เพราะว่าเราเป็นหญิง “วันสตรีสากล”

เพราะว่าเราเป็นหญิง “วันสตรีสากล”

เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2565 เครือข่ายแรงงานภาคเหนือและเครือข่ายผู้หญิงภาคเหนือ จัดงาน “วันสตรีสากล” ณ ประตูท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งในงานมีทั้งการแสดงวัฒนธรรม ดนตรี บูธนิทรรศการและวงพูดคุย

หญิงทั้งหลายร่วมกันถือสายรุ้งสั่นกระดิ่ง เปิดงานวันสตรีสากล

ประเด็นการพูดคุยในวงเชื่อมโยงกับคลิปวิดีโอ Migrant Mother: เมื่อแม่เป็นแรงงาน (คลิกที่ลิงก์เพื่อดูวิดีโอ) ซึ่งเป็นเรื่องราวของแม่เลี้ยงเดี่ยวแรงงานข้ามชาติสองคนที่เล่าเรื่องราวการดำเนินชีวิตและการทำงานของพวกเธอในช่วงการแพร่ระบาดโควิด โดยไม่ได้รับการช่วยเหลือการเยียวยาใด ๆ

ฟังเสียงผลกระทบจากวิกฤตโควิดกับแรงงานหญิงข้ามชาติ?

“เราอยู่ในประเทศไทยไม่สร้างความเดือนร้อนเพียงแค่สามารถทำงานเลี้ยงชีพได้ และต้องอยู่ในประเทศไทยต่อไป เพราะตัวเองเป็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติไม่สามารถกลับไปยังประเทศต้นทางได้แล้ว เราสู้ ไม่ได้ขี้เกียจ ทำงานทุกอย่างที่ทำได้ เราสู้ชีวิตเต็มที่แล้ว”

ก่อนหน้าที่จะมีโควิดเราทำงานมีรายได้เป็นรายเดือน มีงานพิเศษ มีรายได้เสริม มีเงินพอใช้ กินดีอยู่ดี แต่เมื่อมีโควิดเราตกงาน ปัจจุบันต้องรับจ้างทั่วไป ทำอาชีพเสริมเก็บของเก่าขาย การกินอยู่ก็ลำบาก บางครั้งเราก็ต้องกินอะไรที่ไม่ดีต่อสุขภาพ บางมื้อก็ต้องอดเพื่อให้ลูกได้กิน กับข้าวบางวันมีเพียง “ถั่วเน่า”  

พี่ออยอยู่ในระบบประกันสังคมแต่ไม่สามารถเข้าถึงการเยียวยา “ม. 33 เรารักกัน” เพราะเป็นแรงงานข้ามชาติ ไม่ต้องพูดถึงเงินเยียวยา 5,000 บาท เราอยู่ในประเทศไทยเราก็เสียภาษีและเราก็ได้รับผลกระทบไม่ต่างกับคนไทย และเมื่อเราติดโควิดก็ไม่มีรัฐใดเข้ามาช่วยเหลือ เมื่อเศรษฐกิจแย่ โควิดก็ยังอยู่ จะไปสมัครงานที่ไหนก็ไม่มีใครรับ และแรงงานข้ามชาติคนหนึ่งที่มาทำงานในประเทศไทยต้องต่อใบอนุญาตทำงานที่มีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก         

โมแสงและยุวดี กันทำ (พี่ออย) ตัวแทนแรงงานแม่เลี้ยงเดียวข้ามชาติสองคนเป็นผู้เล่าเรื่องราวของตนในคลิปวิดีโอ

นอกจากนี้เรายังถูกต่อว่าและถูกรังเกียจจากคนไทยบอกว่าแรงงานข้ามชาติเป็นตัวแพร่เชื้อโควิด ไม่ป้องกันตัวเอง พูดกันตามความจริงทุกคนก็กลัวตาย ตัวเราพยายามไม่ออกไปไหน ป้องกันตัวเอง แต่สุดท้ายเราก็ติดมาจากนายจ้างคนไทย

อยากให้พี่น้องไม่ว่าชนชาติไหน พี่น้องชาวไทย รัฐบาลไทย อยากให้มองว่าเราไม่แตกต่างกัน ได้รับผลกระทบจากโควิดเหมือนกัน อยากให้ปฏิบัติต่อกันอย่างเท่าเทียม

