ประวัติศาสตร์เบื้องล่างผ่านเรื่องเล่าของ “ไทบ้าน” และความเปลี่ยนแปลง EP.1

ประวัติศาสตร์เบื้องล่างผ่านเรื่องเล่าของ “ไทบ้าน” และความเปลี่ยนแปลง EP.1

เรียบเรียง พงษ์เทพ บุญกล้า และ ประภาส วังนุราช

สุรินทร์ การจัดวงสนทนา Thaiban FORUM (ไทบ้านฟอรั่ม) เป็นกิจกรรมที่ริเริ่มโดยคนรุ่นใหม่ในชุมชน ซึ่งจะจัดอย่างต่อเนื่องระดับชุมชน โดยใช้กระบวนการสนทนาและรวบรวมข้อมูลต่างๆ ทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ เช่น การสนทนากลุ่ม การสัมภาษณ์ การสังเกตการณ์ การเข้าร่วมกิจกรรมทางวัฒนธรรมประเพณี และกิจกรรมชุมชน รวมทั้งสืบค้นข้อมูลเชิงเอกสารทางวิชาการ งานวิจัย บทความ และแหล่งสืบค้นข้อมูลจากสื่อต่างๆ เพื่อนำมาประกอบและทำความเข้าใจเรื่องราวของ “ไทบ้าน” จากบทสนทนา EP.1 หัวข้อ “The history from below through narrative of change : ประวัติศาสตร์เบื้องล่างผ่านเรื่องเล่าของความเปลี่ยนแปลง” ณ ลานสะแบง บ้านโคกเจริญ ตำบลเกาะแก้ว อำเภอสำโรงทาบ จังหวัดสุรินทร์ (เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2567) แบ่งการนำเสนอออกเป็นประเด็น ดังนี้

ภาพ โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ออนไลน์เวทีสนทนา Thaiban FORUM EP.1

หมู่บ้านโคกเจริญ ตำบลเกาะแก้ว อำเภอสำโรงทาบ จังหวัดสุรินทร์ กลุ่มประชากรผู้บุกเบิกอพยพย้ายครัวเรือนมาจากหลายแห่ง โดยกลุ่มครอบครัวที่มาบุกเบิกครอบครัวแรกๆ บรรพบุรุษมาจากเมืองจำปาสัก สปป.ลาว เข้ามาทำกินในพื้นที่ภูมินิเวศธรรมชาติซึ่งเรียกว่า “โคก” และปรับตัวเรื่อยมาอย่างเป็นพลวัต

ประเด็นแรก เคลื่อนย้ายถิ่นฐานจากเมืองจำปาสัก สปป.ลาว สู่อีสาน : กลุ่มคนที่อาศัยอยู่บริเวณภาคอีสานแถบนี้ ส่วนหนึ่งอพยพเดินทางมาจากเมืองจำปาสัก สปป.ลาว เดินทางด้วยเท้าผ่านเมืองอุบลราชธานี และมาตั้งรกรากอยู่บริเวณเมืองอุทุมพร จากนั้นเดินทางแตกแบ่งออกเป็นสายต่างๆ เพื่อแสวงหาพื้นที่สำหรับบุกเบิกที่ดินทำกินและลงหลักปักฐานชุมชน กระทั่ง เข้ามาอยู่อาศัยบริเวณซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์

เดินทางร่อนเร่จากเมืองจำปาสัก สปป.ลาว เข้าสู่ดินแดนอีสานแร้งแค้น บุกเบิกที่ดินทำกิน ทำข้าวไร่ ต่อสู้กับความอดอยาก…

