คนไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงภาคเหนือร้องขอรัฐบาลเห็นความสำคัญและคุณค่าความเป็นเพื่อนมนุษย์ของนายบิลลี่ และดำเนินการอย่างเร่งด่วนทุกวิถีทางติดตามบิลลี่กลับาสู่ครอบครัว ระดมแลกเปลี่ยนแนวคิด “ป่าคือชีวิต… ชีวิตที่สูญหาย (กะเหรี่ยงต้นน้ำเพชร) บนเส้นทางการจัดการทรัพยากรของรัฐ” ชี้แก่งกระจานเป็นพื้นที่ขัดแย้งรุนแรงซ้ำซาก
วันที่ (23 เมษายน 2557 ) ที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการเสวนา เรื่อง ป่าคือชีวิต… ชีวิตที่สูญหาย (กะเหรี่ยงต้นน้ำเพชร) บนเส้นทางการจัดการทรัพยากรของรัฐ” ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ รองประธานคณะอนุกรรมการด้านที่ดินและป่า ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
พะตีชัยประเสริฐ โพคะ เครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ อ.ไพสิฐ พานิชกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ดำเนินการเสวนาโดย ดร.มาลี สิทธิเกรียงไกร ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา
ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ รองประธานคณะอนุกรรมการด้านที่ดินและป่า ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่ากรณีบิลลี่มีแนวโน้มที่เชื่อว่าเป็นเหตุการณ์ไม่ปกติ เพราะมีเหตุการณ์หลายอย่างประกอบ ประเด็นแรก บิลลี่เป็นคนที่ช่วยเก็บข้อมูลอาจารย์ทุกคนที่เข้าไปในพื้นที่ เป็นคนมีความรู้ความเข้าใจปัญหาของชาวบ้านและประเด็นที่นักวิจัยตั้งไว้เป็นอย่างดี เขาเป็นผู้นำที่เป็นคนหนุ่มที่มีจิตสาธารณะ เวลาเกิดกรณีใดที่เป็นปัญหาเขาจะเป็นปากเป็นเสียงตลอด และมีกรณีศาลปกครองที่จะพิจารณาในกลางเดือนพฤษภาคม นี้ บิลลี่เป็นคนเตรียมหลักฐานข้อมูล และกรณีถวายฎีกาขอความเป็นธรรม โดยรวมแล้ว การหายตัวไป 6 วัน ถือว่าไม่ปกติ และมีเหตุแวดล้อมที่น่าจะเชื่อได้ว่าเป็นประเด็นของชาวบ้านอยู่ด้วย
ตนเข้าไปพื้นที่นี้เมื่อปี 2521 เพื่อสำรวจชุมชน พบข้อมูลชาวกะเหรี่ยงโป่งลึก บางกลอยบนมาแล้วว่าอยู่มาหลายชั่วคน ดังนั้นคนกะเหรี่ยงเชื่อสายกะเหรี่ยง ไม่ได้คนอพยพมาจากนอกประเทศ แต่มีตนมาจากสวนผึ้งบ้างก็เป็นธรรมดาของพี่น้องที่ไปมาหาสู่กัน ดังนั้นประเด็นการอพยพชาวบ้านลงมาอยู่ด้านล่างเป็นเรื่องนโยบายของรัฐที่ใช้อำนาจเข้าครอบครองโดยใช้กฏหมายเป็นเครื่องมือ
