ประมวลภาพ
ลอยคอ รอคอย แรงงานประกันสังคม กับการเยียวยาหลังโควิด
เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ พร้อมผู้ประกันตนประกันสังคมบางส่วนที่ลงทะเบียนรับเงินกรณีว่างงาน 62 เปอร์เซ็นต์ เข้าพบสำนักงานประกันสังคมจังหวัดเชียงใหม่ ….เพราะความล่าช้าของการพิจารณา การเยียวยาผลกระทบของโควิดที่ยังมาไม่ถึง
28 พฤษภาคม 2563 เวลา 10.00 น. เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ พร้อมผู้ประกันตนประกันสังคมบางส่วนที่ลงทะเบียนรับเงินกรณีว่างงาน 62 เปอร์เซ็นต์ เข้าพบคุณจุฑามาศ มั่นสุวรรณ นักวิชาการแรงานชำนาญการพิเศษ และตัวแทนเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อปรึกษาหารือประเด็นความล่าช้าในการพิจารณาและการจ่ายเงินให้กับผู้ประกันตนที่ได้รับความเดือนร้อนจากสถานประกอบการปิดกิจการชั่วคราว ซึ่งผู้ประกันตนยื่นขอรับเงินกรณีว่างงานไปตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 แต่ปัจจุบันยังไม่ได้รับเงินดังกล่าว รวมถึงได้รวมถึงการพูดถึงการให้บริการของสำนักงานประกันสังคมกับผู้ประกันตนที่เข้ามาติดต่อในการยื่นเอกสารเพื่อเข้ารับสิทธิ์เงินกรณีการว่างงานและผู้ประกันตนที่เข้ามาติดสอบถามเกี่ยวกับปัญหาที่มีความล่าช้ายังไม่ได้รับเงินกรณีว่างงานเสียที
เนื่องจากมองเห็นปัญหาในการจัดคิวให้กับผู้ประกันตนที่มาใช้บริการที่ไม่ได้มีการให้คิว ซึ่งหากผู้ประกันตนคนใดมีธุระต้องออกจากที่นั่งก็ต้องฝากคนที่อยู่ทั้งด้านหน้าและด้านหลังว่าช่วยสงวนที่ตรงนี้ไว้ให้ด้วยเพื่อตนนั้นจะได้ออกไปทำธุระส่วนตัวได้เช่นหาของกิน หรือเข้าห้องน้ำ ซึ่งการจัดการดังกล่าวนั้นทำให้บางคนไม่กล้าที่จะลุกออกจากที่นั่งเพราะเกรงว่าจะต้องไปต่อแถวใหม่ ในส่วนนี้อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ประกันตนได้เพราะโดยเฉลี่ยแล้วหนึ่งคนต้องรอประมาณ 1-3 ชั่วโมงในการรอ นอกจากนี้ทางสำนักงานประกันสังคมไม่ได้จัดล่ามภาษาให้กับผู้ประกันตนที่เป็นแรงงานข้ามชาติ ทำให้ผู้ประกันตนในส่วนนี้มีความยุ่งยากในการสื่อสารทั้งในการขอข้อมูลและการให้ข้อมูล
ตัวแทนสำนักงานประกันสังคมได้ให้ข้อมูลว่าเหตุการณ์นี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ดังนั้นจึงไม่มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจน ซึ่งก่อนหน้าที่จะมีการออกกฎกระทรวง ผู้ปฏิบัติงานได้รับคำสั่งให้รับคำร้องกรณีสถานประกอบการที่ได้รับคำสั่งจากรัฐให้ปิดกิจการชั่วคราวเท่านั้น ดังนั้นสถานประกอบการใดที่รัฐไม่ได้มีคำสั่งให้ปิดกิจการชั่วคราว ก็จะเป็นการรับเรื่องเท่านั้น แต่หลังจากที่มีการประกาศกฎกระทรวงการได้รับผลประโยชน์ทดแทนในกรณีการว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย วันที่ 17 เมษายน 2563 จึงได้มีความชัดเจนในแนวปฏิบัติให้กับผู้ปฏิบัติงาน ทั้งยังมีผู้ปฏิบัติงานในสำนักงานประกันสังคมจังหวัดเชียงใหม่มีจำนวน 104 คน แต่มีเพียงประมาณ 40 คนเท่านั้นที่สามารถพิจารณาในการสั่งจ่ายเงิน ส่วนผู้ปฏิบัติงานอื่นจะช่วยงานในด้านอื่นๆ
นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องระบบคอมพิวเตอร์ที่ใช้การไม่ได้จริง ไม่สามารถกรอกข้อมูลผ่านทางคอมพิวเตอร์ได้ แต่ต้องพิมพ์เอกสารและมากรอกด้วยมือจึงทำให้อาจมีปัญหาในการจัดการเอกสารของผู้ประกันตน กรณีแรงงานข้ามชาตินั้นสิ่งที่ทางประกันสังคมพบปัญหามากที่สุดคือไม่สามารถโอนเงินผ่านทางธนาคารได้เนื่องจากหมายเลขประจำตัวบัตรของคนงานไม่ตรง จึงต้องเป็นการสั่งจ่ายโดยธนาณัติแทน และหากเป็นการสั่งจ่ายโดยจังหวัดก็จะจ่ายได้ผ่าน 4 ธนาคารเท่านั้นคือ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตร ธนาคารกรุงไทย และธนาคารกรุงศรีอยุธยา