บุญเหลือ เครือวัลย์ อายุ 88 ปี เล่าย้อนกลับไปเมื่อครั้งเป็นเด็กเกี่ยวกับการอพยพเดินทางของครอบครัว ว่า แต่เดิมพ่อและแม่เป็นคนจำปาสักเล่าให้ฟังเกี่ยวกับที่อยู่เดิมของครอบครัวว่า “เขาไล่ต้อนมาจากเมืองจำปาสักผ่านมาทางเมืองอุบลราชธานี ทวดเป็นคนจำปาสักได้ถอยหนีมาเรื่อยๆ เขาจะไล่ต้อนให้คนไปอยู่กรุงศรีฯ” จากนั้นได้พากันย้ายต่อมาอาศัยอยู่ที่ บ้านหนองเมย-ส้มโฮง (อำเภออุทุมพร จังหวัดศรีสะเกษ) และย้ายต่อมาที่ บ้านอาโพน” คำว่า “อาโพน” เป็นคำในภาษา “กูย” หรือ “ส่วย” แปลว่า มะกอก เนื่องจากบ้านอาโพนเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำใกล้ลำห้วย ทุกฤดูน้ำหลากน้ำในลำห้วยจะเอ่อขึ้นท่วมสูง ผู้คนที่อาศัยอยู่แถบบ้านอาโพนจะถูกตัดขาดการจราจร เมื่อต้องเดินทางเข้าไปในตัวอำเภอจำเป็นจะต้องใช้เรือข้ามฟาก สอดคล้องกับ พัด เครือวัลย์ อายุ 75 ปี กล่าวว่า “จำได้สมัยเป็นเด็กพ่อเป็นคนต่อเรือไว้รับจ้างส่งคนข้ามฟาก เวลาคนเดินทางมายามค่ำมืดจะยืนอยู่อีกฝั่งแล้วตะโกนร้องเรียกเรือให้ไปรับว่า “ถุโว้ย” เป็นคำในภาษาส่วย แปลว่า เรือโว้ย คือ การส่งเสียงดังร้องเรียกเรือให้ไปรับข้ามน้ำ เพราะคนที่ร้องเป็นกลุ่มคนส่วยที่อาศัยอยู่แถบบ้านโพธิ์ศรีธาตุ บ้านตางมาง บ้านอาดุจ” บุญเหลือ เครือวัลย์ กล่าวอีกว่า “โคตรเหง้าของครอบครัวเป็นคนบ้านอาโพน รวมกันอยู่เป็นกลุ่มครัวเรือนและทำมาหากินบริเวณพื้นที่ป่ารกทึบที่ยังไม่มีการจับจองเป็นเจ้าของ ตอนเป็นเด็กพ่อพามาถางป่าทำนาค้างไฮ่ที่บริเวณนี้ ช่วงแรกใช้วิธีการแบบไปกลับระหว่างไฮ่กับบ้านอาโพน สร้างบ้านด้วยไม้ยกพื้นสูงประมาณ 3-4 เมตรให้สูงเหนือพื้นดินเนื่องจากบริเวณนี้เต็มไปด้วยสัตว์ป่า เช่น เสือ หมาจอก หมาใน จึงสร้างรั้วล้อมบ้านไว้ 3-4 ชั้นเพื่อป้องกันสัตว์ร้ายที่อาจบุกรุกเข้ามา ใช้วิธีการล่าสัตว์แบบภูมิปัญญาพื้นบ้านในป่าบริเวณนี้ เช่น กระต่าย ไก่ป่า หมู่ป่า ฯลฯ

ภาพ ภูมิศาสตร์ป่าไม้เปลี่ยนเป็นทุ่งนาและแหล่งเก็บน้ำฝายขนาดใหญ่ (Google map วันที่ 23 มกราคม 2567)

