อุทัยธานี / พอช. เดินหน้าพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนชาวแพริมแม่น้ำสะแกกรัง จ.อุทัยธานี โดยสนับสนุนการซ่อมสร้างแพที่ชำรุดทรุดโทรมเฟสสุดท้าย รวม 127 หลัง ส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ จำหน่ายสินค้าที่ระลึก ทำอาหารปลา แปรรูปปลา สะสมทุนสร้างกลุ่มออมทรัพย์ เพื่ออนุรักษ์วิถีชีวิตชุมชนชาวแพแห่งสุดท้ายของประเทศเอาไว้
ชุมชนชาวแพริมแม่น้ำสะแกกรัง ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองอุทัยธานี จ.อุทัยธานี ปัจจุบันมีผู้อยู่อาศัยในแพประมาณ 150 หลัง ถือเป็นชุมชนชาวแพแห่งสุดท้ายของประเทศไทย เพราะชุมชนชาวแพในจังหวัดอื่น เช่น ชุมชนชาวแพริมแม่น้ำน่าน จ.พิษณุโลก กว่า 100 หลัง ถูกทางราชการโยกย้ายให้ออกจากแม่น้ำน่านตั้งแต่ปี 2541 เพราะทางราชการมองว่าชุมชนชาวแพปล่อยน้ำเสีย ทิ้งสิ่งปฏิกูลลงในแม่น้ำ ทำให้น้ำสกปรก นอกจากนี้ยังกีดขวางทางเดินของน้ำ
ภาคีฟื้นฟูวิถีชีวิตชุมชนชาวแพสะแกกรัง
ขณะที่ชุมชนชาวแพริมแม่น้ำสะแกกรังได้รับการสนับสนุนจากภาคีหลายภาคส่วนเพื่อร่วมกันอนุรักษ์ชุมชนชาวแพแห่งสุดท้ายของประเทศเอาไว้ เพราะถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัด และยังช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว เช่น จังหวัดอุทัยธานี เทศบาลเมืองอุทัยธานี การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานเกษตรจังหวัด ชลประทานจังหวัด กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ชุมชนชาวแพริมแม่น้ำสะแกกรังต่างได้รับผลกระทบเนื่องจากปัญหาความแห้งแล้ง ปริมาณน้ำในแม่น้ำสะแกกรังลดน้อยลง ทำให้เรือนแพจำนวนมากได้รับความเสียหาย เพราะเรือนแพที่เคยอยู่ในน้ำ เมื่อน้ำแล้งแพจะเกยตื้น ลูกบวบไม้ไผ่ที่รองหนุนแพจะแตกหัก
นอกจากนี้เมื่อน้ำในแม่น้ำแห้งแล้ง จะทำให้น้ำไม่ไหลเวียน ออกซิเจนในน้ำมีน้อย ส่งผลกระทบต่อปลาที่เลี้ยงในกระชัง เพราะจะทำให้ปลาตาย ชาวแพที่มีอาชีพเลี้ยงปลาในกระชังต้องสูญเสียรายได้ และยังส่งผลถึงชาวประมงในแม่น้ำสะแกกรังที่หาปลาได้น้อยลง รวมถึงแม่ค้าที่มีอาชีพขายปลาต่างได้รับผลกระทบเป็นลูกโซ่
ขณะเดียวกันเมื่อน้ำแล้ง กอผักตบชวาจะไหลมารวมกันหนาแน่น ทำให้กีดขวางเรือที่สัญจรไปมาในแม่น้ำสะแกกรัง เรือพายไม่สามารถแหวกผ่านได้ ส่วนเรือที่ติดเครื่องยนต์ใบพัดก็จะติดพันกับกอผักตบและสวะใต้น้ำ ทำให้การสัญจรทางเรือลำบาก ฯลฯ
