No man’s land ป่าแปลงใหญ่ มีไฟแต่ไม่มีคน?

No man’s land ป่าแปลงใหญ่ มีไฟแต่ไม่มีคน?

มีการสรุปข้อมูลเพื่อรับมือกับฝุ่นควันประจำปี 67 ที่น่าสนใจมากคือ พื้นที่ ที่เกิดการเผาไหม้มากที่สุด 65% เป็นไฟในพื้นที่ป่า อีก 32% เกิดในพื้นที่การเกษตร และอื่นๆอีก 3% (ข้อมูลพื้นที่เผาไหม้ซ้ำซาก ระหว่างปี 2553-2562 Gisda) จากสถิติที่ชี้ให้เห็นว่า ปริมาณฝุ่นควันส่วนใหญ่เกิดจากไฟป่า ไฟที่ไร้การควบคุม “ไฟไม่จำเป็น” ที่ไหม้ภูเขาเป็นลูก ๆ  ซึ่งเอาตามจริง ไฟเหล่านี้เกิดจากฝีมือมนุษย์ทั้งนั้น ด้วยหลายเหตุผล               

เมื่อรู้แบบนี้ การป้องกันไฟในบริเวณป่าผืนใหญ่ ๆ เพื่อลดปริมาณฝุ่น จึงเป็นนโยบายหลักปีนี้ หรือถ้าคุ้น ๆ ชื่อก็คือ ไฟแปลงใหญ่ ที่ภาคเหนือมีอยู่หลายพื้นที่ กระจายอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะจังหวัดที่อยู่ด้านบน ตามการอัพเดตล่าสุด จะมีอยู่ 10 ผืนป่าด้วยกัน( ตามข้อมูลนี้)

ซึ่งการอ้างอิงให้เป็นไฟแปลงใหญ่ ก็เพื่อแก้ปัญหาการแบ่งเขต ทับซ้อนพื้นที่ เพราะหน่วยงานแต่ละหน่วย มีการแบ่งเขตที่ไม่เหมือนกัน ป่าผืนใหญ่ๆ ถูกแบ่งเขตหลายหน่วย หลายองค์กร ที่ผ่านมาการจัดการเลยกระจัดกระจาย ปีนี้ถูกรวบเอามาเป็นพื้นที่เดียวแล้วช่วยกันดูแล ก็ดูจะเป็นแนวทางที่ดีขึ้น ส่วนจะลดปัญหาฝุ่น ไฟ ได้ไหมนั้น ก็คงต้องดูกันต่อไป

ทีนี้เมื่อพูดถึงไฟป่าแปลงใหญ่ ผืนที่ใหญ่ที่สุดตามข้อมูลก็คือ ป่าอมก๋อย ป่าแม่ตื่น และอุทยานแม่ปิง ที่ติด ๆ กัน รวม กันแล้ว เป็นป่าที่มีอาณาเขตกว่า สองล้านไร่! ใช่ครับสองล้านไร่ และที่น่าตกใจคือ ป่าผืนนี้เป็นพื้นที่ไฟไหม้ซ้ำซาก เกือบทุกปี เพราะสภาพที่เป็นป่าเต็งรัง ใบไม้ร่วงกองทับถมเป็นเชื้อเพลิงทุกปี ขอแค่เพียงมีต้นเพลิงเล็กน้อย ก็พร้อมจะลุกลามขยายพื้นที่แบบข้ามวันข้ามคืน หรือบางทีไหม้เกือบครึ่งค่อนเดือน หรือจนกว่าเชื้อเพลิงจะหมด หากคิดตามง่ายๆ เมื่อเกิดไฟ ซึ่งที่ไหม้ก็ประมาณ หลักหมื่นไร่ ไปจนถึงแสนไร่ในแต่ละครั้ง ไฟขนาดนี้สร้างฝุ่นควันในปริมาณมหาศาล! และอีกสิ่งที่ประจวบเหมาะคือ ป่าผืนนี้อยู่โซนภาคเหนือตอนล่าง แล้วช่วงฤดูแล้งก็จะมีลมใต้ หรือที่เราเรียกลมแล้ง ที่จะพัดจากใต้ขึ้นเหนือ ซึ่งเป็นลมที่ค่อนข้างต่อเนื่องและพัดแรง ก็จะหอบเอาฝุ่นควันนี้ ขึ้นไปกระจายอยู่ในภาคเหนือ เท่านั้นยังไม่พอ สภาพภูมิประเทศของภาคเหนือ ที่เป็นแอ่งกระทะ อยู่กระจัดกระจาย ฝุ่นควันเหล่านี้ก็จะถูกขังอยู่ตามแอ่งกระทะเหล่านั้น ซ้ำเติมให้ผู้คนต้องอยู่กับฝุ่นควันยาวนานขึ้นไปอีก ด้วยความที่ผืนป่าแห่งนี่เป็นจุดแรกๆ ที่จะเกิดไฟของภาคเหนือ แล้วพอไฟแปลงใหญ่ แปลงนี้เริ่มหมด ก็เป็นช่วงที่ผืนป่าแปลงอื่นๆ ที่อยู่เหนือไปเริ่มเกิดไฟป่า ต่อเนื่องกันไป ถ้าพอจะจำกันได้ ก็คือฤดูฝุ่นควันที่กินเวลาไปกว่า 60 วัน หรือมากกว่า 90 วันก็เคยมีมาแล้ว