หมู่บ้านร้างครั้งที่ 1 แห้งแล้งประมาณ 3 ปี ครอบครัวของ พ่อใหญ่คำ จันทน์เทศ จึงย้ายออกไปจากที่นี่ เหลือเพียง พ่อใหญ่เพ็ง เครือวัลย์ และครอบครัวที่ยังคงลงหลักปักฐานทำมาหากิน บุญเหลือ เครือวัลย์ กล่าวว่า “เพราะความแล้งจึงพากันแตกบ้านแตกเมือง สมัยนั้นฝนแล้งไม่มีข้าวกิน ยังจำได้ตอนที่พ่อพาไปหาขอข้าวจากญาติพี่น้องเก่าที่อุทุมพร เริ่มออกเดินทางด้วยการเดินเท้าตั้งแต่เวลาเช้าตรู่กลับไปถึงก็มืดค่ำ บางปีพ่อก็พาไปหาญาติพี่น้องไกลถึงบุรีรัมย์”

“สมัยนั้นเดินไปขอข้าวที่อุทุมพร ตอนที่หาบข้าวเดินกลับได้หยุดพักที่บ้านหมื่นศรี เห็นรถไฟ 4 ตู้วิ่งมา เป็นเด็กก็ไม่ค่อยรู้อะไรมากแต่พ่อบอกว่ามีคนญี่ปุ่นนั่งบนรถไฟเต็มทุกตู้พากันร้องเพลงว่า “โมชิโมช่า โมชิโมช่า…” แต่ก่อนพ่อจะสอนว่าถ้ารถไฟวิ่งผ่านให้หมูบหัวลง (หมอบต่ำ) รถไฟที่วิ่งผ่านเป็นรถไฟแบบใช้ฟืนจุดขับเคลื่อนหัวจักร ตอนนั้นพ่อไล่ให้ไปหมอบอยู่ในพุ่มหญ้าและแยกกันหลบเพราะกลัวถูกจับตัวไป ถ้าเขาจับก็ให้เขาจับได้แค่พ่อคนเดียว ตอนรถไฟมาพ่อถามว่าถ้าเขาจับพ่อได้อีหล่าจำทางกลับบ้านได้อยู่ใช่ไหม ตอนนั้นก็บอกพ่อว่าจำได้ เมื่อรถไฟจุดไฟแดงอื้อ รถไฟผ่านก็กลับคืนมาหากัน”

บุญเหลือ เครือวัลย์ (เจ้าบ้าน) บ้านเลขที่ 1 บ้านโคกเจริญ ตำบลเกาะแก้ว อำเภอสำโรงทาบ จังหวัดสุรินทร์

หมู่บ้านร้างครั้งที่ 2 แห้งแล้งประมาณ 7 ปี หลังจากความแห้งแล้งหายไปช่วงหลังมีคนย้ายเข้ามาอาศัยอยู่เพิ่มเป็น 13 ครอบครัว สมัยนั้นข้าว “อึดอยาก”(อดอยาก) เพราะทำนาไม่ได้ โดยข้าวหนึ่งกระสอบป่านมีค่ามากพอสำหรับนำควาย 1 ตัวไปแลก การไปมาหาสู่กันของคนสมัยนั้นใช้วิธีการเดินเท้าเป็นหลัก ส่วนคนที่ฐานะดีใช้วิธีการเดินทางด้วยเกวียนและล้อลาก พบว่า ผู้คนที่เคลื่อนย้ายไปมาหาสู่กันด้วยจุดประสงค์ของการแลกเปลี่ยนอาหารได้มีโอกาสปฏิสัมพันธ์กันแบบเครือญาติ ในพื้นที่ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์และเหมาะสำหรับการลงหลักปักฐานจึงถูกบอกเล่ากันแบบปากต่อปาก จากนั้นจำนวนประชากรและครัวเรือนจึงเริ่มลงหลักปักฐานเป็นหลักแหล่งและขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ประเด็นที่ 3 เริ่มต้นทำ “ตาดทา” ภูมิปัญญา “ข้าวไฮ่” (ข้าวไร่หยอดหลุม) : ผู้คนที่เข้ามาอาศัยอยู่บริเวณนี้ คือ กลุ่มครอบครัวที่รู้จักและไปมาหาสู่กันแบบเครือญาติ เมื่อเห็นว่าความอุดมสมบูรณ์เริ่มกลับคืน “โคก” ผู้คนจึงพากันกลับเข้ามาบุกเบิกที่ดินทำกินและทำนา การทำนาสมัยนั้นใช้วิธีการผลิตเพื่อการยังชีพตามฤดูกาลเรียกว่า “ข้าวไฮ่” (ข้าวไร่หยอดหลุม) คนสมัยนั้นจะใช้วิธีการ “ตาดทา” เป็นการดึงไม้เพื่อเผาดินให้เป็นสีดำปรับหน้าดินให้เหมาะสมและปลูกข้าว เนื่องจากไม่มีมีดพร้าหรือเครื่องจักรทันสมัยให้ใช้