ในทางปฏิบัติการดำเนินการเช่นนี้ มีหลักการสำคัญคือจะต้องไม่ไล่รื้อคนที่มีหลักฐานว่ามาอยู่ก่อน แต่ปี 35-36 มีการเตรียมการและอพยพลงมาในปี 2539 ซึ่งเกิดขึ้นทั่วประเทศ แต่พื้นที่เพชรบุรีสำคัญที่เป็นต้นน้ำเพชร เสียดายที่การอพยพคนไทยเชื่อสายกะเหรี่ยงครั้งนั้น ขาดการปรึกษาหารือชาวบ้านหรือหน่วยงานของรัฐเองด้านวัฒนธรรม ทำให้เกิดการตัดสินใจอพยพ และมีปรากฏการณ์ในพื้นที่คือ เมื่ออพยพลงมาแล้วไม่ได้จัดสรรที่อาศัยให้เพียงพอ เช่นให้ 3-5 ไร่ ที่ขาดน้ำ ที่เป็นหิน ซึ่งต่อให้มีที่ดินก็ทำกินไม่ได้ ทำให้ต้องออกไปรับจ้าง เป็นเช่นนี้ 16-17 ปีที่ชาวบ้านทนทุกข์ทรมาณ แต่มีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งคือปู้คออี้และเครือญาติไม่ยอมอพยพ เชื่อมั่นในจารีตประเพณี ดำรงชีวิตอยู่บนพื้นที่นั้นอยู่ สิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นว่าอยู่ในพื้นที่โดยรักษาดูแลคือความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำเพชรมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตรงข้ามกับปัญหาจากพื้นที่ด้านล่างที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว สิ่งเหล่านี้สังคมไม่ได้รับรู้เรื่องราวเหล่านี้
ต่อมามีนโยบายการท่องเที่ยวเข้ามา ส่วนหนึ่งพื้นที่แก่งกระจานเป็นเป้าหมายของการส่งเสริมการท่องเที่ยว และคนไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงที่นั่นก็ถูกมองว่าเป็นปัญหาอุปสรรค ดังนั้นเรื่องผลประโยชน์ของราชการและเอกชนจึงเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้นโยบายผลักไสคนออกจากพื้นที่เข้มข้นและเอาประเด็นการทำไร่หมุนเวียนของชาวบ้านมาเป็นประเด็น ล่าสัตว์ ปลุกพืชเสพคิด ค้าอาวุธ เป็นที่ซ่องสุมอาวุธ จนตกเป็นจำเลยของสังคม คณะอนุกรรมการสิทธิลงพื้นที่ไม่เห็นร่องรอยการดำเนินการสิ่งเหล่านี้นอกจากการมีชีวิตหากินในชีวิตประจำวันของชาวบ้าน ดังนั้นประเด็นอพยพและการชิงพื้นที่เอามาพัฒนาด้านเศรษฐกิจทำให้ที่นี่เป็นเป้าหมาย
กรณีของบิลลี่เป็นเขาเป็นตัวเชื่อมสำคัญในคดีศาลปกครอง การร้องเรียน การตรวจสอบและการละเมิดสิทธิในพื้นที่ เห็นว่าอาจเป็นเหตุให้เกิดปัญหากับตัวเขา อย่างไรก็ตามตนคิดว่า เมื่อเกิดเรื่องนี้
1.หัวหน้าอุทยานและอธิบดีกรมอุทยานฯ รับผิดชอบโดยระดมสรรพกำลังค้นหาให้ได้ และแจ้งความคืบหน้าให้สังคมรับทราบต่อเนื่อง
2.สำนักงานตำรวจแห่งชาติเข้ามาเร่งรัดดูแลสืบสวนคดีให้ได้ข้อเท็จจริง
3.ด้านการเมือง เพราะ เรื่องนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรงมาก เพราะย้อนหลังไป 5 ปีมีการเผากระต๊อบ การไล่ล่า การห้ามทำไร่ การดักจับกุม การข่มขู่ และการทำร้ายครูที่เป็นคนให้คำแนะนำชาวบ้านเนื่องจากพฤติกรรมการบริหารจัดการอุทยานในพื้นที่เป็นพฤติกรรมที่รุนแรง จึงเรียกร้องให้มีการสอบสวนกรณีนี้ เพราะเป็นการละเมิดสิทธิประชาชน ชุมชน และการไร้มนุษยธรรม
