ในนิยามของคำว่า อยู่ดีกินลำ หรือ “อยู่ดีกิ๋นลำ” อยู่ดีคืออยู่อย่างมีความสุขสบาย มีคุณภาพชีวิตที่ดี ส่วนการกินลำคืออาหารอร่อยและดีต่อสุขภาพ และสามารถใช้ในความหมายอื่นของชีวิต เช่น การเฉลิมฉลอง การสังสรรค์กับเพื่อนฝูง ฯลฯ
ลาบ จึงเป็นเครื่องมือแรกที่จะนำทางเราไปสำรวจ “อยู่ดีกิ๋นลำ” ถึงความหมายและความต้องการสื่อสารต่อสังคมให้เกิดการตระหนักรู้ถึงคุณภาพชีวิตที่ดีโดยการกินการอยู่ ในวิถีของ”คนเมือง” หรือ “คนภาคเหนือ” นั่นเอง
ลาบ เป็นอาหารที่อยู่คู่กับสังคมเมืองเหนือ หรือ แต่ก่อนคือ อาณาจักรล้านนา มาแต่โบราณกาล ไม่เพียงแต่เป็นอาหารที่กินเพื่ออิ่มท้อง แต่ยังแสดงออกถึงวิถีชีวิต การเมือง การปกครอง รวมถึงวัฒนธรรมในอดีตที่ส่งต่อมาถึงยุคปัจจุบันอีกด้วย เนื่องด้วยลาบถูกสัณนิฐานว่ามีต้นกำเนิดมาจากประเทศจีนตอนใต้ซึ่งเป็นบริเวณมณฑลยูนนานในปัจจุบัน จึงแผ่ขยายความนิยมในอาหารชนิดนี้ผ่านมาทางอาณาจักรล้านนา ลาว(หรือล้านช้าง) และทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยในปัจจุบัน
และเนื่องจากในอดีตลาบเป็นอาหารที่พิเศษ สำหรับโอกาสสำคัญๆ เท่านั้น คำว่าลาบ จึงมีที่มาจาก 2 ความหมายด้วยกันคือ “ลาบ” เป็นคำกริยา ที่หมายถึงการสับให้ละเอียด และยังพ้องเสียงกับคำว่า “ลาภ” ที่มาจากโชคลาภ ลาภยศ เพื่อใช้ลาบเป็นเหมือนอาหารที่ถือเคล็ดในโอกาสสำคัญอีกด้วย
เมื่อต้องการกิน “ลาบ” หากเราอาศัยอยู่ในภาคกลางหรือภาคใต้ เรามักจะพบว่า ลาบที่ขายอยู่ตามร้านทั่วไปมักเป็นลาบจากทางอีสาน ด้วยหลายสาเหตุปัจจัยทำให้อาหารจากทางอีสานมีความแผร่หลายกว่า หากจะวิเคราะห์ลงไปให้ลึกและจากการสำรวจตรวจสอบจากสื่อหลายสำนัก ก็พบว่าอาหารท้องถิ่นมักติดมือติดตัวไปกับ คนพลัดถิ่น ไม่ว่าจะด้วยการย้ายถิ่นฐานเพื่อไปบุกเบิกพื้นที่ใหม่ หรือ การเข้ามาในเมืองหลวงเพื่อประกอบอาชีพก็ตาม จึงมักเห็นอาหารอีสานแพร่หลายกว่า “กับข้าวเมือง” หรืออาหารของคนเหนือนั่นเอง เพราะโดยธรรมชาติของคนภาคเหนือนั้นไม่ค่อยชอบย้ายถิ่นฐานจากบ้านเกิดนัก เนื่องด้วยการใช้ชีวิตที่เนิบช้า หรือ “สโลว์ไลฟ์” ที่แม้จะลำบากยากจนอย่างไร การอยู่ในถิ่นที่สบายใจ มีครอบครัวคนรักก็ยังพอให้มีความสุขได้ อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญและเห็นได้ชัดคือ อาหารเหนือเป็นอาหารที่ต้องใช้เครื่องปรุงและวัตถุดิบค่อนข้างมากและพบได้มากในพื้นที่ภาคเหนือเท่านั้น ยังรวมถึงกระบวนการปรุงที่มีหลายขั้นตอนซับซ้อนและใช้เวลาค่อนข้างนาน แม้กระทั่ง ลาบ เอง แม้จะเป็นอาหารที่ดูจะทำง่าย เพราะไม่มีการใช้ความร้อนในการทำให้สุก(ยกเว้นเครื่องใน) ยังต้องมีขั้นตอนการทำใช้เวลาทำพอสมควร ยกตัวอย่างลาบเมืองที่เป็นหัวข้อให้อ่านกันในวันนี้