“การตาดทา” เป็นการบุกเบิกพื้นที่ปลูกข้าวไฮ่ โดยการเอาไม้มาลากให้ไฟไหม้ดิน คนจะทำนากันประมาณ 3-4 ไร่ต่อครอบครัว เป็นการทำนาขุดหยอดเมล็ดบริเวณที่โคกสูง ส่วนบริเวณที่ลุ่มต่ำใช้วิธีการดำ” แต่ก่อนทำนามากไม่ได้เพราะมีข้อจำกัดเรื่องน้ำ จึงผลิตเพียงให้พอกินในครอบครัวโดยใช้น้ำจากฤดูฝนในการทำนาปี

พัด เครือวัลย์ (เจ้าบ้าน) บ้านเลขที่ 2 บ้านโคกเจริญ ตำบลเกาะแก้ว อำเภอสำโรงทาบ จังหวัดสุรินทร์

ประเด็นที่ 4 ลงหลักปักฐานขยายบ้านเรือนและประชากร : ครอบครัวที่อาศัยอยู่บริเวณนี้มีทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ลาว และ ชาติพันธุ์กูย หรือส่วย จำนวน 13 หลัง เช่น แม่ใหญ่ใบ พ่อใหญ่เก้า พ่อใหญ่วัน และพ่อใหญ่สาว ได้ยึดอาชีพปลูกข้าวไร่ ปอ ถั่วดิน และมันสะหลาง ผลผลิตที่ได้ส่วนใหญ่บริโภคและใช้ในครัวเรือน ส่วนที่เหลือนำไปขายที่ ตลาดบ้านกะลัน และ ตลาดพังบู (หนองไผ่ล้อม) อีกทั้ง พบว่า การก่อตั้งหมู่บ้านอาศัยสภาพภูมิศาสตร์ที่เป็นโคกสูงในการทำนาข้าวไร่และล่าสัตว์ป่าเป็นอาหาร ซึ่ง บุญเหลือ เครือวัลย์ กล่าวว่า “สมัยนั้นมีโจรมากเพาะแถบนี้เป็นป่าเป็นดงโจรจะขโมยวัวควายไปฆ่ากิน” ในจุดที่เรียกว่า “แตน” (แปน) หรือ ที่โล่งกลางป่า มองจากภายนอกเห็นเป็นป่ารกทึบแต่ข้างในเป็นพื้นที่โล่งเตียน มีสิ่งปลูกสร้างเป็นเพิงที่ทำจากไม้ไผ่ ไม้ทั่วไป หรือใบมะพร้าว การมีเพิงจะเป็นที่รู้กันว่าเป็นซุ่มโจรที่ขโมยวัวควายมาฆ่าเพื่อยังชีพ หลังจากฆ่าจะมีการแจกจ่ายให้กับกลุ่มญาติ และทำใส่ไหไว้แจกญาติพี่น้อง ไม่ใช่โจรโดยสันดานแต่เป็นโจรเพื่อการยังชีพ ทั้งฆ่าวัวป่าและวัวเลี้ยงชาวบ้านที่โจรขโมยมาฆ่า คนสมัยนั้นไม่นิยมฆ่าควายแต่จะขายควายให้กับ “นายฮ้อย” ควาย 1 ตัวขายประมาณ 1 ตำลึง แต่ก่อนใช้เงินตางแดง ตางหนึ่ง ตางสอง ตางอัด และเงินเหรียญบาทใหญ่” นอกจากนั้น การลงหลักปักฐานและอาศัยอยู่ของผู้คนอาศัยแหล่งน้ำสำคัญอย่างน้อย 4 แห่ง ได้แก่ หนองหว้า หนองเม็ก หนองไร่ และหนองตาซุน โดย “หนองหว้า” เป็นหนองน้ำที่มีต้นไม้ท้องถิ่นคือ “ลูกหว้า” และเป็นที่ใช้ประโยชน์จึงถูกใช้ตั้งเป็นชื่อหมู่บ้านตามกลุ่มคนบุกเบิก และภายหลังเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านใหม่เป็น “โคกเจริญ” คำว่า “โคก” มาจากภูมิศาสตร์พื้นที่สูง และ คำว่า “เจริญ” มาจากนามสกุลของผู้ใหญ่บ้านคนแรก คือ นายพุฒิ จิตรเจริญ ปัจจุบัน บ้านโคกเจริญมีผู้ใหญ่บ้านทั้งสิ้น 7 คน ได้แก่ ผู้ใหญ่พุฒิ จิตรเจริญ ผู้ใหญ่ท่อน ชัยโชติ ผู้ใหญ่ประเสริฐ วันโสภา ผู้ใหญ่เกตุ จันทร์เทศน์ ผู้ใหญ่เขียน ชัยโชติ ผู้ใหญ่ต่วน วุฒิยาสาร และ ผู้ใหญ่เพชร วันโสภา (ปัจจุบัน)