ดร.เพิ่มศักดิ์ กล่าวถึงกระบวนการยุติธรรมว่า คนที่เข้าไปในพื้นที่แก่งกระจานจะมีประสบการณ์โดนข่มขู่ นักวิจัยโดนข่มขู่ ชาวบ้านที่ให้ข้อมูลก็โดนข่มขู่ คณะกรรมการสิทธิ์โดนข่มขู่ บรรยากาศในพื้นที่แก่งกระจานเป็นเช่นนี้ ถ้าบรรยากาศในพื้นที่เป็นเช่นนี้ยากที่จะเข้าถึงความจริง ข้อเรียกร้องของตนคือ นับจากนี้ 3 วัน ถ้าเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ยังไม่สามารถนำบิลลี่กลับเข้ามาได้ น่าจะต้องพิจารณาเปลี่ยนตัวเจ้าหน้าที่เพื่อเปิดโอกาสให้คนอื่นทำหน้าที่ และเปิดโอกาสให้คนอื่นเข้าถึงความจริงโดยไม่มีอุปสรรค และขอเรียกร้องให้มีความคุ้มครองความปลอดภัยสิทธิเสรีภาพของชุมชนในการเสนอข้อมูลเพื่อคุ้มครองสิทธิของเขา
ดร.เพิ่มศักดิ์ กล่าวด้วยว่าการได้รับรู้อย่างกวางขวาง ครูทัศกมล โอบอ้อม ที่เคยปกป้องกะเหรี่ยงแก่งกระจานถูกฆาตกรรม ก่อนเหตุการณ์ครู ก็เกิดเหตุการณ์เผากระต๊อบ 37 หลัง จับคนทำไร่ ก่อนหน้านั้นก็อพยพคนลงมา มีเหตุการณ์เครื่องบินตก 3 ลำซ้อน ความเข้าใจของคนในสังคมพื้นที่แก่งกระจานมีทั้งวีรบุรุษ และชาวบ้านถูกกระทำด้วยความรุนแรง ดังนั้นไม่ใช่กรณีของบิลลี่อย่างเกียว แต่เป็นกรณีที่นำไปสู่การยกระดับการต่อสู้ของชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงและชุมชนที่ถูกประกาศอุทยานทับที่ ถ้าการต่อสู้ของชาวบ้านแก่งกระจานได้ผล อุทยานแห่งชาติจะถูกเพิกถอน เพราะโดยหลักการอุทยานแห่งชาติจะประกาศไม่ได้ถ้าเป็นพื้นที่ที่ชุมชนอยู่ กรณีนี้จะไม่เกิดถ้ารัฐไม่ประกาศเป็นอุทยาน แต่ประกาศเป็นประเภทที่ 5 IUCN พืนที่ที่จัดการป่าอย่างยั่งยืนโดยชุมชน ซึ่งเจตนารมณ์เหมือนกัน ดังนั้นที่นี่กลัดกระดุมผิดตั้งแต่เม็ดแรก จึงเกิดกรณีบิลลี่และไม่หยุดแค่นี้
อ.ไพสิฐ พานิชกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า การทำงานด้านสิทธิชุมชนพัฒนาก้าวหน้าไปได้เร็วหากเจ้าหน้าที่มีทัศนเปิดยอมรับศักยภาพของชุมชน เพราะมีรูปธรรมของการจัดการร่วมกันอยู่ แต่กรณีแก่งกระจานเป็นตัวอย่างของระบบการปรับตัวของรัฐที่ทำงานร่วมในพื้นที่ว่าเป็นไปอย่างไม่ราบรื่น ซึ่งต้องมีการทบทวนการทำงาน ที่ผ่านมากระบวนการทำงานด้านสิทธิชุมชน ยุคแรกเริ่มคนในพื้นที่ราบก็เจอสภาพปัญหาคล้ายกัน กรณีของบิลลี่ยังไม่กล้าจะยืนยันว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจากอะไร เขามีชีวิตอยู่หรือไม่ เป็นสิ่งที่เราตั้งอยู่บนความคิดที่มีความหวังที่จะรอให้บิลลี่กลับมา แต่ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา การสู้ในกรณีสิทธิชุมชนมีกรณีศึกษา และด้านบวกมากมายต่อแนวทางการจัดการทรัพยากร ซึ่งเป็นสิ่งที่ได้รับการยืนยันทั่วโลกว่า หน่วยของชุมชนเท่านั้นที่จะช่วยให้การจัดการทรัพยการอยู่ได้