ปณิช ปวรางกูล ตัวแทนเครือข่ายแรงงานภาคเหนือ

“ไม่ว่าจะเป็นประกันสังคม สิทธิประโยชน์ สวัสดิการต่าง ๆ ให้กับประชาชน ทั้งคนไทยและแรงงานข้ามชาติ หากรัฐไทยตระหนักถึงสิทธิมนุษชน ความเป็นมนุษย์มากกว่านี้ การออกนโยบายต่าง ๆ ของรัฐจะไม่มีการเลือกปฏิบัติ”

ปณิช ปวรางกูล ตัวแทนเครือข่ายแรงงานภาคเหนือ เล่าว่า แรงงานข้ามชาติสามารถที่จะเข้าถึงสิทธิประโยชน์ประกันสังคมได้อย่างเท่าเทียมคนไทย หากเขามีเอกสารตามที่รัฐกำหนด แต่ก็มีอีกหลายกลุ่มที่ทำงานและไม่ได้เข้าสู่ระบบประกันสังคม แต่เมื่อแรงงานข้ามชาติจ่ายเงินประกันสังคมเท่ากับคนไทยเขากลับไม่ได้รับการเยียวยาตามตรา 33 ซึ่งก็มีคำถามว่ารัฐไทยมองแรงงานข้ามชาติอย่างไร และรัฐไทยคิดที่จะดูแลคนกลุ่มนี้อย่างไร

อีกประเด็นหนึ่งที่อยากจะพูดถึงคือเรื่องการต่อเอกสารของแรงงานข้ามชาติ ซึ่งมีความยุ่งยาก ใช้เอกสารจำนวนมาก และที่สำคัญต้องใช้เงินจำนวนมาก ซึ่งหากเปรียบเทียบกับค่าแรงที่แรงงานได้รับแล้วมันไม่สมเหตุสมผล ทั้ง ๆ ที่ประเทศไทยต้องพึ่งพาแรงงานข้ามชาติจำนวนมาก และเราไม่สามารถขาดแรงงานข้ามชาติได้ หากพูดกันจริง ๆ เขาเป็นผู้ค้ำจุนเศรษฐกิจไทย

นอกจากนี้สตรีที่เป็นมารดาแม้แต่คนไทย เราจะเห็นได้ชัดเลยว่า รัฐบาลไทยไม่มีระบบที่จะสนับสนุนช่วยเหลือมารดาเลี้ยงเดี่ยวหรือมารดาใด ๆ เลย เงินสงเคราะห์บุตรเดือนละหกร้อยบาท มันจะเพียงพอหรือไม่กับการเลี้ยงคนคนหนึ่งให้เติบโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี

ความรุนแรงโดยโครงสร้าง กันแรงงานออกจากสิทธิ

อริยา เศวตามร์ นักวิชาการสตรีศึกษา ศูนย์สตรีศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

มีความรุนแรงเกิดขึ้นในเชิงโครงสร้างในระบบ ที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลและสิทธิสวัสดิการ ซึ่งพบว่าบางคนมีสิทธิประกันสังคมหรือสิทธิสุขภาพ หลายคนไม่อยากไปโรงพยาบาลเพราะเมื่อไปแล้วพวกเขารู้สึกว่าถูกเลือกปฏิบัติ ยกตัวอย่างเช่น โรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่ง มีบัตรคิวสองสี สีหนึ่งคนไทย อีกสีหนึ่งสำหรับแรงงานข้ามชาติ ส่วนสีของแรงงานข้ามชาติจะอยู่คิวหลัง แต่เมื่อถึงช่วงเย็นคิวก็จะถูกตัด และในวันถัดไปก็ต้องมาใหม่เหมือนเดิม เพราะฉะนั้นแรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่จะไม่ไปใช้สิทธิแม้ว่าจะมีสิทธิก็ตาม

อริยา เศวตามร์ นักวิชาการสตรีศึกษา ศูนย์สตรีศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เล่าว่า ในสถานการณ์โควิด พบว่าความรุนแรงในเรื่องสิทธิและสวัสดิการ จะมีความรุนแรงมากขึ้น เพราะมีปัญหาอื่น ๆ ด้วยเช่น ปัญหาของปากท้องเพราะงานลดลง เช่นครอบครัวที่มีสามีภรรยาและอยู่ในแคมป์ก่อสร้าง คนที่ตกงานก่อนคือผู้หญิง คือไม่ว่าเศรษฐกิจจะแย่ลงหรือเกิดปัญหาอะไรก็ตาม ผู้หญิงจะเป็นคนกลุ่มแรกที่ถูกให้ออกงานก่อน ตกงาน และถูกเลิกจ้าง หรือลดการทำงาน ในกรณีของเชียงใหม่พบว่าผู้หญิงถูกเลิกจ้าง ส่วนผู้ชายก็จะถูกลดเวลาการทำงานลงอย่างเช่นเคยทำงาน 5-6 วัน/สัปดาห์ ลดลงเหลือทำงาน 3 วัน