ลงหลักปักฐานขยายบ้านเรือนและประชากร ตลาดและการค้าเชื่อมโยงอีสานและลุ่มน้ำโขง…

ประเด็นที่ 5 ตลาดและการค้าเชื่อมโยงอีสานและประเทศลุ่มน้ำโขง : ผู้คนสมัยนั้นนิยมปลูกปอ ถั่วดิน มันสะหลาง และข้าวไร่ เพื่อนำไปขายที่ตลาดบ้านกะลันและตลาดพังบู (หนองไผ่ล้อม) ใช้วิธีการเดินทางด้วยการหาบเดินเท้าไปขาย สมัยนั้น คนที่ใช้เกวียนส่วนใหญ่เป็นคนรวย เพราะการทำเกวียนต้องใช้ฝีมือของช่างประดิษฐ์ ซึ่ง บุญเหลือ เครือวัลย์ กล่าวว่า “เคยหาบปอไปขาย การเดินทางจะไปครั้งละ 2-3 คน ขายได้กิโลกรัมละ 6 สลึง ขายให้กลุ่มคนจีนและพ่อค้าที่เปิดตลาดตามเส้นทางรถไฟที่ ตลาดศรีขรฯ ตลาดบ้านกะลัน ตลาดพังบู (หนองไผ่ล้อม) ตอนนั้นพากันออกเดินทางตี 1 ห่อข้าวออกไปกินข้างหน้า เอาของไปขายแล้วซื้อปลาทูเค็มกับปลาแดกเขมรกลับมา สมัยก่อนมีทั้งสินค้าเมืองลาวกับเขมร” เพราะพื้นที่บริเวณนี้เป็นป่ารกและแหล่งน้ำไม่เหมาะกับการประมงจึงจับปลาได้เพียงช่วงน้ำหลากฤดูฝนเท่านั้น การซื้อปลาทูเค็มและปลาแดกเขมรเพื่อที่จะนำมาเก็บไว้เป็นกับข้าว พัด เครือวัลย์ กล่าวว่า “แหล่งน้ำเป็นพื้นที่รกไม่มีคนกล้าเข้าไปใกล้มาก สมัยก่อนกินข้าวกับเกลือต้มที่เขามาขายเป็นกะทอ และหากินอาหารทั่วไป คือ หอยโสก เขียดจีนา เขียดทราย หอยจูบ หอยโข่ง” “แต่ก่อนปลาทูเค็มถือเป็นอาหารที่ดีที่สุดของคนจนและปลาทูนึ่งอาหารของคนรวย”