สำหรับเรื่องการให้บริการผู้มาใช้บริการเพื่อติดต่อสอบถามเกี่ยวกับความคืบหน้าในการตรวจสิทธิ์และการยื่นเอกสารนั้น ทางประกันสังคมชี้แจงว่าเนื่องจากมีจำนวนผู้ปฏิบัติงานน้อย และที่ผ่านมาบัตรคิวหายต้องปริ้นใหม่ และที่สำคัญในเวลานี้มีผู้ประกันตนมาติดต่อน้อยลง ปัญหาเหล่านี้อาจลดลง ทางสำนักงานประกันสังคมจังหวัดเชียงใหม่แจ้งว่ามีผู้ประกันตนการกรอกข้อมูลทางออนไลน์ประมาณ 60,000 คน แต่มีการกรอกข้อมูลซ้ำมากกว่าครึ่ง และตอนนี้ดำเนินการพิจารณาสิทธิ์และการจ่ายเงินไปแล้วประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 25,000 ราย
“มีเสียงสะท้อนจากผู้ที่มาติดต่อกับประกันสังคมในวันนี้ว่า น้องสองคนเป็นพนักงานเสริฟในร้านอาหารแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ โดยทางร้านได้สั่งหยุดงานชั่วคราว เธอสองคนจึงได้ยื่นเอกสารขอรับสิทธิ์เงินกรณีว่างงานไปแล้วตั้งแต่เดือนเมษายน แต่ปัจจุบันยังไม่ได้รับเงินเลย เธอสองคนบอกว่าได้รับข้อความจากประกันสังคมว่ากำลังดำเนินการแต่ไม่ทราบว่าถึงขั้นตอนไหนแล้ว วันนี้จึงได้เดินทางมาเพื่อที่จะสอบถามกับประกันสังคมด้วยตัวเอง”
ทั้งนี้ เครือข่ายแรงงานภาคเหนือยื่นเสนอต่อสำนักงานประกันสังคม และสำนักงานประกันสังคมจังหวัดเชียงใหม่ ดังนี้
1. ขอให้สำนักงานประกันสังคม และสำนักงานประกันสังคมจังหวัดเชียงใหม่เร่งดำเนินการพิจารณาในการรับสิทธิกรณีว่างงานของผู้ประกันตน และดำเนินการโอนเงินให้กับผู้ประกันตนที่ยื่นขอใช้สิทธิกรณีการว่างงานโดยเร่งด่วนเพื่อให้ทันต่อความเดือดร้อนของผู้ประกันตนที่ถูกปิดงานชั่วคราว
2. ขอให้เร่งติดตามนายจ้างที่ไม่ยื่นหนังสือรับรองลูกจ้างกรณีที่ปิดงานชั่วคราวเนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า โดยเร่งด่วน โดยอาจจะต้องมีการกำหนดมาตรการในการลงโทษนายจ้างที่ไม่ยื่นหนังสือรับรองเพื่อเป็นการบังคับให้นายจ้างยื่นหนังสือรับรองโดยเร็ว
3. เสนอให้สำนักงานประกันสังคมมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ทั้งที่เป็นแรงงานคนไทย แรงงานข้ามชาติ และแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ส่งเงินสบทบกองทุนกรณีว่างงานไม่ครบ 6 เดือน และ ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และ 40 อย่างชัดเจนและปฏิบัติได้โดยเร่งด่วน
4. ขอให้สำนักงานประกันสังคม และสำนักงานประกันสังคมจังหวัดเชียงใหม่ตรวจสอบและจัดทำระบบ หรือช่องทางการสื่อสารที่ผู้ประกันตนสามารถติดต่อ หรือขอข้อมูลในทุกช่องทางที่สำนักงานประกันสังคมและสำนักงานประกันสังคมจังหวัดเชียงใหม่จัดขึ้น
5. เสนอให้สำนักงานประกันสังคมจังหวัดเชียงใหม่จัดลำดับคิวให้กับผู้ประกันตนที่มายื่นเรื่องร้องเรียนอย่างเป็นระบบมากกว่านี้เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกันตน
6. เสนอให้สำนักงานประกันสังคมจังหวัดเชียงใหม่จัดให้มีจุดให้บริการสอบถามข้อมูลเบื้องต้นแก่ผู้ประกันตน และจัดล่ามภาษาไทใหญ่ และภาษาเมียนมา อยู่ประจำจุดให้บริการเพื่อให้ลูกจ้างที่ไม่สามารถสื่อสารภาษาไทยได้คล่องสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างเท่าเทียมกัน