ทุนไทยรุกทวาย: ชีวิต สิ่งแวดล้อม และอนาคตการอยู่ร่วมกัน

ทุนไทยรุกทวาย: ชีวิต สิ่งแวดล้อม และอนาคตการอยู่ร่วมกัน

จากความเคลื่อนไหวของประชาชนทวาย “เพื่อนบ้าน” ที่เดินทางมาเดินสายคุยกับคนไทย ว่าด้วยเรื่องผลกระทบเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย โครงการร่วมทุนไทย – เมียนมา ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สิ่งที่พวกเขาต้องเผชิญอาจไม่ได้จำกัดวงผลกระทบเพียงในขอบเขตประเทศ

.

“ทวาย” เมืองกำลังโตทางตอนใต้ของเมียนมา

ทวายมีทั้งพื้นที่ติดทะเลอันดามันที่อุดมไปด้วยสัตว์ทะเล และพื้นที่ติดเชื่อมกับเทือกตะนาวศรี มีแม่น้ำตะนาวศรีไหลผ่านสร้างความชุมชื่น

เวลานี้ทวายกำลังจะเปลี่ยนไป เพราะกลายเป็นพื้นที่เป้าหมายก่อสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ บนพื้นที่ชายฝั่งขนาด 250 ตารางกิโลเมตรหรือประมาณ 2 แสนไร่ มีขนาดพื้นที่ใหญ่กว่านิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดของไทยเกือบ 10 เท่า

แม้ว่าโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษ ภายใต้การร่วมทุนของไทย เมียนมา ณี่ปุ่น จะหยุดชะงักเป็นระยะจากปัญหาความมั่นของแต่ละประเทศ แต่ผ่านมา 4 รัฐบาลไทย ทวายยังคงเป็นพื้นที่เนื้อหอมเป้าหมายของการค้าการลงทุนในภูมิภาค

ทั้งนี้ ส่วนที่สำคัญอันดับต้น ๆ ก่อนพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษที่ว่าจะเกิด คือการสร้างถนน road link เชื่อมจากไทย-เมียนมา ตามแผนโครงการถนนจะเริ่มต้นที่หลักกิโลเมตรที่ 0 มาที่ด่านพุน้ำร้อน อ.สังขละบุรี ผ่านออกมาที่บางส่วนของ จ.กาญจนบุรี วิ่งยางต่อมาที่แหลมฉบัง และนิคมอุตสาหกรรมามาบตาพุด จ.ระยอง

โครงการก่อสร้างถนนเงียบไปนานหลายปี แต่ล่าสุดรัฐบาลไทยอนุมัติเงินทุนผ่านสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) เรียกสั้นๆ ว่า NEDA ให้รัฐบาลเมียนมากว่า 4.5 พันล้านบาท เพื่อสำรวจและดำเนินการสร้างต่อ สร้างความกังวลใจเรื่องผลกระทบให้ชาวทวายและชาวบ้านที่ถูกเวรคืนที่ดินในกาญจนบุรี

 

“คนทวาย” เดินสายคุยกับ “คนไทย”

ล่าสุด มีการรวมตัวกันของชาวบ้าน 8 หมู่บ้าน และภาคประชาสังคมจากทวายเดินทางไกลราว 400 กม. มาที่นี่ กรุงเทพมหานคร เพื่อมายื่นหนังสือทวงถามความชัดเจนและความรับผิดชอบต่อหน่วยงานในไทย ปักหมุดกันมาอย่างต่อเนื่องโดยคุณ Himalayan

เริ่มจาก 22 ส.ค. 2562 พวกเขาไปยื่นหนังสือที่ NEDA ซึ่งเป็นหน่วยงานที่สนับสนุนเงินกู้ในโครงการฯ ให้เปิดเผยข้อมูล โดยคำนึงถึงความโปร่งใสในการดำเนินโครงการ รวมทั้งการชดเชยเยียวยาและฟื้นฟูความเสียหายการดำเนินโครงการก่อนหน้านี้ด้วยความเป็นธรรม

คลิกอ่าน : https://www.csitereport.com/#!/newsfeed?id=0000007749

วันที่ 23 ส.ค. 2562 ได้เดินทางไป แลกเปลี่ยนและให้ข้อมูลต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยข้อเสนอของชาวบ้านคือขอให้มีการพัฒนากลไกให้มีการดำเนินโครงการอย่างเหมาะสม และสำคัญที่สุดคือต้องมีส่วนร่วมจากประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง ขณะที่กรรมการสิทธิเองได้มีการชี้แจงว่าอยู่ระหว่างการจัดทำแผนปฏิบัติการธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ตามหลักการ UNGP ของสหประชาชาติ เพื่อนำไปใช้ปฏิบัติ

