‘7 ปีที่รอคอย’ ของคนเวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี เตรียมสร้าง ‘บ้านมั่นคง’ โครงการ 3 รวม 182 ครอบครัว

‘7 ปีที่รอคอย’ ของคนเวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี เตรียมสร้าง ‘บ้านมั่นคง’ โครงการ 3 รวม 182 ครอบครัว

สมาชิกสหกรณ์บ้านมั่นคงทวีสุขเวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี  ประชุมเมื่อเร็วๆ นี้เพื่อเตรียมสร้าง ‘บ้านมั่นคง’ หลังใช้เวลารวมกลุ่มกันมานาน 7 ปี

จ.สุราษฎร์ธานี /  ‘7 ปีที่รอคอย’…คนเวียงสระ 182 ครอบครัว  เตรียมสร้าง ‘บ้านมั่นคง’ เป็นบ้านแฝดชั้นเดียวและบ้านแถว 2 ชั้น หลังจากเริ่มรวมกลุ่มผู้เดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัย-ชาวบ้านที่โดนไล่ที่ตั้งแต่ปี 2560  โดยจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นทุนซื้อที่ดิน 16 ไร่เศษ  ได้รับการสนับสนุนสินเชื่อและเงินอุดหนุนจาก ‘พอช.’  เตรียมสร้างบ้านเฟสแรกเร็วๆ นี้  ประเดิม 100 หลัง พร้อมทั้งมีแปลงปลูกผักรวมเพื่อลดรายจ่ายเพิ่มรายได้  และพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวชุมชนให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข…!!

            พื้นที่ในเขตเทศบาลตำบลเวียงสระ  อำเภอเวียงสระ  จังหวัดสุราษฎร์ธานี   เป็นย่านเศรษฐกิจที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัด  เป็นที่ตั้งของธนาคาร  ห้างร้าน  ร้านทอง  วัสดุก่อสร้าง  ตลาดสด  สถานีรถไฟ  รถโดยสาร   ฯลฯ  จึงมีผู้คนจากทั่วสารทิศเข้ามาอยู่อาศัยและทำกิน

ส่วนใหญ่ทำงานรับจ้าง ลูกจ้างร้านค้า  รับจ้างทำสวน  กรีดยางพารา  ค้าขายรายย่อย  ขายอาหาร  ฯลฯ  ไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง  บ้างเช่าบ้านอยู่  จำนวนไม่น้อยสร้างบ้านบุกรุกที่ดินรัฐ  โดยเฉพาะที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)  เพราะมีเส้นทางรถไฟสายใต้ผ่านอำเภอเวียงสระ จึงเสี่ยงต่อการถูกไล่ที่  ไม่มีความมั่นคงในที่ดินที่อยู่อาศัย  มีผู้ที่เดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยหลายร้อยครอบครัว

พื้นที่ในเขตเทศบาลตำบลเวียงสระมีประชาชนที่มีรายได้น้อยขาดแคลนที่อยู่อาศัยจำนวนมาก

บ้านมั่นคงเวียงสระโครงการ 1-2

ชาติชาย  กิจธิคุณ  กรรมการเครือข่ายที่อยู่อาศัยเมืองเวียงสระ  บอกว่า  จากปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยดังกล่าว   ชาวเวียงสระจึงได้เริ่มรวมตัวแก้ไขปัญหาตั้งแต่ปี 2549  โดยได้รับการสนับสนุนจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ ตามโครงการ ‘บ้านมั่นคง’ (พอช.เริ่มโครงการบ้านมั่นคงทั่วประเทศในปี 2546)

โดยเจ้าหน้าที่ พอช. เข้ามาให้คำแนะนำ  สนับสนุนให้ชุมชนจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาทำงาน  ร่วมกันสำรวจข้อมูล  รวบรวมผู้ที่เดือดร้อน  อยากจะมีบ้านเป็นของตัวเอง  ส่วนใหญ่ปลูกสร้างบ้านอยู่ในที่ดิน รฟท. รวม 5 ชุมชน   ร่วมกันออมทรัพย์รายเดือนเพื่อเป็นทุน  ครอบครัวหนึ่งอย่างต่ำเดือนละ 500-600 บาท  ใครมีมากก็ออมมาก  และจดทะเบียนเป็นสหกรณ์ เพื่อให้มีสถานะเป็นนิติบุคคลเพื่อทำนิติกรรมต่างๆ เช่น  ซื้อที่ดิน  ขอสินเชื่อจาก พอช.

