“เก็บผักใส่ซ้า เซาะป๋ามาใส่หม้อ” กินอยู่อย่างสมดุลแบบคนเมือง

“เก็บผักใส่ซ้า เซาะป๋ามาใส่หม้อ” กินอยู่อย่างสมดุลแบบคนเมือง

ในปีใหม่ 2567 ที่เพิ่งมาถึงได้ไม่กี่วัน มีหลายคนตั้งปณิธานในการทำสิ่งใหม่มากมาย และหลายคนก็น่าจะใช้โอกาสปีใหม่เช่นนี้ในการเริ่มต้นความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ เช่นกันกับข้อมูล “ปณิธาน-ความมุ่งมั่น ตั้งใจ” ของผู้คนในโลกออนไลน์ ผ่านเครื่องมือ Zocial Eye พบว่าในช่วงครึ่งปีหลัง (1 ก.ค. – 31 ธ.ค. 66) มีถึง  4,379 ข้อความ ผ่านช่องทาง Facebook 1,391 ข้อความ (45.18%), Twitter 1,205 ข้อความ (39.14%), Instagram 269 ข้อความ (8.74%), Forum 110 ข้อความ (3.57%) และอื่น ๆ

5 ใน 14 หัวข้อ ที่ผู้คนในโลกออนไลน์พูดถึงกันมากที่สุด เช่น การออกกำลังกาย : ออกกำลังกาย, เล่นกีฬา, เข้ายิม การคุมอาหาร : คุมอาหาร, กินอาหารดี, ลดของหวาน, ลดของทอด, ลดมัน, ลดเค็ม การปรับร่างกายตัวเอง : ลดน้ำหนัก, หุ่นดี, เพิ่มน้ำหนัก, ฉีดหน้า, ทำศัลยกรรม, บำรุงผิว, ทำหน้า การพักผ่อน : พักผ่อนเพียงพอ, นอนเยอะ สุขภาพจิต : มีความสุข, ลดความเครียด, ปล่อยวาง, รักตัวเอง, ไม่ยึดติด

เห็นโฆษณาโปรโมชั่นผักติดตู้เย็น ทำให้มนุษย์ที่ใช้ชีวิตเชิงเดี่ยวอย่างผู้เขียน หวั่นไหวไม่น้อย ผักติดตู้เย็นที่ว่าคือ กลุ่มผักกาดขาว กระหล่ำปลี คะน้า ผักบุ้ง ที่กระหน่ำลดราคาอยู่ช่วงหนึ่งในซูเปอร์มาร์เก็ต และแต่ละชนิดก็จัดมาพอดีมื้อ ดูเร้าใจมาก คิดว่าสิ่งนี้คงเกิดขึ้นกับหลายๆ คน ที่อาศัยอยู่ในเมืองที่อยู่ห่างจากเรือกสวนไร่นาและไม่มีพื้นที่ให้เลือกปลูกอะไรได้มากนัก ข้อจำกัดเหล่านี้ ทำให้เรามีทางเลือกในการกินผักที่หลากหลายน้อยลง ทั้งๆ ที่บ้านเรามีผักมากมายหลายชนิด

พอลองไปสำรวจตลาดใหญ่ ๆ ทั่วไปในชุมชน ก็พบว่าผักพื้นบ้านที่เคยมีขายตามตลาดก็บางตาลง เมื่อมาทำงานเกี่ยวกับเรื่องผักอินทรีย์ จึงได้รู้ข้อมูลเชิงลึกว่า คนเชียงใหม่นั้นมีปัญหาเรื่องสารเคมีตกค้างในเลือดสูงมากเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ และส่วนใหญ่มาจากการบริโภคพืชผักที่เต็มไปด้วย สารเคมี สามกลุ่มอันได้แก่ ยาฆ่าแมลง ยากันรา และยาฆ่าหญ้า และปัญหาต้นตอส่วนหนึ่งมาจากการบริโภคผักอุตสาหกรรมที่เป็นเกษตรเชิงเดี่ยว

ที่มีกินทุกฤดู เรามีพื้นที่ปลูกผักอินทรีย์มากมายในเชียงใหม่ แต่ผักส่วนใหญ่กลายเป็น Contact farming ที่ปลูกเพื่อส่งออกทั้งในและนอกประเทศ ผักอินทรีย์กลายเป็นของราคาแพงที่คนเบี้ยน้อยหอยน้อยเข้าถึงได้ยาก…เกิดอะไรขึ้นกับอาหารของคนเชียงใหม่