ปัญหาดังกล่าว ชาวชุมชนชาวแพได้ร้องเรียนผ่านสื่อมวลชนและหน่วยงานในท้องถิ่นตั้งแต่ช่วงปี 2562 จนในปี 2563 นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ในขณะนั้น) จึงให้หน่วยงานในสังกัด คือสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดอุทัยธานี (พมจ.) ร่วมกับจังหวัดอุทัยธานี เทศบาลเมืองอุทัยธานี เกษตรจังหวัด ชลประทานจังหวัด ฯลฯ จัดทำแผนงานเพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวแพริมแม่น้ำสะแกกรัง
โดย พอช.ร่วมกับหน่วยงานในท้องถิ่นเริ่มสำรวจข้อมูลชุมชนชาวแพตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 เช่น ลงพื้นที่สร้างความเข้าใจกับชุมชนชาวแพ สำรวจข้อมูลปัญหาและความต้องการ จัดทำแผนที่ทำมือ ถ่ายรูปเรือนแพ จับพิกัด GPS ถอดแบบรายการการซ่อมแซมเรือนแพผู้เดือดร้อน ฯลฯ โดยมีผู้แทนชุมชนชาวแพจำนวน 13 คนร่วมเป็นคณะทำงาน
จากการสำรวจข้อมูลชุมชนชาวแพทั้งหมด 127 ครัวเรือน ประชากรประมาณ 300 คนเศษ ส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างทั่วไป ค้าขายในตลาด เลี้ยงปลาในกระชัง จับปลาในแม่น้ำ ฯลฯ พบปัญหาและความต้องการรวม 8 ด้าน เช่น ปัญหาน้ำแล้ง สิ่งแวดล้อม ที่อยู่อาศัย การจัดการท่องเที่ยวชุมชน คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ผู้พิการ เด็ก ผู้ด้อยโอกาส อาชีพ รายได้ ด้านวัฒนธรรม และการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน โดย พอช.มีแผนงานจะสนับสนุนให้ชุมชนชาวแพซ่อมแซมเรือนแพก่อน เพราะส่วนใหญ่มีสภาพชำรุดทรุดโทรมเนื่องจากก่อสร้างมานาน ลูกบวบที่ใช้พยุงแพซึ่งส่วนใหญ่สร้างด้วยไม้ไผ่ชำรุดแตกหัก
ต่อมาในเดือนกรกฎาคม 2563 หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในจังหวัดอุทัยธานีและสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ รวม 16 หน่วยงานได้จัดพิธี ‘ลงนามความร่วมมือการพัฒนาที่อยู่อาศัยชาวแพสะแกกรังและโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อยในชุมชนเมืองและชนบทจังหวัดอุทัยธานี’ เพื่อร่วมกันเดินหน้าฟื้นฟูชุมชนชาวแพ
การซ่อมแซมเรือนแพจำนวน 127 หลัง เริ่มต้นในเดือนกันยายน 2563 โดย พอช.สนับสนุนงบประมาณในการซ่อมแซมเรือนแพเฉลี่ยหลังละ 40,000 บาท ส่วนใหญ่เป็นการเปลี่ยนไม้กระดานปูพื้นแพที่ผุพัง หลังคาสังกะสี ลูกบวบไม้ไผ่ ฯล หากเกินงบสนับสนุนเจ้าของแพจะสมทบเอง โดยมีช่างชุมชนและจิตอาสาจากจังหวัดต่างๆ ประมาณ 80 คนหมุนเวียนมาช่วยกัน ทำให้ประหยัดค่าแรงงานได้หลังละหลายพัน หลายหมื่นบาท
เช่น บางหลังรื้อหลังคา ทำฝาบ้านใหม่ เพราะแพหลังเดิมผุพังทั้งหลัง ระดมช่างมาช่วยกัน 10 คน หากคิดค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท ช่วยกันทำ 3 วัน จะประหยัดเงินได้ไม่ต่ำกว่า 9,000 บาท
ซ่อมแพเฟสสุดท้าย 37 หลัง-สร้างเศรษฐกิจชาวแพ