ต่อมาจึงได้ร่วมกันหาซื้อที่ดินเอกชนในเขตเทศบาลตำบลเวียงสระ  เนื้อที่ประมาณ 3 ไร่  2 งาน  รองรับผู้เดือดร้อนได้  44 ครอบครัว  จัดทำโครงการบ้านมั่นคงขึ้นมา  ถือเป็นโครงการแรกในอำเภอเวียงสระ  โดยจดทะเบียนเป็นสหกรณ์เพื่อบริหารจัดการโครงการ  ใช้ชื่อว่า ‘สหกรณ์บริการบ้านมั่นคงเวียงสระ จำกัด’   โดย พอช.สนับสนุนสินเชื่อซื้อที่ดินและสร้างบ้าน  รวมประมาณ 10 ล้านบาท  สนับสนุนระบบสาธารณูปโภค  ถนน  น้ำประปา  ไฟฟ้า  ฯลฯ ประมาณ 1.5 ล้านบาทเศษ

สร้างบ้านแถว 2 ชั้น  ขนาด 5X9 ตารางเมตร  ราคาประมาณหลังละ 210,000 บาท  ผ่อนประมาณเดือนละ 2,100 บาท  สร้างเสร็จ 44 หลังในปี 2553  โดยนายสุเทพ  เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี  และนายอิสสระ  สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในขณะนั้น  เป็นประธานการมอบบ้านในเดือนมกราคม 2553  (ปัจจุบันชาวบ้านส่วนใหญ่ชำระสินเชื่อซื้อที่ดินและสร้างบ้านหมดแล้ว)

หลังจากนั้นจึงมีโครงการบ้านมั่นคง  โครงการที่ 2  เพราะในเขตเทศบาลตำบลเวียงสระยังมีผู้เดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยอีกมาก  โดยโครงการที่ 2 มีชาวบ้านที่เดือดร้อนจำนวน 86 ครอบครัว  ได้รวมตัวกันจัดทำโครงการบ้านมั่นคงใช้ชื่อ ‘สหกรณ์บริการบ้านมั่นคงเปี่ยมสุขเวียงสระ  จำกัด’ (เริ่มรวมตัวออมทรัพย์ในปี 2551)

ต่ออมาได้จัดซื้อที่ดินในเขตเทศบาลเวียงสระ  เนื้อที่ประมาณ 6 ไร่เศษ  ราคาประมาณ 5.4 ล้านบาท  เริ่มก่อสร้างบ้านในปี 2555  ขนาดที่ดินครอบครัวละ 4.20 เมตร x  9 เมตร  ส่วนใหญ่เป็นบ้านแถวแบบทาวน์เฮ้าส์  ขนาด  2 ชั้น  โดยเทศบาลตำบลเวียงสระและ พอช.สนับสนุนงบประมาณด้านสาธารณูปโภค  และ พอช.ให้สินเชื่อเพื่อซื้อที่ดินและก่อสร้างบ้าน  ผ่อนชำระประมาณเดือนละ 2,200 บาท  สร้างบ้านเสร็จทั้งหมดในปี 2560

บ้านมั่นคงโครงการ 2 จำนวน 86 ครอบครัว  สร้างเสร็จตั้งแต่ปี 2560

รวมกลุ่มบ้านมั่นคงโครงการ 3 ตั้งแต่ปี 2560

จากรูปธรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยตามโครงการบ้านมั่นคงในอำเภอเวียงสระทั้ง 2 โครงการ  จึงทำให้เกิดบ้านมั่นคงโครงการที่ 3 ตามขึ้นมา  โดยเฉพาะชาวชุมชนที่ถูกขับไล่ออกจากแนวทางการพัฒนารางรถไฟในปี 2560  กว่า 20 ครอบครัว

พันธัช  จันทร์แจ่มศรี  แกนนำโครงการบ้านมั่นคงโครงการ 3 ในฐานะ ‘ประธานสหกรณ์บริการบ้านมั่นคงทวีสุขเวียงสระ จำกัด’  บอกว่า  โครงการบ้านมั่นคงทั้ง 2 โครงการ  ทำให้คนจนในเมืองเวียงสระมีที่อยู่อาศัยมั่นคงเป็นของตัวเอง  จำนวน 130 ครอบครัว  แต่ในอำเภอเวียงสระยังมีคนที่ไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเองมีจำนวนมาก มีทั้งคนที่อยู่บ้านเช่า  ครอบครัวขยาย  บ้านเรือนแออัดทรุดโทรม  สร้างบ้านในที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย

บ้านที่บุกรุกสร้างในที่ดินการรถไฟฯ ถูกรื้อย้ายในปี 2560

ขณะเดียวกันในช่วงต้นปี 2560 มีชุมชนที่อาศัยอยู่ในที่ดินของการรถไฟฯ ในอำเภอเวียงสระ  ถูกไล่ที่  โดนรื้อบ้าน    ตัวแทนผู้เดือดร้อนจึงได้ร่วมกันสำรวจข้อมูลและรวมกลุ่มคนที่เดือดร้อนเพื่อจะจัดทำโครงการบ้านมั่นคงขึ้นมา  เป็นโครงการที่ 3   ซึ่งตอนแรกมีคนที่เดือดร้อนแจ้งความต้องการจะเข้าร่วมประมาณ 350 ครอบครัว  โดยให้ครอบครัวที่เข้าร่วมๆ กันจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์  ออมเงินเป็นรายเดือนๆ ละ 600 บาท  เพื่อเป็นทุนในการดำเนินงาน  เริ่มออมในเดือนกันยายน 2560

นอกจากนี้ในการจัดทำโครงการบ้านมั่นคง  ตามเงื่อนไขของ พอช.  ชาวบ้านจะต้องร่วมกันออมเงินให้ได้อย่างน้อย 10 เปอร์เซ็นต์ของสินเชื่อที่จะขอใช้ในการซื้อที่ดินหรือก่อสร้างบ้าน  เช่น  หากจะใช้สินเชื่อจาก พอช. เพื่อก่อสร้างบ้านและซื้อที่ดินรายละ 300,000 บาท  สมาชิกที่เข้าร่วมจะต้องออมเงินให้ได้รายละ 30,000 บาท  หากมีสมาชิกเข้าร่วม 100 ราย  จะต้องมีเงินออมร่วมกันจำนวน 3 ล้านบาท  แต่เมื่อต้องใช้ระยะเวลาในการออมเงินนาน 3-4 ปี  โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เกิดผลกระทบเรื่องปากเรื่องท้อง  รายได้ลดน้อยลง  บางคนตกงาน  จึงทำให้เหลือผู้เข้าร่วมและออมทรัพย์อย่างสม่ำเสมอจำนวน 182 ครอบครัวที่มีความต้องการจะทำโครงการบ้านมั่นคงต่อไป

พันธัช’ แกนนำบ้านมั่นคง (ซ้าย)สำรวจข้อมูลครอบครัวที่เดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัย

ในปี 2564  แกนนำโครงการบ้านมั่นคงร่วมกันตระเวนดูแปลงที่ดินที่เหมาะสมในอำเภอเวียงสระ  พบที่ดินเป็นสวนยางพาราอยู่ในเขตเทศบาลตำบลบ้านส้อง  เนื้อที่ 16 ไร่  3 งานเศษ สามารถรองรับสมาชิกได้ทั้ง 182 ครอบครัว อยู่ห่างจากย่านธุรกิจการค้าในอำเภอเวียงสระเพียง 1 กิโลเมตรเศษ  ซึ่งถือว่ามีความเหมาะสม  เพราะสมาชิกที่เข้าร่วมส่วนใหญ่ต่างทำมาหากินอยู่ในตัวเมือง  ราคาขายทั้งแปลง 6.5 ล้านบาท  (ไร่ละประมาณ  386,000 บาท) จึงทำสัญญาจะซื้อจะขาย

หลังจากนั้นในเดือนสิงหาคม 2565  แกนนำจึงร่วมกันจดทะเบียนเป็นสหกรณ์เพื่อเตรียมทำนิติกรรมซื้อที่ดินในนามสหกรณ์  ใช้ชื่อว่า “สหกรณ์บริการบ้านมั่นคงทวีสุขเวียงสระ  จำกัด” มีคณะกรรมการสหกรณ์จำนวน 11 คน  โดยมีพันธัช  จันทร์แจ่มศรี เป็นประธานสหกรณ์  และซื้อที่ดินในเดือนธันวาคมปีเดียวกันเพื่อเตรียมทำโครงการบ้านมั่นคง  โดยใช้เงินของสหกรณ์ที่สมาชิกร่วมกันออมทรัพย์มาเป็นเวลานานกว่า 5 ปี  จำนวน 650,000 บาท  (เงินออมรวมกันปัจจุบันประมาณ 11 ล้านบาท) และสินเชื่อซื้อที่ดินจาก พอช. จำนวน 5,850,000 บาท

