23 ธ.ค. 2558 เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เผยแพร่แถลงการณ์ เรื่อง กรณีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยบริสุทธิ์ใจของเด็ก ในกรณีเยาวชนชั้น ม.4 สื่อสารเรื่องราวของชุมชนในฐานะนักข่าวพลเมือง ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสแล้วถูกบริษัทเหมืองแร่ในพื้นที่ อ.วังสะพุง จ.เลย ดำเนินการฟ้องหมิ่นประมาท
ทั้งนี้ ขณะนี้กระบวนการทางคดีดังกล่าว อยู่ระหว่างการพิจารณาของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน จ.เลย ซี่งเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจดูแลในพื้นที่ว่าจะอนุญาตให้บริษัทเอกชนฟ้องคดีหรือไม่ ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553
แถลงการณ์ดังกล่าว ระบุว่า กสม. รู้สึกกังวลเป็นอย่างยิ่งต่อการดำเนินคดีอาญาแก่เด็ก ที่มีสาเหตุมาจากการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยหากปรากฏว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นอย่างเปิดเผยด้วยความบริสุทธิ์ใจ และมีจิตสำนึกที่รักชุมชนสังคม ดูแลและปกป้องชุมชนของตนเองในฐานะพลเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่เด็กมีความห่วงใยในผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรในชุมชนของตน ถือเป็นสิ่งดีและควรสนับสนุน
อย่างไรก็ดี การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารอาจไม่รอบด้าน เพียงพอ และครอบคลุมทุกมิติในการนำเสนอข่าว ประกอบกับข้อจำกัดทางวัยวุฒิและคุณวุฒิของเด็ก
เพื่อให้สังคมไทยเป็นสังคมที่เคารพสิทธิมนุษยชน กสม. มีความเห็น ต่อกรณีดังกล่าว 3 ข้อ คือ 1.ขอให้องค์กรหรือหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่สร้างความเข้าใจต่อสังคม กรณีการใช้สิทธิในการมีส่วนร่วมและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างเปิดเผยและเป็นอิสระของเด็กต้องได้รับความคุ้มครอง ทั้งตามหลักรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child-CRC) ซึ่งประเทศไทยเข้าเป็นภาคี
2.ขอให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนนำหลักการสิทธิมนุษยชนสำหรับธุรกิจตามกรอบงานขององค์การสหประชาชาติ ในการคุ้มครอง เคารพ และเยียวยา เพื่อกำหนดให้องค์กรธุรกิจมีนโยบายและกระบวนการที่เหมาะสมกับขนาดและสภาพแวดล้อมขององค์กรธุรกิจ และนำไปเป็นแนวทางในการดำเนินการ
และ 3. ขอให้บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ทบทวนการดำเนินคดีอาญาแก่เด็ก โดยให้คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ
“กสม. เห็นว่า การดำเนินคดีอาญาแก่เด็ก จะไม่เกิดประโยชน์ใดแก่สังคม และทุกภาคส่วน แต่กลับจะส่งผลกระทบต่อการแสดงความคิดเห็นอย่างเปิดเผยและเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ใจของเด็ก ทั้งยังอาจส่งผลต่อการศึกษาและพัฒนาการของเด็กโดยเฉพาะทางจิตใจ ดังนั้น ทุกฝ่ายจึงควรหาทางออกร่วมกัน โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ” แถลงการณ์ระบุ
ทั้งนี้ แถลงการณ์ดังกล่าวมีเนื้อหา ดังนี้
แถลงการณ์คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตามที่ปรากฏข่าวผ่านสื่อมวลชน กรณีเด็กชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ นำเสนอการออกค่ายของกลุ่มเยาวชนฮักบ้านเกิดเจ้าของ ตอน นักสืบลำน้ำฮวยแท้ๆ แน๊ว ซึ่งรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนในฐานะนักข่าวพลเมือง ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จนเป็นเหตุให้บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ ซึ่งได้รับประทานบัตรทำเหมืองทองคำ อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย อันอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน ดำเนินคดีอาญาแก่เด็กในความผิดฐานหมิ่นประมาท นั้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการส่งเสริมและคุ้มครองเพื่อให้เกิดการเคารพสิทธิมนุษยชน รู้สึกกังวลเป็นอย่างยิ่งต่อการดำเนินคดีอาญาแก่เด็ก ที่มีสาเหตุมาจากการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยหากปรากฏว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นอย่างเปิดเผยด้วยความบริสุทธิ์ใจ และมีจิตสำนึกที่รักชุมชนสังคม ดูแลและปกป้องชุมชนของตนเองในฐานะพลเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่เด็กมีความห่วงใยในผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรในชุมชนของตน ถือเป็นสิ่งดีและควรสนับสนุน อย่างไรก็ดี การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารอาจไม่รอบด้าน เพียงพอ และครอบคลุมทุกมิติในการนำเสนอข่าว ประกอบกับข้อจำกัดทางวัยวุฒิและคุณวุฒิของเด็ก ดังนั้น เพื่อให้สังคมไทยเป็นสังคมที่เคารพสิทธิมนุษยชน กสม. มีความเห็นดังต่อไปนี้ ๑. ขอให้องค์กรหรือหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่สร้างความเข้าใจต่อสังคม กรณีใช้สิทธิในการมีส่วนร่วม และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างเปิดเผยและเป็นอิสระของเด็กต้องได้รับความคุ้มครอง ทั้งตามหลักรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. ๒๕๔๖ และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child-CRC) ซึ่งประเทศไทยเข้าเป็นภาคีแล้ว อันมีสาระสำคัญและให้หลักประกันว่า“รัฐภาคีจะต้องให้หลักประกันแก่เด็กซึ่งสามารถมีความคิดเห็นเป็นของตัวเอง มีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นโดยเสรีในทุกๆ เรื่องที่มีผลกระทบต่อเด็ก ทั้งนี้ ความคิดเห็นดังกล่าวของเด็กจะได้รับการพิจารณาตามสมควรแก่อายุและวุฒิภาวะของเด็กนั้น”… “เด็กมีสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก สิทธินี้จะรวมเสรีภาพที่จะแสวงหา ได้รับ หรือถ่ายทอดข้อมูลข่าวสาร และความคิดทุกลักษณะโดยไม่ถูกจำกัดโดยเขตแดน…” แม้จะมีข้อจำกัดการใช้สิทธิบางประการในการใช้สิทธิ ๒. ขอให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนนำหลักการสิทธิมนุษยชนสำหรับธุรกิจตามกรอบงานขององค์การสหประชาชาติในการคุ้มครอง เคารพ และเยียวยา เพื่อกำหนดให้องค์กรธุรกิจมีนโยบายและกระบวนการที่เหมาะสมกับขนาดและสภาพแวดล้อมขององค์กรธุรกิจ และนำไปเป็นแนวทางในการดำเนินการใดๆ ทั้งนี้ เป็นไปตามความรับผิดชอบของภาคธุรกิจในการเคารพหลักสิทธิมนุษยชน ๓. ขอให้บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ทบทวนการดำเนินคดีอาญาแก่เด็ก โดยให้คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ ทั้งนี้ กสม. เห็นว่า การดำเนินคดีอาญาแก่เด็ก จะไม่เกิดประโยชน์ใดแก่สังคม และทุกภาคส่วน แต่กลับจะส่งผลกระทบต่อการแสดงความคิดเห็นอย่างเปิดเผยและเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ใจของเด็ก ทั้งยังอาจส่งผลต่อการศึกษาและพัฒนาการของเด็กโดยเฉพาะทางจิตใจ ดังนั้น ทุกฝ่ายจึงควรหาทางออกร่วมกัน โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ อนึ่ง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ใคร่ขอเรียนว่า หากผู้ใดพบเห็นหรือถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ขอให้ร้องเรียนไปยังสายด่วน ๑๓๗๗ เพื่อจะได้ดำเนินการพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริง และนำไปสู่การสร้างสังคมสันติสุข ที่มีความเสมอภาค เท่าเทียมและเคารพสิทธิมนุษยชนต่อไป คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ |
คลิปเพื่อดูเอกสาร: http://www.nhrc.or.th/2012/wb/img_news/attachments/1231-attachment-5243.pdf