หากมองในมิติของกฎหมาย กล่าวได้ว่าคนที่ใกล้ชิดกับเหตุการณ์คือหัวหน้าอุทยานที่ออกมายืนยันว่าได้คุมตัวบิลลี่ไป อาจต้องมีคำตอบที่ชัดเจนมากกว่านี้ เพราะมีกฎหมายอุทยานให้อำนาจตามกลไกได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้สิ่งที่กฎหมายกำหนด ซึ่งต้นสังกัดคือกรมอุทยานฯ ต้องออกมาชี้แจงด้วย และระดมคนติดตามค้นหา ขณะที่กลุ่มที่ติดตามด้านสิทธิชุมชนจะเข้ามาร่วมกันช่วยเหลือกรณีนี้ได้อย่างไร นอกจากนั้นยังมีช่องทางด้านกฎหมาย เช่นการยื่นขอศาลออกหมายเรียกเพื่อให้เกิดการสอบสวน เป็นการให้กระบวนการยุติธรรมในชั้นศาลเข้าไปติดตาม นอกจากนั้นอาจใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่นการติดตามทางโทรศัพท์ว่าจุดสุดท้ายที่บิลลี่อยู่คือที่ใด
พะตีชัยประเสริฐ โพคะ เครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ พ่อหลวงบ้านหินลาดใน อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ตนไม่คิดว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นกับคนที่ดูแลป่าให้กับอุทยาน ในปีนี้มีผู้บาดเจ็บจากการที่ดูแลป่าหลายอย่าง เช่นชาวบ้านเข้าไปดับไฟป่าแล้วบาดเจ็บ ไม่มีใครมาดูแล ทั้งที่การดูแลป่านั้น ชาวบ้านไม่ได้มีค่าตอบแทน มีแต่จิตใจที่หวงแหนทรัพยากร กรณีของบิลลี่ สะท้อนให้เห็นว่าการใช้อำนาจของรัฐ ขณะที่คนดูแลป่าไม่มีหลักประกันอะไร เมื่อมีการจับตัวบิลลี่ไปโดยเจ้าหน้าที่รัฐและจากนั้นปล่อยตัวและหายตัวไปนั้น เป็นไปได้ยาก คนปกาเกอญอเชื่อว่า อะไรที่หายไปกับมือเราแสดงว่าเราจงใจให้หาย ขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองบิลลี่
นายชำนาญ จันทร์เรือง รองประธานแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล เรื่องนี้สะท้อนสวัสดิภาพนักสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะกรณีที่เกี่ยวข้องกับรัฐ แอมนาสตี้เรียกร้องให้ติดตามเรื่องนี้อย่าว รวดเร็ว รอบด้าน อิสระ และยุติธรรม การสูญหายบุคคลเป็นเรื่องละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง รัฐไม่ควรยอมให้เกิดขึ้นควรเร่งดำเนินการ ไทยเคยลงนามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.2549 มีผลบังคับใช้เมื่อ 23 ธ.ค.2553 แต่ยังไม่ได้ให้สัตยาบรรณ ซึ่ง 10 ปีที่ผ่านมา ล้วนแล้วแต่เกิดผลกระทบจากนโยบายของรัฐ ภาคใต้ ปราบยาเสพติด การปราบปรามทางการเมือง และปัจจุบันก็มีการร้องเรียนจากการสลายการชุมนุม ข้อเรียกร้องคือเจ้าหน้าที่รัฐต้องสอบสวนและขอให้ประเทศลงนามสัตยาบรรณอนุสัญญาฯ ดังกล่าว
