ฟังเสียงประเทศไทย : ออนซอน หนองบัวลำภู

ฟังเสียงประเทศไทย : ออนซอน หนองบัวลำภู

“เมืองหนองบัวลุ่มภู นครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน” หรือ จังหวัดหนองบัวลำภู คือพิกัดเปิดพื้นที่ล้อมวงสนทนา ในวันนี้ ถึงภาพอนาคตและโอกาสการท่องเที่ยวชุมชน ณ วัดศรีวิลัย ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา

แม้เป็นจังหวัดขนาดเล็กในพื้นที่อีสานตอนบน แต่ต้นทุนด้านวิถีวัฒนธรรม ทรัพยากรทางธรรมชาติบนเทือกเขาภูก้าว-ภูพานคำ ถ้ำหินปูน และประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เป็นโอกาสสำคัญของเครือข่ายชุมชน หน่วยงานในพื้นที่ และภาคประชาสังคมที่ทุกคนจะมีส่วนร่วมในการออกแบบบ้านเกิดของพวกเขาผานเศรษฐกิจการท่องเที่ยว

จ.หนองบัวลำภู มีขนาดพื้นที่รวมทั้งจังหวัด 3,859.1 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 2.24 ของภาคอีสาน

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอน้ำโสม อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอบ้านผือ อำเภอกุดจับอำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี
  • ทิศใต้ ติดต่อกับติดต่อกับอำเภอสีชมพู อำเภอหนองนาคำ จังหวัดขอนแก่น
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอภูกระดึง อำเภอวังสะพุง อำเภอผาขาว อำเภอเอราวัณ จังหวัดเลย

แบ่งเขตการปกครอง 6 อำเภอ คือ เมืองหนองบัวลำภู นากลาง ศรีบุญเรือง โนนสัง สุวรรณคูหา นาวัง

มีประชากรทั้งสิ้น 508,325 คน

มีพื้นที่ทางการเกษตร 1,687,679 ไร่ เป็นเนื้อที่ป่า 300,180 ไร่ และเนื้อที่ใช้ประโยชน์นอกการเกษตร 424,070 ไร่ ของพื้นที่ทั้งหมด

พืชเศรษฐกิจที่สำคัญได้แก่ ข้าวเหนียว, ข้าวเจ้า, อ้อยโรงงาน, มันสำปะหลัง, ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์, ผลไม้ และ ยางพารา ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่

มีพันธุ์ข้าวเหนียวพื้นบ้านที่เป็นเอกลักษณ์ กข.6เรียกว่า “ราชินีข้าวเหนียว”

ข้อมูลครัวเรือน ปี 2564 ระบุ หนี้สินเฉลี่ย 292,898 ต่อครัวเรือน

ค่าใช้จ่าย 17,841 ต่อเดือน/ครัวเรือน

รายได้ อยู่ที่ 23,867 ต่อเดือน/ครัวเรือน

อัตราการขยายตัวของรายได้จากการท่องเที่ยว ปี 2565 อยู่ที่ 257.66%

อุตสาหกรรม 5 อันดับแรกของจังหวัด ได้แก่

  • 1. อุตสาหกรรมอาหาร รวม 17 โรงงาน
  • 2. อุตสาหกรรมการผลิตอื่น ๆ รวม 13 โรงงาน
  • 3. อุตสาหกรรมสิ่งทอ รวม 2 โรงงาน
  • 4. อุตสาหกรรมเครื่องแต่งกาย 1 โรงงาน
  • 5. อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์จากพืช รวม 15 โรงงาน

ด้านการท่องเที่ยว

ปี 2561 มีผู้เยี่ยมเยือน 385,359 คน มีรายได้รวม 418.28 ล้านบาท แต่จากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้นักท่องเที่ยวลดลงในปี 2564 ร้อยละ 78.15 เหลือ 41,118 คน มีรายได้ 33.80 ล้านบาท

มีรายได้จากสินค้า OTOP ตั้งแต่ปี 2558-2564 เพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปี 2564 มีรายได้จำนวน 13,988 ล้านบาท

ผลิตภัณฑ์ที่มีรายได้สูงสุด คือ เครื่องแต่งกาย รองลงมาคืออาหาร, ของใช้ ของที่ระลึก และสมุนไพร ตามลำดับ

ด้านแรงงาน

ปี 2564 มีผู้อยู่ในกำลังแรงงาน 223,835 คน มีงานทำ 209,466 คน คิดเป็นร้อยละ 97.63 แต่พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ มีปัญหาความไม่มั่นคงในอาชีพ ทำให้รายได้ไม่ต่อเนื่อง

แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัด

  • 1.ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
  • 2.วัดถ้ำกลองเพลและพิพิธภัณฑ์หลวงปู่ขาว
  • 3.ถ้ำเอราวัณ
  • 4.อุทยานภูเก้า-ภูพานคำ

และแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี ศาสนสถาน อื่น ๆ อีกจำนวนมาก รวมถึง แหล่งโบราณคดีภูผายา

จุดแข็งในการพัฒนาจังหวัด

  • 1.มีภูมิประเทศสวยงาม แหลกท่องเที่ยวหลากหลาย สามารถดึงดูดความสนใจนักท่องเที่ยวให้มาเยี่ยมเยือน
  • 2.มีผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือ เป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนที่มีคุณภาพและอัตลักษณ์โดดเด่น จึงเป็นที่ต้องการของตลาด
  • 3.มีทรัพยากรน้ำใต้ดินที่อุดมสมบูรณ์ สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการอุปโภคบริโภค
  • 4.เป็นจังหวัดขนาดเล็ก ง่ายต่อการบริหารจัดการ รวมทั้งเดินทางเข้าถึงพื้นที่ต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว

จุดอ่อน

  • 1.รายได้เฉลี่ยต่อหัวประชากรน้อย ทำให้กำลังซื้อต่ำ ส่งผลต่อออัตราการเจริญเติบโตเศรษฐกิจช้า
  • 2.ขาดการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ขาดพลังในการขับเคลื่อนพื้นที่
  • 3.การบูรณาการการประสานเชื่อมโยงการส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างภาครัฐและเอกชนไม่ต่อเนื่อง
  • 4.มีการใช้สารเคมีในการเกษตรในปริมาณมาก จึงมีสารเคมีตกค้างในพื้นดินและน้ำ

“หนองบัวลำภู เมืองน่าอยู่ น่าเที่ยว” คือวิสัยทัศน์ของจังหวัดหนองบัวลำภู

เมืองน่าอยู่ 3 ส ได้แก่ สะอาด, สะดวก, สงบสุขและปลอดภัย

เมืองน่าเที่ยว 3 ธ. ได้แก่ การท่องเที่ยวเชิงธรรมะ, การท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ, การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

มองภาพอนาคต โอกาสการท่องเที่ยวเมืองหนองบัวลำภู ในอีก 5 ปี ข้างหน้า

A หนองบัวลำภู เมืองท่องเที่ยวธรรมะ

เครือข่ายชุมชนท่องเที่ยว ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ออกแบบการท่องเที่ยวแบบ Slow Travel การท่องเที่ยวอย่างเนิบช้า ไม่เร่งรีบ เป็นการท่องเที่ยวในมิติของการเรียนรู้ และให้คุณค่าในมิติเชิงสังคม วิถีชีวิต และหลักธรรมคำสั่งสอน ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถศึกษาเรื่องราวความเป็นมาของแหล่งท่องเที่ยวบนเส้นทางสายธรรมะ หลักธรรมคำสอน  วิถีวัฒนธรรม ประเพณีของชุมชน และแหล่งประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งจำเป็นต้องมีการวางแผนออกแบบ ปรับปรุงศาสนสถาน ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ที่พัก ร้านอาหาร ตลอดจนผู้นำเที่ยวที่มีความรู้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง

B หนองบัวลำภู เมืองท่องเที่ยวเชิงนิเวศเกษตร

เครือข่ายผู้ประกอบการ และเกษตรกร เกิดการยกระดับคุณภาพการทำเกษตรจากเดิมผลิตเชิงเดี่ยวมาสู่การสร้างกิจกรรมในแปลงเกษตรให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ผ่านการลงมือทำ  พร้อมพัฒนากลุ่มวิสาหกิจชุมชนSMEs เกี่ยวกับการแปรรูปผลผลิตเพื่อยกระดับการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารปลอดภัย ผลผลิตเกษตรอินทรีย์ แปรรูปอาหาร พร้อมส่งเสริมองค์ความรู้ด้านการตลาด ร้านขายของที่ระลึก การส่งออก และตลาดออนไลน์เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคและนักท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น พร้อมเชื่อมต่อเส้นทางท่องเที่ยวเชิงเกษตรและระบบโลจิสติกส์ไปยังจังหวัดโดยรอบ เพื่อให้เป็นเส้นทางต่อเนื่อง

C หนองบัวลำภู เมืองท่องเที่ยวลับน่าค้นหาจากคนทั่วโลก

หน่วยงานองค์กรร่วมกับชุมชน และท่องถิ่น ยกระดับแหล่งท่องเที่ยว Unseen และ “ร้านลับ” ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น และแตกต่างเพียงหนึ่งเดียว ซึ่งมีองค์ประกอบของสถานที่และเรื่องราวที่ไม่ซ้ำใคร ให้มึความร่วมสมัยสู่ระดับสากล โดยต้องรวบรวมข้อมูล Big Data ที่สามารถสืบค้นได้ง่ายผ่านออนไลน์ดิจิทัลแพลตฟอร์ม ซึ่งต้องมีการเสริมศักยภาพการบริหารจัดการ การบริการและทักษะภาษาสากลแก่คนในชุมชน สัญญาณอินเตอร์เน็ต ให้สามารถรองรับนักท่องเที่ยวที่หลากหลายจากทั่วมุมโลก โดยต้องปรับปรุงธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น ที่พัก ร้านอาหาร ขนาดเล็ก ให้มีการกระจายตัว และความหลากหลายในแต่ละชุมชน

หนองบัวลำภูเมืองแห่งความสุข คือ เป้าหมายที่หลายคนในวงแลกเปลี่ยนกันค่ะ และการไปถึงเป้าหมายอาจมีหลายวิธี ซึ่งส่วนหนึ่งคือโอกาสจากการท่องเที่ยวชุมชนที่เห็นสอดคล้องกัน ภายใต้ความเข้มแข็งของชุมชน เช่น กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่ผาจันได ที่ร่วมขับเคลื่อนปกป้องภูผาป่าไม้ในชุมชนกว่า 30 ปี และวันนี้กำลังฟื้นฟูและหวังพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่พวกเขามีส่วนร่วมค่ะ 

คุณผู้ชมสามารถร่วมเป็นส่วนสำคัญในการมองภาพอนาคตและหาทางแก้โจทย์นี้ โดยอ่านรายละเอียดเพิ่มเติม ที่ www.thecitizen.plus พร้อมเสนอประเด็นเพื่อให้เกิดเวทีฟังเสียงประเทศไทยกับไทยพีบีเอส

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