เส้นทางการแลกเปลี่ยนข้ามพรมแดนแผนที่ เชื่อมโยงผู้คน สินค้า และและวิถีชีวิตผ่านเรื่องเล่าปลาแดก เกลือสินเธาว์ และ นายฮ้อย…

ประเด็นที่ 6 เส้นทางการแลกเปลี่ยนข้ามพรมแดนและแผนที่ : หากเปรียบเทียบกับหมู่บ้านหลายแห่งในอีสานแถบนี้ พบว่า บ้านหนองหว้า (โคกเจริญ) ถือเป็นหมู่บ้านใหม่ เนื่องจากกลุ่มบุกเบิกได้ออกเดินทางเรื่อยมาจาก จำปาสัก-อุทุมพร-บ้านอาโพน-บ้านหนองหว้า แต่พบว่า ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมของผู้คนกลับเชื่อมโยงไกลไปถึงหมู่บ้านแห่งอื่นในภาคอีสาน และภาคเหนือ และกว้างออกไปถึงประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง คือ เวียดนาม ลาว และเขมร สะท้อนผ่านเรื่องเล่าเกี่ยวกับ ปลาแดก เกลือสินเธาว์ และ นายฮ้อย

ปลาแดกเขมรและเกลือสินเธาว์ จิตรอนงค์ เลิศเกียรติอนันต์ กล่าวถึงเรื่องราวของพ่อ คือ นายสาน จินพละ เกิดและเติบโตที่เขมรแล้วภายหลังได้กลับมาอยู่ที่ไทย กล่าวคือ นายสาน มีแม่เป็นคนบ้านคาละแมะ (อำเภอศีขรภูมิปัจจุบัน) พ่อมาขายปลาแดกเขมรจึงตกหลุมรักแม่และสู่ขอกันไปอยู่กันที่เมืองพระตะบอง ประเทศเขมร จากนั้น หลังจากที่พ่อของนายสาน เสียชีวิตแม่ได้พากลับมาอยู่ที่ไทย “คนเขมรจะขับเกวียนมาขายปลาแดกและแถวนี้แต่ก่อนมีการขูดเกลือ พ่อเป็นคนมาขายปลาแดกเขมรและได้รักกันแล้วไปอยู่เขมร จึงไม่พากลับมาอยู่บ้านคืน เขมรมาขายปลาแดกขนมาเป็นปี๊บ” (บ้านหนองหว้าห่างจากบ้านคาละแมะประมาณ 30 กิโลเมตร) ขณะที่ บ้านหนองหว้าเป็นที่ป่ารกทึบและไม่มีน้ำขังพอให้จับปลา จะได้จับปลาแค่ช่วงฤดูน้ำหลาก สมัยหนึ่งแล้งจนต้องนั่งต่อคิวเอากะต่าไม้ไผ่เคลือบด้วยขี้ซีไปรอตักน้ำ ปลาแดกเขมรไม่เหมือนกับปลาแดกอีสาน หน้าตาของปลาแดกเขมรเป็นปลาขาวสะอาด ส่วนของคนแถบนี้เป็นปลาแดกที่มีตัวสีแหล่ (ดำคล้ำ) ของเขมรเขาใช้แป้ง ส่วนของบ้านเราใช้ข้าวคั่วกับรำเป็นส่วนผสม” ประภาส วังนุราช กล่าวว่า “บ้านเราเริ่มเกิดการสร้างฝายบ้านเกาะแก้วในภายหลัง สมัยนั้นเห็นว่าเป็นพื้นที่แห้งแล้งไม่มีพื้นที่กักขังกักเก็บน้ำ” แม้จะพบว่า หลังการกั้นฝายมีน้ำเริ่มมีการทำปลาแดกและทำปลาแดกไว้รับประทานมากขึ้น แต่ บุญเหลือ เครือวัลย์ สะท้อนว่า สามารถจับปลาได้ตามธรรมชาติในฤดูน้ำหลากและภูมิปัญญามีมานานแล้ว ตั้งแต่สมัยพ่อแม่ยังไม่อพยพมา เพราะพื้นที่แถบนี้แห้งแล้งจึงไม่ค่อยมีปลามากพอสำหรับทำปลาแดก”

