บ้านมั่นคงชนบท ‘น้ำพางโมเดล’ จ.น่าน “ที่ดินคือชีวิต”…เส้นทางสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน !!

บ้านมั่นคงชนบท ‘น้ำพางโมเดล’ จ.น่าน “ที่ดินคือชีวิต”…เส้นทางสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน !!

ตำบลน้ำพาง  อ.แม่จริม  จังหวัดน่าน  อยู่ห่างจากตัวเมืองน่านไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 50 กิโลเมตร  และอยู่ไม่ไกลจากชายแดนประเทศลาว  ในยุคสงครามระหว่างอำนาจรัฐกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) เมื่อราว 40-50 ปีก่อน  อำเภอแม่จริมถือเป็นพื้นที่ ‘สีชมพู’ หรือพื้นที่ที่มีการเคลื่อนไหวของ พคท. เพราะสภาพพื้นที่เป็นป่าเขาและอยู่ติดกับชายแดนลาวที่ พคท.เข้าไปพึ่งพิง…

             ปัจจุบันสงครามช่วงชิงอำนาจรัฐยุติลง  นักรบต่างวางปืน  หันมาหยิบจอบเสียม  พลิกฟื้นผืนดินเป็นไร่นา  ปลูกข้าวโพด  ยางพารา  ขิง  ข้าวไร่  ฟัก  แฟง   เลี้ยงหมู  ไก่…หันมาต่อสู้กับสงครามเศรษฐกิจที่ไม่เคยปราณีใคร  ดิ้นรนเพื่อปากท้องและชีวิตที่ดีกว่า…และก้าวเดินบนหนทางสู่ ‘น้ำพางโมเดล’ เป้าหมายเพื่อ “คนน้ำพาง มีกิน มีใช้         มีสิ่งแวดล้อมที่ดี  มีกฎหมายและนโยบายที่เป็นธรรม”

“ป่ารุกคน  คนรุกป่า”…รากเหง้าปัญหาคนน้ำพาง

ตำบลน้ำพาง  มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 273,100 ไร่ สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าและภูเขา  มี 11 หมู่บ้าน  ประชากรประมาณ 6,000 คน  มีทั้งคนล้านนา  กลุ่มชาติพันธุ์ถิ่น (กลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมที่อาศัยอยู่บริเวณชายแดนไทย-ลาว  ภาษาพูดคล้ายขมุ) และชาวม้งที่อาศัยอยู่บนดอยหรือพื้นที่สูง  ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพปลูกข้าวโพด ยางพารา และขิง เป็นพืชเศรษฐกิจหลัก ปลูกข้าวไร่และเลี้ยงสัตว์เพื่อบริโภคในครอบครัว

ตำบลน้ำพางมีสายน้ำไหลผ่านหลายสาย เช่น น้ำพาง น้ำว้า  น้ำตวง ฯลฯ มีที่ราบลุ่มริมน้ำและภูเขาที่อุดมสมบูรณ์จึงเป็นที่ตั้งชุมชนเก่าแก่มาแต่โบราณ มีหลักฐานที่ยังปรากฏอยู่คือ ‘พระธาตคำปลิว’ ที่สร้างขึ้นมาในราวปี พ.ศ.1765 ตั้งอยู่ที่วัดน้ำพาง  มีการบูรณะวัดและพระธาตุมาแล้วหลายครั้ง ปัจจุบันพระธาตุมีอายุประมาณ 800 ปี

ในปี 2507 ประเทศไทยประกาศใช้ ‘พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507’ เพื่อคุ้มครองและสงวนป่าไม้ของประเทศ มาตรา 4 ใน พ.ร.บ.ฉบับนี้ กำหนดว่า “ป่า” หมายความว่า “ที่ดินรวมตลอดถึงภูเขา ห้วย หนอง คลอง บึง บาง ลำน้ำ ทะเลสาบ เกาะ และที่ชายทะเลที่ยังมิได้มีบุคคลได้มาตามกฎหมาย” ทำให้พื้นที่ป่าเขาที่มีชาวบ้านอยู่อาศัยมาก่อนทั่วประเทศกลายเป็นป่าสงวนฯ รวมทั้งพื้นที่ในตำบลน้ำพางด้วย