ตัวแทนกรรมการประสานด้านสิทธิมนุษยชน สภาคริสตจักรภาคชนเผ่า หลังจากการอพยพชาวบ้านบางกลอยลงมาได้ไปเยี่ยมที่นั่น พบกว่าการอพยพลงมาภาครัฐไม่ได้จัดเตรียมพื้นที่ให้ ชาวบ้านทำไร่ทำกินไม่ได้ ต้องไปขายแรงงานภายนอก สภาพความเป็นอยู่แร้นแค้นทั้งเด็กและคนชรา ต่อมามีโครงการปิดทองหลังพระเข้าไปให้ดำเนินการนาขั้นบันได แต่ทำไม่ได้เพราะไม่มีน้ำ พื้นที่นี้ถูกจำกัดหลายอย่าง การที่ขัดขวางไม่ให้แกนนำดำเนินการก็หลายวิธี ที่ผ่านมาไม่ใช่บิลลี่คนเดียวที่ถูกจับตา เหตุการณ์นี้เกรงจะไม่จบแค่บิลลี่ จะมีกรณีต่อไป ซึ่งเป็นสิ่งที่กระทบกระเทือนจิตใจของพวกเรา จะมีวิธีการยุติเหตุการณ์แบบนี้ได้อย่างไร
ตัวแทนปกาเกอะญอจาก อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ บอกว่า คนทั้งคนจะหายไปง่ายๆ ได้อย่างไร โดยเฉพาะคนที่กำลังเรียกร้องสิทธิ คนอย่างเราเห็นว่าผิดปกติ แต่คนทำสิ่งเหล่านี้คิดว่าเป็นสิ่งไม่ผิดปกติหรือไม่ ตนเคยได้แลกเปลี่ยกับบิลลี่ครั้งล่าสุด เขาบอกว่าสถานการณ์ในพื้นที่ดีขึ้นก็ดีใจกับเขา และเห็นเขาทำหนังสั้นเพื่อบอกเล่าเรื่องจากบอกปลอย รู้สึกภูมิใจเขามาก แม้เขาไม่มีโอกาสแต่เขายังพยายามทำ
ตัวแทนชาวปกาเกอะญอบอกว่า ตนเองพบว่าหัวหน้าอุทยานหลายแห่งพยายามเรียนรู้กับชุมชน และปรับตัวได้ แต่ที่แก่งกระจานพบเห็นว่าเกิดปัญหากับชุมชนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากกรณีมีการย้ายมาในพื้นที่อื่น ผู้นำในชุมชนอาจจะต้องขึ้นทะเบียนเผื่อสูญหาย
ตัวแทนปกาเกอะญอจาก จ.ลำปาง กล่าวว่า ในพื้นที่เกิดความรุนแรงในพื้นที่เช่นกัน ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของบิลลี่ โดยเฉพาะภรรยาบิลลี่ที่ต้องดูแลลูกถึง 5 คน
จากนั้นนายณัฐพงษ์ ซ้งคำ ตัวแทนสมาพันธุ์กะเหรี่ยงสยาม มีข้อเรียนร้องให้รัฐดำเนินการคือ
1.ขอให้รัฐบาลเห็นความสำคัญและคุณค่าความเป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกันของนายบิลลี่ และดำเนินการอย่างเร่งด่วนทุกวิถีทางในการนำตัวนายบิลลี่กลับมาสู่ครอบครัวและชุมชนอย่างปลอดภัย
2.ขอให้นายกรัฐมนตรี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และผู้ว่าราชการจังหวัด สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดทุกแห่งที่เกี่ยวข้องในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและพื้นที่ใกล้เคียงได้ดำเนินการระดมกำลังเจ้าหน้าที่และเครื่องมืออุปกรณ์ในการค้นหาตัวบิลลี่และนำตัวนายบิลลี่กลับคืนสู่ครอบครัวอย่างปลอดภัยโดยเร็วที่สุด
3.ขอให้รัฐบาลคุ้มครองแกนนำชุมชน ครอบครัว และสมาชิกในชุมชนกะเหรี่ยงโป่งลึก บางกลอยให้มีความปลอดภัยและปรากศจากการคุกคามโดยอำนาจที่ไม่เป็นธรรม ในช่วงสถานการณ์ล่อแหลมและเปราะบางนี้ด้วย
และช่วงท้าย ผู้อาวุโสปกาแกอะญอ ได้นำประกอบพิธี พิธี “คเก๊ ต่า เล่อ พอละจี ด๊อ อ๊ะดุโพ เทอโพ อ๊ะ กก่อ”เพื่อขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองพอละจีและครอบครัว