นำร่องเครือข่ายกลุ่มเพาะเห็ด ขยายผลโมเดลแก้จน “ชุมชนเห็ดเศรษฐกิจ”

นำร่องเครือข่ายกลุ่มเพาะเห็ด ขยายผลโมเดลแก้จน “ชุมชนเห็ดเศรษฐกิจ”

เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2566 นักวิจัยมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ร่วมกับ สนง.เกษตรอำเภออากาศอำนวย จัดกิจกรรมปฏิบัติการพัฒนาอาชีพเห็ดเศรษฐกิจด้วยห่วงโซ่การผลิตเกษตรมูลค่าสูง ณ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเพาะเห็ดบ้านกลาง ต.โพนแพง อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร โดยมีสมาชิกวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเพาะเห็ดบ้านกลาง พี่เลี้ยงกลุ่มเพาะเห็ด คนจนเป้าหมาย และนักศึกษาวิศวกรสังคม เข้าร่วมกว่า 40 คน

อ.สายฝน ปุนหาวงค์ หัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวว่า วันนี้ถือเป็นเวที Forum การพูดคุยอภิปรายสร้างความเข้าใจข้อตกลงเข้าร่วมโครงการ และหารือความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนโมเดลแก้จน “ชุมชนเห็ดเศรษฐกิจ” ด้วยแนวคิด Pro-Poor Value Chain เริ่มนำร่อง 4 หมู่บ้าน ได้แก่ (1) บ้านกลาง หมู่ที่ 4, 12 (2) บ้านกลาง หมู่ที่ 8 (3) บ้านคึม หมู่ที่ 6, 10 ต.โพนแพง และ (4) บ้านบะหว้า ต.บะหว้า นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้รับการเรียนรู้เพิ่มทักษะการเพาะเห็ดในขั้นตอนการอัดและผลิตก้อนเห็ด โดยประธานวิสาหกิจชุมชน

“ชุมชนเห็ดเศรษฐกิจ” เป็นกลไกความร่วมมือเพื่อยกระดับการเพาะเห็ด และสร้างระบบการผลิตให้เกื้อกูลคนฐานราก ในรูปแบบเครือข่ายกลุ่ม โดยมีวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเพาะเห็ดบ้านกลาง “เป็นพี่เลี้ยง” อำนวยการผลิตก้อนเชื้อเห็ด วางแผนการผลิตและติดตามดูแล

แนวคิด ชุมชนเห็ดเศรษฐกิจ คือการส่งเสริมกลุ่มเป็นอุตสาหกรรมการผลิตเริ่มจาก “ผู้เปิดดอกเห็ด” ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม โดยชุมชนเป็นเจ้าของธุรกิจ รวมกลุ่มอย่างน้อยหมู่บ้านละ 30 ครัวเรือน แบ่งเป็นทีมบริหาร 5 คน เช่น หัวหน้า ผู้ช่วยทำบัญชี การตลาด ประสานงาน เป็นต้น และครัวเรือนยากจนอย่างน้อย 25 คน ที่ผ่านการรับรองตามเงื่อนไขโดยผู้นำชุมชน เพื่อเป็นแรงงานดูแลการผลิตตามศักยภาพ รวมถึงกลุ่มมีการช่วยเหลือครอบคลุมครัวเรือนด้านสงเคราะห์ด้วย นำไปสู่การสร้างกลไกความร่วมมือเชื่อมโยงกับกลไกตลาดและกลไกเชิงสถาบัน

โครงการวิจัยฯ สนับสนุนปัจจัยการผลิตก้อนเชื้อเห็ดกลุ่มละ 10,000 ก้อน คิดมูลค่าก้อนละ 5 บาท แต่มีเงื่อนไขคือ สมาชิกกลุ่มไปอัดและผลิตก้อนเห็ดเอง ที่วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเพาะเห็ดบ้านกลาง โดยพี่เลี้ยงเครือข่ายจะวางแผนการผลิตก้อน คาดว่าจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในชุมชนครั้งนี้ประมาณ 140,000 บาทต่อรอบการผลิต (4เดือน)