ในปี 2542 กรมป่าไม้ประกาศจัดตั้งอุทยานแห่งชาติดอยภูคา เนื้อที่ประมาณ 58,400 ไร่ ปี 2550 ประกาศเขตอุทยานแห่งชาติแม่จริม เนื้อที่ประมาณ 170,200 ไร่ เมื่อรวมป่าสงวนฯ ในตำบลน้ำพาง เนื้อที่ประมาณ 42,700 ไร่ รวมมีพื้นที่ป่าในตำบลน้ำพางทั้งหมดประมาณ 271,300 ไร่

ขณะที่พื้นที่ทั้งตำบลมีเนื้อที่ทั้งหมด 273,100 ไร่ จึงเหลือพื้นที่ที่ประชาชนมีเอกสารสิทธิ์ครอบครองเป็นโฉนด นส. 3 และ ที่ดิน ส.ป.ก. รวมกันทั้งตำบลประมาณ 1,707 ไร่เท่านั้น !! (ไม่รวมพื้นที่ที่อยู่อาศัยและทำกินที่ทับซ้อนกับเขตป่าสงวนฯ และอุทยานฯ)

สวาท   ธรรมรักษากำนันตำบลน้ำพาง  บอกว่า  นอกจากปัญหา “ป่ารุกคน” ดังกล่าวแล้ว  ในสมัยรัฐบาล คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ปี 2557  มีนโยบาย “ทวงคืนผืนป่า” ทั่วประเทศ  ที่ตำบลน้ำพางมีชาวบ้านโดนยึดพื้นที่ปลูกข้าวโพดและยางพารา  จำนวน 134 ราย  รวมเนื้อที่ประมาณ 1,900 ไร่  เจ้าหน้าที่แจ้งว่า  พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยภูคา-แม่จริม  และป่าสงวนฯ น้ำว้า-แม่จริม

“ถ้าเราปล่อยให้นโยบายนี้ลงมา  ชาวบ้านจะเกิดความเดือดร้อน  พืชผลที่ปลูกเอาไว้  เช่น  ยางพารา  จะถูกยึดคืน   ชาวน้ำพางจึงมาประชุมกันเพื่อหาทางออก  โดยมีข้อเสนอต่อรองกับภาครัฐ  คือ  ขอสิทธิทำกินในพื้นที่ดั้งเดิมที่ปู่ย่าตายายเคยทำกินมาก่อน  พร้อมทั้งให้คำสัญญาว่าจะไม่มีการบุกรุกพื้นที่ทำกินเพิ่มเติม”  กำนันสวาทบอกเล่าจุดเริ่มต้นของการ “ลุกขึ้นสู้”

เส้นทางสู่…‘น้ำพางโมเดล’

ปวรวิช คำหอม แกนนำชาวบ้านตำบลน้ำพาง บอกว่า แต่เดิมชาวตำบลน้ำพางเคยเคลื่อนไหวผลักดันเรื่องสิทธิที่ดินทำกินตามแนวทาง ‘โฉนดชุมชน’ ร่วมกับสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) อยู่แล้ว เมื่อได้รับผลกระทบจากการถูกยึดที่ดินทำกิน ชาวบ้านจึงได้รวมตัวกันเพื่อแก้ไขปัญหา

มีการจัดเวทีประชาคมตำบลเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2558 เพื่อปรึกษาหารือผลกระทบจากนโยบายรัฐ และหาทางแก้ไขปัญหา โดยมีชาวบ้านและผู้นำชุมชนเข้าร่วมประมาณ 120 คน มีเจ้าหน้าที่จากมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือร่วมประชุมและเป็นที่ปรึกษา จนนำไปสู่การกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดินและทรัพยากรอย่างยั่งยืนโดยชุมชนท้องถิ่น หรือ ‘น้ำพางโมเดล’ มีการแต่งตั้งคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ ขึ้นมาดำเนินการ มี ‘ปวรวิช คำหอม’ เป็นผู้จัดการโครงการ ‘น้ำพางโมเดล’

“น้ำพางโมเดล คือการปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตของชาวบ้าน จากเดิมที่ชาวบ้านปลูกข้าวโพดเป็นหลัก เป็นพืชเชิงเดี่ยวที่ต้องใช้สารเคมี หันมาเปลี่ยนเป็นเกษตรเชิงนิเวศน์ โดยปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นๆ เป็นการทำเกษตรผสมผสานที่ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ปลูกกาแฟ โก้โก้ มะม่วงหิมพานต์ ไผ่ซางหม่น และนำผลผลิตที่ได้มาแปรรูปเพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่ม ไม่ใช่ขายเป็นวัตถุดิบเหมือนแต่ก่อน รวมทั้งช่วยกันดูแลดินน้ำป่าด้วย” ปวรวิชบอกถึงที่มาของน้ำพางโมเดล

ในปี 2560-2561 น้ำพางโมเดลได้เริ่มต้นอย่างจริงจัง โดยมีหน่วยงานทั้งภาคเอกชนและรัฐร่วมสนับสนุน เช่น บริษัทในเครือซีพี มูลนิพัฒนาภาคเหนือ กรมป่าไม้  มหาวิทยาลัยแม่โจ้  สนับสนุนงบประมาณ วิชาการ เมล็ดพันธุ์ ระบบน้ำในการเกษตร  ฯลฯ

ปวรวิช ผู้จัดการน้ำพางโมเดล  บอกถึงเป้าหมายของการขับเคลื่อนโครงการน้ำพางโมเดลว่า  มี 4 ด้าน คือ1.มีกิน เพิ่มความมั่นคงทางด้านอาหาร ปลูกพืชที่กินได้และจำหน่าย 2.มีใช้ เพิ่มรายได้ พัฒนาเศรษฐกิจชุมชนที่มั่นคงในระยะยาว 3.มีสิ่งแวดล้อมที่ดี เพิ่มพื้นที่สีเขียว สร้างระบบนิเวศน์ที่สอดคล้องกับชุมชน และ 4. มีกฎหมายและนโยบายที่เป็นธรรม สอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรม ภูมินิเวศน์ และรูปแบบการผลิตที่ยั่งยืน

ขณะที่ชาวบ้านตำบลน้ำพางมีข้อตกลงร่วมกันว่าในพื้นที่ 1 ไร่ จะต้องปลูกต้นไม้เพิ่มอย่างน้อย 35 ต้น เป็นไม้ยืนต้นหรือไม้เศรษฐกิจจำนวน 10 ต้น เช่น ยางนา ประดู่ มะขามป้อม  มะขามยักษ์  ไม้ไผ่ และไม้ผลจำนวน 25 ต้น เช่น กาแฟ โกโก้ มะม่วงหิมพานต์ อโวคาโด ฯลฯ เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว ปลูกไม้เศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อให้มีรายได้ทดแทนข้าวโพด    โดยชาวบ้านตกลงร่วมกันว่าจะลดพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดให้ได้ประมาณปีละ 20 %  ดังเช่น  ‘ลุงชิน เขื่อนจักร์’  เกษตรกรบ้านน้ำพาง