นอกจากการซ่อมแซมเรือนแพจำนวน 127 หลัง/ครัวเรือนแล้ว พอช.ยังสนับสนุนงบประมาณเพื่อจัดทำแพกลางของชุมชนเพื่อเป็นที่ประชุมและจัดกิจกรมต่างๆ สนับสนุนการปรับปรุงสภาพแวดล้อม บำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยทิ้ง ส่งเสริมอาชีพ ฟื้นฟูภูมิปัญญาชาวแพ ส่งเสริมศิลปะ วัฒนธรรม ส่งเสริมการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน ฯลฯ ใช้งบประมาณทั้งหมด 7,350,000 บาท (เฉลี่ยครัวเรือนละ 58,000 บาท)
แววดาว พรมสุทธิ์ รองประธานโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยบ้านมั่นคงชนบทชาวแพสะแกกรัง บอกว่า การซ่อมแพจำนวน 127 หลังเริ่มตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายน 2563 เป็นต้นมา และส่วนใหญ่ซ่อมเสร็จตั้งแต่ช่วงปี 2564-2565 โดย พอช.สนับสนุนงบประมาณไม่เกินหลังละ 40,000 บาท หากหลังไหนที่ต้องซ่อมแซมมาก เช่น เปลี่ยนลูกบวบ หรือซ่อมทั้งหลังซึ่งต้องใช้งบเกินกว่านั้น เจ้าของบ้านก็จะต้องออกส่วนเกินเอง และ พอช.ไม่ได้ช่วยเหลือเป็นเงินสด แต่จะให้ชุมชนรวมกลุ่มกันสั่งซื้อวัสดุมาซ่อมแซม
“นอกจากนี้ยังมีแพบางหลังที่ใช้งบประมาณในการซ่อมไม่ถึง 40,000 บาท จึงทำให้มีงบประมาณเหลืออยู่ส่วนหนึ่ง ทางคณะกรรมการโครงการฯ จึงมีมติให้นำงบประมาณที่เหลือมาซ่อมแพที่ยังซ่อมไม่เรียบร้อยสมบูรณ์ เช่น เปลี่ยนหลังคาบ้าน ฝาบ้าน พื้นบ้านที่ผุพัง หรือบางหลังเปลี่ยนจากลูกบวบไม้ไผ่เป็นถังพลาสติกเพื่อความทนทานไม่ต้องเปลี่ยนบ่อยๆ ถือเป็นการซ่อมแพเฟสสุดท้าย” แววดาวบอก
เธอบอกด้วยว่า การซ่อมแพเฟสสุดท้ายมีทั้งหมด 37 หลัง เริ่มซ่อมตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา และจะทยอยซ่อมให้เสร็จโดยเร็ว
ใช้โครงเหล็กและถังพลาสติกแทนบวบไม้ไผ่เพื่อรับน้ำหนักแพ ช่างจะต้องลอยคอในน้ำเพื่อดันลูกบวบเหล็กเข้าไปสอดใต้แพ หากเป็นลูกบวบไม้ไผ่จะมีอายุการใช้งานประมาณ 3-4 ปี แต่เหล็กและถังพลาสติกจะทนทานไม่ต่ำกว่า 10 ปี
นอกจากนี้ยังมีโครงการต่างๆ ที่ พอช.สนับสนุนการฟื้นฟูชุมชนชาวแพที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการ เช่น งานประเพณีสงกรานต์ในช่วงเดือนเมษายนนี้ จะจัดให้มีพิธีรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ คนเฒ่าคนแก่ โดยจะเชิญชวนนักท่องเที่ยวมาร่วมสืบสานประเพณี
มีโครงการส่งเสริมอาชีพและเศรษฐกิจชุมชนชาวแพ โดยจะทำแพร้านค้าชุมชนชาวแพ จำหน่ายสินค้าที่ระลึกจากเศษผ้า เช่น ย่าม และของชำร่วยต่างๆ ทำอาหารปลาอัดเม็ดจากรำข้าว เพื่อขายให้คนเลี้ยงปลาในกระชัง และให้นักท่องเที่ยวซื้อไปให้อาหารปลาในแม่น้ำสะแกกรัง นำปลามาแปรรูปทำปลาย่าง ปลาแห้ง น้ำพริกจากปลา ขายในตลาดและแพร้านค้าชุมชน ฯลฯ โดย พอช.สนับสนุนประมาณ 300,000 บาท