นายฮ้อย ทองมั่น นนทวงศ์ กล่าวว่า เคยได้ยินพ่อใหญ่คำแปง ภูกอง อายุ 102 ปี พ่อตาของน้องชายที่ไปแต่งงานกับคนน่าน เล่าว่า แต่ก่อนที่ต้มเกลือเหมือนเป็นแหล่งทองคำมหาศาล การต้มเกลือเป็นความรู้ของจีน เคยได้ยินมาว่าคนน่านได้รับการถ่ายทอดความรู้เรื่องการต้มเกลือจากคนจีน มีการแบ่งหักสัดส่วนค่าตอบแทนกันคนละครึ่ง คนจีนให้ความรู้ คนน่านเป็นคนทำ แล้วหักเงินแบ่งกัน แต่ปัจจุบันเรียกว่าเป็นภูมิปัญญาของเราไปแล้ว ได้ยินเพิ่มอีกว่านายฮ้อยที่ไปหาซื้อขายวัว-ควาย คือ กลุ่มคนที่เดินทางไกลและได้ความรู้เกี่ยวกับการต้มเกลือมาจากน่าน จากแถวนี้ จากเขมร แล้วเอามาเผยแพร่กันเรื่อยๆ ตามเส้นทางของนายฮ้อยที่ไปมาหากันตั้งแต่เขมร-ชุมชนแถบนี้-น่าน-ลาว-เวียดนาม นายฮ้อยเคลื่อนไหลไปกับขบวนเกวียนครั้งละ 3-4 เดือน “เหมือนกับหนังนายฮ้อยทมิฬนั่นแหละ” เพราะสมัยก่อนมีวิชาอาคมกับการเดินทางค้าขายวัวควายไปได้ไม่มีการกั้นเขตแดนแบ่งประเทศ”

ภาพ นายฮ้อยทมิฬ โดย คำพูน บุญทวี

ขณะที่ ผู้เขียนพบว่า แหล่งผลิตเกลือที่ยังมีให้พบเห็นตามเรื่องเล่าเกลือลุ่มน้ำน่าน โดย องค์ความรู้จากสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ กล่าวถึง สายแร่ธาตุอยู่ใต้แนวลำน้ำน่านและลำน้ำมาง เป็นบ่อเกลือที่มีความสำคัญมาตั้งแต่โบราณ อย่างน้อยตั้งแต่พุทธศตวรษที่ 20–21 เกลือเป็นทรัพยากรสำคัญที่มีการแย่งชิงครอบครอง [1] หรือ แหล่งผลิตเกลือลุ่มน้ำสงคราม สกลนคร ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดสกลนคร หนองคาย และนครพนม [2] และ งานวิจัยไทบ้านได้กล่าวถึงแหล่งผลิตเกลือลุ่มน้ำมูลกระจายอยู่ทั่วไปในลุ่มแม่น้ำมูลและชุมชนแถบนี้ [3]