ลุงชิน เขื่อนจักร์ เกษตรกรบ้านน้ำพาง ผู้เข้าร่วม ‘น้ำพางโมเดล’ บอกว่า มีที่ดินทำกิน 11 ไร่ เมื่อก่อนปลูกข้าวโพดขายพ่อค้าเพราะใครๆ ก็ปลูก แม้จะรู้ว่าข้าวโพดไม่ดี ต้องลงทุนสูง ใช้ทั้งปุ๋ยและสารเคมี ทำให้สุขภาพร่างกายทรุดโทรม แต่ตอนนั้นยังไม่มีทางเลือกอื่น เมื่อมีโครงการน้ำพางโมเดล จึงเข้าร่วมโครงการ โดยปลูกโกโก้ มะม่วงหิมพานต์ มะม่วงโชคอนันต์ มะขามป้อม ฯลฯ รวมประมาณ 18 ชนิด

ลุงชินถือเป็นเกษตรกรต้นแบบที่เปลี่ยนจากข้าวโพดมาเป็นพืชผสมผสาน โดยทาง ‘น้ำพางโมเดล’ ได้สนับสนุนการวางระบบน้ำเข้าไปในแปลงเกษตร เพื่อให้ลุงชินมีรายได้จากพืชระยะสั้น เช่น พริก มะเขือ ฟักทอง และเลี้ยงหมู ในระหว่างที่รอให้พืชอื่นเติบโต เช่น  กาแฟและโกโก้ 2-3 ปีจึงจะเริ่มให้ผลผลิต

“เมื่อก่อนชาวบ้านไม่มีทางเลือก จึงต้องปลูกข้าวโพด เพราะไม่ต้องอาศัยระบบน้ำ รอแต่น้ำฝน แต่ต้นทุนการผลิตก็สูง ต้องใช้ปุ๋ย ยาฆ่าหญ้า จ้างรถไถ แรงงาน ตกไร่ละ 3-5 พันบาท ปีนึงขายผลผลิตได้ไร่ละ 6-7 พันบาท หักลบต้นทุนแล้วไม่คุ้ม แต่ก็ต้องปลูก เพราะชาวบ้านจะได้เงินก้อนเอามาใช้จ่ายก่อน พอจะปลูกรอบใหม่ก็ต้องหาเงินกู้มาลงทุนอีก ทำให้คนปลูกมีหนี้สินพอกเป็นหางหมู วนเวียนอยู่อย่างนี้”  ลุงชินบอกถึงวงจรอุบาทว์ที่ชาวบ้านสลัดไม่หลุด

ปวรวิชเสริมว่า  น้ำพางโมเดลเป็นทางเลือกใหม่ของคนน้ำพาง  โดยเฉพาะกาแฟและโกโก้ที่ให้ผลผลิตเร็ว ปลูกเพียง 2-3 ปีจะเริ่มให้ผลผลิต กาแฟที่ปลูกส่วนใหญ่เป็นพันธุ์โรบัสต้า เนื่องจากตำบลน้ำพางมีระดับความสูงไม่มากนัก กาแฟโรบัสต้าจะเติบโตได้ดี แต่หากเป็นชุมชนชาวม้งที่อยู่บนดอยมีความสูงจากระดับน้ำทะเลมากกว่า 800 เมตรขึ้นไปจะปลูกพันธุ์อราบิก้า

“ที่ดินคือชีวิต…ไม่ใช่สินค้า !!”

นับจากมีการจัดเวทีประชาคมตำบลเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2558 เพื่อปรึกษาหารือผลกระทบจากนโยบายรัฐ และหาทางแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะกรณีชาวบ้านตำบลน้ำพางถูกยึดที่ดินทำกินรวมประมาณ 1,900 ไร่  จนนำไปสู่การพัฒนาข้อเสนอตามโครงการ ‘น้ำพางโมเดล’ เพื่อขอคืนสิทธิที่ดินทำกิน  ลดพื้นที่ปลูกข้าวโพด  เปลี่ยนมาทำเกษตรผสมผสาน  โดยมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนสนับสนุน  จนน้ำพางโมเดลมีความคืบหน้าเป็นลำดับ

