ขบวนการแรงงานเยอรมัน-ไทย ประวัติศาสตร์ในความเหมือนที่แตกต่าง

ขบวนการแรงงานเยอรมัน-ไทย ประวัติศาสตร์ในความเหมือนที่แตกต่าง

20160709154703.jpg

“แรงงานไม่มีประวัติศาสตร์” นิทรรศการและเวทีเสวนาชื่อชวนตั้งคำถาม ที่ว่าด้วยเรื่องประวัติศาสตร์และความเคลื่อนไหวของขบวนกรแรงงาน จัดโดยมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES) ร่วมกับ มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร มูลนิธิศิลปวัฒนธรรม แห่งกรุงเทพมหานคร วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เปิดงานอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 6 ก.ย. ที่ผ่านมา

ตามโครงการนิทรรศการประวัติศาสตร์แรงงานไทยเยอรมัน ระหว่างวันที่ 6-11 ก.ย. 2559 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เพื่อเผยแพร่ข้อมูล ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของขบวนการแรงงานไทยและเยอรมันสู่สาธารณะ และร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการการส่งเสริมความรู้ประวัติศาสตร์สาธารณะด้านแรงงาน รวมทั้งแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับประเด็นแรงงานร่วมสมัย และนำบทเรียนอาจอดีตมาใช้วิเคราะห์แนวทางสำหรับการพัฒนาในอนาคต

สตีเน่อ คลัพเพอร์ (Ms.Stine Klapper) ผู้อำนวยการมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท ตัวแทนคณะผู้จัดงานกล่าวตอนหนึ่งในการเปิดงานว่า เราเชื่อว่าประวัติศาสตร์ที่ดีทำให้ปัจจุบันดีขึ้นได้ และประวัติศาสตร์สร้างแรงกระตุ้นให้เรานึกถึงการต่อสู้ในอดีต ขบวนการแรงงานทั้งไทยและเยอรมันต่างผ่านช่วงเวลาที่มืดมนและช่วงเวลาแห่งชัยชนะ เราได้เห็นการจ้างงานที่ดีขึ้นในช่วงเวลาการต่อสู้กว่า 150 ปี จนถึงปัจจุบันที่แรงกดดันทางเศรฐกิจมากขึ้น การผสานพลังของผู้ใช้แรงงานจึงเป็นสิ่งสำคัญ และเป็นไปอย่างไร้พรมแดน แต่ไม่ใช่การเอาวิธีการจากประเทศหนึ่งมาใช้อีกประเทศหนึ่ง แต่เป็นการพูดคุยร่วมกัน

สตีเน่อ กล่าวด้วยว่า บทบาทของสหภาพแรงงานต้องก้าวไปไกลกว่าบทบาทในบริษัท ไกลกว่าเรื่องของเงินเดือนหรือสวัสดิการแรงงาน แต่แรงงานต้องมีบทบาทในทางสังคม เช่น เรื่องสันติภาพ เสรีภาพ เธออยากเน้นถึงเรื่องการเรียนรู้อดีต เพื่อใช้ในปัจจุบัน และวางแผนสำหรับอนาคต

20160709154725.jpg

 

ขบวนการแรงงานเยอรมัน : 

20160709154748.jpg

จากก้าวย่างสู่ทุนนิยม ถึงหลังกำแพงเบอร์ลินล่มสลาย

แฟรงค์ ซาค (Mr. Frank Zach) สมาพันธ์แรงงานเยอรมัน (DGB) กล่าวในวงเสวนาประวัติศาสตร์ขบวนการแรงงานเยอรมัน ถึงความเคลื่อนไหวในห้วงเวลากว่า 150 การต่อสู้ของแรงงานเยอรมันว่า ในยุคที่ทุนนิยมเริ่มก่อตัว ชนชั้นแรงงานไม่ได้มีอะไรไปต่อสู้กับชนชั้นนายจ้าง การใช้แรงงานเด็กในช่วงนั้นไม่มีการต่อรอง ไม่มีเรื่องของสิทธิมนุษยชน ไม่เหมือนในทุกวันนี้ ต่อมาจึงเริ่มมีกฎหมายที่พูดถึงเงื่อนไขการจ้างงานในรูปแบบต่างๆ แต่กฎหมายก็ยังไม่เปิดให้ตั้งสมาคมหรือนัดหยุดงาน (strike) ขณะที่แรงงานเองก็เริ่มตระหนักว่าการต่อสู้คือ ‘การรวมตัวต่อรอง’ เพื่อให้มีสภาพการจ้างงานที่ดีขึ้น การรวมกลุ่มครั้งแรกจึงเกิดขึ้นในรูปแบบ สมาคมการศึกษาซึ่งตั้งโดยนักกิจกรรม 

ต่อมาการกดดันโดยทุนนิยมและการเมืองมีมากขึ้น การรวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงานก็มีข้อเรียกร้องมากขึ้น ในปี 1816 แรงงานเรียกร้องสิทธิในการรวมตัว และข้อเรียกร้องแรกๆ ของพวกเขาคือเงินเดือน และสภาพแวดล้อมในการจ้างงาน ขณะนั้นแรงงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอและอุตสาหกรรมโลหะเริ่มเข้มแข็ง เป็นรูปเป็นร่างขึ้นแม้สมาชิกจะยังมีจำนวนน้อย ต่อมาในปี 1870 รัฐบาลมีปฏิกิริยาต่อต้าน โดยการออกกฏหมายต่อต้านสังคมนิยม (ปี 1878) การเคลื่อนไหวของแรงงานเพื่อเรียกร้องสิทธิและสวัสดิการจึงกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่พรรคโซเชียล เดโมแครต (Social Democrats) ถูกกดดันโดยรัฐ เยอรมันก็ได้กลายเป็นรัฐสวัสดิการ และในปี 1886 สมาชิกสหภาพแรงงานได้เพิ่มขึ้นจาก 2 แสนกว่าคน เป็น 2.8 ล้านคน 

แฟรงค์ กล่าวต่อมาถึงเรื่องสิทธิของสหภาพแรงงานและสิทธิแรงงานว่า ในยุคปฏิวัติเยอรมัน (เริ่มต้นสู่การปฏิวัติในปี 1848) เกิดก่อตั้งสมาคมคนงานครั้งแรก ในขณะนั้นฝ่ายซ้ายต้องการปฏิวัติแบบรัสเซีย ส่วนฝ่ายเสรีนิยม (Liberalism) เห็นต่างออกไป ขณะที่สหภาพแรงงานต้องการพัฒนาสิ่งแวดล้อม ความเป็นอยู่ และสิทธิคนงาน (การปฏิวัติเยอรมันจริงเกิดขึ้นปี 1918) 

สหภาพได้มีการต่อรองกับนายจ้าง และการต่อรองทำให้เกิดรัฐธรรมนูญสหพันธรัฐเยอรมันที่รับรองสิทธิเสรีภาพในการชุมนุม แต่สถานภาพของรัฐก็ไม่ได้มั่นคง ต่อมาได้เกิดรัฐประหารในปี 1920 เรียกว่า Kapp Putsch เพื่อล้มล้างสาธารณรัฐไวมาร์ ขบวนการแรงงานได้ออกมาต่อต้านโดยการนัดหยุดงานครั้งใหญ่ ทำให้รัฐประหารพ่ายแพ้ไป และมีรัฐบาลใหม่เกิดขึ้น ในห้วงเวลานั้นสหภาพต้องพิสูจน์ตัวเองว่าสนับสนุนประชาธิปไตยและมีความเข้มแข็งมากพอ 

ราวปี 1920 สหภาพแรงงานเยอรมันมีสมาชิกสูงสุดถึง 8 ล้านคน ถือว่าเป็นจำนวนที่เพิ่มมาแทบไม่น่าเชื่อ แต่หลังจากนั้นได้เกิดปัญหาวิกฤติเศรษกิจ เงินเฟ้อ มีคนตกงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งก็กระทบกับจำนวนสมาชิกของสหภาพแรงงานด้วย และหลังปี 1930 รัฐบาลได้เปลี่ยนนโยบายไปสนับสนุนนายจ้างทำให้สถานะนายจ้างในการเจรจาเข้มแข้งขึ้น จนกระทั่งสู่ยุคฮิตเลอร์ (1933-1945) ความมืดดำก็ได้เข้าปกคลุมเยอรมัน

สหภาพแรงงานเยอรมันไม่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับนาซี สหภาพแรงงานต้องการความเป็นอิสระและชัยชนะในสภาคนงานเป็นการตอบโต้รัฐบาลนาซี ทหารจึงเข้ายึดทำลายสหภาพแรงงาน และจับกุม ทรมานผู้นำแรงงาน นักสหภาพแรงงานที่ต่อต้านนาซีหลายคนต้องจบชีวิตลงในช่วงเวลานี้ 

สหภาพแรงงานถูกปลดปล่อยจากรัฐบาลนาซีหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จากการที่นาซีเยอรมันแพ้สงคราม  ประเทศเยอรมันได้ถูกแบ่งออกเป็น 4 ส่วน ภายใต้การดูแลของประเทศผู้ชนะสงคราม คือ ฝรั่งเศส อังกฤษ สหภาพโซเวียต และสหรัฐอเมริกา ในยุคนั้นเองที่เริ่มมีการแบ่งเยอรมันออกเป็น 2 ส่วน (เยอรมันตะวันออกดูแลโดยสหภาพโซเวียต และเยอรมันตะวันตก ดูแลโดยฝรั่งเศส อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา)

หลังปี 1989 มีความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น เมื่อเยอรมันรวมประเทศ (1990 ทำลายกำแพงเบอร์ลินอย่างเป็นทางการ) เศรฐกิจดีขึ้น ขบวนการแรงงานก็เติบโตขึ้น 

“เมื่อเงื่อนไขทางสังคมการเมืองเปลี่ยน ต้องคิดใหม่ หาคำตอบใหม่ โดยยึดหลักชีวิตที่ดีขึ้น ศักด์ศรีความเป็นมนุษย์ของแรงงานที่ดีขึ้น ปัจจุบัน 8 สหภาพแรงงานของเยอรมัน ตั้งอยู่บนฐานการต่อสู้เพื่อสิทธิพื้นฐานของแรงงาน และเพิ่มคนรุ่นใหม่ๆ เข้ามาในขบวน” แฟรงค์ กล่าวถึงข้อสรุปการต่อสู้ของสหภาพแรงงานในเยอรมัน

สหภาพแรงงานตลอดเวลาคือการต่อสู้ และปรับตัว

สมาพันธ์แรงงานเยอรมันกล่าวว่า การต่อสู้ของขบวนการแรงงานเยอรมันที่ผ่านมาไม่เคยมีสันติกับนายจ้างและนายทุน แรงงานต้องต่อสู้อย่างเข้มแข็งอยู่ตลอดเวลา ส่วนในแบบเรียนของเยอรมันเองก็ไม่เคยมีเรื่องของแรงงาน เพราะระบบการศึกษานั้นก่อตั้งจากชนชั้นนำ แต่เด็กๆ ได้เรียนรู้จากพ่อแม่ จากสังคมรอบตัว 

“ในมหาวิทยาลัยก็ไม่มีพูดถึง แต่เราต้องไปหาเขาเอง มองหาคนที่จะเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ ขณะเดียวกันก็ต้องปกป้องสมาชิกเก่า ซึ่งอาจสูญเสียไปด้วยเหตุผลหลายอย่าง โดยเฉพาะตัวเราเอง”  แฟรงค์ กล่าว

แฟรงค์ บอกด้วยว่า สหภาพแรงงานต้องปรับเปลี่ยนตัวเอง เพื่อทำให้คนรุ่นใหม่เข้ามามากขึ้น และมองหาว่าจะสามารถช่วยอะไรแรงงานได้บ้าง สมาชิกขาดอะไร และมีความรู้หรือสิ่งใหม่ๆ อะไรที่จะให้เขา  

แรงงานข้ามชาติ ข้อท้าทายของสหภาพแรงงาน

ต่อประเด็นคำถามเรื่องแรงงานข้ามชาติ ตัวแทนสมาพันธ์แรงงานเยอรมันกล่าวว่า ที่เยอรมันที่ผ่านมาก็เคยมีปัญหาเรื่องความไม่พอใจต่อการจ้างงานแรงงานข้ามชาติ แต่สหภาพแรงงานเยอรมันพยายามดึงแรงงานข้ามชาติมาเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพ โดยไม่ต้องการให้แรงงานแข่งขันกันเอง

“จากสถานการณ์ล่าสุดเมื่อปีที่แล้ว ที่มีผู้ลี้ภัยจากซีเรียเข้ามาในเยอรมันถึง 8 แสนคน เราก็พยายามให้เขาทำงานได้ในตลาดแรงงาน นั่นคือความท้าทายของสังคมโดยรวม ไม่ใช่แค่รัฐบาล นายจ้าง หรือสหภาพ” แฟรงค์กล่าว เขาบอกด้วยว่าทุกวันนี้มีความพยายามในการดำเนินการเพื่อช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติ แต่ยังไม่ได้เชื่อมประสานกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ มากนัก

“แรงงานเราเป็นพี่น้องกัน ไม่จำเป็นว่าทำอาชีพอะไร เราเป็นหนึ่งเดียวกันคือยืนอยู่ด้วยกัน ต่อสู้ด้วยกัน เพื่อสภาพการจ้างงาน สภาพที่ดีไปด้วยกัน” แฟรงค์กล่าว

ปัจจุบันมีการจ้างงานรูปแบบต่างๆ มากมาย ไม่ว่าออร์แกไนเซอร์ ซับคอนแทรค ทำงานประจำ หรือลูกจ้างชั่วคราว ต่างก็มีความต้องการเหมือนกัน ไม่ว่าต่างชาติหรือชาติเดียวกัน เราต่างก็มีความต้องการในฐานะแรงงานเหมือนกัน

“ข้อท้าทายของสหภาพแรงงานไทย รวมทั้งเยอรมันคือ เราจะรวมคนงานเป็นหนึ่งเดียวกัน และต่อสู้ไปพร้อมๆ กันได้อย่างไร” ตัวแทนจากสมาพันธ์แรงงานเยอรมัน กล่าว

ขบวนการแรงงานไทย : 

20160709154828.jpg

เมื่อแรงงานคือคนอื่น ใครจะเขียนประวัติศาสตร์ให้แรงงาน 

แล ดิลกวิทยรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  กล่าวว่า เมื่อพูดถึงขบวนการแรงงานของยุโรปจะต่างจากขบวนการแรงงานของเอเชีย ขณะที่การต่อสู้ในเยอรมันเป็นการสู้ในระดับเล็กที่สุดคือสภาพการทำงาน ความมั่นคงในการจ้างงาน ไปถึงระดับใหญ่สุดคือระบบสังคมการเมือง มีพันธกิจครบ สำหรับไทยเราถูกบังคับให้เข้าสู่ทุนนิยมในสมัยรัชกาลที่ 4 ก่อนเลิกระบบไพร่ทาส แรงงานรับจ้างรุ่นแรกก็ไม่ใช่คนไทย แต่เป็นคนจีน ที่ถูกเรียกว่ากุลี จับกัง 

“สังคมไทยเราไม่เคยยอมรับว่าแรงงานมีสถานะทางสังคมเท่ากับคนอื่นๆ” อาจารย์จากคณะเศรษฐศาสตร์ระบุ

อาจารย์แลกล่าวว่า แรงงานของไทยเริ่มต้นคือไพร่ พร้อมยกคำสุภาษิตเปรียบเปรยที่ว่า “รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา” ที่สะท้อนว่าคนทำงานหนักคือคนไม่ดี ไม่มีปัญญา เป็นการเหยียดผู้ใช้แรงงาน จากนั้นแรงงานในยุคต่อมาคือคนจีน ไทยเป็นสมาชิกก่อตั้งองค์การสันนิบาตชาติ และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO เมื่อปี พ.ศ. 2462 ซึ่ง ILO ได้ระบุให้ไทยออกกฎหมายคุ้มครองแรงงาน แต่ทางการไทยในขณะนั้นได้ให้เหตุผลว่า “แรงงานไม่ใช่คนไทย ไม่จำเป็นต้องคุ้มครอง” จะเห็นได้ว่าผู้ปกครองที่ออกกฎหมายเห็นแรงงานเป็นคนอื่น

“เราไม่ได้เห็นว่าแรงงานคือพวกเรา ตั้งแต่ยุคศักดินา ยุคเปิดประเทศ จนถึงปัจจุบันแรงงานยังเป็นคนอื่น คนบันทึกประวัติศาสตร์เห็นว่าแรงงานเป็นคนอื่น จึงไม่บันทึกเรื่องของเขา” 

แรงงานในเอเชียส่วนมากเป็นคนอื่นในสังคมนั้นๆ ชนชั้นแรงงานทั้งในสิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ส่วนใหญ่เป็นคนมาจากที่อื่น ตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการปราบปรามการรวมตัวของแรงงาน โดยการบอกว่านั่นคือการคุกคามความมั่นคงของรัฐ ในยุคสงครามเย็น ขบวนแรงงานในไทยมาจากลูกจ้างจีน ถูกบอกว่าเป็นการรวมตัวของคอมมิวนิสต์ ในสมัย ร.4-ร.5 ขบวนการแรงงานรวมตัวกันจะถูกบอกว่าเป็นการกระทำการ “เป็นอั้งยี่” ซึ่งคำนี้ยังคงมีการใช้อยู่ในกฎหมายปัจจุบัน

แรงงานไม่สามารถรวมตัวกันได้เพราะเป็นคนอื่นในสังคมไทย คุณไม่ใช่เจ้าของประเทศ และในปัจจุบันแรงงานข้ามชาติก็ถูกปิดกั้นการรวมตัวโดยใช้กฎหมาย