กลับมาเรื่องนโยบายฝุ่นควันของภาคเหนือปีนี้ ถ้าจะให้ชัดก็คือจังหวัดเชียงใหม่ เพราะนโยบายของแต่ละจังหวัดอาจจะเหมือน หรือไม่เหมือนกัน ผู้เขียนอยู่เชียงใหม่ก็พอจะมีข้อมูลเอามาบอกกล่าวได้ ซึ่งเอาเข้าจริงๆ เชียงใหม่ก็น่าจะก้าวหน้าสุดในเรื่องการจัดการแก้ปัญหาฝุ่นควัน มีการวางแผนรับมือกันอย่างคึกคัก มีแผนการจัดการไฟ การบริหารจัดการเชื้อเพลิง การใช้เทคโนโลยี เช่น แอปพลิเคชันไฟดี (FireD) แต่ทั้งหมดทั้งมวล การทำงานภาคพื้นของหน่วยงาน เจ้าหน้าที่ ก็น่าจะเป็นส่วนที่จะชี้ชะตามากที่สุดว่าปีนี้ฝุ่นควันจะถล่มแบบปีก่อน ๆ ไหม

เจ้าหน้าที่ไฟป่า กับจุดเฝ้าระวังไฟที่มองเห็นผืนป่ากว้างใหญ่

ได้มีโอกาสตามไปดูพื้นที่ป่าแปลงใหญ่ ว่าสภาพพื้นที่เป็นอย่างไร เตรียมพร้อมแค่ไหน และไปคุยกับคนที่เป็นเหมือนด่านหน้าในการจัดการไฟป่า และผืนป่า  อุทยานแห่งชาติ แม่ปิง บริเวณ แก่งก้อ ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของแม่น้ำปิง สามารถไปเชื่อมต่อกับแม่น้ำปิง ยาวไปจนถึงเขื่อนภูมิพล

ที่นี่ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของป่าแปลงใหญ่ที่กล่าวมา อยู่ในเขตจังหวัดลำพูนส่วนเขตอำเภอลี้  ที่นี่มีเจ้าหน้าที่ไฟป่า 31 คน ซึ่งเทียบกับพื้นที่ มันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะดูแลได้ครอบคลุม แต่ก็นั้นแหละ งานดูแลป่า มันไม่ได้รุนแรงเข้มข้นตลอดเวลา จะหนักหนาก็ช่วงฤดูแล้ง 3-4เดือน พอไฟไหม้แล้ว ก็แล้วกันทำอะไรไม่ได้แล้ว ปีหน้าว่ากันใหม่ ฉะนั้นการจะต้องเพิ่มกำลังให้ครอบคลุมก็จะมีช่วงที่ว่างเว้นยาวนานกว่าช่วงทำงาน ทางออกที่หน่วยงานใช้ก็คือ  การทำงานร่วมกับชุมชนที่อยู่รอบๆหรือในบริเวณพื้นที่ แบบมีค่าตอบแทนชั่วคราว เข้ามาช่วยทำงาน ดูแล ซึ่งก็ดูจะเป็นแนวทางที่สมเหตุสมผลดี เพราะนอกจากได้กำลังพลเพิ่มช่วงที่สถานการณ์รุนแรง ก็จะเป็นการสร้างผลข้างเคียงการลดการจุดไฟของคนที่อยู่ในพื้นที่ลง เรียกว่าได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม หลายพื้นที่ใช้แนวทางนี้ แต่พื้นที่ป่าแปลงใหญ่ที่นี่ค่อนข้างพิเศษและเป็นปัญหาใหญ่ที่ยังไม่รู้จะแก้อย่างไร นั้นก็คือ เป็นพื้นที่ ที่ไม่มีชุมชนอาศัยอยู่