“ลาบควายดิบ” คืออาหารที่เป็นจุดสูงสุดของลูกผู้ชายชาวเหนือเกือบทุกคน ไม่ว่าจะเป็นการพิสูจน์ว่า เราได้ก้าวข้ามจากวัยเด็กมาเป็นผู้ใหญ่อย่างเต็มตัวเพราะกล้าที่จะลองกิน หรือในความหมายของการเข้าครัวเพื่อทำลาบก็เป็นหน้าที่สำคัญของผู้ชายวัยหนุ่ม ที่แต่เดิมการเข้าครัวเป็นหน้าที่ของแม่ หรือผู้หญิงที่จะทำอาหารเลี้ยงคนทั้งครอบครัว แต่เมื่อถึงเทศกาลหรืองานโอกาสพิเศษสำคัญต่าง ๆ ก็มักจะเป็นผู้ชายที่จะลงมือ”ลาบ” ด้วยตนเอง อาจจะเนื่องด้วยการ “ลาบ” หรือการสับเนื้อให้ละเอียด ต้องใช้พลังแขนและเวลาค่อนข้างมากนั่นเอง
แล้วทำไมต้อง”ลาบ”ให้ละเอียดด้วยเล่า?
ตามคำของอาจารย์ธเนศวร์ หรือ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง กล่าวว่า
ลาบเมือง คือ ลาบเจ้านาย นั้น ด้วยเหตุว่า การเฉลิมฉลองใดๆ ที่ต้องใช้ลาบ เจ้านายจะเป็นคนสั่งให้ข้าทาสบริวารเป็นผู้ลงมือทำ ลาบที่เจ้านายจะกินต้องไม่มีเม็ดทราย ไม่มีเอ็น ต้องเนียน ละลายหายไปในปาก หากทำไม่ได้ตามนี้ต้องถูกลงโทษอย่างหนัก ทำให้การลาบนั้นหมายถึงกริยาที่ยิ่งกว่าการสับให้ขาดก็ว่าได้
“เนื้อควาย”
ส่วนผสมที่สำคัญหรือหัวใจหลักของลาบคือเนื้อควาย เนื่องมาจากในยุคอาณาจักรล้านนา นับได้ว่าเป็นพื้นที่ปลูกข้าวที่กว้างใหญ่ไพศาล การใช้แรงงานควายไถนามีจำนวนควายค่อนข้างมาก การบริโภคควายจึงเป็นเรื่องปกติในยุคสมัยนั้น เพียงแต่การล้มควาย 1 ตัว ต้องมีเหตุและผล คุ้มค่ามากพอ เพราะถือเป็นปัจจัยการผลิตหรือปลูกข้าวที่สำคัญ จะต้องเป็นงานพิเศษสำคัญ สามารถเลี้ยงคนได้มากมาย และใช้ทุกส่วนได้อย่างคุ้มค่า ตั้งแต่ เขาควาย หนังควาย ไปจนขี้เพียะ หรือน้ำดีกันเลยทีเดียว เนื้อควายที่ได้จะต้องถูกแล่ออกมาด้วยความชำนาญและแน่นอนว่าย่อมต้องเป็นผู้ชายในการทำงานนี้เพราะล้วนต้องใช้แรงและมีดที่ลับมาอย่างดี เนื้อต้องสดสะอาด ห้ามวางกับพื้นเพราะประเดี๋ยวจะมีเม็ดทรายให้เจ้านายเคืองใจ ต้องหั่นต้องแล่เอาเอ็นแข็ง ๆ ออกให้หมด ต้องเป็นเนื้อล้วนๆ เพื่อนำไปทำลาบที่สมบูรณ์แบบที่สุด