ขอบคุณที่หวังดี ‘กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด’ ยันไม่ร่วมเวทีวิชาการ หวั่นเปิดทางเหมืองทองเลย

ขอบคุณที่หวังดี ‘กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด’ ยันไม่ร่วมเวทีวิชาการ หวั่นเปิดทางเหมืองทองเลย

11 มี.ค. 2559 ผู้สื่อข่าวรายงานข้อมูลว่า เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาสิ่งแวดล้อม มีกำหนดจัดการเสวนา “โครงการนำร่องเสวนาวิชาการเรื่องเหมืองทองคำ จ.เลย” ในวันพรุ่งนี้ (12 มี.ค. 2559) โดยส่งจดหมายเชิญตัวแทนชาวบ้านหมู่ 3 และกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน อ.วันสะพุง จ.เลย จำนวน 20 คนเข้าร่วม แต่กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดปฏิเสธที่จะเข้าร่วมเวทีดังกล่าว
 
วิรอน จุริไชยวัฒน์ สมาชิกกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ให้สัมภาษณ์ในระหว่างการเดินทางกลับจาก อ.แม่สอด จ.ตาก ร่วมกับกลุ่มชาวบ้านอีกราว 10 คน ถึงกรณีดังกล่าวว่า ตั้งแต่ต้นกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดปฏิเสธที่จะเข้าร่วมเวทีนี้ เนื่องจากกระชั้นชิดกับกำหนดนัดสืบพยานของศาลจังหวัดแม่สอด ซึ่งชาวบ้านต้องเดินทางไปขึ้นศาล ทำให้ไม่มีเวลาในการเตรียมข้อมูลสำหรับเวทีนี้ นอกจากนี้ในช่วงปลายเดือนชาวบ้านก็ต้องขึ้นศาลเพื่อฟังคำพิพากษาในคดีป้ายซุ้มประตูที่บริษัทเหมืองฟ้องเรียกค่าเสียหายชาวบ้านถึง 50 ล้านบาท
 
“นักวิชาการไม่เข้าใจชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ คิดว่าจะนำเรื่องราวต่างๆ ไปแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้าน แต่ไม่ลงมาถามในพื้นที่ว่าต้องการอะไร หรือมีปัญหาอะไรอย่างแท้จริง” วิรอนกล่าว
 
ต่อการจัดเวทีครั้งนี้ วิรอนตั้งข้อสังเกตว่า การจัดเวทีระบุว่าจะนำปัญหาของชาวบ้านไปแก้ไข และเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แต่ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของ สนช.เองก็ได้เคยมาลงพื้นที่ และชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดก็ได้ยื่นข้อเสนอที่ว่าให้ปิดเหมืองถาวรเพื่อที่จะมีการฟื้นฟูแก่ สนช.ไปแล้ว
 
“พื้นที่หมู่ 3 เป็นที่ตั้งเหมือง รัฐจะให้เหมือนดำเนินการต่อก็เพราะเห็นแก่รายได้ แต่ชุมชนคือผู้ได้รับผลกระทบ หากมีการเปิดเหมืองครั้งนี้ชาวบ้านคงอยู่ไม่ได้แน่นอน ดังนั้นจุดยืนของชาวบ้านคือไม่เอาอีกแล้ว” วิรอนกล่าว
 
วิรอน กล่าวว่า การที่กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เป็นการส่งเสียงแทนชาวบ้าน เพราะชาวบ้านทั่วไปก็มีความกลัว ทั้งอิทธิพลและคดีความต่างๆ หากจะลุกขึ้นมาประท้วงก็อาจโดน พ.ร.บ.ชุมนุม จะพูดว่าไม่เอาก็พูดไม่ได้ และการที่เธอเองลุกขึ้นมาสู้นั้นเพราะคิดว่าจะอยู่กันอย่างไรต่อไป คิดเพื่อลูกหลานในวันข้างหน้า
 
เข้าใจว่านักลงทุนก็ต้องการที่จะทำเหมือง แต่ในการทำเหมืองนั้นเคยคิดถึงคนในพื้นที่บ้างหรือไม่ ชาวบ้านคือคนที่อยู่กับผลกระทบ และที่ผ่านมาก็มีการตรวจสอบผลกระทบมาแล้วหลายครั้ง แต่สุดท้ายก็แก้ปัญหาไม่ได้
 
นอกจากนี้ วิรอน ยังแสดงความกังวลว่าการจัดเวทีในวันที่ 12 นี้ นอกจากไม่อาจช่วยแก้ปัญหาให้ชาวบ้าน ยังอาจเป็นการเปิดช่องให้มีการเปิดเหมืองได้อีกครั้ง
 
“รู้อยู่ว่าทุกคนหวังดี แต่ความหวังดีอาจกลายเป็นปมปัญหาใหม่ของชาวบ้าน” วิรอนให้ความเห็น
 
