ฟังเสียงประเทศไทย : พลังอีสานสร้างสรรค์

ฟังเสียงประเทศไทย : พลังอีสานสร้างสรรค์

Creative Economy หรือ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ นับเป็นประเด็นสำคัญที่สังคมไทยกำลังให้ความสนใจ และมีแนวโน้มจะนำไปสู่โอกาสการพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มในมิติต่าง ๆ อย่างมาก โดยเฉพาะภายใต้นโยบายซอฟต์เพาเวอร์

เพราะในแต่ละชุมชนท้องถิ่นล้วนมีเอกลักษณ์ความโดดเด่นที่ไม่ซ้ำแบบใคร ทั้งจากภาคเหนือ อีสาน กลาง และใต้ ซึ่งวันนี้ฟังเสียงประเทศไทย จะพาล้อมวงโสเหล่เสวนา ณ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม พิกัดอีสานตอนกลางกลุ่มจังหวัด “ร้อยแก่นสารสินธุ์” ซึ่งมีทุนทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญา วิถีชีวิต ผู้คน ที่คนในพื้นที่เดินหน้าต่อยอดเพิ่มมูลค่า

อะไรคือ Creative Economy ?

Creative Economy หรือ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ คือ การพัฒนาระบบเศรษฐกิจโดยใช้ความคิดสร้างสรรค์บนฐานขององค์ความรู้ ทรัพย์สินทางปัญญา และการศึกษาวิจัยซึ่งเชื่อมโยงกับวัฒนธรรม พื้นฐานทางประวัติศาสตร์ การสั่งสมความรู้ของสังคม เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อใช้ในการพัฒนาธุรกิจ การผลิตสินค้าและบริการในรูปแบบใหม่ ซึ่งสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจหรือคุณค่าทางสังคม

อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของประเทศไทย ประกอบด้วย 15 อุตสาหกรรม แบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม 

  • 1.กลุ่มรากฐานทางวัฒนธรรมสร้างสรรค์
  • 2.กลุ่มคอนเทนต์และสื่อสร้างสรรค์
  • 3.กลุ่มบริการสร้างสรรค์
  • 4.กลุ่มสินค้าสร้างสรรค์
  • 5.กลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์ข้อมูลเปิดด้านสร้างสรรค์ ระบุ มูลค่าอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของประเทศไทย ปี 2564 ใน 15 สาขา  3 อันดับแรก ได้แก่ อุตสาหกรรมแฟชั่น รองลงมาคือ อุตสาหกรรมโฆษณา และการท่องเที่ยวเชิงมรดกวัฒนธรรม 

13 กันยายน 2566 สำนักนายกรัฐมนตรี ได้จัดตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติขึ้น เพื่อทำหน้าที่ผลักดันและขับเคลื่อนนโยบาย โดยมีเป้าหมายยกระดับทักษะคนไทยจำนวน 20 ล้านคน สู่การเป็นแรงงานทักษะขั้นสูงและแรงงานสร้างสรรค์ 

ศูนย์ข้อมูลเศรษฐกิจสร้างสรรค์  หรือ  CIC จัดทำรายงานเรื่องแรงงานสร้างสรรค์กับรอยต่อของการเปลี่ยนแปลง ระบุ พัฒนาการของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เกี่ยวพันกับกลุ่มคน 3 ช่วงวัย คือ กลุ่ม Gen X  Gen Y และ Gen Z ความแตกต่างระหว่างช่วงวัยของคน ส่งผลต่อความสามารถในการปรับตัว ความคาดหวังในเส้นทางอาชีพ การใช้ชีวิต รวมถึงอาจสร้างช่องว่างระหว่างการทำงาน 

“ความชำนาญด้านดิจิทัล ความสามารถในการปรับ ตัวและการทำงานร่วมกัน” ถือเป็นทักษะและความสามารถพื้นฐานสำคัญสำหรับการทำงานแบบมืออาชีพการปฏิวัติทักษะใหม่(The Reskilling Revolution) โดยเฉพาะทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ (Analytical Thinking) และความคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking) ยังเป็นทักาะสำคัญสูงสุดในปี 2023 และอีก 5 ปี ข้างหน้า

SOFT POWER ไทยอยู่ตรงไหนในระดับโลก ?

จากการจัดอันดับ GLOBAL SOFT POWER INDEX 2022 ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 35 จาก 120 ประเทศทั่วโลก ส่วนในเอเชีย ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 6 รองจากจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และอินเดีย นอกจากนี้ รายงานการจัดเก็บดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศไทยด้านแรงงาน ระบุว่า ประเทศไทยมีจำนวนแรงงานสร้างสรรค์กว่า 931,000 คน

ในอีสาน จังหวัดที่มีรายได้รวมเฉลี่ยต่อกิจการกลุ่มธุรกิจสร้างสรรค์ 5 อันดับแรก ได้แก่ หนองคาย บุรีรัมย์ สุรินทร์ ขอนแก่น อุบลราชธานี  โดยกลุ่มที่สร้างรายได้มากที่สุด คือ กลุ่มอาหารไทย ออกแบบแฟชั่น งานฝีมือและหัตถกรรม และท่องเที่ยว 

ธุรกิจสร้างสรรรค์มีการขยายตัวชัดเจนในภาพรวม ทั้งเชิงจำนวนและมูลค่าการลงทุน โดยเฉพาะธุรกิจที่เน้น Soft power การแต่งกาย การท่องเที่ยว และการโฆษณา

