ไพบูลย์ ละครชัย : ผมบ่เคยเจอกับเหตุการณ์จั่งซี่มาก่อน

ไพบูลย์ ละครชัย : ผมบ่เคยเจอกับเหตุการณ์จั่งซี่มาก่อน

20160803204033.jpg

ทีมข่าวพลเมือง

“แล้งเราไม่เท่ากัน” แน่นอน พูดอีกก็ถูกอีก สถานการณ์ที่เกิดขึ้นมีหลายพื้นที่ที่อยู่ได้ สบายดี ไม่เดือดร้อนเกินไปนัก แต่บางพื้นที่ก็หนักหน่วงกระทั่งผู้ชายอกสามศอกอย่าง ไพบูลย์ ละครชัย ถึงกับเอ่ยปากว่า ‘ผมบ่เคยเจอกับเหตุการณ์จั่งซี่มาก่อน นับตั้งแต่มาทำงานอยู่ที่นี่เกือบ 30 ปีแล้ว’

นี่คือบทสัมภาษณ์ที่ทีมข่าวพลเมืองพูดคุยกับ “ไพบูลย์ ละครชัย” พนักงานผลิตน้ำ 4 การประปาส่วนภูมิภาค สาขาหนองเรือ (ประจำหน่วยบริการภูเวียง) จ.ขอนแก่น


+ ยังทำนา ทำเกษตรกรรมได้อยู่ไหม

ถ้าเป็นฤดูฝนก็ทำ อาจจะได้บ้างไม่ได้บ้าง ถ้าอยู่ใกล้แหล่งน้ำเขาก็อาจทำนาปรังได้ด้วย แต่ตอนนี้เขาไม่ทำแล้ว ยกเว้นว่ามีแหล่งน้ำอยู่ใกล้จริงๆ แต่ถึงอย่างนั้นเท่าที่เห็นไม่มีการทำแล้ว เพราะไม่คุ้ม

+ สถานการณ์ตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง

โดยรวมแล้วก็แล้ง ตอนนี้ก็มีการแก้ปัญหาระยะสั้นเอาไว้ก่อน มีการเอาถังน้ำขนาด 2,000 ลิตรมาตั้งกว่า 40 จุด จุดละ 1-2 ถังขึ้นอยู่กับขนาดของชุมชน แล้วเอารถ 2 คันวิ่งเวียนกันนำน้ำประปาที่ผ่านกระบวนการแล้วไปเติมเพื่อให้ชาวบ้านได้ใช้ วิ่งกันทั้งวัน

+ ตอนนี้มีแผนใช้น้ำอย่างไรบ้าง

เรามีแผน 1-3 แผนแรกเอามาจากซำประดู่ซึ่งมีพื้นที่เก็บน้ำประมาณ 10 ไร่ สามารถใช้น้ำได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2558 ซึ่งตอนนี้ก็หมดลงแล้ว

ส่วนแผนสองคือเจาะน้ำบาดาลรอบเมือง มีการเจาะไว้ 13 บ่อ โดยระบบนี้จะมีการตั้งเวลาเพื่อสูบน้ำเข้าระบบแจกจ่ายในช่วง 7.00-9.00 น. จากนั้นก็ปิดไว้ ตอนนี้มี 2 บ่อซึ่งน้ำเริ่มไหลได้น้อยลง

ส่วนแผนสามคือใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำชลประทาน ต.สงเปือย อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น ซึ่งคาดว่าจะใช้ได้ถึงเดือนเมษายน

+ แล้วจากนั้นจะทำอย่างไรต่อ

แต่ถ้าหมดจากนั้นจริงๆ ก็มีแผนรองรับอีกคือ เอารถไปรับน้ำที่การประปาส่วนภูมิภาค สาขาหนองเรือ ซึ่งเป็นสถานีแม่ข่ายของหน่วยบริการภูเวียง ตรงนั้นยังสามารถผลิตน้ำประปาได้เพราะมีแหล่งน้ำที่เขื่อนอุบลรัตน์ เราจะนำมาเข้าระบบที่นี่ จากนั้นค่อยแจกจ่ายไปยังบ้านเรือนของประชาชน