นั่นหมายความว่าเขาจะต้องนำรายได้ที่เขาทำงาน 2-3 วันเนี่ยมากินอยู่ใน 7 วันกับครอบครัวของเขานี่คือความยากลำบากอย่างมาก มีคนเคยเราให้ฟังว่าเขาทำงานสามวันและมีเงินซื้อข้าวสารมาจำนวนเท่านี้จะทำอย่างไรเพื่อให้ได้กินได้เจ็ดวัน เขาก็จะนำข้าวนั้นแบ่งออกเป็นเจ็ดกองเพื่อให้ได้ครบเจ็ดวัน และกองข้าวแต่ละวันจะถูกแบ่งออกเป็นสามกองเพื่อให้ในหนึ่งวันมีข้าวกินครบสามมื้อ ถ้าเขามีลูกก็จะให้ลูกกิน ส่วนพ่อแม่ก็อดมื้อกินมื้อ นี่คือความรุนแรงเชิงโครงสร้างในแง่ของปากท้อง

อีกหนึ่งประเด็นคือความรุนแรงเชิงโครงสร้างการกระทำความรุนแรงทางร่างกาย มีงานวิจัยของประเทศหนึ่งค้นพบว่ามีความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มมากขึ้นในช่วงโควิด ความรุนแรงในครอบครัวมีทั้งความรุนแรงทางร่างกาย (ทุบตีทำร้าย) ความรุนแรงทางทางเพศ และความรุนแรงทางอารมณ์

ที่สำคัญยังพบว่าผู้ที่ถูกกระทำความรุนแรงคือผู้หญิง หากสามีตกงานผู้หญิงจะถูกกระทำความรุนแรงมากขึ้น และพบว่าคู่หรือสามีของผู้หญิงที่ตกงานมี 25 เปอร์เซ็นต์ แต่ผู้หญิงที่ตกงานมีประมาณ 31 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งผู้หญิงตกงานมากกว่าผู้ชาย แม้ว่าผู้หญิงจะตกงานหรือไม่ตกงาน แต่หากผู้ชายตกงานผู้หญิงก็จะถูกทำร้ายร่างกายมากขึ้น

จากบทวิเคราะห์ของงานวิจัยระบุว่า “โควิดไม่ได้เป็นสาเหตุของความรุนแรง แต่เป็นเหตุให้ความรุนแรงที่มีอยู่แล้วนั้นเพิ่มมากขึ้น” และนอกจากนี้ยังพบว่าผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรงจะมีรายได้มากกว่าผู้ชาย โดยการวิเคราะห์ว่า “ผู้ชายคิดว่าตนเองนั้นควรเป็นผู้หารายได้หลักแต่เมื่อผู้หญิงหารายได้มากกว่าก็มาทำร้ายและใช้ความรุนแรงกับผู้หญิง”

ในประเทศไทยที่เราพบในชุมชนของแรงงานข้ามชาติคือแม่เลี้ยงเดียวจำนวนมาก หรือว่าเป็นกลุ่มแม่เลี้ยงเดี่ยวที่มารวมตัวกันที่กลุ่มผู้หญิงเพื่อความยุติธรรม เพราะกลุ่มคนที่ต้องการการเยียวยา ผู้หญิงถูกกระทำความรุนแรงก็ถือว่าแย่อยู่แล้ว แต่ผู้หญิงที่เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวจะได้รับผลกระทบจากโควิดมากกว่าเพราะว่าต้องเลี้ยงลูกคนเดียว ได้การบอกเล่าจากน้องแรงงานข้ามชาติว่า มีคนงานโทรมาถามว่ามีถุงยังชีพไหม? มีข้าวไหม? ตอนนี้เขาไม่มีแล้วนะ เมื่อสอบถามพบว่าผู้หญิงคนนี้สามีเสียชีวิตและมีลูกเล็ก ไม่เงินค่าเช่าบ้าน ต้องไปอาศัยอยู่กับญาติ ไม่มีกิน ปัญหาคือไม่มีจะกินซึ่งต้องแก้ไขเฉพาะหน้าไป ส่วนปัญหาเชิงโครงสร้างก็ต้องทำงานไปด้วยกัน สิ่งเหล่านี้คือผลกระทบที่มีเพิ่มมากขึ้นในช่วงโควิด

