และความร่วมมือของภาคประชาสังคมภาคเหนือ
ความเป็นมา
[ในระยะหลายปีที่ผ่านมา กฟผ. ได้ดำเนินการพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าและระบบสายส่งจากประเทศพม่าและสปป.ลาว ผ่านเข้ามายังภาคเหนือของประเทศไทยหลายโครงการ ซึ่งทุกโครงการต่างดำเนินการไปโดยหน่วยงานตามลำพัง และได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างประชาชน/ภาคประชาสังคมในพื้นที่กับ กฟผ. ในหลายโครงการ และบางโครงการก็มีศักยภาพที่จะก่อให้เกิดความขัดแย้งในอนาคตเช่นกัน โครงการต่างๆของ กฟผ. ได้แก่
1. โครงการเขื่อนฮัตจี บนแม่น้ำสาละวินในพม่า มีสายส่งขนาด 500 KV ผ่านมายังประเทศไทยด้าน อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ไปเชื่อมระบบสายส่งที่ จ.นครสวรรค์
2. โครงการเขื่อนท่าซาง(ท่าตอน) บนแม่น้ำสาละวินในพม่า จะมีสายส่งขนาด 500 KV ผ่านมายังประเทศไทยด้าน อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ ไปเชื่อมระบบสายส่งที่ จ.นครสวรรค์
3. โครงการสายส่งขนาด 500 KV จากโรงไฟฟ้าหงสาลิกไนต์ ผ่านเข้ามาทางอ.สองแคว อ.ท่าวังผา จ.น่าน ไปเชื่อมต่อกับระบบสายส่งที่ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง
4. โครงการทำเหมืองลิกไนต์ ที่ อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ เพื่อขนส่งถ่านหินไปใช้ที่ โรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง
5. โครงการสายส่งจากโรงไฟฟ้าถ่านหินมายกก ในรัฐฉาน ประเทศพม่า ผ่านมายังประเทศไทย ด้านดอยแม่สะลอง อ.แม่จัน จ.เชียงราย มาเชื่อมกับระบบสายส่งที่ จ.เชียงราย
6. โรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ จ.ลำปาง
โครงการของ กฟผ. ทุกโครงการดังกล่าวข้างต้น ต่างได้สร้างปัญหาผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม และที่เห็นได้ชัดเจนมากที่สุดคือโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ จ.ลำปาง ซึ่งมีการต่อสู้ของชาวบ้านรอบโรงไฟฟ้าถ่านหินมาอย่างยาวนานจนถึงปัจจุบัน หรือที่เห็นผลกระทบชัดเจนแล้วคือ โครงการเหมืองถ่านหินที่ อ.เวียงแหง และโครงการสายส่งไฟฟ้าแรงสูงที่ จ.น่าน ในขณะที่กรณีอื่นๆกำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนาโครงการ และในทุกกรณี กฟผ. จะอ้างเหตุผลในเรื่องความต้องการไฟฟ้าของประเทศ ที่เป็นไปตามแผนแม่บทพัฒนาพลังงานไฟฟ้า(15-20 ปี) ซึ่งเป็นแผนแม่บทที่จะระบุการสร้างโรงไฟฟ้า การรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ และการวางแผนก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าแรงสูง โดยแผนแม่บทพัฒนาพลังงานไฟฟ้า(2555-2573) ฉบับล่าสุด เพิ่งได้ประกาศใช้ไปเมื่อเดือนมิถุนายน 2555 และการจัดทำแผนแม่บทฯที่ผ่านมา ภาคประชาสังคม โดยเฉพาะภาคประชาสังคมที่จะได้ผลกระทบจากโครงการต่างๆที่กำหนดไว้นั้น ไม่ได้มีโอกาสรับรู้ข้อมูลโครงการ ไม่มีกระบวนการมีส่วนร่วมหรือตัดสินใจใดต่อแผนดังกล่าวนี้ และถือว่าเป็นการละเลยกระบวนการรับรองสิทธิของประชาชนในการรับรู้ข้อมูลโครงการและร่วมตัดสินใจตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญไทย ปี 2550
ด้วยสถานการณ์ดังกล่าวนี้ กป.อพช.ภาคเหนือ จะได้จัดเวทีเพื่อการปรึกษาหารือระหว่างตัวแทนเครือข่ายภาคประชาสังคมในพื้นที่โครงการต่างๆ กับกลุ่มภาคีอื่นๆที่มีความสนใจร่วมในปัญหาดังกล่าวนี้ เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ของปัญหาในแต่ละพื้นที่ร่วมกัน ตลอดจนกระบวนการความร่วมมือในการติดตามและแก้ไขปัญหาทั้งในพื้นที่ และระดับนโยบาย และการผลักดันให้มีการปฎิรูปกระบวนการจัดทำแผนแม่บทพลังงานไฟฟ้าของประเทศ ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชน สิ่งแวดล้อม ทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านต่อไป
วัน เวลา สถานที่
วันที่ 15 สิงหาคม 2555 เวลา 12.00 น. – 17.00 น. เวทีปรึกษาหารือ
ณ ห้องประชุมใหญ่ สำนักงาน กป.อพช.ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่
ประเด็น สถานการณ์และการแก้ไขปัญหาของแต่ละพื้นที่, การเรียนรู้แผนแม่บทพัฒนาพลังงานไฟฟ้า, แนวทางการพัฒนาความร่วมมือสำหรับการทำงานในอนาคต, การพิจารณาร่างแถลงการณ์ร่วมของเครือข่าย
วันที่ 16 สิงหาคม 2555 การแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน โดยตัวแทนเครือข่ายที่มาร่วมประชุม
ณ ร้าน Book Re:Public จ.เชียงใหม่