ช่วงฤดูฝุ่นไฟ จะมีการร่วมกันของชุมชนและเจ้าหน้าที่
การเดินทางเข้าไปในพื้นที่ ต้องทำทางเรือ

ด้วยความกว้างใหญ่นอกจากแม่น้ำปิงที่ไหลผ่าน พื้นที่อื่นๆนั้นแทบจะไม่มีแหล่งน้ำอยู่เลย จึงทำให้การจะใช้ประโยชน์เรื่องเพาะปลูกเป็นไปได้ยากมาก และถึงแม้จะเป็นบริเวณใกล้สายน้ำปิง การจะใช้แหล่งน้ำก็เป็นไปได้ยาก เพราะสภาพหน้าผาสูงชันที่กั้นสายน้ำกับผืนป่าออกจากกัน นั้นทำให้ผืนป่าบริเวณนี้ มีหลายจุดที่เรียกได้ว่า No man’s land คือพื้นที่ ที่ไม่มีใครไปอาศัยอยู่ พอไม่มีคนอยู่หลายอย่างก็ยิ่งยาก เช่น เครือข่ายการสื่อสารก็ยาก มีพื้นที่ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์เยอะมาก การสื่อสารลำบาก การเดินทางก็ไม่มีทั้งเส้นทางคนเดิน มีก็แค่ทางน้ำที่เดินทางได้ แต่จุดที่เกิดไฟ มักจะเป็นบริเวณกลางใจป่า ซึ่งต้องเดินเท้าเข้าไป การลาดตระเวนก็ยากลำบาก ถ้าถามถึงสาเหตุว่า ไม่มีใครอยู่ แล้วใครเป็นคนจุด! อันนี้แหละเป็นจุดตาย

สภาพผาสูงชันทำให้ไม่สามารถขึ้นไปดับไฟได้
จุดที่ขึ้นบกได้เฉพาะตอนน้ำขึ้นสูง พอช่วงน้ำลดลงก็ขึ้นไม่ได้

จากข้อมูลมีหลายแหล่งมาก แต่ละอันยังไม่สามารถสรุปได้ ไม่สามารถจับมือใครดมได้ คร่าวๆ ที่มีการคาดเดา ก็มีทั้งคนที่เลี้ยงวัวในบริเวณนี้ จุดไฟเพื่อเป็นแหล่งอาหารให้วัว พรานป่าล่าสัตว์ ใช้ไฟเพื่อล่าสัตว์ การเผาโดยไม่มีสาเหตุ คึกคะนอง! คนมาหาปลา หาของป่าฯลฯ โดยการเข้ามาในพื้นที่ มาจากหลากหลายเส้นทาง ด้วยความกว้างของผืนป่า ทำให้ยากที่จะจำกัดหรือกันคนเข้าออก พอมาถึงตรงนี้คำถามที่ผุดขึ้นมา คือ แล้วที่ผ่านมาจัดการกันอย่างไร คำตอบคือ ก็ทำเท่าที่ทำได้ ซึ่งจะเรียกว่าจัดการไม่ได้มากกว่า แบบว่า ตามมีตามกรรม แล้วแต่สภาพอากาศ เพราะที่ผ่านมาช่วงปีไหนฝนตกหนัก ไฟก็ไม่หนักหนา ฝุ่นก็เบาลง แต่ก็อีกนั้นแหละ พอปีไหนไฟไหม้น้อย ปีถัดไปเตรียมตัวได้เลยเพราะเชื้อเพลิง ใบไม้ต่างๆ มันไม้ได้หายไปไหน มันจะทับถมและทำให้ไฟรุนแรงขึ้น