ในเดือนตุลาคม 2563  ชาวตำบลน้ำพาง  ร่วมกับภาคีเครือข่าย  เช่น  มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ  กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)กรมป่าไม้  เครือซีพี  ฯลฯ  ร่วมกันจัดงานเนื่องในโอกาสครบรอบ 5 ปีของการขับเคลื่อนโครงการน้ำพางโมเดล เปลี่ยนภูเขาหัวโล้นสู่ระบบเกษตรเชิงนิเวศ”  ที่ตำบลน้ำพาง  โดยมีนายวราวุธ  ศิลปอาชา  รมว.ทส. (ในขณะนั้น) ร่วมงาน  โดยมีรูปธรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้น  เช่น  พื้นที่ป่าได้รับการฟื้นฟูแล้ว 2,767 ไร่  และตั้งเป้าจะเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 20 % ของพื้นที่ทำกินในตำบล  รวมทั้งพืชผลต่างๆ ที่ปลูกเอาไว้เริ่มให้ผลผลิต

 

ปัจจุบันชาวตำบลน้ำพางรวมตัวกันเป็น ‘วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรตำบลน้ำพาง’ ได้นำผลผลิตที่เริ่มปลูกตั้งแต่ช่วงปี 2558-2559  นำมาจำหน่ายและแปรรูปเป็นสินค้าต่างๆ จำหน่ายทางเพจ ‘วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรตำบลน้ำพาง’ และออกร้านตามงานต่างๆ  เช่น ‘เมล็ดกาแฟคั่วโรบัสต้าน้ำพาง’ ขนาดถุงละ 250 กรัม ราคา 170 บาท ราคารับซื้อกาแฟเชอร์รี่จากสมาชิกกิโลกรัมละ 18 บาท ซึ่งในระยะแรกที่กาแฟเริ่มให้ผลผลิตจะได้เมล็ดกาแฟประมาณปีละ 2,000 กิโลกรัม

นอกจากนี้ยังมีเมล็ดมะม่วงหิมพานต์อบกรอบ ราคารับซื้อเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ตากแห้งจากชาวบ้านประมาณกิโลฯ ละ 24-28 บาท  นำมาอบและบรรจุซองขนาด 80 กรัม  ราคาขาย 50 บาท  ขนาด 200 กรัม  ราคาขาย 120 บาท  รวมทั้งส่งเมล็ดมะม่วงหิมพานต์อบกรอบจำหน่ายให้แก่ร้านทำขนมเค้กในเมืองน่านด้วย

ส่วนการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยที่ทับซ้อนกับพื้นที่ป่าสงวนฯ และอุทยานแห่งชาตินั้น  ปวรวิชบอกว่า  ที่ผ่านมา ชาวบ้านได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาตามแนวทาง ‘โฉนดชุมชน’ ร่วมกับเครือข่ายเกษตรกรทั่วประเทศมาตั้งแต่ปี 2553 และมีบางชุมชนได้รับโฉนดชุมชนไปแล้ว เช่น ตำบลคลองโยง จ.นครปฐม แต่เมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาล การเมืองเปลี่ยนแปลง นโยบายนี้จึงไม่ถูกนำมาใช้ต่อ

ทั้งนี้ในช่วงที่ผ่านมา  ตั้งแต่สมัยรัฐบาล คสช. เป็นการแก้ไขปัญหาที่ดินในเขตป่าทุกประเภททั่วประเทศตามแนวทาง ‘คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ’ (คทช.ชาติ มีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกฯ เป็นประธาน) โดยมอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัด (ผู้ว่าฯ เป็นประธาน คทช.จังหวัด) เป็นผู้ยื่นขอต่อหน่วยงานเจ้าของที่ดินเพื่อขอใช้พื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยและทำกินของประชาชน (ตามขั้นตอนผู้ว่าฯ จะให้ประชาชนเช่าที่ดินต่อ  ระยะเวลา 30ปี)  ซึ่งชาวบ้านที่ตำบลน้ำพางได้รับอนุญาตจาก คทช.จังหวัดให้ใช้ประโยชน์ที่ดินในเดือนเมษายน 2565 เนื้อที่รวมประมาณ 474 ไร่