ประเด็นสุดท้าย “ศาลาคือโรงเรียน” กับการเข้ามาของระบบการศึกษา : พัด เครือวัลย์ สะท้อนว่า ชุมชนแถบนี้ไม่มีโรงเรียนเหมือนปัจจุบัน คนที่ได้เรียนจะต้องเดินไปเรียนที่บ้านตะมะ ห่างจากบ้านอาโพนประมาณ 5 กิโลเมตร ส่วนที่เรียกว่าห้องเรียนแท้ที่จริงเป็นศาลาที่ชาวบ้านสร้างไว้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา พื้นศาลาปูด้วยแผ่นไม้ เพื่อนๆ ที่มาเรียนรวมตั้งแต่ ป.1-4 มีประมาณ 30 คน เดินทางมาจากบ้านอาโพน บ้านตะมะ บ้านเพ็ก บ้านนานวน ครูทั้งโรงเรียนมีแค่ 2 คน เรียกว่า ครูใหญ่ และ ครูน้อย ทุกคนที่ไปเรียนจะให้พ่อแม่ทำโต๊ะเล็กๆ สำหรับนั่งเรียน โดยแบกไปจากบ้านของตัวเอง ทั้งโรงเรียนไม่มีใครมีหนังสือนอกจากครู การเรียนการสอนดำเนินโดยครู 2 คนที่สอนวนกันไปทุกชั้น เขียนเนื้อหาที่สอนใส่กระดานดำด้วยดินสอหิน “แต่ก่อนเขาสอนแค่พอให้อ่านออกเขียนได้ มีวิชาอ่าน เขียน และเลขเท่านั้น คนสมัยก่อนไม่ค่อยเห็นความสำคัญเกี่ยวกับการเรียนมากนัก ผู้ชายจะมีโอกาสได้เรียนมากกว่าผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็นเจ๊ก (จีน) หรือ ลาวก็ให้ความสำคัญกับลูกชายมากกว่า เขามองว่าผู้หญิงเรียนไปสุดท้ายก็เอาผัวและไปดูแลแม่ย่า” ขณะเดียวกันพบอีกว่า เนื่องจากการไปเรียนต้องแบกรับค่าใช้จ่ายครอบครัวที่ลูกได้รับโอกาสด้านการศึกษาส่วนใหญ่เป็นครอบครัวที่พออยู่พอกินและฐานะดี

ภาพ ภาพยนตร์เรื่อง ครูบ้านนอก กำกับโดย สุรสีห์ ผาธรรม

ภาพบรรยากาศ Thaiban FORUM (ไทบ้านฟอรั่ม)

หมายเหตุ : ผู้เข้าร่วมหลัก คือ “ไทบ้าน” Speaker หลัก คือ ไทบ้าน เน้นการแลกเปลี่ยนสนทนาแบบเป็นกันเอง ผู้เข้าร่วมทุกคนสามารถแบ่งปันเรื่องราวเติมเต็มซึ่งกันและกัน ทั้งเด็ก วัยกลางคน และผู้เฒ่า ถือข้าวปลาอาหารมาร่วมรับประทานในวงพาแลง ย้อนสร้างบรรยากาศวงพูดคุยแบบชาวบ้านสมัยก่อนที่มักจะเล่านิทานก้อมหรือเรื่องเล่าต่างๆ สู่ลูกหลานฟังอย่างไม่เป็นทางการผ่านวงพาแลง ผู้ที่สนใจสามารถติดตามเรื่องราวเพิ่มเติม EP ถัดไปที่ เฟสบุ๊คแฟนเพจ Thaiban FORUM (ไทบ้านฟอรั่ม) : พื้นที่แห่งการสื่อสารและเสียงของไทบ้าน.

อ้างอิงข้อมูล

[1] กรมศิลปากร, พงศวดารเมืองน่าน ฉบับวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร (น่าน : สำนักศิลปากรที่ ๗ น่าน กรมศิลปากร, 2557), 18. เว็บไซต์ สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่. เข้าใช้ข้อมูลเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2567.

[2] แหล่งผลิตเกลือสมัยโบราณลุ่มน้ำสงคราม. เว็บไซต์ https://www.lek-prapai.org/home/view.php?id=879. เข้าใช้ข้อมูลเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2567.

[3] งานวิจัยไทบ้าน. สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต. เว็บไซต์ https://www.livingriversiam.org/5pub/print.html#rasi. เข้าใช้ข้อมูลเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2567.

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