ขู่ใช้กฎหมายห้ามชุมนุม งด ‘ค่ายเยาวชน’– คุมชาวบ้านเหมืองทองเลยร่วม ‘ประชุม อบต.’

ขู่ใช้กฎหมายห้ามชุมนุม งด ‘ค่ายเยาวชน’– คุมชาวบ้านเหมืองทองเลยร่วม ‘ประชุม อบต.’

20152708213045.jpg

สถานการณ์ในพื้นที่บ้านนาหนองบง ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย หลังมีกระแสข่าวการเตรียมบังคับใช้กฎหมายห้ามชุมนุมกับชาวบ้านที่ต่อต้านเหมืองทองคำ ในวันที่ 28 ส.ค.นี้ เนื่องจากในวันดังกล่าว จะมีการประชุมสมัยสามัญของสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวง (อบต.เขาหลวง) เพื่อพิจารณาอนุญาตขอต่ออายุการใช้พื้นที่ป่าไม้และพื้นที่ ส.ป.ก. เพื่อทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด 

ชาวบ้านในพื้นที่ให้ข้อมูลว่า การประชุมสภา อบต.เขาหลวงดังกล่าวมีการกำหนดให้ส่งตัวแทนเข้าร่วมการประชุมเพียงแค่ 4-5 คนเท่านั้น หากไม่เชื่อฟังก็จะบังคับใช้กฎหมายห้ามชุมนุมต่อชาวบ้านที่เดินทางเข้ามาที่ อบต.เขาหลวง เพราะถือว่าเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายห้ามชุมนุมและ ม.44 ไปด้วยพร้อมๆ กัน

อีกทั้ง ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ กลุ่มคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมในโครงการของมูลนิธิอาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) มีการลงพื้นที่เพื่อจัดค่ายอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม “เยาวชนฮักบ้านเจ้าของตอน นักสืบลำน้ำฮวย แท้ๆ แน๊ว” ระหว่างวันที่ 28 – 30 ส.ค. 2558 ณ วัดโนนสว่าง บ้านนาหนองบงคุ้มใหญ่  ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย หลังจากแผนการจัดค่ายดังกล่าวถูกเจ้าหน้าที่ความมั่นคงขอให้เลื่อนการจัดกิจกรรม เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมา 

ทั้งนี้ การจัดค่ายเยาวชนให้แก่เด็กในหมู่บ้านรอบเหมืองทองคำ ถูกจับตามมองจากหน่วยงานความมั่นคงและฝ่ายปกครองว่าเป็นการปลุกระดมเด็กๆ และเยาวชนให้เกลียดเหมืองทองคำ

ล่าสุด พ.อ.อำนวย จุลโนนยาง หัวหน้าชุดปฏิบัติการเขาหลวง มีคำสั่งเด็ดขาดว่า หากทีมงานค่ายยังดื้อรั้นไม่ยอมยกเลิกการจัดค่ายเยาวชนฯ จะใช้กฎหมายห้ามชุมนุมจัดการกับทีมงานที่เข้ามามาจัดค่ายครั้งนี้ เพราะถือเป็นภัยต่อความมั่นคง

20152708213204.jpg

“ทหารไม่ให้ทำทั้งที่เป็นสิทธิของชาวบ้าน สิทธิของชุมชนที่ต้องรับรู้เรื่องของตัวเอง การจัดค่ายก็เป็นเรื่องดีที่เด็กจะได้เรียนรู้” ระนอง กองแสน ชาวบ้านหมู่ 3 บ้านนาหนองบง สมาชิกกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด กล่าว

ระนอง ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้ในพื้นที่มีการตั้งด้านโดยเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจถึง 2 ด่าน เพื่อปิดกั้นไม่ให้ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน เดินทางเข้าร่วมการประชุมสภา อบต.เขาหลวง และมีการพาสมาชิก อบต.บางส่วนออกไปแล้ว ขณะที่ผู้ใหญ่บ้านมีการประกาศห้ามชาวบ้านชุมนุม ทั้งที่เมื่อมีการประชุมชาวบ้านก็อยากฟังข้อมูลและมีเรื่องที่จะไปเสนอต่อที่ประชุม

“เขามองภาพกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดไม่ดี เอาอะไรให้ก็ไม่รับ แต่เราคิดว่ามันไม่ยังยืนเหมือนที่ดินทำกิน เราปกป้องบ้านเกิดของเรา ทำไมเรากลายเป็นคนผิด แม่ก็ไม่เข้าใจ” สมาชิกกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด กล่าว

ขณะที่ อนุสรณ์ หนองบัว นักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาสาสมัครคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม หนึ่งในทีมงานค่ายอนุรักษ์ฯ กล่าวว่า การจัดกิจกรรมครั้งนี้มีการเตรียมงานโดยประสานกับชาวบ้าน กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด วัดและผู้นำชุมชน ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี แต่เมื่อวันที่ 26 ส.ค.ที่ผ่านมา เจ้าอาวาสวัดโนนสว่างโทรมาแจ้งกับทีมงานว่าทหารไม่ให้สนับสนุนการใช้พื้นที่เพื่อจัดกิจกรรม โดยให้เหตุผลว่ากลัวเกิดความไม่สงบและเป็นภัยความมั่นคง

อย่างไรก็ตาม ทางทีมงานยังคงยืนยันที่จะจัดกิจกรรมต่อไป โดยเปลี่ยนสถานที่เป็นศาลาชุมชน และจะมีทีมงานราว 10 คน ที่จะมาร่วมทำกิจกรรมกับเด็กๆ ในระดับชั้นประถม เพื่อเรียนรู้วิถีชีวิตของชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติ 