ข้อมูลจากอีสานอินไซต์ คาดการณ์ธุรกิจในอุตสาหกรรมแฟชั่นมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยนิติบุคคลในกลุ่มแฟชั่นและออกแบบที่สะท้อนรายได้มากที่สุดมาจาก จ.ขอนแก่น แต่ผู้ประกอบการเสื้อผ้าในอีสานส่วนใหญ่เป็น SMEs

ในขณะที่ธุรกิจการเผยแพร่โทรทัศน์และภาพยนตร์พื้นที่ทำรายได้เฉลี่ยมากที่สุด คือ มหาสารคาม และขอนแก่น

ส่วนการผลิตภาพยนตร์ขยายตัวชัดเจนใน จ.ศรีสะเกษ ของจักรวาลไทบ้าน  ด้านการท่องเที่ยวยังกระจุกในเมืองใหญ่เช่น อุดรธานี บุรีรัมย์ 

ในขณะที่สินค้าส่งออกในกลุ่มงานฝีมือและหัตถกรรมยังขยายตัวต่อเนื่อง โดยมีตลาดส่งออกหลัก คือ สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง และญี่ปุ่น

นอกจากนี้ อาหารอีสาน ติด 1 ใน 15 ของโลก ที่ได้รับ Michelin Guide และเป็นอันดับ 3 ของไทย รวมถึงยังมีผลิตภัณฑ์ด้านอาหารอีกหลายรายการที่ได้รับการยอมรับ

ภาพอนาคตเศรษฐกิจอีสานสร้างสรรค์ ในอีก 5 ปี ข้างหน้า

ฉากทัศน์ A : ข้าวเหนียวนึ่งใหม่

เครือข่ายชุมชน และหน่วยงานในท้องถิ่นเป็นกำลังหลัก เห็นถึงความสำคัญและขีดความสามารถด้านศิลปะ/วัฒนธรรม/ ประเพณี ฮีต 12 คอง 14 / อาหาร/ วิถีชีวิต/ ภูมิปัญญา และทรัพยากร ที่นำไปยกระดับสู่การเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ร่วมส่งเสริม สืบทอดให้ดำรงอยู่ในชุมชนท้องถิ่น ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนองค์ความรู้ งบประมาณดำเนินการ ตลอดจนข้อมูลที่มีการศึกษารวบรวมเป็น Data base และเผยแพร่อย่างเป็นระบบ เพื่อนำมาต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างเหมาะสม เพื่อสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในระดับชุมชนท้องถิ่น

ฉากทัศน์ B : ข้าวหมาก

ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ เป็นกำลังหลักบูรณาการทำงานร่วมกันในแนวระนาบ เห็นถึงความสำคัญและขีดความสามารถด้านศิลปะ/วัฒนธรรม/ ประเพณี ฮีต 12 คอง 14 / อาหาร/ วิถีชีวิต/ ภูมิปัญญา และทรัพยากร สร้างโอกาสส่งเสริมด้านการลงทุน รวมทั้งเชื่อมโยงการตลาดในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและการลงทุน ซึ่งจำเป็นที่รัฐท้องถิ่นและภาคเอกชนต้องลงทุนสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ พร้อมสร้างระบบนิเวศการท่องเที่ยวเชื่อมไปยังจังหวัดในพื้นที่อีสาน และภูมิภาค เหนือ กลาง ใต้ของไทย

ฉากทัศน์ C : พิซซาแป้งข้าวพื้นบ้าน

ภาคนโยบาย สร้างโอกาส สนับสนุนงบประมาณส่งเสริมด้านการลงทุน เชื่อมโยงการตลาดในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์  เน้นการสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยมีเป้าหมายในการส่งออก และให้ความสำคัญกับห่วงโซ่คุณค่าของโลก  เชื่อมโยงทางภูมิเศรษฐศาสตร์  ภูมิศาสตร์วัฒนธรรม ไปกับพลเมืองอีสานที่กระจายในทั่วโลก ซึ่งจำเป็นต้องมีการเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ และหน่วยงานที่อำนวยการให้กระจายการเข้าถึงที่หลากหลาย สอดคล้องความต้องการของผู้ชมผู้ฟังผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็วทั่วโลก

การแลกเปลี่ยนพูดคุยครั้งนี้ ก็ได้แลกเปลี่ยนถึงมุมมองที่สะท้อนพลังอีสานสร้างสรรค์ในหลายมิติ ซึ่งจะเป็นทุนสำคัญที่อาจนำไปการยกระดับเศรษฐกิจไทย ที่เริ่มต้นจากท้องถิ่นซึ่งคาดกว่าหลายพื้นที่พร้อมแล้ว สู่ระดับชาติ และนานาชาติต่อไป แต่จำเป็นอย่างมากที่ต้องได้รับการสนับสนุนในระดับนโยบายและกรอบเวลาที่ชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรม

คุณผู้ชมสามารถร่วมเป็นส่วนสำคัญในการมองภาพอนาคตและหาทางแก้โจทย์นี้ โดยอ่านรายละเอียดเพิ่มเติม ที่ www.thecitizen.plus พร้อมเสนอประเด็นเพื่อให้เกิดเวทีฟังเสียงประเทศไทยกับไทยพีบีเอส

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