อีก 1 ปีต่อมา  ในเดือนสิงหาคม 2566  จึงมีพิธียกเสาเอกเพื่อเอาฤกษ์เอาชัยตามความเชื่อและเพื่อความเป็นสิริมงคลของสมาชิกโครงการบ้านมั่นคง  

พิธียกเสาเอกเดือนสิงหาคม 2566

7 ปี…บ้านมั่นคงทวีสุขเวียงสระ”

‘โครงการบ้านมั่นคงสหกรณ์บริการบ้านมั่นคงทวีสุขเวียงสระ  จำกัด’  จัดสรรแบ่งแปลงที่ดินออกเป็น 182 แปลง/ครอบครัว  ขนาดที่ดินตามความต้องการของสมาชิกและความสามารถในการผ่อนชำระ  ที่ดินมีขนาดตั้งแต่ 15.75 – 52 ตารางวา  เป็นที่อยู่อาศัยทั้งหมดประมาณ  4,000 ตารางวา  พื้นที่ส่วนกลางประมาณ 2,600 ตารางวา  (เฉลี่ยตารางวาละ 966 บาท) เพื่อก่อสร้างถนน  สาธารณูปโภค  อาคารอเนกประสงค์  สวนหย่อม  สนามเด็กเล่น  และแปลงปลูกผักรวม

ตามผังโครงการจะมีการก่อสร้างบ้านแฝดชั้นเดียว  ขนาด 6X7 ตารางเมตร จำนวน 28 หลัง  ราคาก่อสร้างหลังละ 255,840  บาท  บ้านแฝด 2 ชั้น  ขนาด 4X8 ตารางเมตร  จำนวน 144 หลัง  ราคาก่อสร้างหลังละ  387,200 บาท  และบ้านแถว 2 ชั้น  ขนาด 4X8 ตารางเมตร  จำนวน 40 หลัง  ราคาหลังละ  374,170 บาท

โดยสหกรณ์จัดทำโครงการบ้านมั่นคงเพื่อเสนอขอใช้สินเชื่อก่อสร้างบ้านจาก พอช. ในเดือนธันวาคม 2565  จำนวน 60 ล้านบาทเศษ  และได้รับอนุมัติในหลักการในช่วงต้นปี 2566  พร้อมทั้งงบอุดหนุนและงบก่อสร้างสาธารณูปโภคทั้งหมดประมาณ  13.6 ล้านบาท   (พอช.อุดหนุนการก่อสร้างบ้านครอบครัวละ 30,000 บาท  และงบก่อสร้างสาธารณูปโภคส่วนกลางครอบครัวละ 45,000 บาท)

พันธัช  จันทร์แจ่มศรี   ประธานสหกรณ์บริการบ้านมั่นคงทวีสุขเวียงสระ  บอกว่า  แม้จะจัดซื้อที่ดินและมีพิธีลงเสาเอกเอาฤกษ์เอาชัยไปแล้วตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา  แต่ก็ยังมีความล่าช้าในการดำเนินงานหลายประการ   ทำให้โครงการบ้านมั่นคงที่ล่าช้าออกไปเกือบ 1 ปีมีต้นทุนวัสดุค่าก่อสร้างสูงขึ้นจากเดิมที่เคยคำนวณเอาไว้ในช่วงปลายปี 2565  เช่น  จากเดิมบ้านแฝดชั้นเดียว ขนาด 6X7 ตารางเมตร  ราคาก่อสร้างหลังละ 255,840  บาท  ปัจจุบันราคาเพิ่มขึ้น 24,125 บาท  เป็น  279,965 บาท

ส่วนสินเชื่อการก่อสร้างบ้านที่ พอช.สนับสนุนการก่อสร้างบ้านนั้น เฉลี่ยประมาณครอบครัวละ 250,000-310.000 บาท (ตามขนาดบ้านและที่ดิน) ผ่อนชำระประมาณเดือนละ 2,500-3,000 บาท  ระยะเวลาผ่อนชำระ 15 ปี