นำเนื้อที่คัดมาอย่างดีไปทำการ “ลาบ” พร้อมกันกับเลือดควายก้อน คือใช้มีดสับรวมกันไปเรื่อยๆ จนกว่าจะแหลกเหนียวติดเขียงเล็กน้อย ซึ่งขั้นตอนการลาบนี้ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 20 นาที หากเป็นงานใหญ่ต้องใช้เนื้อจำนวนมาก อาจถึง 1-2 ชั่วโมง เลยทีเดียว ในระหว่างการลาบจะมีการใส่เกลือป่นเล็กน้อย เป็นเคล็ดลับเพื่อเพิ่มความเหนียวนุ่มลงไปด้วย ซึ่งขั้นตอนนี้ “เจ้านาย” หรือคนรับผิดชอบ จะต้องลงมาดูความละเอียดด้วยตนเอง เมื่อเห็นว่าได้ที่จึงสั่งหยุดสับ พร้อมนำไป “ยำ” ต่อไป
“พริกลาบ”
โดยปกติ การปรุงลาบนั้นประกอบไปด้วย “พริกลาบ” ซึ่งเป็นชุดของเครื่องเทศ ต่าง ๆ ที่ตากแห้งเพื่อถนอมอาหาร นำมาคั่วเพื่อเรียกกลิ่นและรสกลับมาอีกเกือบสิบชนิด เครื่องเทศเหล่านี้ก็เป็นตัวบ่งบอกถึงลักษณะการเคลื่อนย้ายแลกเปลี่ยนสินค้าในอดีตด้วยเช่นกัน ปกติแล้วลาบจากทางจังหวัดแพร่ น่าน พะเยา เชียงราย ลำปาง แม่ฮ่องสอน จะมีเครื่องเทศเด่น ๆ คือ มะแขว่น ซึ่งเป็นพืชพื้นถิ่นที่หาได้ง่ายเป็นหลักในการทำกับพริกแดงแห้ง แต่ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และลำพูน เป็นพื้นที่ที่เริ่มมีการเข้าถึงของเครื่องเทศต่าง ๆ ที่มาจากนอกพื้นที่ เช่น โป๊ยกั๊ก อบเชย เป็นต้น เพราะเมืองเชียงใหม่ลำพูนถือเป็นหัวเมืองที่มีเจ้านาย ที่มีการเดินทางแลกเปลี่ยนสินค้าต่าง ๆ กับหัวเมืองใหญ่อื่นๆ อยู่ตลอด จึงนำเครื่องเทศเหล่านั้นมาผสมกับพริกลาบเดิม กลายเป็นพริกลาบในปัจจุบัน ซึ่งพริกลาบของแต่ละบ้านก็ล้วนเป็นความภูมิใจที่นำมาอวดกันเล็กๆ อยู่เสมอ ว่าของใครรสชาติจะกลมกล่อมกว่ากันและส่วนผสมกับอัตราส่วนก็เป็นความลับของแต่ละบ้านอีกด้วย
“คัวใน”
หรือเครื่องในควาย ส่วนประกอบที่สำคัญ ในปัจจุบันจะนำไปลวกน้ำร้อนเพื่อกำจัดกลิ่นคาวออก เคล็ดลับของแต่ละบ้านก็ต่างกันไป บ้างก็ใส่เกลือเล็กน้อย บางบ้านใส่ตะไคร้ใบมะกรูดก็มี แล้วนำมาหั่นเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ใครชอบมากก็ใส่มาก คัวในที่เรารู้จักกันดีก็เช่น ตับ ผ้าขี้ริ้ว ไส้ เป็นต้น ถูกลวกหั่นเตรียมไว้พร้อมกันกับเนื้อที่กำลังลาบนั่นเอง
“การยำ”