20152708214909.jpg

“เราเชื่อว่าหากปลูกฝังเด็กๆ ให้เข้มแข็งจะช่วยกันดูแลชุมชนต่อไปได้” อนุสรณ์กล่าว

อาสาสมัครคนรุ่นใหม่ กล่าวด้วยว่า ก่อนที่จะมีการวางแผนจัดค่ายอนุรักษ์ฯ ได้เคยลงพื้นที่พูดคุยกับชุมชนและเด็ๆ มาแล้วหลายครั้ง รู้ว่าพื้นที่นี้มีประเด็นร้อนคือเรื่องเหมืองแร่ทองคำที่ยังคงมีความขัดแย้งกันอยู่ แต่เป้าหมายของการจัดค่ายคือการสร้างการเรียนรู้ของเด็กๆ ในพื้นที่ เป็นประโยชน์กับเยาวชน ไม่ได้เป็นเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคง

“รู้สึกหดหู่ เสียใจ เรื่องนี้ไม่น่าเกิดขึ้น เรามีแค่ปากกาเคมี ฟลิปชาร์ท หนังสือนิทานไป ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องห้าม”  อนุสรณ์ ตั้งคำถาม พร้อมระบุว่าที่ผ่านมาไม่มีใครมาชี้แจงให้เหตุผลในการห้ามจัดกิจกรรม

สำหรับสถานการณ์ในวันพรุ่งนี้ อนุสรณ์ ประเมินว่าอาจเกิดปัญหาในการจัดกิจกรรม แต่ก็จะไม่ถอย เพราะเชื่อว่าสิ่งที่ทำถูกต้อง และจะไม่ต่อสู้ขัดขืนหากถูกเจ้าหน้าที่จับกุม ยินดีให้จับ ไม่ใช้กำลังต่อต้าน 

“ถามว่ากลัวไหม กลัว แต่เราเชื่อว่าสิ่งที่เราทำถูกต้อง หากไม่ทำ น้องๆ ก็เสียโอกาสในการเรียนรู้ และหากยอมแพ้ครั้งนี้ เราก็อาจไม่มีโอกาสกลับมาจัดอีก” อาสาสมัครคนรุ่นใหม่กล่าว

ด้าน ศิริพร ฉายเพ็ชร เจ้าหน้าที่ฝ่ายฝึกอบรมโครงการพัฒนาคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) กล่าวว่าการขมขู่ว่าจะบังคับใช้กฎหมายถูกบอกผ่านมาทางชาวบ้าน โดยมีการเรียกให้ทีมงานเข้ารายงานตัวและทำจดหมายขออนุญาตในการจัดกิจกรรม แต่ทีมงานทุกคนมีการพูดคุยกันแล้ว และเชื่อว่าการทำกิจกรรมนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้อง การทำค่ายเด็กแต่ต้องขออนุญาติหน่วยงานความมั่นคงนั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีเหตุมีผล จึงไม่ยอมรับ

ทีมงานมีความเห็นร่วมกันว่าจะไม่ทำหนังสือขออนุญาตหน่วยงานความมั่นคง เพราะการจัดค่ายเด็กในพื้นที่อื่นๆ ก็ไม่เคยมีการกำหนดให้ต้องขออนุญาต ทำไมที่นี่ต้องขออนุญาต หากเป็นข้อกำหนดเฉพาะบางพื้นที่ นั่นก็เท่ากับว่าเราไม่มีมาตรฐานในการบังคับใช้กฎหมาย

ศิริพร ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า แม้ทีมงานจะทำหนังสือขอก็จะไม่ได้รับอนุญาต เพราะหน่วยงานความมั่นคงและฝ่ายปกครองในพื้นที่เหมารวมกลุ่มนักศึกษาว่าเป็นกลุ่มดาวดิน ไม่มองว่ากลุ่มนักศึกษาและนักกิจกรรมมีความหลากหลาย และพยายามกันออกจากพื้นที่โดยอ้างเรื่องความมั่นคง 

ขณะที่ BBC ไทย รายงานว่า พ.อ.อำนวย จุลโนนยาง รองผู้บัญชาการจังหวัดทหารบกเลย ผบ.จทบ.ล.ย.(๑) ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ดังกล่าวระบุว่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งของ คสช. อย่างเคร่งครัด โดยหน่วยงานการศึกษาหรือหน่วยงานอื่นๆ หากมีการจัดกิจกรรมต่างๆ ต้องแจ้งให้ทางเจ้าหน้าที่ทหารทราบรายละเอียดของกิจกรรมและผู้เข้าร่วมกิจกรรม และเนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่มีความขัดแย้งสูง การมีบุคคลภายนอกเข้ามาจึงต้องพิจารณาด้วยว่าจะส่งผลให้เกิดความขัดแย้งเพิ่มขึ้นหรือไม่ แต่ที่ผ่านมายังไม่เห็นหน่วยงานใดมาติดต่อขออนุญาตจัดกิจกรรม ทั้งนี้ กลุ่มกิจกรรมที่ไม่ใช่หน่วยงานราชการก็สามารถประสานมาได้

พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษก คสช. ระบุว่าไม่ได้มีนโยบายเพิ่มเติมในเรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อย เป็นเรื่องของหน่วยงานในพื้นที่พิจารณา เบื้องต้นยืนยันว่าการจัดการกิจกรรมต่างๆ ต้องได้รับอนุญาตจากทางเจ้าหน้าที่ที่ดูแลพื้นที่

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง: 

บันทึกช่วยกันจำ เรื่องขำขันกรณี ‘ค่ายเด็ก’ ที่ผู้ใหญ่ไม่อยากให้จัดโดยอ้างเรื่องความมั่นคง!

‘เยาวชนฮักบ้านเจ้าของ’ ค่ายเด็กที่ถูก ‘ผู้ใหญ่’ ห้ามจัด

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