คลิกอ่าน : https://www.csitereport.com/#!/newsfeed?id=0000007778

วันที่ 24 ส.ค. 2562 พวกเขาได้เข้าร่วมในเวทีสาธารณะ“ประเทศไทยกับโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย: ถนนสู่กิโลเมตรที่ศูนย์ (เปล่า?) เพื่อนำเสนอสถานการณ์ในพื้นที่และความคิดเห็นของพวกเขาร่วมกับองค์กรภาคประชาสังคมที่เฝ้าจับตาผลกระทบจากโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย

คลิกอ่าน : https://www.csitereport.com/#!/newsfeed?id=0000007764

วันที่ 25 ส.ค. 2562 ชาวบ้านทวายเดินทางไปที่ จ.ระยอง พวกเขาบอกว่า เป็นการเดินทางไปดูร่องรอยหลังเกิดนิคมอุตสาหกรรม

คลิกอ่าน : https://www.csitereport.com/#!/newsfeed?id=0000007780

วันที่ 26 ส.ค. 2562 ชาวบ้านทวาย เข้าพบผู้แทนกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม และกองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ยื่นหนังสือร้องเรียน พร้อมเสนอแนะให้มีการแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการลงทุนของผู้ลงทุนสัญชาติไทยในโครงการทวาย

คลิกอ่าน : https://www.csitereport.com/#!/newsfeed?id=0000007810

ระยองวันนี้… ใต้เงานิคมอุตสาหกรรม

37 ปี หลังนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2525 คนระยองเผชิญปัญหาอะไรบ้าง อนนท์ธวัส บุตรอินทร์ ทีมงานรายการ backpack journalist  ลงพื้นที่หาคำตอบ พูดคุยกับชาวประมงและนักเคลื่อนไหว จ.ระยอง

ระยองวันนี้ใต้เงานิคมอุตสาหกรรม

37 ปี หลังเกิดนิคมอุตสาหกรรม ระยองเผชิญปัญหาอะไรบ้าง คุณอนนท์ธวัส บุตรอินทร์ ทีมงานรายการ backpack journalist ลงพื้นที่หาคำตอบ พูดคุยกับชาวประมงและนักเคลื่อนไหว จ.ระยองค่ะ#CSite #ข่าววันใหม่ #ThaiPBS

โพสต์โดย นักข่าวพลเมือง (ThaiPBS) เมื่อ วันอังคารที่ 27 สิงหาคม 2019

1 ชั่วอายุคนการต่อสู้สำหรับคนพื้นถิ่นชาวระยองก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงผลกระทบจากอุตสาหกรรมที่เกิด นั้นยิ่งทำให้คนทวายกังวลว่า การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและการตัดถนนผ่านป่าเชื่อมการค้า จะทำให้ความสงบสุขและความสมบูรณ์ของทวาย กำลังจะกลายเป็นอดีต

อู เย อ่อง ชาวบ้านกะเลจี ประเทศเมียนมา กล่าวว่า ไม่ได้ต้องการขวางการลงทุนของรัฐบาลไทยและคนไทย แต่อยากเรียกร้องว่าถ้าจะมาลงทุนก็ขอให้ระมัดระวัง อย่ามาทำลายวิถีชีวิต วัฒนธรรมของคนในชุมชน มันจะเป็นเรื่องน่าเศร้าหากการพัฒนามาเพื่อทำลายวิถีชีวิตพวกเขา

“ถ้าในทุกการพัฒนาต้องมีคนเสียสละ แต่เราคือคนที่ต้องเสีย เราจึงต้องการมีส่วนร่วมรับรู้ ร่วมในการตัดสินใจ” อู เย อ่อง กล่าว

ไม่ใช่ผลกระทบกับคนและสิ่งแวดล้อม สัตว์ป่าในแทบเทือกเขาตะนาวศรีก็กำลังเจอความเสี่ยงจากทุนของไทยผลักดันให้สร้างถนนมุ่งตรงสู่เมียนมา

 