วิรอน ยังบอกด้วยว่า ปัญหาในพื้นที่ลึกกว่าที่คิด การเชิญฝั่งเหมืองและฝั่งชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดมาเผชิญหากัน ชาวบ้านก็จะพูดแต่เรื่องผลกระทบ กลายเป็นการมาเถียงกันมากกว่า ไม่เกิดประโยชน์อะไร ซ้ำยังจะสร้างความแตกร้าวในเพิ่มมากขึ้นในชุมชน กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดก็อาจกลายเป็นคนที่เอาแต่ค้านท่าเดียว
 
อย่างไรก็ตามหากนักวิชาการอยากรู้ข้อมูล อยากฟังความคิดเห็นของชาวบ้าน ชาวบ้านก็ยินดีต้อนรับ
 
“ฝากให้นักวิชาการต่างๆ สนช. คนที่หวังดีที่จะแก้ปัญหา อยากให้เข้าใจชุมชน ศึกษาก่อนว่าเราต้องการอะไร การที่จะเข้ามาจัดเวทีชาวบ้านเข้าร่วมได้ไหม ขณะนี้เราทำอะไรอยู่ อยากให้เขาเข้าใจเรา” วิรอนกล่าว
 
วิรอน บอกด้วยว่า ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเก็บเกี่ยวถั่วเหลือง เป็นเวลาทำมาหากินของชาวบ้าน หากไม่ต้องไปขึ้นศาลชาวบ้านก็ต้องไปไร่ แต่เรื่องกฎหมาย เรื่องต้องไปศาลเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ชาวบ้านไม่ได้สู้แค่เหมือง แต่ยังต้องสู้คดี ขณะเดียวกันก็ต้องทำมาหากินด้วย
 
“เราวุ่นเรื่องเหมือง เรื่องคดี เราเหนื่อยมาก เราไม่มีเวลาทำมาหากินแล้ว เราไม่ใช่นักลงทุน เราเป็นแค่ชาวบ้าน” วิรอนกล่าว

20161203034501.jpg
 
ทั้งนี้ ตามเอกสารขอเชิญร่วมเสวนาของ เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาสิ่งแวดล้อม ลงวันที่ 4 มี.ค. 2559 ระบุว่า “ตามที่นักวิชาการอิสระจากส่วนกลางได้ประสานงานกับหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดเลย เพื่อขอเดินทางมาจัดงานรับฟังปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการดำเนินการอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองคำ ซึ่งปัจจุบันผู้ประกอบการยังไม่สามารถประกอบการได้ เนื่องจากมีข้อกังวลใจจากประชาชนบางส่วนที่กำลังจะได้รับผลกระทบจากสารพิษ อันนำไปสู่ความขัดแย้งของกลุ่มผู้เห็นด้วยและผู้คัดค้าน” 

“นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากหลากหลายสถาบันการศึกษามีความห่วงใยต่อประเด็นดังกล่าว จึงได้ร่วมกันจัดการเสวนาทางวิชาการในห้วงปลายเดือน มี.ค. 2559 เพื่อจะระดมความคิดเห็นและใช้หลักทางวิชาการ ในการนำเสนอข้อมูลตลอดจนการแสวงหาแนวทางในการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน ในการนำเสนอต่อหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ในอันที่จะช่วยให้การแสวงหาข้อตกลงในระดับนโยบาย เป็นไปอย่างถูกต้อง บริสุทธิ์ ยุติธรรมต่อไป” 

สำหรับนักวิชาการอิสระ ที่เดินทางมาร่วมรับฟังและให้ข้อมูลทางวิชาการ ประกอบด้วย ดร.นพ สัตยาศัย อดีตอาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ กรรมาธิการการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ดร.ภก.พงศ์เทพ สุธีรวุฒิ ผู้อำนวยการสถาบันการจัดการระบบสุขภาพ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ ดร.วิสาข์ สุพรรณไพบูรณ์ ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยนเรศวร

โดยการประชุมในวันที่ 12 มี.ค.นี้ จะจัดในเวลา 13.00-16.00 น. ที่โรงแรมใบบุญแกรนด์ อ.เมือง จ.เลย และผลของการเสวนาจะนำเข้าสู่เวทีการเสวนาในช่วงปลายเดือน มี.ค. 2559 ต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ต่อมาได้มีการส่งเอกสารเชิญอีกครั้งโดยเปลี่ยนสถานที่เป็นวัดศรีสะอาด บ้านห้วยผุก ม.1 ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย และมีหนังสือของนายอำเภอถึงผู้ใหญ่บ้าน 13หมู่บ้าน ให้พาชาวบ้านไปร่วมเวทีที่วัดศรีสะอาด แต่ในช่วงเช้าให้ผู้ใหญ่บ้านร่วมพูดคุยกันก่อนที่โรงแรมใบบุญแกรนด์

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: ‘ไม่ร่วม-ขอเลื่อน’ จม.กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ถึงนายอำเภอ-นักวิชาการอิสระ จัดรับฟังเรื่องเหมืองทองเลย

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