ต่อยอดกองทุนชาวแพ…แลอนาคตข้างหน้า
แววดาว บอกว่า นอกจากการสนับสนุนของ พอช. ดังกล่าวแล้ว พอช.ยังสนับสนุนการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นกองทุนของชาวแพ ใช้ชื่อว่า “กลุ่มออมทรัพย์ลุ่มน้ำสะแกกรัง” โดยให้สมาชิกชาวแพที่ได้รับการซ่อมแพจำนวน 127 ครัวเรือน ร่วมกันออมเงินเข้ากลุ่มเดือนละ 50 บาท/ครอบครัว เริ่มออมตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2563 แล้วนำเงินออมมาให้สมาชิกที่เดือดร้อนกู้ยืม เช่น นำไปประกอบอาชีพ ปรับปรุงเรือนแพ ฯลฯ คิดดอกเบี้ยเพื่อเป็นรายได้เข้ากลุ่มร้อยละ 1 บาท/เดือน ที่ผ่านมาปล่อยกู้ให้สมาชิกไปแล้ว รวมเป็นเงินประมาณ 150,000 บาท ปัจจุบันกลุ่มออมทรัพย์มีเงินสดหมุนเวียนประมาณ 100,000 บาทเศษ
“เราวางแผนงานว่า โครงการต่างๆ ที่ พอช.สนับสนุน ทั้งการซ่อมแพ แพร้านค้า การส่งเสริมอาชีพต่างๆ และการท่องเที่ยวชุมชน จะทำให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายนนี้ และจะทำต่อไป เพราะเรามีกองทุนชาวแพของเราแล้ว เมื่อมีรายได้จากกลุ่มต่างๆ เช่น จากการขายของที่ระลึก ขายอาหารปลา จะนำกำไร 5 เปอร์เซ็นต์มาเข้ากลุ่มออมทรัพย์ เพื่อเป็นทุนหมุนเวียน ทำให้กลุ่มและกองทุนของชาวแพเติบโตต่อไป” แววดาวรองประธานโครงการฯ บอกถึงแผนงานที่กำลังจะเดินหน้า
สันทนา เทียนน้อย ประธานชุมชน 7 ลุ่มแม่น้ำสะแกกรัง บอกว่า เดิมเรือนแพในแม่น้ำสะแกกรังที่ขึ้นทะเบียนกับกรมเจ้าท่ามีทั้งหมด 301 แพ แต่ปัจจุบันเหลืออยู่เพียง 154 แพ/หลัง เนื่องจากชาวแพรุ่นเก่าๆ ล้มหายตายจากไป ลูกหลานไปเรียนหรือทำงานอยู่ในเมืองหรือต่างจังหวัดจึงไม่ได้อยู่อาศัย บางแพปล่อยให้ผุพังเสื่อมโทรม บางแพก็เปลี่ยนมือ ขายให้คนอื่น หรือบางแพที่เคยผูกแพอยู่หน้าท่า หน้าที่ดินของคนอื่น เมื่อเจ้าของขายที่ดิน หรือนำที่ดินไปปลูกสร้างอาคาร บ้านพัก รีสอร์ท ทำให้ชาวแพไม่มีทางขึ้น-ลง ไม่มีหน้าท่าเอาไว้จอดแพ จึงจำต้องขายแพหรือย้ายขึ้นไปอยู่ที่อื่น แพจึงค่อยๆ ลดจำนวนลง
“นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องความแห้งแล้ง ทำให้แม่น้ำสะแกกรังมีน้อย น้ำไม่ถ่ายเท แพเกยตื้น ลูกบวบไม้ไผ่แตกหัก การซ่อมแพต้องใช้เงินเยอะ 3-4 ปีก็ต้องเปลี่ยนลูกบวบใหม่อีก ไม้ไผ่ ไม้ต่างๆ ก็แพง คนอยู่ก็ลำบาก จึงต้องขายแพหรือย้ายขึ้นไปอยู่บนฝั่ง ทำให้แพลดน้อยลง บางคนก็ขายแพให้นายทุนเอาไปทำรีสอร์ท ทำที่พัก…อีกหน่อยชุมชนชาวแพก็จะหายไป พวกเราจึงต้องช่วยกันรักษาชุมชนชาวแพเอาไว้” สันทนา ประธานชุมชน 7 ลุ่มแม่น้ำสะแกกรังบอกทิ้งท้าย
เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์