อย่างไรก็ตาม  ล่าสุดเมื่อวันที่ 14 มกราคมที่ผ่านมา  มีการประชุมร่วมกันระหว่างคณะกรรมการสหกรณ์ฯ  และสมาชิกโครงการบ้านมั่นคงกับเจ้าหน้าที่ พอช. ที่ศาลาการเปรียญ  วัดบ้านส้อง  อ.เวียงสระ  เพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องแนวทางการบริหารการก่อสร้างบ้านมั่นคงให้แล้วเสร็จโดยเร็ว  เพราะโครงการนี้มีการริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2560  จนถึงปัจจุบันเป็นเวลาเกือบ 7 ปี…!!

ประชุมแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อเตรียมฝึกให้สมาชิกทุกคนมีส่วนร่วมในการบริหารงานก่อสร้างบ้าน

พันธัช บอกว่า  ผลจากการประชุมดังกล่าว ทำให้ได้ข้อตกลงร่วมกันว่า  สหกรณ์ฯ จะออกประกาศเชิญชวนให้บริษัทรับเหมาก่อสร้างเข้ามาซื้อซองประกวดราคาในช่วงกลางเดือนมกราคมนี้  หลังจากนั้นในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์จะเปิดให้มีการยื่นซองประกวดราคา  โดยบริษัทที่มีเงื่อนไขที่ดีที่สุดและราคาต่ำสุดจะได้รับการคัดเลือก  และทำสัญญารับเหมางานก่อสร้างภายใน 15 วันหลังประกาศผล  และคาดว่าภายในเดือนมีนาคม 2567 นี้จะเริ่มงานก่อสร้างได้

“ตามแผนงานเราจะสร้างบ้านเฟสแรก 100 หลังจากทั้งหมด 182 หลัง  เป็นบ้านแฝดชั้นเดียว  28 หลัง  และบ้านแฝด 2 ชั้น  72 หลัง  ใช้ระยะเวลา 180 วัน  หรือจะแล้วเสร็จภายใน 6 เดือน  หลังจากนั้นจึงจะสร้างบ้านที่เหลือต่อไป  ซึ่งในระหว่างการก่อสร้างบ้านเราจะให้สมาชิกทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารและดูแลการก่อสร้าง  โดยแบ่งสมาชิกเป็นกลุ่มย่อยจำนวน 27 กลุ่มๆ ละ 6-10 คน  และแบ่งหน้าที่กันทำงาน  เช่น  ดูแลด้านการก่อสร้าง  ด้านการเงิน  ประสานงาน  เพื่อให้การก่อสร้างแล้วเสร็จและเป็นไปตามสัญญา”

ประธานสหกรณ์บอกและว่า  การให้สมาชิกทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมยังเป็นการฝึกการบริหารจัดการโดยชาวชุมชนเอง และยังเป็นการเตรียมให้สมาชิกคนอื่นๆ ได้เข้ามาเป็นคณะกรรมการสหกรณ์เพื่อช่วยกันบริหารงาน  เพราะคณะกรรมการสหกรณ์แต่ละชุดจะมีวาระการทำงานครั้งละ 2 ปี  จึงต้องเตรียมคนรุ่นใหม่ๆ ให้เข้ามาช่วยกันทำงาน

“นอกจากนี้  โครงการบ้านมั่นคงของเรายังได้แบ่งพื้นที่ส่วนกลางเพื่อใช้ประโยชน์ต่างๆ  โดยเฉพาะพื้นที่แปลงปลูกผักส่วนกลาง  เนื้อที่ประมาณ 2 ไร่เศษ  เพื่อให้สมาชิกช่วยกันปลูกผักสวนครัวเอาไว้กิน  ช่วยลดรายจ่าย และนำไปขาย รายได้แบ่งผู้ปลูก และแบ่งกำไรส่วนหนึ่งเข้าสหกรณ์ มีสวนหย่อมเพื่อพักผ่อนและออกกำลังกาย  มีลานกิจกรรมสำหรับเด็กๆ  รวมทั้งจะมีการส่งเสริมอาชีพ  ดูแลคุณภาพชีวิตชาวชุมชนให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขตลอดไป”

ที่ดิน 16 ไร่เศษที่จะสร้างบ้านมั่นคงในเร็วๆนี้ของชาวเวียงสระ…สิ้นสุดการรอคอยตลอดช่วง 7 ปีที่ผ่านมา

เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