ป่า – บ้าน – กาด
แหล่งอาหารดั้งเดิมของคนเมือง

คนเมืองในที่นี้หมายถึงคนที่อาศัยอยู่ในภาคเหนือตอนบน ที่เรียกตัวเองว่าคนเมือง ตัวผู้เขียนเองนั้นก็เป็นคนเมือง บ้านที่เคยอยู่นั้นอยู่ไกลจากตัวเมืองพอควร บ้านที่อยู่ก็เป็นบ้านหลายหลังเป็นพี่น้องปลูกอยู่ในรั้วเดียวกัน เลี้ยงเป็ด ไก่ หมู แต่ละบ้านมีสวนเป็นของตัวเอง และผู้เขียนก็ได้พื้นที่ส่วนหนึ่งไว้ปลูกผักที่ตัวเองอยากกิน ทำนองเดียวกับสวนของบ้านอื่นๆ ที่ปลูกผักที่ตัวเองชอบกินเช่นกันจึงมีผักหลากหลายแทบไม่ต้องไปตลาดกันเลยทีเดียว เมื่อถึงเวลาอาหารเช้า เราเก็บไข่มาเจียวกินได้ อาหารเหลือเราก็เอาไปเลี้ยงหมู มื้อไหนวัตถุดิบขาด เราก็ไปขอจากญาติที่อยู่ในรั้วเดียวกัน แป๊บๆ ก็ได้แกงหม้อหนึ่งกินกันในบ้าน

หากช่วงไหนที่มีใครได้ไปแพะ (ป่าใกล้ชุมชน) หากเป็นฤดูฝนก็จะมีเห็ดกลับมามากมาย ช่วงฤดูหนาวก็จะได้พวก แมงมันและพวกกลอยมากิน ส่วนฤดูร้อนก็เป็นทีของไข่มดแดง และผักหวานป่า วันไหนดวงดี ก็ได้พวกแลน งูสิงห์มาด้วย นอกจากพวกผัก บ้านเรายังมีไม้ยืนต้นที่ออกผลตามฤดูกาล ทำให้มีผลไม้กินทั้งปี 

ที่บ้านเราทุกเช้าจะมีความครึกครึ้นเพราะป้าเปิดร้านขายของชำที่เรียกว่าตูบกาด เป็นแหล่งกระจายข่าวในหมู่บ้าน เป็นที่ซื้อของที่ขาด พวกเครื่องปรุงรส อย่าง  น้ำปลา ซีอิ๊ว กะปิ หมู นอกเหนือจากนี้เราก็ไม่ค่อยได้ซื้ออะไรมากนักเพราะเก็บกินได้หมด ถ้าช่วงไหนมีเงินเราจึงได้ไปซื้อของมากมายที่ตลาด ได้กินปลาหมึก กุ้งบ้าง นานๆ ที 

เมื่อโตขึ้นย้ายเข้ามาอยู่ในเมืองจึงห่างหาย เรื่องแบบนี้ไป มุ่งแต่เรียนและทำงาน เมื่อเวลาเปลี่ยนไปทุกอย่างในตัวเราก็เปลี่ยนแปลง ป่วยง่ายขึ้น แต่ทว่าที่บ้านนอกแปลงผักในบ้านแต่ละคนนั้นยังคงอยู่ ป้าทั้งสามคนยังอยู่อย่างแข็งแรง มีแรงเล่นกับลูกหลานได้อีกนาน 

เปลี่ยนโลกไม่ได้ ก็เปลี่ยนที่ตัวเอง

ด้วยเหตุที่อาหารเมืองที่ประกอบด้วยพืชผักตามฤดูกาลนั้นมีไขมันน้อย โดยเฉพาะเมนูที่ประกอบด้วยปลา กุ้งน้ำจืด นั้นแทบไม่ได้ใช้น้ำมันเลย อีกทั้งผักสมุนไพรพื้นบ้านนั้นล้วนมีสรรพคุณทางยา

ที่เขียนมานี้ไม่ได้ปฏิเสธการพัฒนาของเมืองแล้วให้กลับไปดำรงชีวิตเหมือนเดิม เพียงแต่กำลังจะบอกว่าเราในเชิงนโยบายบ้านเราอาจจะต้องการจัดการเรื่องอาหารที่ดี ด้วยการให้ความรู้กับคนปลูกมากขึ้นเพื่อลดการใช้สารเคมี ให้ความรู้กับคนกินมากขึ้น ชักชวนให้คนเปลี่ยนมากินอาหารที่หลากหลายขึ้น ประชาสัมพันธ์เรื่องผักพื้นบ้านให้คนได้รู้จักเลือกกินอาหารตามฤดูกาล และหากมีเวลาก็อาจจะจัดการพื้นที่ในบ้านส่วนหนึ่งปลูกผักที่กินได้ เพื่อลดการกินผักเศรษฐกิจลง ส่งเสริมให้คนกินผักอินทรีย์ เมื่อคนกินมากขึ้น คนปลูกก็จะเพิ่มมากขึ้นด้วย ราคาผักอินทรีย์ในตลาดก็อาจจะลดลง

มาถึงบรรทัดนี้ก็เพียงแต่อยากชวนทุกคนมากินอาหารเมืองที่ประกอบด้วยผักพื้นบ้าน อาหารพื้นถิ่นตามฤดูกาล นอกจากจะได้ช่วยกันรักษาพืชพันธุ์ที่หลากหลาย ยังได้ช่วยต่ออายุสูตรอาหารเมืองต่างๆ ให้คงอยู่ พร้อมกับต่ออายุของตัวเองให้แข็งแรงสมบูรณ์ปราศจากโรคภัยอีกด้วย

เขียน : นฤมล ชมดอก

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