‘อังคณา นีละไพจิตร’ กสม.ลงพื้นที่ชุมชนโคกยาว ย้ำจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสืบเบาะแสการหายตัวของ ‘เด่น คำแหล้’ พร้อมคุ้มครองความปลอดภัยชาวบ้านหากถูกข่มขู่ ด้านภรรยานายเด่นยืนยันสามีถูกอุ้มหายเพราะเป็นแกนนำต่อสู้สิทธิมายาวนาน
รายงานโดย: ศรายุทธ ฤทธิพิณ
สำนักข่าวปฎิรูปที่ดินภาคอีสาน
12 มิ.ย. 2559 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2559 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ลงพื้นที่ชุมชนโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ เพื่อตรวจสอบและติดตามความคืบหน้ากรณีการหายตัวไปของนายเด่น คำแหล้ แกนนำนักต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดินทำกิน และประธานโฉนดชุมชนโคกยาว ขณะที่เข้าไปหาหน่อไม้ในบริเวณสวนป่าโคกยาว รอยต่อระหว่างป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนามและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว และหายไปนับแต่วันที่ 16 เม.ย. 2559 เป็นเวลากว่า 55 วันแล้ว
อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมือง ชี้ว่า ตามที่นางสุภาพ คำแหล้ ภรรยาของนายเด่น พร้อมด้วยตัวแทนเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน ได้เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เมื่อวันที่ 11 พ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อขอความเป็นธรรมให้ติดตามค้นหาการหายตัวไปของนายเด่น จากการสอบถามถึงกรณีที่เกิดขึ้นพบว่าเข้าข่ายถูกบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจ จึงลงมาตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่ด้วยตนเอง
อังคณา กล่าวด้วยว่า หลังจากออกจากพื้นที่โคกยาวจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าประชุมอย่างเร่งด่วน อาทิ เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ห้วยยาง เพื่อสอบถามความคืบหน้าของการสืบสวนสอบสวนคดี รวมทั้งเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) มาสอบถามว่าสามารถรับเป็นคดีพิเศษได้หรือไม่ เพื่อให้เร่งรัดในการหาความเป็นธรรมต่อการหายไป และจะเชิญนางสุภาพ พร้อมตัวแทนเครือข่ายปฎิรูปที่ดินภาคอีสานเข้าร่วมประชุมด้วย
ประธานอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมือง แจ้งอีกว่า หลังจากลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง และมาให้กำลังใจชาวบ้านแล้ว หากชาวบ้านมีความกังวลเรื่องความปลอดภัย หรือหากถูกข่มขู่ คุกคามจากกรณีใด หรือจากหน่วยงานใดก็ตาม สามารถแจ้งมายังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือคุ้มครอง
ด้านสุภาพ คำแหล้ ภรรยาของนายเด่น ยืนยันว่า การหายตัวไปของสามีเป็นการถูกอุ้มหายอย่างแน่นอน เพราะนายเด่นไม่เคยมีความบาดหมางกับใคร มีเพียงการต่อสู้เรื่องสิทธิที่ดินทำกิน
สุภาพ ให้ข้อมุลด้วยว่า ตั้งแต่เมื่อปี 2528 เจ้าหน้าที่ป่าไม้และกองกำลังทหารพรานได้อพยพครอบครัวของชาวชุมชนโคกยาวออกจากพื้นที่ทำกิน โดยสัญญาว่าจะจัดสรรที่แห่งใหม่ให้ แต่พื้นที่ที่รัฐจัดสรรให้กลับมีเจ้าของอยู่แล้ว ชาวบ้านจึงอยู่ในสภาพไร้ที่ดินทำกิน จนมาถึงปี 2548 สามีของตนพร้อมครอบครัวอื่นๆ ที่ได้รับความเดือดร้อนจึงได้ตัดสินใจกลับเข้ามาต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดินทำกินเดิม และปักหลักต่อสู้เรื่อยมามาถึงปัจจุปันนี้
ภรรยานายเด่น กล่าวด้วยว่า นับแต่ต่อสู้กันมาจะมีปัญหาแต่กับเจ้าหน้าที่เท่านั้น และสามีของเธอเองเป็นคนออกไปเรียกร้องความยุติธรรมมาตลอด กระทั่งเมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2554 เจ้าหน้าที่สนธิกำลังเข้ามาปิดล้อมกว่า 200 นาย จับตัวชาวบ้านไปขังไว้ที่สถานีตำรวจภูธรห้วยยาง 2 คืน และส่งอัยการฟ้องดำเนินคดีจำนวนรวม 10 ราย โดยนายเด่นตกเป็นจำเลยที่ 1 ส่วนตนเองเป็นจำเลยที่ 4 ใน ข้อกล่าวหาบุกรุกเขตป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม ปัจจุบันคดีในชั้นศาลฎีกา และได้ยื่นคำร้องขอรับการประกันตัวชั่วคราวเมื่อปี 2556 เพื่อยืนยันในการใช้ประโยชน์ในที่ดินทำกินเดิม
จากหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น เจ้าหน้าที่สนธิกำลังเข้ามาปิดประกาศคำสั่ง คสช.64/57 ตามด้วยนโยบายทวงคืนผืนป่า และวันที่ 6 ก.พ. 2558 เจ้าหน้าที่สนธิกำลังเข้ามาปิดประกาศไล่รื้ออีกรอบ นายเด่นจะเป็นแกนนำชุมชนเพื่อเข้าร่วมเจรจากับหน่วยงานภาครัฐในระดับนโยบาย กระทั่งมีมติให้ชะลอการไล่รื้อออกไปก่อนจนกว่าจะมีกระบวนการแก้ไขปัญหาอย่างถูกต้อง
สุภาพกล่าว ด้วยว่า นายเด่นไม่มีโรคประจำตัว เป็นคนสุขภาพแข็งแรง และจากการค้นหาไม่พบหลักฐานใดใดที่บ่งบอกถึงการเกิดภัยจากสัตว์ร้าย ส่วนการหลงป่าไม่มีความเป็นไปได้เพราะอยู่อาศัยรร่วมกับป่าแห่งนี้มานับแต่ปี 2512 จนเมื่อปี 2527 ได้จดทะเบียนสมรสร่วมชีวิตคู่กันมาตลอด โดยยึดอาชีพรับจ้าง ทำการเกษตร ปลูกผัก ขายของและต่อสู้ในสิทธิที่ดินทำกินร่วมกันเรื่อยมา