พี่ดุล ดุลยกฤช จันทนุปาน ผู้ช่วยหัวหน้าสถานีควบคุมไฟป่าแม่ปิง ผู้ที่คร่ำเคร่งต่อสู้กับไฟมากว่า 20 ปี เล่าภาพแก่งก้อช่วงปีที่ผ่านมาว่า”หนักหนาสาหัสมาก ลำน้ำที่เราล่องมา มองขึ้นไปไม่เห็นจุดสูงสุดของหน้าผา เพราะกลุ่มฝุ่นควันปกคลุมอยู่ตลอดเวลา และบริเวณหน้าผา ที่เรือล่องผ่าน พอถึงหน้าแล้ง น้ำจะลดลงไปอีก ทำให้หน้าผาที่สูงชันขึ้นยากอยู่แล้ว ยิ่งยากจนขึ้นไม่ได้เลย แม้จะใช้เฮลิคอปเตอร์ ก็ไม่สามารถจัดการได้หมด บางครั้งฝุ่นควันก็หนาจนไม่สามารถบินได้เพราะสภาพหน้าผา ก็อันตรายต่อการบิน”  มาถึงตรงนี้ดูเหมือนเป็นเรื่องที่ยากมากจนแทบจะเป็นไปไม้ได้ในการจัดการ พื้นที่ No man’s land ตรงนี้ แต่ก็ต้องทำ ที่นี้มาดูว่าปีนี้ใครทำอะไรกันบ้าง

ลำน้ำแม่ปิง
สองข้างลำน้ำแม่ปิงเป็นผาสูง
การขนส่งกำลังต้องใช้เรือ
ดุลยกฤช จันทนุปาน ผู้ช่วยหัวหน้าสถานีควบคุมไฟป่าแม่ปิง

ฝั่งด้านบนของผืนป่า ฝั่งยางเปียง มูเซอ ปีนี้ทั้งหน่วยงานและชุมชนร่วมกันวางแผนอย่างเข้มแข็ง และจากนโยบายจัดการเชื้อเพลิง ในพื้นที่ 7 ป่าของเชียงใหม่ ก็ถือว่าเป็นการร่วมมือกันอย่างจริงจังเป็นแบบเป็นแผนมากขึ้น

ฐานันดร พรหมมณี หัวหน้าสถานีควบคุมไฟป่าอมก๋อย บอกว่า หัวใจหลักคือชุมชน ผมพยายามทำทั้งช่วงก่อนไฟ ช่วงไฟและหลังไฟ ก่อนไฟก็ให้ความรู้ไป การเกิดไฟผลเสีย การสร้างปัญหาไปจนถึง ปัญหาฝุ่น pm2.5 ส่วนในช่วงไฟมา ปีนี้มีแผนงบประมาณว่าจะอุดหนุนให้ชุมชนเข้ามาช่วยงานหน่วยงานมากขึ้น เพื่อให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการไฟทั้งดับไฟ ทำแนวกันไฟ การตั้งด่านจุดสกัด การลาดตระเวน ทั้งหมดนี้วางแผนแล้วตอนนี้ก็รองบมาก็ดำเนินการได้เลย และท้ายก็คือการนำเอาข้อมูลผลของการจัดการปีนี้มาสรุปเพื่อเป็นแนวทางการทำงานต่อ กริชสยาม คงสตรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 เล่าให้ฟังว่า ฝืนป่าแปลงใหญ่นี้ ก็ต้องพัฒนาแนวทางการจัดการต่อไป ตอนนี้แนวคิดว่าต้องเป็นป่าแปลงใหญ่ แต่ No man’s land ก็ต้องหาทางจัดการกำลังพลให้เหมาะสมกับสภาพปัญหาต่อไป เพราะเอาเข้าจริงๆ หากจัดการได้ ปริมาณไฟในพื้นที่นี้ลดลง มันก็จะสัมพันธ์กับปริมาณฝุ่นที่ส่งผลกระทบกับพื้นที่เชียงใหม่และพื้นที่อื่นๆในภาคเหนือก็ควรจะลดลงด้วย ซึ่งผลจะเป็นอย่างไรอีกไม่นานก็คงรู้กัน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