือและภาคใต้รวมกันส่งผลต่อประชากรสัตว์ป่าต้องสูญแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหาร ซึ่งรวมไปถึงสายพันธุ์ที่สำคัญเช่น เสือโคร่ง ช้างและนกยูงรวมทั้งสุ่มเสี่ยงต่อการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าและทรัพยากรธรรมชาติครั้งใหญ่ในระยะเวลาที่ก่อสร้างกว่าสิบปีด้วยซึ่งเขื่อนแม่วงก์นี้นอกจากจะไม่สามารถแก้ไขการจัดการทรัพยากรน้ำและไม่สามารถป้องกันอุทกภัยในพื้นที่ที่ ก่อสร้างแล้ว ยังจะทำให้แหล่งน้ำธรรมชาติต้องถูกปิดกั้นการเข้าถึงและประชาชนในพื้นที่ต้องถูกเวนคืนที่ดินนับหมื่นไร่

          ดังนั้นเราจึงเห็นว่าควรยุติกระบวนการพิจารณา EHIA ฉบับนี้ จนกว่าจะมีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำ EHIA และเพิ่มการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในทุกขั้นตอน  ซึ่งเราขอสนับสนุนการปฏิรูปการทำรายงานEIA และ  EHIA ตามแนวทางที่ อาจารย์รตยาจันทรเทียร ประธานมูลนิธิ-สืบนาคะเสถียร ได้เสนอไว้ ดังต่อไปนี้

          1.  ให้เพิ่มเติมเครื่องมือในการพิจารณาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมนั่นคือ    การประเมินสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์  หรือSEA   เพราะการทำลายป่าต้นน้ำแห่งหนึ่งจะส่งผลกระทบต่อคนปลายน้ำและสิ่งแวดล้อมเป็นเอย่างมาก  เราจึงต้องมองทิศทางในการพัฒนาลุ่มน้ำสะแกกรัง   และทางเลือกอื่นๆในการพัฒนาแหล่งน้ำในลุ่มน้ำที่นอกเหนือ   จากการสร้างเขื่อนด้วย  ซึ่งการพิจารณาเพียงแค่ EHIA อย่างเดียวนั้นยังไม่เพียงพอ

          2.  เจ้าของโครงการต้องไม่เป็นผู้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาในการทำรายงานEIAและEHIA  โดยตรง   เพราะจะทำให้ผู้ทำรายงานขาดอิสระ   ควรมีกองทุนหรือระบบกองกลางโดยให้หน่วยงานกลางทำหน้าที่จัดหาผู้ทำรายงาน   เนื่องจากทรัพยากรป่าไม้เป็นสมบัติของคนทั้งชาติ    หน่วยงานส่วนกลางจำเป็นจะต้องเข้ามาดูแลผลประโยชน์ของประชาชนอย่างเคร่งครัด  และตรงไปตรงมา

          3.  EIAและEHIA  ต้องมีอายุจำกัดเพื่อป้องกันไม่ให้นำข้อมูลที่เก่าและล้าสมัยมาพิจารณา    เพราะทรัพยากร  ธรรมชาติสามารถมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา   กล่าวคืออาจเกิดการอพยพเข้าออกของสัตว์ต่างๆ ที่เข้ามาหากินในป่า  การค้นพบสัตว์ป่าที่หายาก   การเพิ่มขึ้นของจำนวนป่าไม้  หรือพันธุ์พืชหายากที่อาจจะเกิดขึ้นได้   EIA และ EHIA จึงจำเป็นจะต้องมีการปรับปรุงข้อมูลให้ทันสมัยอยู่เรื่อยๆ

          4.  คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ(คชก. )  ควรมีนักวิชาการซึ่งเป็นตัวแทนจากองค์กรภายนอก  ภาคประชาชนเข้าร่วมพิจารณาด้วย   ซึ่งคณะผู้ชำนาญการที่จะพิจารณา EHIA ของเขื่อนแม่วงก์ในวันที่ 19 พ.ย.2557 นี้  ทางมูลนิธิสืบฯ ได้ตั้งข้อสังเกตว่าไม่มีผู้ทรงคุณวุฒิด้านความหลากหลายทางชีวภาพอยู่     และจะต้องเปิดที่นั่งให้ประชาชนที่มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามาร่วมรับฟังการพิจารณาและมีสิทธิที่จะเสนอเหตุผลสนับสนุนหรือคัดค้านในการพิจารณา EIA และ EHIA   

          5.  ควรยกเลิกระบบที่ให้ผู้จัดทำรายงาน EIA และ EHIA  แก้ไขรายงานจนกว่าจะผ่าน    หากการศึกษาพบว่าโครงการมีผลกระทบสูง   ทรัพยากรต่างๆที่เสียไปนั้นไม่คุ้มค่ากับการลงทุน  หรือมาตรการลดผลกระทบต้องใช้ต้นทุนสูงเกินไป   โครงการเหล่านั้นก็ควรที่จะยุติโครงการลง   โดยผู้จัดทำที่เป็นอิสระควรเสนอให้ยุติโครงการได้

          สุดท้ายนี้เราขอฝากถึงประชาชนทุกคนผู้ซึ่งเป็นเจ้าของประเทศอย่างแท้จริง    ให้ออกมาแสดงพลังร่วมกันคัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์   เราเชื่อว่าหากวันนี้เรายอมให้ผืนป่าถูกทำลาย วันหน้าลูกหลานจะเป็นเช่นไร  หากวันนี้เรายังปล่อยให้กระบวนการพิจารณา EIA EHIA และโครงการพัฒนาของรัฐ อยู่ภายใต้การตัดสินใจ บนผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม แล้วต่อไปอนาคตของประเทศจะเป็นเช่นไร   จะต้องมีผืนป่าอีกสักกี่ล้านไร่ที่ต้องถูกทำลาย   กี่ชีวิตที่ต้องได้รับผลกระทบ   อนาคตอยู่ที่คุณทุกคน  ประชาชน   ประชาชน

 

                                                                                                                                                                      ด้วยจิตสาธารณะ

                                                                                                                                                    กลุ่มนิสิตม.เกษตรศาสตร์ รักษาธรรมชาติ

 

กลุ่มนิสิตม.เกษตรศาสตร์ รักษาธรรมชาติ

          1. กลุ่มเสรีนนทรี

          2. กลุ่มรักษ์ป่า

          3. ชมรมอนุรักษ์

          4. ชมรมเห็ด

          5. ชมรมมหาวิทยาลัย- ชาวบ้าน

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