การเขียนประวัติศาสตร์ไม่ใช่การบันทึกข้อเท็จจริง แต่มันคือการเมืองในตัวมันเอง ใครเป็นพระเอกหรือผู้รายขึ้นอยู่กับใครเป็นคนเขียน และที่ผ่านมาคนเขียนประวัติศาสตร์อยู่ตรงข้ามกับแรงงานเสมอ ตั้งแต่ยุคไพร่ทาสถึงแรงงานที่อพยพมาจากจีนประวัติศาสตร์ก็ไม่ได้บันทึก

“การบันทึกประวัติศาสตร์ของคนข้างล่าง ให้คนยอมรับ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับคนข้างบน หรือผู้ปกครอง แต่ขึ้นอยู่กับการให้คนข้างมากยอมรับ แต่ปัญหาคือคนทั่วไปยอมรับหรือไม่ถึง ‘คนชั้นล่าง’ ‘คนอื่น’ เราเห็นความสำคัญของคนเหล่านี้ไหม” อาจารย์แลกล่าว

 

ทั้งนี้ นิทรรศการและเวทีเสวนา “แรงงานไม่มีประวัติศาสตร์” ยังคงมีการนำเสนอวงเสนาย่อย ๆ ต่อเนื่อง ระหว่างวันที่ 6-11 ก.ย. 2559 ที่ลานหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ชั้น 1 ด้วยหัว ข้อดังนี้

7 กันยายน 2559 เวลา 17.00-19.00 น. เสวนาเรื่อง “ทศนิยมแห่งยุคสมัย: ไทยแลนด์ 4.0 vs แรงงาน 4.0”

ร่วมเสวนาโดย

ศาตราภิชาน แล ดิลกวิทยรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย
คุณเกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร นักศึกษา ป.เอกมหาวิทยาลัยเซราคิวส์
คุณทิวา ยอร์ก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเว็บไซต์ขายดีดอดคอม
คุณเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (รอยืนยัน)
ดร.เนื้อแพร เล็กเฟื่องฟู คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย
ดำเนินรายการโดย คุณอรพิน ลิลิษวิศิษฎ์วงศ์ ไทยพีบีเอส

8 กันยายน 2559 เวลา 17.00-19.00 น. เสวนาเรื่อง “หนังสือพิมพ์ กรรมกร | จากคุ้นเคยกลายเป็นอื่น”

ร่วมเสวนาโดย

คุณศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์
คุณศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา นักวิชาการด้านแรงงาน
คุณภัทระ คำพิทักษ์ อดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ (รอยืนยัน)
ดำเนินรายการโดย ปรเมศวร์ เหล็กเพ็ชร อุปนายกฯ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

9 กันยายน 2559 เวลา 17.00-19.00 น. เสวนาเรื่อง “กลางเมืองไม่ได้มีแค่โปเกม่อน : ซอกหลืบของแรงงานที่ไม่มีใครออกตามหา”

ร่วมเสวนาโดย

คุณภาสกร จำลองราช อดีตผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์มติชนประจำสายแรงงาน
คุณอดิศร เกิดมงคล นักเคลื่อนไหวด้านแรงงานข้ามชาติ
คุณพูลทรัพย์ สวนเมือง ตุลาพันธ์ คนทำงานเรื่องแรงงานนอกระบบ
ดำเนินรายการโดย คุณเอกชัย เอื้อธารพิสิฐ ไทยพีบีเอส

10 กันยายน 2559 เวลา 17.00-19.00 น. เสวนาเรื่อง “มักกะสัน ชักกะเย่อ : พื้นที่ | ประวัติศาสตร์ | การพัฒนาเมือง”

ร่วมเสวนาโดย

คุณสาวิทย์ แก้วหวาน สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย
คุณปริญญา ชูแก้ว อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
คุณอนันตา อินทรอักษร กลุ่ม Big Tree (รอยืนยัน)
ดำเนินรายการโดย ณาตยา แวววีรคุปต์ ไทยพีบีเอส

11 กันยายน 2559 เวลา 17.00-19.00 น. เสวนาเรื่อง “ตั๋วไม่ร้อน ป๊อปคอร์นไม่มี “แรงงาน” อยู่ตรงไหนในภาพยนตร์”

ร่วมเสวนาโดย

คุณโดม สุขวงศ์ ผู้อำนวยการหอภาพยนตร์
คุณประวิทย์ แต่งอักษร นักวิจารณ์ภาพยนตร์
คุณเชวง ไชยวรรณ ผู้กำกับภาพยนตร์สารคดีเรื่อง “ซินมาลิน” รางวัลพิราบขาว (มูลนิธิ 14 ตุลา) และรางวัลชนะเลิศ รางวัลดุ๊ก (มูลนิธิหนังไทย) ประจำปี 2558
ดำเนินรายการโดยคุณอธิป กลิ่นวิชิต ไทยพีบีเอส

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