“คน-สัตว์-ป่า” ชีวิตท่ามกลางความเสี่ยง

เทือกเขาทวาย – ตะนาวศรี พื้นที่กว่า 179,896 ตารางกิโลเมตร หรือมีขนาดเทียบเท่ากับประเทศกัมพูชา เป็นระบบนิเวศหนึ่งเดียวกันที่ครอบคลุมแนวชายแดนระหว่างไทยและเมียนมา

ในประเทศไทยพื้นที่ป่าบริเวณนี้คือเขตป่าตะวันตกที่ประกอบไปด้วยเขตค้มครองสัตว์ป่า 19 แห่ง แบ่งเป็นอุทยานแห่งชาติ 12 แห่ง และเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าอีก 7 แห่ง เชื่อมถึงกลุ่มป่าแก่งกระจาน

ที่นี่นับเป็นถิ่นอาศัยของสัตว์ป่าประเภทคีย์สโตน คือสิ่งมีชีวิตที่มีอิทธิพลต่อสภาวะแวดล้อมที่อาศัยอยู่หลายชนิดโดยเฉพาะเสือโคร่ง และช้างเอเชีย ซึ่งสัตว์เหล่านี้ต้องการถิ่นที่อยู่บริเวณกว้าง การตัดถนนจะทำให้เส้นทางเชื่อมผืนป่าให้สัตว์ป่าข้ามถิ่นฐานถูกตัดตอนไปด้วย

สัตว์ป่าทั้งหลายเดินทางข้ามเส้นแบ่งเขตแดนไปมา โดยที่พวกมันไม่มีพาสปอร์ต ไม่รู้ว่าเขตแดนเป็นของไทยหรือพม่า ดังนั้นหากสัตว์ป่าไม่ได้รับการคุ้มครองในฝั่งพม่า ก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะกระทบต่อความหลากหลายทางชีวิภาพในฝั่งไทยด้วย

องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ระบุว่า แนวป่าทวาย-ตะนาวศรี เป็นหนึ่งในพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่สำคัญ 1 ใน 5 แห่งของโลก เพราะป่าชื้นเขตร้อนแห่งนี้ยังคงรักษาความสมบูรณ์ของสภาพแวดล้อมและเป็นป่าผลัดใบขนาดใหญ่ที่ยังคงเหลืออยู่ในภูมิภาคนี้ โดยมากกว่า 83% ของพื้นที่ยังคงมีสภาพเป็นป่า

เมื่อผืนป่าถูกตัดตอนด้วยถนนทวาย จะเกิดการกระจัดกระจายของความหลากหลายทางพันธุกรรมของสัตว์ป่า ซึ่งจะส่งผลต่อความสามารถในการอยู่รอดของประชากรสัตว์ป่าบริเวณนี้ในระยะยาว

และนอกจากถนนทวายสายหลักแล้ว ถนนสายย่อยๆ ที่ตามมาจะตัดผ่านเข้าไปในป่าลึกยิ่งขึ้น คาดได้ว่าจะมีความต้องการเนื้อสัตว์ป่าเพิ่มขึ้น ซึ่งก็จะตามมาด้วยการลักลอบล่าสัตว์เพิ่มขึ้นด้วย

เรแกน ไฟโรจน์มหากิจ องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยและพื้นที่บริเวณชายแดนด้านนี้ เป็นปราการที่เข้มแข็งด่านสุดท้ายในแผ่นดินใหญ่ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สำหรับประชากรเสือโคร่ง

“หากการสร้างถนนทวายส่งผลลบต่อพื้นที่นี้ ประเทศไทยจะสูญเสีย จริง ๆ แล้วจะถือเป็นความสูญเสียระดับโลก ดังนั้นคนไทยจึงต้องใส่ใจให้มากต่อการปกป้องสิ่งแวดล้อมตลอดแนวถนนนี้ เพราะมันจะกระทบสัตว์ป่าและระบบนิเวศของประเทศไทยด้วย” เรแกนกล่าว

การเดินทางข้ามพรมแดนของทุนไทยคราวนี้ จึงเดิมพันและเสี่ยงต่อทั้งคนไทย คนทวาย สัตว์ป่า และธรรมชาติ

 