+ วางระบบการจ่ายน้ำอย่างไร

ก่อนหน้านี้จ่ายช่วงเช้าและเย็น ตอนเช้า 5 ชั่วโมง และเย็น 5 ชั่วโมง จากนั้นก็ปรับเป็นเช้า 3 ชั่วโมง และเย็นอีก 3 ชั่วโมง ขณะที่ตอนนี้จ่ายเฉพาะช่วงเย็น 4 ชั่วโมง ซึ่งเรารับผิดชอบเขตเทศบาล และรอบนอกที่ท่อไปถึงรวมแล้วราว 1,800 ครัวเรือน

ส่วนตำบลอื่นๆ มีการบริหารจัดการน้ำของเขาเอง เช่น บาง อบต. ก็มีการนำแหล่งน้ำของตนเองมาใช้ หรือถ้าไม่มีก็เจาะน้ำบาดาล เขาจะมีมาตรการจัดการของเขา เพราะแต่ละหมู่บ้านไม่เหมือนกัน จัดการไม่เหมือนกัน

+ เขาบอกว่าที่นี่แล้งที่สุดในรอบหลายสิบปี

ก็ถามปู่ย่าตายายที่เขามาอยู่ก่อนก็บอกว่าไม่เคยมี ไม่เคยแล้งแบบนี้ น้ำจากลำน้ำบองก็มีทุกปี และเท่าที่ผมมาอยู่ที่นี่ 30 ปี ก็เห็นน้ำทุกปี แต่มาปีนี้แล้งที่สุด ลำน้ำบองไม่มีน้ำ

สำหรับลำน้ำบองนั้นไหลมาจากภูเวียงซึ่งเป็นน้ำธรรมชาติ ถ้าน้ำไหลลงมาก็จะตั้งเครื่องสูบน้ำเอาไว้ 2 เครื่อง คอยจัดเก็บมาสำรองเอาไว้ทำน้ำประปา เป็นเช่นนี้ทุกปี แต่ปีนี้ไม่เหมือนเดิม

+ สถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นนานแค่ไหนแล้ว

ตอนปี 2557 ยังมีน้ำสะสมอยู่ ยังไม่แล้ง แต่ก็ค่อยๆ หมดไป ตอนปี 2558 นั้นไม่มีน้ำเข้ามาเติมเลย เพราะนับจากกลางปีนั้นมาก็แทบไม่มีฝนในพื้นที่ ปกติช่วงสิงหาคม-กันยายนจะมีฝนมาอีกรอบ น้ำจากภูเวียงก็จะลงมายังลำน้ำบอง แต่ปรากฎว่าปลายปีที่แล้วไม่มีฝนเลย น้ำจึงเริ่มเหลือน้อย พอถึงปี 2559 จึงเกิดสถานการณ์อย่างที่เห็น

+ มีการประชาสัมพันธ์บอกชาวบ้านอย่างไร

มีเสียงตามสาย ประชาสัมพันธ์ให้ประหยัดน้ำ ‘น้ำดิบมีน้อย ใช้สอยอย่างประหยัด’

+ แล้งปีนี้ได้บทเรียนอะไรบ้าง

ได้บทเรียนเยอะมากครับ เราเห็นคุณค่าน้ำมาก เราไม่เคยเจอเช่นนี้ สิ่งสำคัญคือต้องหาวิธีการจัดการน้ำในระยะยาว เราเล็งที่จะของบประมาณด่วนจากส่วนกลางเพื่อวางระบบท่อจากศูนย์ผลิตน้ำดอนโมงส่งมาที่ อ.ภูเวียง เพื่อป้องกันภัยแล้งในอาจเกิดขึ้นอีกในปีหน้า

แต่ตอนนี้รอฝนฟ้า รอพญาแถนไปก่อน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