“แต่ชาวน้ำพางส่วนใหญ่ยืนยันที่จะขอใช้แนวทางโฉนดชุมชนตาม พ.ร.บ.คทช. พ.ศ.2562 มาตรา 10 (4) ที่เปิดช่องไว้ เป็นแนวทางแก้ไขปัญหาที่ดิน  เพื่อให้การกระจายการถือครองที่ดินเป็นธรรม  โดยชาวบ้านมีสิทธิในการบริหารจัดการที่ดินเอง  ในลักษณะที่ดินแปลงรวม  หรือ ‘โฉนดชุมชน’  หรือ ‘โฉนดตำบล’ และที่ดินสามารถตกทอดถึงลูกหลานเพื่อทำกินต่อไปได้  ไม่ใช่เช่าที่ดินตามแนวทาง คทช. ซึ่งยังมีเงื่อนไขและข้อจำกัดอีกหลายอย่าง  เช่น  ปัญหาเรื่องพื้นที่ลุ่มน้ำที่ไม่อนุญาตให้ประชาชนอยู่อาศัย” ปวรวิชบอก

เขาบอกด้วยว่า  การแก้ไขปัญหาที่ดินตามแนวทางโฉนดชุมชนนั้น  ชาวตำบลน้ำพางได้เข้าร่วมกับ ‘ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม’ หรือ ‘P-Move’ (People Movement) มาโดยตลอด  โดยในสมัยรัฐบาลนายกฯ เศรษฐา  ทวีสิน  ในช่วงต้นเดือนตุลาคม 2566 กลุ่มพีมูฟได้ชุมนุมเรียกร้องที่ด้านข้างทำเนียบรัฐบาลนานกว่า 10 วัน  เพื่อเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาต่างๆ ของคนจนทั่วประเทศรวม 10 ด้าน  รวมถึงปัญหาที่ดินทั้งระบบและข้อเรียกร้องเรื่องโฉนดชุมชนด้วย

จนถึงวันที่ 16 ตุลาคม  คณะรัฐมนตรีได้ลงมติรับทราบแนวทางการแก้ไขปัญหาของกลุ่มพีมูฟ  โดยมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาแก้ไข  มีนายภูมิธรรม  เวชยชัย  รองนายกฯ เป็นประธาน  ขณะนี้อยู่ในระหว่างดำเนินการแก้ปัญหา

“เรื่องที่ดินทำกินเป็นหัวใจของเกษตรกร  คนน้ำพางส่วนใหญ่ยืนยันว่าต้องการแนวทางโฉนดชุมชน  เป็นที่ดินแปลงรวมที่ชาวบ้านจะช่วยดูแล  รักษา เพื่อตกทอดทำกินไปจนถึงลูกหลาน ไม่ใช่เป็นที่ดินแปลงเดี่ยวหรือที่ดินกรรมสิทธิ์ส่วนตัวที่อาจจะมีการซื้อขาย  หลุดมือ  และเราจะไม่ให้มีการซื้อขาย เพราะที่ดินไม่ใช่สินค้า  แต่ที่ดินคือชีวิต…!!”  ปวรวิช  ผู้จัดการน้ำพางโมเดลย้ำทิ้งท้าย

                                                             (ติดตามอ่าน …บ้านมั่นคงชนบท ‘น้ำพางโมเดล’ จ.น่าน (2)บ้านที่มั่นคงของ ‘สหายกำปืน’     อดีตนักสู้ ‘อนุชน พคท.’)  
********

ชาวน้ำพางช่วยกันทำบุญ  ดูแลรักษา ‘ดิน  น้ำ  ป่า’ เพราะ ‘ที่ดินคือชีวิต’

เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