นิทรรศการ”Story from 9% “[เรื่องเล่าจากประชากร 9% ในเชียงใหม่]

นิทรรศการ”Story from 9% “[เรื่องเล่าจากประชากร 9% ในเชียงใหม่]

ประชากร 9% ของจังหวัดเชียงใหม่ ดูเป็นตัวเลขที่น้อย แต่ในงานนี้หมายถึง แรงงานปี 2563 ในจังหวัดหัวเมืองอย่างเชียงใหม่ ข้อมูลจากกระทรวงแรงงาน รายงานว่า จังหวัดเชียงใหม่มีแรงงานข้ามชาติอยู่อาศัยทั้งหมด 145,253 คนนับเป็นจำนวน 9 % ของประชากรทั้งหมด 1,640,479 คนในเชียงใหม่ แม้จะเป็นประชากรส่วนน้อยของเมือง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าแรงงานข้ามชาติคือหนึ่งคนสำคัญที่มีส่วนในการร่วมพัฒนาและขับเคลื่อนเชียงใหม่ให้กลายเป็นเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของภาคเหนือตอนบน

ลมเย็น ๆ งานเกิดขึ้นยามเย็น เมื่อวันที่ 21 – 22 มกราคมที่ผ่านมา กลางลานท่าแพแลนด์มาร์คของเชียงใหม่  “Story from 9 %”  นิทรรศการว่าด้วย “แรงงานข้ามชาติกับการพัฒนาเมืองเชียงใหม่”  บอกเล่าเรื่องราวจากประชากร 9 % ในเชียงใหม่ จัดแสดงผลงานจาก 12 อาสาสมัครที่ต้องการถ่ายทอดเรื่องราว และมุมมองของแรงงานข้ามชาติที่มีต่อประเทศไทยและถ่ายทอดมุมมอง ในฐานะแรงงานข้ามชาติที่เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศและจังหวัดเชียงใหม่ให้มีความเจริญ แต่กลับถูกการเลือกปฏิบัติและถูกมองในด้านลบ และอาสาสมัครทั้ง 12 คนได้ผ่านการ Workshop เพื่อผลิตชิ้นงานในมุมมองของชาวแรงงานข้ามชาติผ่านผลงานศิลปะไม่ว่าจะเป็น ภาพถ่ายเล่าเรื่อง(Photo essay) หรืองานเขียน

“สิทธิมนุษย (บาง) ชน” โดย ณัฐพล รอดภัย ภาพถ่ายจากการลงพื้นที่ชุมชนแรงงานข้ามชาติในเชียงใหม่ที่เขาพยายามตั้งคำถามถึงสิทธิที่คนคนหนึ่งควรจะได้รับในชีวิต “คนบางคนเกิดมาเพื่อเป็นได้แค่คน แต่ไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นคนที่ควรได้รับสิทธิเพียงเพราะสิทธิมนุษยชนในประเทศที่กำลังพัฒนานั้นมีให้แค่คนที่มีสัญชาติของเขาเท่านั้น”

ภายในงานมีการตั้งวงเสวนาถึงหัวข้อต่างๆที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ เด็กและเยาวชน โควิด ศูนย์การเรียนรู้ พัฒนาสังคม และหัวข้อสำคัญคือแรงงานข้ามชาติ

ภาพจาก : In Chiangmai

จากข้อมูล 2563 ของกระทรวงแรงงานรายงานว่ามีแรงงานข้ามชาติที่อาศัยอยู่ใน จ.เชียงใหม่ทั้งหมด 145,253 คนนับเป็นจำนวน 9% ถ้าหากเทียบกับจำนวนประชากรทั้งหมดใน จ.เชียงใหม่ 1,640,479 คน เปรียบเทียบเปอร์เซ็นต์แล้วประชากรกลุ่มนี้อาจจะมีจำนวนน้อยแต่ก็มีส่วนในการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ให้เป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจของภาคเหนือตอนบน

ชาวแรงงานข้ามชาติมักถูกมองว่าเป็นคนไม่ดี ถูกเลือกปฏิบัติ และมักถูกมองในด้านลบ และโดนเอารัดเอาเปรียบต่าง ๆ นา ๆ แต่หากเรามองในมุมนึงคือ พี่น้องแรงงานข้ามชาติพวกเขาเหล่านี้เป็นบุคคลที่เป็นกลไกหนึ่งในการขับเคลื่อนพัฒนาให้ประเทศและจังหวัดเชียงใหม่ มีความเจริญ เพราะแรงงานข้ามชาติเหล่านี้เพียงต้องการที่จะเข้ามาทำงานหาเลี้ยงครอบครัว แต่กลับไม่มีสวัสดิการหรือนโยบายใดที่เป็นรูปธรรมในการเป็นอยู่ให้ดีขึ้น

ภาพจาก : Facebook live ขสย. – เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน

ภายในวงเสวนาได้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกลุ่มที่ทำหน้าที่แตกต่างกันในการเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาชุมชน พัฒนาคุณภาพชีวิต โดย ธีรภัทร์ คหะวงศ์ เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน (ขสย.) กล่าวถึง การสร้างศูนย์การเรียนรู้ให้กับเด็กและเยาวชน ถึงโรงเรียนปิดในช่วงโควิดและปัญหาในการสื่อระหว่างแรงงานข้ามชาติและหน่วยงานรัฐว่า “เด็กก็ต้องไม่ควรที่จะหยุดการเรียนรู้ หลายที่ก็ทำกิจกรรมให้เด็กได้เกิดการเรียนรู้ตามความสนใจของเด็ก รวมถึงแรงงานข้ามชาติที่เป็นพม่า กัมพูชาค่อนข้างเยอะ ปัญหานึงก็คือการสื่อสารหระหว่างหน่วยงานภาครัฐ สิ่งที่เราทำอย่างหนึ่งก็คือการสร้างอาสาสมัคร น้องๆเยาวชนที่เป็นล่ามสื่อสารให้ไปสื่อสารกับเขาและสื่อสารกับหน่วยงานภาครัฐ”

ภาพจาก : Facebook live ขสย. – เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน

ทางด้านตัวแทนจากสภาลมหายใจเชียงใหม่ ชนกนันทน์ นันตะวัน มองถึงปัญหาของคุณภาพชีวิตด้านฝุ่นควัน และโควิดว่า “จริงๆสภาลมหายใจจัดตั้งขึ้นเพื่อลดปัญหาหมอกควัน ผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ เราจึงอยากจะสะท้อนปัญหาข้อมูล ข้อเท็จจริง หรือขอเสนอแนะเชิงนโยบาย เพื่อให้มันเกิดการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้ภาครัฐลงมาแก้ปัญหาวิกฤตต่างๆ ของประชาชนที่ประสบอยู่ ซึ่งกับโควิดกับฝุ่นควันก็เป็นปัญหารับบงทางเดินหายใจเหมือนกัน พอมีปัญหาวิกฤตโควิดมันเหมือนเป็นการตอกย้ำ ปัญหาวิกฤตเดิมเข้าไปอีก ไม่ว่าจะเป็นเขาจะเข้าถึงหน้ากากอนามัย โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนที่พัฒนาการ ปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อมก็เป็นตัวนึงที่ไปบั่นทอนหรือไปขัดขวางการพัฒนาการทางสมองหรือการเรียนรู้ของเขา หรือเรื่องสุขภาพที่เด็กๆต้องเจอปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ เพราะฉะนั้นโควิดก็เหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด มาซ้ำเติมคนเหล่านี้ให้เผชิญกับปัญหาที่เพิ่มขึ้นไปอีก สภาลมหายใจเป็นพื้นที่ตรงกลางที่สะท้อนปัญหาตรงนี้ เราก็ทำหน้าที่ในการเป็นสื่อกลางปัญหาเหล่านี้ไปถึงกลุ่มที่มีอำนาจในการที่จะเปลี่ยนแปลงนโยบายและให้ความช่วยเหลือ”