สร้างข้อตกลงสำคัญในกลุ่ม ได้แก่ การทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย การบันทึกข้อมูลการผลิตผ่าน Application “ตามปลูกตามเก็บ” จัดการรายได้หลังหักค่าใช้จ่าย แบ่งเข้าเป็นกองทุนกลุ่มอย่างน้อยเท่ามูลค่าปัจจัยการผลิตหรือประมาณ 50,000 บาท แต่ละกลุ่มจัดการแบ่งผลกำไรได้ตามความเหมาะสม เป็นรายเดือนหรือรอบการผลิต ให้มีสัดส่วนแบ่งอย่างน้อย 70:30 คือ 70% แบ่งสมาชิก 30% แบ่งเข้ากองทุนกลุ่ม หรือสัดส่วนแบ่ง 50:50

ข้อมูลวิจัย ปี2565 ขนาดของเศรษฐกิจตลาดเห็ดในชุมชน กลุ่มมีก้อนเชื้อเห็ดเปิดดอก(กำลังผลิต) จำนวน 4,000 – 10,000 ก้อน ได้ผลผลิตเกิดดอกเฉลี่ย 5-10 กิโลกรัมต่อวัน มีอัตราเกิดดอกสูงสุด 30 กิโลกรัมต่อวัน ขายในตลาดระดับชุมชนมีกำลังบริโภคประมาณ 5-10 กิโลกรัมต่อวัน ส่วนตลาดระดับตำบลมีกำลังบริโภคประมาณ 30-60 กิโลกรัมต่อวัน การวางแผนผลิตเว้นระยะห่างการเปิดดอกเห็ดจะสามารถควบคุมปริมาณตลาดได้

นายประพงค์ ผายทอง

ด้าน นายประพงค์ ผายทอง ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเพาะเห็ดบ้านกลาง กล่าวว่า นักวิจัย มองว่าวิสาหกิจชุมชนฯ มีสมาชิกกลุ่มชำนาญการผลิตเห็ด จึงได้หารือความร่วมมือแก้ปัญหาความยากจนด้วยการเพาะเห็ด ผมเห็นว่าเป็นโครงการสร้างอาชีพให้กับผู้ที่ตกงานในชุมชน จึงตอบรับร่วมมือ โดยระดมแรงงานผู้มีรายได้น้อยเข้ามาอัดก้อนเห็ดไปเปิดดอก ราคาต้นทุน 5 บาท ส่วนวิสาหกิจชุมชนฯ จะให้องค์ความรู้และอุปกรณ์ในการผลิต ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ได้รับสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐเพื่อช่วยเหลือชุมชนสังคมให้มีอาชีพ พร้อมทั้งเป็นพี่เลี้ยงกลุ่มใหม่ ให้คำแนะนำ ความรู้การเลี้ยงการดูแลเห็ด

ส่วน คุณเบญจภรณ์ อ่อนสุระทุม นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ สนง.เกษตรอำเภออากาศอำนวย กล่าวว่า เหตุผลที่แนะนำกลุ่มนี้ให้ทีมนักวิจัย เนื่องจากวิสาหกิจชุมชนฯ เคยเข้าประกวดระดับจังหวัด ได้รับสนับสนุนงบประมาณต่าง ๆ จากส่วนราชการ และดำเนินงานต่อเนื่องมีผลกำไร ทำให้สมาชิกกลุ่มมีรายได้ประจำไม่ต้องไปทำงานที่อื่น

สำหรับครัวเรือนยากจนที่เข้ารวมกลุ่ม เมื่อดำเนินการมีปัจจัยการผลิต มีรายได้ เหลือทุนแล้ว ทาง สนง.เกษตรฯ จะพลักดันให้เป็นกลุ่มส่งเสริมอาชีพทางด้านการเกษตร มีแนวทางส่งเสริมดำเนินการกลุ่มจดเป็นวิสาหกิจชุมชน มีโอกาสเข้าถึงงบประมาณโครงการต่าง ๆ และเข้าถึงแหล่งทุน ยินดีที่จะเป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำเครือข่ายชุมชนเห็ดเศรษฐกิจทั้ง 4 กลุ่มนี้ คุณเบญจภรณ์ ยืนยันความร่วมมือแก้จนกับทีมนักวิจัย