เมื่อเตรียมส่วนผสมหลักพร้อมแล้วจึงนำทุกอย่างลงคลุกเคล้าด้วยกัน ความยากของกระบวนการนี้ก็คือ ทุกอย่างไม่ใช่ของเหลวที่จะผสมกันได้ง่าย พริกลาบกับเนื้อจะเข้ากันได้ต้องใส่พลังในการ “ยำ” หรือคนไปเรื่อยๆ ให้พริกลาบเข้าไปแทรกอยู่ในทุกอณูของเนื้อจนเป็นเนื้อเดียวกัน เครื่องในต้องกระจัดกระจายอย่างทั่วถึง ระหว่างการยำสามารถเติมเกลือเล็กน้อยตามชอบ ใส่ขี้เพียะ หรือ ดีควาย ลงไปเพิ่มความขมหวาน ใส่ผักชีและกระเทียมเจียวเล็กน้อยสร้างกลิ่นหอมชวนน้ำลายสอ เมื่อคลุกเคล้ากันดีแล้วตักใส่ภาชนะพร้อมตกแต่งด้วย”หอมป้อม” หรือผักชี และกระเทียมเจียว เป็นอันเสร็จพิธี
จะเห็นได้ว่ากว่าจะถึงมือเจ้านายหรือคนกิน ก็ใช้เวลาตั้งแต่เช้า ในการแล่เนื้อ ยำ จนกระทั่งใส่จาน เรียกได้ว่าเป็นอาหารควบมื้อเช้าเที่ยงแบบฝรั่งเก๋ ๆ ว่า Brunch – บรันช์ หรือควบมื้อแบบคนเมืองว่า ข้าวงาย(ข้าวเช้า) + ข้าวตอน(ข้าวเที่ยง)ว่า ข้าวตอนงาย ก็ยังได้(ตรงนี้อาจผิดพลาดต้องขออภัย)
“ผักกับลาบ”
เมื่อขึ้นสำรับแล้ว นิยมกินคู่กันกับผักสดต่าง ๆ อีก 10 – 20 ชนิด ที่มีในท้องถิ่น ซึ่งผักเหล่านี้สังเกตให้ดีจะพบว่าเป็นพืชอวบน้ำขึ้นใกล้พื้นที่ชุ่มชื้นในบ้าน หรือใกล้ครัว แสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ภาคเหนือได้เป็นอย่างดีและเป็นที่น่าภูมิใจของเจ้าของบ้านเสมอ ถ้าผักของตนนั้นไม่เหมือนที่ไหน แสดงให้เห็นถึงความ”ลึก” ในการรู้จักพืชพรรณบำรุงสุขภาพ ตัวอย่างผักที่นิยมกินคู่กับลาบ หรือคนเมืองเรียกว่า “ผักกับลาบ” ก็ได้แก่ ผักไผ่หรือผักแพว ผักคาวตองหรือผักพลูคาว ยอดอ่อนของต้นหอมด่วนหลวงหรือต้นหูเสือ ฝักบ่าลิ้นไม้(บะลิดไม้)หรือฝักเพกานำไปเผาแช่น้ำปลา ก็นิยมนำมากินแนมกับลาบเช่นกัน ผักต่างๆ เหล่านี้ล้วนมีสรรพคุณทางยาแตกต่างกันไป เช่น
- ฝักลิ้นไม้เผา (ฝักเพกา) ช่วยบำรุงเเละรักษาสายตา ใช้เป็นยาบำรุงธาตุ ลดโอกาสเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งได้ ใช้แก้ร้อนใน เเละทำให้ร่างกายอบอุ่นได้ ช่วยในการขับลม
- หอมด่วนหลวง (หูเสือ) ยอดอ่อนกินเป็นผักสด ช่วยขับลม ช่วยย่อย ช่วยเจริญอาหาร น้ำคั้นจากใบแก้ปวดหู หูน้ำหนวก
- ยอดบ่าปีน (ยอดอ่อนมะตูม) ช่วยขับลม รักษาอาหารท้องเสีย ช่วยลดไข้ แก้อักเสบ
- ผักแปม ช่วยแก้อาหารท้องอืด ช่วยให้เจริญอาหาร
เหล่านี้เป็นต้น แต่ถ้าใครสนใจ ตรงนี้ และ ตรงนี้ คือลิงก์ ไปยังต้นทางความรู้เกี่ยวกับสรรพคุณสมุนไพรแบบครบๆ ที่นิยมกินกับลาบ ผักบางชนิดเรียกได้ว่า เห็นใบแต่จำชื่อไม่ได้ก็มี
“ต๋ำฮากุ๊ยลาบ”