อีกทั้ง ชนกนันทน์ นันตะวัน ยังมองถึงความสำคัญของแรงงานข้ามชาติที่มีอยู่ภายในจังหวัดเชียงใหม่ว่า “ในประชากร 9% เรามองว่าบุคลลเหล่านี้สำคัญมากๆ เพราะบุคคลเหล่านี้เป็นบุคคลที่ให้ความสำคัญกับเมืองด้วยไม่ว่าจะมิติไหนก็ตามแต่โดยเฉพาะในมิติของแรงงานหรือในมิติฟันเฟืองเล็กๆที่มันทำให้เมืองขับเคลื่อนไปได้ แต่ก็เป็นเรื่องตลกร้ายเหมือนกันว่า สิ่งที่รัฐให้ความช่วยเหลือ หรือสิ่งที่สังคมให้ความสำคัญใส่ใจในเวลาที่เกิดปัญหาวิกฤต กลุ่มคนเหล่านี้จะถูกพลักออกไปอยู่ชายขอบบางทีไม่ได้มีตัวตนด้วยซ้ำในการที่จะรับสวัสดิการพื้นฐานหรือรับความช่วยเหลือ ดังนั้นมันจึงเกิดความร่วมมือของประชาสังคมเกิดขึ้นที่จะเข้ามาอุดช่องว่าง อุดช่องโหว่ในการเข้ามาช่วยเหลือปัญหาในช่วงวิกฤตของพี่น้องบุคคลชายขอบ และเด็กและเยาวชนที่อยู่ในพื้นที่เหล่านี้ด้วย”

ภาพจาก : Facebook live ขสย. – เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน

บุปผรัตนา ศิริลาภ Chiang Mai learning city ก็ได้อธิบายถึงวิธีการทำงานในการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ใหม่ๆในพื้นที่ชุมชน “โดยกระบวนการทำงานของเราก็คือจะเข้าไปค้นหาทรัพยากรท้องถิ่นที่น่าสนใจหรือว่าเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว แต่ว่าคนไม่สนใจในพื้นที่ตรงนั้น จากนั้นเราจะทำการช่วยคัดสรรโดยการเข้าไปพูดต่อคนในพื้นที่หรือว่าสนใจในสิ่งนั้นอยู่แล้ว จากนั้นนำไปสร้างสรรค์ร่วมกับชุมชน และคนนอกพื้นที่ เพื่อให้เกิดเป็นบทเรียนท้องถิ่นแห่งการเรียนรู้ จากนั้นเราจะนำบทเรียนที่ได้เข้าไปสอดแทรกในการเรียนรู้ระหว่างคนนอกพื้นที่ที่สนใจและคนในพื้นที่ เพื่อให้เกิดการสร้างเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้และแหล่งเรียนรู้ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ อย่างที่เราเห็นห้องเรียนหรือโรงเรียนส่วนใหญ่ก็จะเรียนกัน 8 ชม.ยาวติดๆ แต่ว่านักเรียนสามารถที่จะเรียนแค่ 4 ชม.อีก 4 ชม. มาเรียนในพื้นที่การเรียนรู้ใหม่ๆ”

ภาพจาก : Facebook live ขสย. – เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน

เมงคบุตร ยูรโฮ ผู้ดำเนินการเสวนาได้กล่าวเสริมว่า “พี่น้องที่เป็นภาคบริการ พี่น้องที่เป็นภาคแรงงานของเมือง เขาติดโควิดไม่พอ เขาก็ยังโดนกีดกันเข้าไปอีก รายได้ก็ยิ่งไม่มี เมืองกำลังฟื้น มันก็เลยเกิดการเป็นปัญหาที่มันทับๆ ลงไปอีก”

ภาพจาก : Facebook live ขสย. – เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน

อาทิตย์ เสริมมา นักพัฒนาสังคม บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดเชียงใหม่ อธิบายถึงแนวทางและวิธีการในการปฎิบัติงานว่า “ในแนวของเราที่เราทำงานอยู่ทุกวันนี้ เราใช้วิธีเป็นกระบอกเสียง เราทำให้มันหายไปไม่ได้แต่เราอยากทำให้เราอยู่กับมันได้ เราเห็นค่าของความเป็นคนเท่ากัน บางทีเราลงไปช่วยเหลือแคมป์คนงานบางแคมป์ เราเห็นการไม่ใส่แมสกันเลย ซึ่งแต่ละท่านก็ไปทำงานกันแต่ละที่ก็กลับมารวมกัน บางที่ยังไม่ใส่แมส เราก็หาจุดเด่นๆของชุมชนนั้นให้ไปสะกิดเขาว่าให้พี่น้องเขาป้องกันตัวเอง คือถ้าไม่มีผมจะแนะนำองค์กร อย่างที่ผมบอกว่าเอกชนบางที่ก็พร้อมอยู่แล้วเพียงต้องบอกเรามา เราจะได้สอบถามแทนกันได้”

ภาพจาก : Facebook live ขสย. – เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน

ส่วนปัญหาด้านการเรียน กัลยา ศิริบูรณ์ รองประธานสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึงปัญหาและอุปสรรคของเด็กในการเรียนการสอนในช่วงยุคโควิดไว้ว่า “เด็กแรงงานข้ามชาติ แน่นอนว่าเขาเป็นเด็กที่ไม่มีคุณทรัพย์ในการซื้อของพวกนี้แล้วการเรียนออนไลน์มันจะมีประสิทธิภาพได้อย่างไร น้องเขาไม่มีโทรศัพท์แม้แต่เครื่องเดียวในการเรียนหนังสือ เทคโนโลยีสำคัญเหมือกันแต่การศึกษาก็สำคัญด้วยก็เช่นกัน ถ้าสมมุติเด็กคนๆนึงเนี่ย อาจจะไม่ใช่แรงงานข้ามชาติอย่างเดียว เป็นเด็กในกลุ่มเปราะบางที่เขาไม่มีเงินในการซื้อโทรศัพท์ใหม่หรือว่าซื้อเครื่องมือใหม่ๆ เขาจะเรียนหนังสือได้ยังไง ก็ยากให้รัฐเองเข้ามาซัพพอร์ตในเรื่องตรงนี้เช่นกัน ไม่มากก็น้อยก็อยากให้ช่วยเหลือตรงนี้”

ภาพจาก : C-site

และหากเรามองในมุมมองของพี่น้องชาวแรงงานข้ามชาติแล้ว คงอยากให้ทุกคนเข้าใจในมุมมองของพวกเขาที่มีต่อประเทศไทยและมุมมองที่พวกเขาอยากเผยแพร่ออกไป ว่าพวกเขาก็เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศไทยและจังหวัดเชียงใหม่เองให้มีความเจริญ และวิถีชีวิตของพวกเขาที่เคยมี และยังคงอยู่

แม้จะเป็นกลุ่มคนเล็กๆ แต่กลุ่มคนเล็กๆ เหล่านี้เป็นบุคคลที่สำคัญที่คอยเป็นบุคคลที่สร้างเมืองเชียงใหม่ที่เจริญที่เป็นอยู่อย่างทุกวันนี้ขึ้นมาและวิถีชีวิตที่อยู่ด้วยความหวัง

มากกว่างานเสวนาและนิทรรศการคือ อยากให้ทุกคนไม่เลือกปฏิบัติและไม่มองพวกเขาในเชิงลบ ให้พวกเขามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นแม้ว่าพวกเขาจะเป็นแรงงานข้ามชาติก็จริง แต่ว่าก็เป็นส่วนหนึ่งในการที่ทำให้เชียงใหม่เป็นเมืองที่มีความเจริญแบบทุกวันนี้ และรัฐต้องกระจายการเข้าถึงความรู้ การศึกษาโดยเฉพาะในเด็กและเยาวชน และสวัสดิการ นโยบายต่างๆ รวมถึงให้แรงงานข้ามชาติมีสิทธิเหมือนกับชาวไทย ดูแลเขาให้เหมือนคนของเรา และทัศนคติของคนไทยเราต้องเปิดกว้างต่อแรงงานข้ามชาติ ต้องไม่มีอคติ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