อ.สายฝน ปุนหาวงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ชุมชนเห็ดเศรษฐกิจ” เป็นโมเดลแก้จนต่อยอดการวิจัย ปี 2565 ขยายผลมาจากพื้นที่ ต.โพนงาม จากฐานข้อมูลวิจัยระบบข้อมูลครัวเรือนยากจนระดับพื้นที่ (P2P Application) พบว่า ต.โพนแพง มีครัวเรือนยากจนมากลำดับสอง จำนวน 151 ครัวเรือน พร้อมทั้งมีวิสาหกิจชุมชนฯ เพาะเห็ด ที่สามารถเป็นฐานผลิตและพี่เลี้ยงให้ครัวเรือนยากจนได้ ปฏิบัติการครั้งนี้คาดว่าจะสร้างอาชีพให้คนจนได้มากกว่า 90 ครัวเรือน ให้มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างเป็นธรรม

หลังจากนี้สมาชิกแต่ละกลุ่มจะหมุนเวียน ทยอยกันมาอัดและผลิตก้อนเชื้อเห็ดนางฟ้า จนครบจำนวน 40,000 ก้อน คาดว่าเห็ดพร้อมเกิดดอกช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนนี้ ในระหว่างนี้คือการเตรียมสร้างโรงเรือนเปิดดอก ให้บรรจุก้อนเห็ดได้ 3,000 ก้อนต่อหลัง ซึ่งทีมนักวิจัยมีนวัตกรรมโรงเรือนเพาะเห็ดที่เหมาะสม ช่วยให้เห็ดเกิดดอกเพิ่มมากขึ้น พร้อมทั้งเตรียมนวัตกรรมการแปรรูปจากผลิตภัณฑ์เห็ด ถือเป็นการยกระดับการเพาะเห็ดครบวงจร ครอบคุมทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

อีกหนึ่งฉากทัศน์ในการพัฒนาโมเดลแก้จน “ชุมชนเห็ดเศรษฐกิจ” ด้วยการขยายฐานผลิตใหม่ เพื่อรับคนจนเข้าประกอบอาชีพเพาะเห็ด พัฒนามาจากอุปสรรคในพื้นที่ชนบทไม่มีอุตสาหกรรมที่สามารถรับแรงงานจำนวนมากได้ อีกทั้งแรงงานมีศักยภาพไม่ถึง

เหมือนมี 3 ทางให้เลือกพัฒนาคือ มอบเพื่อลดค่าใช้จ่าย พัฒนากลุ่มอาชีพเดิมให้รับคนจนทำงานได้ และสร้างฐานการผลิตกลุ่มใหม่ที่มีคนจนทำงาน จะเลือกทางไหนการพัฒนาชุมชนเป้าหมายคือ สร้างเศรษฐกิจชุมชน เศรษฐกิจเกิดจากธุรกิจ ดังนั้นชุมชนต้องทำธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม การมองหาช่องทางลดอุณหภูมิสงครามการตลาด ด้วยโมเดลธุรกิจเพื่อสังคม อาจเป็นทางรอดให้เครือข่ายชุมชนเห็ดเศรษฐกิจ เข้ามามีส่วนแบ่งในกลไกตลาดเห็ดเศรษฐกิจมากขึ้น

ที่มา : www.1poverty.com

เรียบเรียงโดย : สมชาย เครือคำ (แตงโม สกลนคร)
ดำเนินการ : โครงการพัฒนาระบบห่วงโซ่การผลิตเกษตรมูลค่าสูง ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ติดตามได้ที่ blogOnePoverty และ blockdit และ Facebook
แหล่งทุนวิจัย : หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ติดตามได้ที่ งานยุทธศาสตร์ขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ

บทความที่เกี่ยวข้อง

“ชุมชนเห็ดเศรษฐกิจ” โมเดลแก้จนเพาะเห็ดเกื้อกูลคนฐานราก จ.สกลนคร – THECITIZEN.PLUS

ส่องกลไกปฏิบัติการแก้จนตำบลโพนงาม “HUBข้อมูลการช่วยเหลือคนจน” – THECITIZEN.PLUS

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