แนะทุนไทยใช้ 3P ดูแลก่อนต้องมาแก้ทีหลัง 

นฤมล ทับจุมพล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ทุนไทยต้องคำนึงถึงใน 3 เรื่อง เรื่องที่ 1 คือในแง่ของคน คนที่อยู่ฝั่งโน้น เราอาจไม่ต้องพูดศัพท์เรื่องสิทธิมนุษยชนก็ได้ แต่เวลาที่ไปลงทุนก็ต้องคำนึงถึงคุณภาพชีวิต วิถีชีวิตของคนในพื้นที่ที่ไปลงทุนด้วย 2.ต้องคำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม มันไม่มีประโยชน์ที่จะพูดเรืองการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในบ้านเรา แล้วไปทำลายสิ่งแวดล้อมในประเทศเพื่อนบ้าน และ 3.เสนอคำว่า 3P คือ Profit (ผลกำไร) People (คน) และ Planet (ความสัมพันธ์ของสิ่งแวดล้อม)

ตอนนี้เราเห็นชัดว่าทุนไทยไปลงทุนต่างประเทศ พูดถึง Profit (ผลกำไร) ก็จริง แต่ก็ต้องคำนึงถึง People (คน) และต้องไม่ใช้เฉพาะคนไทยอย่างเดียว ต้องข้ามพรมแดน และ Planet คือต้องนึกถึงสิ่งแวดล้อม กรณีทวายนี้ชัดเจนเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องสัตว์ป่า

“เราอยากเสนอแก่งกระจานเป็นมรดกโลก แต่คุณจะไปทำลายป่าไม้ประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ตรงข้ามแก่งกระจาน มันไม่สมเหตุสมผล ดังนั้นต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ด้วย เมื่อโครงการเพิ่งเริ่มต้นออกแบบ มันมีโอกาสที่จะป้องกันและแก้ไขปัญหาได้ดีกว่า ต้นทุนอาจเพิ่มขึ้น แต่ดีกว่าการทำแล้วต้องไปแก้ปัญหาทีหลัง มันไม่คุ้ม” นฤมลกล่าว

สำหรับชาวทวายแล้ว พวกเขาบอกว่า เขาไม่ได้ขัดขวางการพัฒนา แต่ขอตั้งคำถาม รัฐบาลไทย รัฐบาลเมียนมา หรือใครจะรับผิดชอบต่อความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นต่ออนาคตของพวกเขา

 

ขอบคุณภาพ: อนนท์ธวัส บุตรอินทร์ รายการ backpack journalist

 

C – SITE REPORT ทุนไทยรุกทวาย 26 ส.ค. 2562

C-Site report ติดตามสถานการณ์ทางสังคม ผ่านแอปพลิเคชั่น C-site กับความเคลื่อนไหวของประชาชนทวาย ที่เดินทางกว่า 400 กม.มาเดินสายคุยกับคนไทย ว่าด้วยเรื่องผลกระทบเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย โครงการร่วมทุนไทย – ญี่ปุ่น – เมียนมา ปักหมุดกันมาอย่างต่อเนื่องโดยคุณ Himalayan.-ชวนไปดูความสวยงามของทวาย พื้นที่เป้าหมายก่อสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ บนชายฝั่งขนาด 250 ตารางกิโลเมตรหรือประมาณ 2 แสนไร่ พื้นที่ใหญ่กว่านิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดของไทยเกือบ 10 เท่า.-เดินทางไปที่ จ.ระยอง กับคุณอนนท์ธวัส บุตรอินทร์ ทีมงานรายการ backpack journalist ดูร่องรอยหลัง 37 ปีการเกิดขึ้นของนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และพูดคุยกับชาวบ้านระยองในสิ่งที่พวกเขาเผชิญ.-คุยผลกระทบ ถนนเชื่อมจากไทย-เมียนมา "road link" จากหลักกิโลเมตรที่ 0 เขตเศรษฐกิจพิเศษทวายมาที่ด่านพุน้ำร้อน จ.กาญจนบุรี วิ่งยาวต่อมาที่แหลมฉบัง และนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ต่อชีวิตคน และความกังวลต่อผืนป่าและสัตว์ป่า.-ปิดท้ายด้วย สถานการณ์ฟ้าฝนในพื้นที่ภาคอีสาน เมื่อวันเสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมา มีฝนตกหนักและน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ซึ่งมีการรายงานสถานการณ์ทั้งจาก จ.นครพนม โดยคุณพัฒนะ พิมพ์แน่น และ จ.ร้อยเอ็ดโดยคุณมานะ เหนือโท

โพสต์โดย นักข่าวพลเมือง (ThaiPBS) เมื่อ วันอาทิตย์ที่ 25 สิงหาคม 2019

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