นอกจากที่เราจะเสนอให้รัฐเยียวยาผู้หญิงที่เลี้ยงลูกคนเดียว ซึ่งจะมีสวัสดิการอะไรเพิ่มขึ้น เพราะว่าเรามีการรวมกลุ่มแรงงานข้ามชาติอาจจะต้องคิดหากิจกรรมที่สนับสนุนกันและกัน คิดว่าไม่ใช่เฉพาะเงินทอง เรื่องเงินทองอันหนึ่ง เรื่องปากท้องกันอันหนึ่ง แต่อีกเรื่องหนึ่งที่แม่เลี้ยงเดี่ยวอยากได้ก็น่าจะเป็นเรื่องกำลังใจ การสนับสนุน เช่น บางวันเราไม่มีเวลาดูลูก จะมีคนอื่นมาช่วยดูได้ไหม เอาไปฝากให้ดูได้ไหม ถือว่าเป็นการจัดสวัสดิการในกลุ่มของเราเอง ซึ่งกลุ่มก็ต้องมาดูว่าจะต้องทำอย่างไร อีกแง่หนึ่งคือการสนับสนุนทางจิตใจ

เปิดใจทีมงานผลิตภาพยนตร์สารคดี migrant mother เมื่อแม่เป็นแรงงาน

วรรณา แต้มทอง Lanna Project ทีมงานผู้ผลิตสื่อวิดีโอ “Migrant Mother เมื่อแม่เป็นแรงงาน”

“ในฐานะคนทำสื่อ ตอนที่เราทำคลิปวิดีโอนี้ด้วยความรู้สึกที่ว่าเราปล่อยให้มีการขูดรีดและการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรมต่อแรงงานข้ามชาติ ในขณะที่คนไทยก็นั่งรับผลประโยชน์จากการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรมกับคนกลุ่มนี้ ดังนั้นเราหวังว่าจะมีคนเห็นถึงความยากลำบากของแรงงานข้ามชาติในช่วงโควิดบ้าง และเราก็อยากให้แรงงานข้ามชาติมีชีวิตที่ดีขึ้นกว่านี้เพราะว่าชีวิตที่ดีของแม่แรงงานข้ามชาตินั้นหมายถึงอนาคตที่ดีของลูกแรงงานข้ามชาติ”

วรรณา แต้มทอง Lanna Project ทีมงานผู้ผลิตสื่อวิดีโอ “Migrant Mother เมื่อแม่เป็นแรงงาน” เล่าว่า เราพบข้อมูลการสำรวจทัศนคติของคนไทยต่อแรงงานข้ามชาติขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ซึ่งมีตัวเลขที่น่าสนใจที่มีคนไทย 76 เปอร์เซ็นต์ที่เชื่อว่าแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาอย่างไม่ถูกกฎหมาย ไม่ควรได้รับสิทธิ และคนไทยอีก 52 เปอร์เซ็นต์เชื่อว่าแรงงานข้ามชาติไม่ควรได้รับเงินเดือนและสิทธิประโยชน์เท่ากับคนไทย ซึ่งเรามองว่าทัศนคติเหล่านี้เป็นทัศนคติในแง่ลบที่คนไทยมีต่อแรงงานข้ามชาติและเป็นทัศนคติที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย

เมื่อทางเครือข่ายแรงงานภาคเหนือชวนให้มาทำคลิปวิดีโอ เราจึงอยากจะนำเสนอให้เห็นถึงชีวิต ความเป็นอยู่ รวมถึงสภาพการจ้างงานที่แรงงานข้ามชาติในไทยต้องเผชิญ ทำไมเราเลือกพี่ออยและโมแสงมาเป็นผู้ดำเนินเรื่องในคลิปวิดีโอนี้ เพราะว่าแม้ทั้งสองคนจะมีปัญหาที่ต่างกัน แต่เมื่อนำมารวมกันแล้วสามารถที่จะบอกเล่าเรื่องราวชีวิตแรงงานข้ามชาติในช่วงโควิด

  • โมแสง แรงงานข้ามชาติที่ตกงานในช่วงโควิดเพราะไปฉีดวัคซีนและป่วย ซึ่งมันสะท้อนให้เห็นว่าในแง่หนึ่งนายจ้างไม่ได้คำนึงถึงสิทธิ วันหยุด วันลาของลูกจ้าง นายจ้างอาจจะคิดว่าคุณสามารถทำงานได้คุณมา แต่ถ้าคุณไม่พร้อม ร่างกายไม่ไหวคุณก็ออกไป ที่เขาคิดแบบนี้ได้เพราะเรามีแรงงานข้ามชาติในนายจ้างเลือกจำนวนมากมายในไทย ทำให้นายจ้างมองข้ามหรือไม่สนใจสวัสดิการ สวัสดิภาพและสุขภาพของแรงงาน เมื่อได้รับฟังสภาพการจ้างงานแล้วเราคิดว่ามันเป็นเรื่องที่โหดร้ายมากสำหรับการจ้างงานในลักษณะนี้                                                                                                     