ที่ขาดไม่ได้คือข้าวเหนียว หรือที่คนเมืองเรียกข้าวนึ่งนำมาปั้นจิ้มกินกับลาบ และวิธีการกินลาบดิบที่เป็นกระบวนท่าเฉพาะตัวที่คิดค้นกันมาอย่างสนุกสนาน อันเนื่องมาจากในอดีต ลาบเป็นของสำคัญ รสชาติอร่อย กินได้ไม่บ่อย กว่าจะได้กินต้องรอเจ้านายกินจนอิ่มเสียก่อน จึงต้องแย่งกันกินสักหน่อย แต่จะให้ถึงกับวางมวยแย่งชิงก็ไม่ใช่วิสัยของคนเหนือที่นิยมวิธีการประนีประนอมเป็นหลัก จึงเกิด “ต๋ำฮากุ๊ยลาบ” หรือ ตำรากุ๊ยลาบ ขึ้นมา คำว่ากุ๊ย คือการใช้ข้าวเหนียวกวาดลงบนถ้วยลาบ ให้ติดขึ้นมาบนข้าวแล้วนำเข้าปากเคี้ยวกิน แต่ละคนมีลีลาการกุ๊ยที่แตกต่างกัน ลองไปดูตัวอย่างสนุกๆ ที่นี่ ได้ จะรู้ว่าคนเหนือมีความสร้างสรรค์บรรเจิดจริงๆ ซึ่งแต่ละท่าเน้นปริมาณลาบทั้งนั้น เมื่อค้นย้อนหลังไปไม่กี่สิบปีก็เจอเพลง “ต๋ำฮากุ๊ยลาบ” ของลุงใจ สายทอง ทองเจริญ ที่เล่าถึงพ่อตากับลูกเขยที่แย่งชิงลาบกันด้วยเล่ห์เหลี่ยมอย่างสนุกสนาน รวมถึงเพลง “ลาบควาย” ของวิฑูรย์ ใจพรหม ที่เล่าถึงความสนุกสนานเมื่อผู้ชายเข้าครัว การลาบเนื้อควาย ส่วนผสมคร่าว ๆ ก็แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของลาบในอีกมิติหนึ่งได้ดี
“กินอย่างไรให้ปลอดภัยและสุขภาพดี”
เนื่องด้วยความรู้วิทยาศาสตร์การแพทย์ในปัจจุบันก็สรุปมาเป็นบทเรียนได้ว่า การกินเนื้อสัตว์ดิบทำให้ร่างกายต้องใช้พลังงานย่อยอาหารมากกว่าเนื้อสัตว์ที่ปรุงจนสุกและยังเสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นพยาธิชนิดต่าง ๆ แบคทีเรีย ก่อโรคทั้งมะเร็งและอวัยวะภายในต่างๆ อักเสบ เสียหายชีวิตและทรัพย์สินภาษีประชาชนมากมายนับไม่ถ้วน เนื้อสัตว์ดิบ ที่เป็นอันตรายก็เช่น ปลาน้ำจืด เสี่ยงต่อพยาธิใบไม้ตับทำให้ตับอักเสบ เป็นมะเร็งตับอ่อนและท่อน้ำดี เจ็บปวดทรมานและเสียชีวิตในที่สุด เนื้อหมูและเครื่องใน เสี่ยงต่อพยาธิตัวตืด พยาธิแส้ม้า ทำให้ร่างกายขาดสารอาหาร และมักพบเชื้อแบคทีเรีย สเตรปโตคอคคัส ซูอิส (Streptococcus suis) ซึ่งทำให้หูดับ หูหนวกได้ หรือในเนื้อวัวหรือควายเองก็ยังมีพยาธิตืดวัวตืดควายอีกด้วย
ภูมิปัญญาในสมัยก่อนทำให้การกินลาบควายสามารถลดความเสี่ยงต่อโรคและพยาธิต่างลง เช่น มักจะเลือกควายตัวที่อุดมสมบูรณ์ สุขภาพดีไม่มีอาการเจ็บป่วย มีการเลี้ยงแบบประคบประหงม กำจัดเห็บเหลือบลิ้นไรอย่างดี ก่อนที่จะล้มมาทำลาบ และอย่างที่ทราบ ว่าลาบเมืองคือลาบเจ้านาย จะต้องไม่มีเม็ดทรายปะปน การแล่จึงมีการวางห่างจากพื้นที่มีเชื้อและแมลงต่าง ๆ รวมถึงต้องประกอบอาหารทันที จึงลดเรื่องของการปนเปื้อนลงอีกด้วย อีกทั้งมักใช้ส่วนของกล้าเนื้อภายในที่ไม่ได้สัมผัสกับตัวเชื้อโรคต่าง ๆ ซึ่งต่างจากหมูและไก่ ที่คนนิยมกินหนังซึ่งอาจสัมผัสเชื้อโรคและพยาธิเข้าไปด้วยนั่นเอง และในแต่ละปีคนเมืองสมัยก่อนจะได้กินลาบแค่ 1 หรือ 2 มื้อเท่านั้น ซึ่งต่างกับปัจจุบันที่การกินลาบเรียกได้ว่า กินทุกวันก็ยังได้ มีร้านลาบให้เลือกมากมายตามหัวมุมถนนต่าง ๆ ยิ่งกินบ่อยก็ยิ่งเสี่ยงพยาธิไปด้วยนั่นเอง
เราสามารถกินลาบให้ปลอดภัยได้ดังนี้
- นำไปผ่านความร้อนให้สุก คนเมืองเรียกลาบประเภทนี้ว่า “ลาบคั่ว” เทคนิคการคั่วแต่ละคนก็ต่างกันไปเพื่อคงความหวานหอมอร่อยให้ยังคงเดิม แต่เมื่อคั่วแล้วก็สามารถฆ่าเชื้อโรคและพยาธิไปได้เกือบหมด(แล้วแต่ความร้อนและระยะเวลา) และยังช่วยให้ร่างกายย่อยได้ง่ายไม่สิ้นเปลืองพลังงานในการย่อยอีกด้วย จากย่อหน้าที่พูดถึงผักกับลาบ จะเห็นได้ว่าผักส่วนใหญ่จะมีฤทธิ์ขับลม ช่วยย่อย ช่วยให้สบายท้องแทบทั้งสิ้น เป็นการลดอาการกินลาบดิบแล้วท้องอืด ท้องเฟ้อนั่นเอง
- เลือกเนื้อที่ได้จากฟาร์มผลิตได้มาตรฐาน ฟังดูอาจจะยากสักหน่อย เพื่อความสบายใจถ้าเรารู้แหล่งที่มาของอาหารก็มั่นใจได้ระดับนึงว่า การเลี้ยงเป็นไปตามมาตรฐาน สะอาด ปลอดโรคตั้งแต่ยังมีชีวิต เมื่อนำมาประกอบอาหารก็ปลอดภัยได้แน่นอน
- ผักกับลาบ ทุกชนิด ต้องทำการแช่น้ำทิ้งไว้ไม่ต่ำกว่า 10 นาทีเป็นอย่างน้อย หรือหากสามารถแช่กับน้ำส้มสายชูหรือน้ำเกลือได้ก็จะปลอดภัยมากขึ้น เป็นการชะล้างไข่พยาธิที่ติดอยู่ในผักให้ตกอยู่นอ่างแช่ผัก วิธีการนี้สามารถลดโอกาสเสี่ยงพยาธิได้ 3-14 เท่า เลยทีเดียว เมื่อปลอดจากเชื้อโรค ผักสมุนไพรเหล่านี้จะทำให้สุขภาพของเราดีขึ้นจากการบริโภคเป็นประจำอีกด้วย
- ถ่ายพยาธิ เป็นประจำทุกปี การรักษาสุขภาพด้วยตนเองเป็นสิ่งพึงกระทำอย่างเป็นประจำสม่ำเสมอ ถ่ายพยาธิโดยใช้ยาถ่ายให้ครอบคลุมพยาธิทุกประเภท จะช่วยให้ลดความเสี่ยงจากการเจ็บป่วยจากปรสิตแปลกปลอมเหล่านี้ได้มาก
ทั้งนี้เชื่อว่า ลาบเมือง ยังคงอยู่ไปอีกนาน ด้วยรสชาติความอร่อยและวิธีการกินให้สุขภาพดีและปลอดภัยน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญให้พวกเราคนเมืองอยู่ดีกิ๋นลำไปด้วยกันนาน ๆ เน้อปี้น้อง