อีกปัญหาหนึ่งของโมแสงคือการหาเงินเพื่อมาต่อวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน ซึ่งมันเป็นปัญหาที่แรงงานข้ามชาติหลายคนต้องเจอในช่วงวิกฤตโควิดที่พวกเขากำลังต้องตกงานกันระเนระนาด แต่พวกเขาจำเป็นต้องจ่ายเงินจำนวนนี้เพราะว่ารัฐไทยก็ไม่ได้มีการลดหย่อนเงินจำนวนนี้ให้กับแรงงานข้ามชาติ

  • พี่ออย มีความโดดเด่นในแง่การปรับตัวสู้ชีวิตในช่วงวิกฤตโควิด หลังจากที่ตกงานจากร้านอาหารก็มีการปรับตัวมารับจ้างทำความสะอาดในบ้านและเก็บของเก่า ทำน้ำยาล้างจานและน้ำยาซักผ้าขาย คนเดียวทำทุกอย่าง นอกจากนี้ยังมีจุดที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งที่ว่าแรงงานข้ามชาติมีความเสี่ยงที่จะได้รับการติดเชื้อจากการทำงานได้ เขาเป็นแรงงานข้ามชาติและเขาหยุดงานไม่ได้ แม้ว่าเขาจะระแวดระวังมากน้อยขนาดไหนแต่เมื่อต้องออกไปทำงานเขาก็อาจจะติดโควิดจากนายจ้างได้ ซึ่งเราคิดว่าแรงงานข้ามชาติจำนวนมากที่ตกอยู่ในสภาวะเดียวกับพี่ออย

นอกจากนี้พี่ออยยังเป็นแรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคม ที่ส่งเงินสบทบเท่ากับคนไทย แต่ไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาตามโครงการ “ม. 33 เรารักกัน” ซึ่งมันสะท้อนให้เห็นการเลือกปฏิบัติของรัฐที่มีต่อแรงงานข้ามชาติ

อีกแง่มุมหนึ่งที่อยู่ในคลิปวิดีโอนี่คือความเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวของแรงงานข้ามชาติ ซึ่งการเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว แม้แต่คนไทยที่สามารถเข้าถึงสิทธิในประเทศนี้ได้ก็มีความยากบากอยู่แล้ว แต่พอเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวที่มีสถานะแรงงานข้ามชาติจะยิ่งทำให้มีความยากลำบากมากขึ้น เพราะหนึ่งค่าแรงค่าจ้างของพวกเขาน้อยกว่าคนอื่น สองพวกเขาไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการรัฐต่าง ๆ ได้ทำให้แม่แรงงานข้ามชาติไม่สามารถหยุดงานได้ต้องทำงานทุกวัน บางคนต้องพาลูกไปทำงานด้วยอย่างเช่นพี่ออยและโมแสง

กรณีพี่ออยมีการพูดคุยกับลูกถึงสถานการณ์ชีวิตเพื่อให้ลูกทราบถึงความยากลำบากของแม่ สถานการณ์ครอบครัว แม่ตกงาน หรือตอนนี้แม่เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวแล้ว มันทำให้ลูกชายของพี่ออยพยายามช่วยเหลือแม่ให้มากที่สุด ประเด็นที่เด็กออกมาทำงานเราไม่ได้ตั้งใจบอกว่ามันดี แต่เราพยายามบอกว่ามันมีความพยามทำความเข้าใจกันระหว่างแม่กับลูกเกิดขึ้นในครอบครัว

เราทำคลิปวิดีโอนี้โดยหวังว่าจะมีคนมองเห็นถึงปัญหาในชีวิตของแรงงานข้ามชาติเพิ่มขึ้นไม่มากก็น้อย ในแง่หนึ่งเมื่อเกิดวิกฤตโควิดมันง่ายมากที่จะมีการขูดรีดเอารัดเอาเปรียบซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าพวกเขาเป็นแรงงานข้ามชาติจากสามสัญชาติ มันง่ายมากที่พวกเขาจะถูกเอาเปรียบจากคนอื่น

วรรณา แต้มทอง Lanna Project กล่าวปิดท้าย

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